เงาะ(Rambutan) เงาะโรงเรียน และการปลูกเงาะ

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

เงาะ (Rambutan) จัดเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่นิยมรับประทานภายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศทั้งในรูปของผลไม้สด และเงาะกระป๋อง นอกจากนั้น ยังใช้แปรรูปในผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ ไวน์เงาะ และไอศครีม เป็นต้น

• วงศ์ : Spindaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nephelium lappaceum Linn.
• ชื่อสามัญ : Rambutan

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เงาะเป็นไม้ขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 10-15 เมตร แต่เงาะที่ปลูกตามสวนเกษตรกร จะมีความสูงไม่มาก สูงประมาณ 4-8 เมตร เพราะปลูกด้วยต้นพันธุ์จากการเสียบยอดหรือการตอน แต่หากปลูกด้วยเมล็ดจะมีความสูงมากกว่านี้

ลำต้นของเงาะมีเปลือกสีเทา อมน้ำตาล ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับล่าง แตกกิ่งจำนวนมาก ทำให้มองเป็นทรงพุ่มหนาทึบ กิ่งมีขนาดเล็ก และเปราะหักง่าย สีของกิ่งสีน้ำตาลอมแดงคล้ำ เนื้อไม้ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็งสามารถแปรรูปเป็นไม้ตกแต่งได้

ใบ
ใบของเงาะเป็นใบประกอบ แตกออกตามปลายกิ่ง มีก้านใบหลักยาวประมาณ 15-20 ซม. บนก้านใบหลักมีใบย่อยแตกออกเรียงสลับกัน 4-6 ใบ ใบมีรูปไข่กลับหัว ขนาดใบประมาณ 4×15 ซม. แผ่นใบด้านบนมีสีเขียมอมน้ำตาล และเป็นมันเล็กน้อย แผ่นใบด้านล่างมีสีอ่อนกว่า โดยแผ่นใบ และขอบใบจะเรียบ ปลายใบแหลม ใบไม่มีขน มีเส้นใบ 8-10 คู่

ดอก
ดอกของเงาะออกเป็นช่อ แทงออกที่ส่วนปลายของกิ่ง แต่หากปลากิ่วหรือยอดกิ่งถูกทำลาย ช่อดอกจะแทงออกบริเวณตาข้างใกล้ส่วนปลายกิ่ง ความยาวของแต่ละช่อประมาณ 25 ซม. กว้างประมาณ 20 ซม. ช่อดอกระยะแรกจะมีสีน้ำตาลดำ เมื่อโตขึ้นจะมีสีเขียวอ่อนหรือน้ำตาลอมเขียว แต่ละช่อดอกจะมีดอกประมาณ 1,450 ดอก แต่จะติดเป็นผลประมาณ 0.5-0.9% ของดอกทั้งหมด หรือประมาณ 6-13 ผล

ดอก ของเงาะจะแบ่งเป็น 3 ชนิด คือ ดอกเพศผู้ ดอกกระเทยเพศเมีย และดอกกระเทยเพศผู้ โดยตัวดอกประกอบด้วยก้านดอกขนาดสั้นประมาณ 1 มม. ซึ่งมีสีเขียวอ่อน และมีขนสั้นๆปกคลุม ถัดมาเป็นกลีบดอกสีขาวนวล 5 กลีบ มีขนสั้นๆปกคลุม

ผล และเมล็ด
เงาะมีลักษณะผล และสีผลแตกต่างกันตามสายพันธุ์ แต่โดยทั่วไปจะมีผลกลมรี เปลือกผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีแดง และมีเส้นขนสีแดงเช่นกัน บางพันธุ์ขนมีสีเขียวอมเหลืองที่ปลายขน ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาว แยกออกจากส่วนเนื้อได้ง่าย ถัดมาจะเป็นส่วนเนื้อซึ่งส่วนมากจะมีสีขาว แต่บางพันธุ์อาจมีสีขาวอมชมพู เช่น พันธุ์เนื้อชมพู เนื้อส่วนนี้ใช้รับประทานเป็นส่วนหลัก ถัดมาจะเป็นเมล็ด มีลักษณะแบน และรี เป็นรูปไข่ มีเปลือกหุ้มเมล็ดบางๆสีน้ำตาลเมล็ดแบ่งออกเป็น 2 ซีก ประกบกัน ตรงกลางภายในเป็นต้นอ่อนที่รองอก

บางพันธุ์ส่วนเนื้อกับเมล็ดจะติดกัน แน่น แยกออกจากกันยาก บางพันธุ์เนื้อกับเมล็ดแยกออกจากกันง่าย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูก และรับประทาน เช่น เงาะโรงเรียน และเงาะสีชมพู

ชนิด และพันธุ์ของเงาะ
เงาะแบ่งตามลักษณะเนื้อ
1. เงาะติดเมล็ด
เงาะติดเมล็ด หมายถึง เงาะที่มีส่วนเนื้อติดกับเมล็ด ไม่สามารถแคะแยกเนื้อออกจากเมล็ดได้ง่าย พันธ์เงาะจำพวกนี้มักให้เนื้อสรเปรี้ยว เนื้อนุ่ม แฉะ และมีเส้นใยมาก ลำต้นมีทรงพุ่มสูงใหญ่ ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมปลูกหรือบริโภคกันแล้ว

2. เงาะล่อน
เงาะล่อน หมายถึง เงาะที่มีส่วนเนื้อแยกออกจากเมล็ดได้ดี อาจแคะแยกออกได้เฉพาะส่วนเนื้อหรือแยกส่วนผิวเปลือกเมล็ดออกมาด้วย เงาะพันธุ์นี้ จะให้เนื้อกรอบ หวาน เนื้อไม่แฉะหรือเป็นใยมาก ทรงพุ่มลำต้นเล็ก และเป็นพันธุ์ที่ปลูก และนิยมรับประทานกันในปัจจุบัน พันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ เงาะโรงเรียน และเงาะเนื้อสีชมพู

พันธุ์เงาะ
พันธุ์เงาะที่นิยมปลูก
1. เงาะโรงเรียน หรือ พันธุ์นาสาร
เงาะโรงเรียนหรือที่เรียก เงาะนาสาร เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด โดยปลุกมากในภาคใต้ และภาคอื่นๆในบางพื้นที่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 มีลักษณะผลกลมรี เปลือกหนา และมีขนยาว ผลขณะดิบจะมีเปลือกสีเหลืองอมชมพู และขนมีสีเขียวอ่อน แต่เมื่อผลสุก เปลือกจะมีสีแดงเข้ม ส่วนขนส่วนโคนจะมีสีแดงเช่นกัน แต่ส่วนปลายขนจะมีสีเขียวอ่อน ส่วนเนื้อมีสีขาวนวล และเนื้อหนา แยกออกจากเมล็ดได้ง่าย ให้รสหวานจัด ส่วนเมล็ดมีลักษณะรี

เอกลักษณ์ประจำพันธุ์ที่สังเกตได้ : ผลสุกเต็มที่ เปลือกจะมีสีแดงเข้ม ขนส่วนโคนมีสีแดงเข้ม ขนส่วนปลามีสีเขียวอ่อน

เงาะโรงเรียน

2. เงาะสีชมพู
เงาะสีชมพูเป็นพันธุ์ที่นิยมรองลงมาจากเงาะโรงเรียน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ปลูกมากในภาคตะวันออก ลำต้นมีกิ่งมาก ใบดก แลดูทรงพุ่มหนาทึบ ใบค่อนข้างยาว และหนากว่าเงาะโรงเรียน แต่มีสีใบจางกว่า และขอบใบจะมีลักษณะโค้งห่อเข้าหากันเล็กน้อย ผลสุกจะมีเปลือก และขนเป็นสีชมพู เปลือกค่อนข้างหนา เนื้อแคะออกจากเมล็ดได้ง่าย

เอกลักษณ์ประจำพันธุ์ที่สังเกตได้ : ผลสุกเต็มที่ เปลือก และขนจะมีสีแดงชมพู

เงาะสีชมพู

ขอบคุณภาพจาก : topicstock.pantip.com และ pimmyz.net

ประโยชน์ของเงาะ
1. ผลใช้รับประทานเป็นผลไม้สด ให้รสหวาน เนื้อกรอบ
2. เนื้อเงาะนำมาประกอบอาหาร อาทิ ผัดเปรี้ยวหวาน แกงเผ็ด เป็นต้น
3. เมล็ดเงาะนำมาเผาไฟใช้รับประทานได้
4. เนื้อเงาะนำมาแปรรูปเป็นเงาะแช่แข็ง เงาะกระป๋อง และไอศครีมเงาะ เป็นต้น
5. เมล็ดเงาะนำมาสกัดน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร อุตสาหกรรม และใช้ทางด้านความงาม
6. เปลือกเงาะใช้ต้มย้อมผ้าให้สีแดงหรือสีชมพู
7. เนื้อไม้ใช้แปรรูปเป็นไม้ตกแต่งบ้าน

คุณค่าทางโภชนาการของเงาะ
– พลังงาน 64.00  แคลอรี่
– โปรตีน 65 มิลลิกรัม
– ไขมัน 6.50 มิลลิกรัม
– คาร์โบไฮเดรต 1,072.50 มิลลิกรัม
– เส้นใย 71.50 มิลลิกรัม
– เถ้า 26.00 มิลลิกรัม
– แคลเซียม 20.00 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 15.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก 1.90 มิลลิกรัม
– โซเดียม 1.00 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม 64.00 มิลลิกรัม
– ไทอามีน 0.01 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน 0.06 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน 0.40 มิลลิกรัม
– กรดแอสคอร์บิก 53.00 มิลลิกรัม

ที่มา : F.A.O., 1972.

กรดไขมันในเมล็ดเงาะ
– palmitic acid 2.0%
– steric acid 13.8%
– oleic acid 2.0%
– arachidic acid 34.5%
– eicoseonic acid 4.23%

สารสำคัญที่พบ
เปลือกเงาะ
– สารในกลุ่ม polyphenolic เช่น anthocyanin พบได้เหมือนกับในเปลือกมังคุด และทับทิม

สรรพคุณของเงาะ
เนื้อเงาะ
– ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง

เปลือกเงาะ (ต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยแก้ท้องร่วง
– ช่วยลดอาการบวม และอักเสบของแผล
– ช่วยลดอาการอักเสบของแผลในช่องปาก
– ป้องกันไข้หวัด
– ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน

การปลูกเงาะ
การปลูกเงาะในปัจจุบันจะปลูกจากกล้าพันธุ์ที่ได้จากการติดตาหรือการเสียบยอด เป็นหลัก ไม่นิยมใช้เมล็ดปลูก เพราะการปลูกด้วยกล้าพันธุ์นี้จะทำให้ได้ลำต้นที่เตี้ย ทรงพุ่มใหญ่ และให้ผลตามลักษณะเดียวกันกับต้นแม่พันธุ์

การเตรียมดิน
หาก ปลูกเพื่อกาค้าในแปลงขนาดใหญ่จะทำการเตรียมดิน และแปลงปลูกด้วยการไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชก่อน ซึ่งจะไถพรวนดินประมาณ 2 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินนาน 7-14 วัน

การขุดหลุมปลูก
ขุด หลุมปลูกในระยะที่แนะนำ ได้แก่ 4×12 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ประมาณ 33 ต้น/ไร่ ระยะ 6×12 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ประมาณ 22 ต้น/ไร่ ขนาดหลุม 50x50x50 โดยใส่ปุ๋ยคอกหรือเศษใบไม้ อัตรา 1-2 กิโลกรัม/หลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัม/หลุม พร้อมคลุกผสมให้เข้ากันกับดิน และกองพูนขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะสำหรับวางต้นพันธุ์ ก่อนเขี่ยกลบดินให้พูนขึ้นเหนือหน้าดิน 1-2 นิ้ว

การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยจะใส่ 4 ครั้ง

การเก็บเงาะ
– เงาะภาคตะวันออก เริ่มออกดอกประมาณเดือนมกราคม-มีนาคม และจะเก็บผลออกสู่ตลาดประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม
– เงาะภาคใต้ เริ่มออกดอกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน และจะเก็บผลออกสู่ตลาดประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน

โดย ทั่วไป หลังจากที่ผลเริ่มติดแล้วจะใช้เวลาประมาณ 18 สัปดาห์จึงจะเริ่มเก็บผลได้ ซึ่งเกษตรกรมักใช้วิธีสังเกตระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บที่การเปลี่ยนสีของ เปลือก และขนเงาะ

การเก็บเงาะไม่ควรใช้มือเด็ด แต่ควรใช้กรรไกรตัดช่อผล โดยมรตะกร้ารองรับด้านล่าง