Last Updated on 5 มิถุนายน 2016 by puechkaset
แคนา หรือ แคป่า เป็นจัดเป็นผักป่า และไม้สมุนไพร รวมถึงเป็นไม้ประดับ และไม้มงคล เนื่องจากดอกนิยมนำมารับประทานคู่กับน้ำพริก ทั้งแบบรับประทานสด และแบบลวก นอกจากนั้น ยังเป็นไม้ที่ให้ดอกสวยงาม และให้ร่มเงาได้ดีจึงนิยมนำมาปลูกตามปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการหรือตามแหล่งจัดสวนต่างๆ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolichandrone serrulata Wall. ex DC. Seem.
วงศ์ : Bignoniaceae
ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– แคป่า
– แคนา
ภาคเหนือ
– แคขาว
– แคเค็ตถวา
– แคแน
– แคฝอย
– แคฝา
– แคภูฮ่อ
– แคแหนแห้
ภาคอีสาน
– แคทราย
ภาคตะวันออก
– แคยาว
– แคอาว
ภาคใต้
– แคยอดดำ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
แคนาเป็นไม้ยืนต้นขนาดปานกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงได้มากกว่า 25 เมตร เปลือกลำต้นมีสีขาวอมเทา และมีสะเก็ดเปลือกสีดำประปราย สะเก็ดนี้จะร่วงออกเรื่อยๆ ลำต้นมีกิ่งจำนวนมาก และแต่ละกิ่งจะแตกกิ่งย่อยออกจำนวนมากเช่นกัน
เนื้อไม้ และกิ่งแคนาค่อนข้างเปราะ และหักง่าย ไม่นิยมแปรรูปเป็นไม้โครงสร้าง แต่จะแปรรูปเป็นไม้ตกแต่ง หรือ ทำเฟอร์นิเจอร์ได้
ใบ
ใบแคนาเป็นใบประกอบ แทงออกตรงข้ามกันบนกิ่ง มีก้านใบหลัก ยาว 20-30 ซม. แต่ละก้านใบประกอบด้วยใบย่อย 3-5 คู่ และส่วนปลายก้านใบหลักเป็นใบเดี่ยว แต่ละใบมีก้านใบสั้น ยาวประมาณ 10 มิลลิเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ค่อนข้างอ้วน ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบใบหยัก และโค้งเป็นลูกคลื่น ใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ใบมีเส้นใบประมาณ 4 คู่ แยกออกตรงข้ามกันจากเส้นใบตรงกลาง และมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน
ดอก
ดอกแคนา ออกเป็นดอกเดี่ยว แต่จะออกกระจุกตัวบริเวณปลายกิ่ง 1-8 ดอก ทำให้มองดูคล้ายออกเป็นช่อ ดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวยหรือรูปแตรยาว 12-17 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยงสีเขียวหุ้มกลีบดอกไว้ ดอกตูมมีสีเขียว ลักษณะอวบอูมตรงกลาง ส่วนปลายเป็นติ่งแหลม เมื่อดอกเริ่มบาน กลีบเลี้ยงจะคลี่ออกทำให้กลีบดอกขยายออกมาก มีโคนกลีบดอกเป็นกรวยยาว ซึ่งในระยะแรกของการบาน กลีบดอกจะยังมีสีเขียวอมขาว และเมื่อดอกบานเต็มที่ ปลายดอกจะแผ่โค้งออก และคว่ำลงด้านล่าง ขอบดอกจะมีรอยหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกในระยะนี้จะมีสีขาว ภายในกรวยดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ ที่มีลักษณะยาว 4 อัน ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ที่มีขนาดสั้น 2 อัน และยาว 2 อัน และถัดมาด้านในมีเกสรตัวเมียอยู่ 1 อัน
ดอกแคนาจะเริ่มบานหลังต้นแคนา ทิ้งใบ และเริ่มแตกใบใหม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ต้นเดือนกรกฏาคม ซึ่งมีระยะเวลาออกดอก และดอกบานจนร่วงหมดประมาณ 2 เดือน โดยดอกแคนาจะเริ่มบานทีละดอกตามอายุของดอกที่แทงออกก่อน
ดอกแคนาจะบาน มากทั่วทั้งต้นในช่วงดึกจนถึงเช้าตรู่ และจะบานไปเรื่อยๆจนถึงช่วงบ่าย แต่หลังช่วงที่มีแสงแดดออกแล้ว ดอกแคนาจะบานน้อย ซึ่งดอกแคนาเมื่อบานแล้วจะร่วงภายในไม่กี่ชั่วโมง คงเหลือรังไข่ที่ได้รับการผสมแล้วบริเวณปลายยอด
ฝัก และเมล็ด
ผลของแคนาจะออกเป็นฝัก ที่พัฒนามาจากดอก 1 ดอก ที่ผสมเกสรแล้ว ฝักอ่อนมีสีเขียว เป็นแท่งแบนยาวคล้ายถั่วฟักยาว (แบน) ฟักแก่จะแห้ง มีสีน้ำตาลอมขาว ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร เมื่อฟักแห้งเต็มที่ ฟักจะโค้งงอ และปิดตัว จนถึงระยะแก่มากซึ่งฟักจะปริแตกตามเป็นรอยแยกตามขอบทั้งสองข้างของฟัก ภายในฟักมีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีสีน้ำตาลอมดำ เป็นรูปสีเหลี่ยม และมีปีกเป็นเยื่อคล้ายกระดาษแก้วหุ้มรอบข้าง
แหล่งแพร่กระจาย
แคนาจัดเป็นต้นไม้ที่พบมากในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ รวมถึงพบได้ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา โดยพบแพร่กระจายมากในภาคอีสาน รองลงมาจะเป็นภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ส่วนภาคใต้พบน้อยมาก
ประโยชน์แคนา/แคป่า
1. แคนา เป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกมากตามปั๊มน้ำมันหรือสถานที่ราชการ เนื่องจากให้ดอกสีขาวสวยงาม
2. แคนา เป็นไม้มงคล เนื่องจากเชื่อว่า สีขาวบริสุทธิ์ของดอกจะนำพาสิ่งที่เป็นมงคล และสิ่งดีงามมาให้แก่สถานที่หรือคนในครอบครัว รวมถึงช่วยปกป้องภัยอันตรายทั้งหลายและช่วยให้ทำมาค้าขายร่ำรวย
3. ต้นแคนามีกิ่งจำนวนมาก และมีใบดก จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงา ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกับการปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ และไม้มงคล
4. ดอกแคนานิยมเก็บมารับประทานสดกินกับอาหารจำพวกลาบหรือลวกจิ้มน้ำพริก ซึ่งดอกสดจะมีรสกรอบ และขมเล็กน้อย แต่หากนำมาลวกน้ำที่ลวกนานในระยะหนึ่งจะมีรสขมมาก และขมมากกว่าดอกสด แต่จะให้รสนุ่มอร่อยกว่า แต่ทั้งนี้ หากลวกน้ำหลายน้ำหรือลวกนานขึ้น รสขมจะน้อยลงเรื่อยๆจนถึงระดับที่ไม่ขมมาก แต่การลวกน้ำร้อนนานๆจะทำให้ดอกเปื่อยยุ่ย รับประทานไม่อร่อย
5. เนื้อไม้แคนาแปรรูปเป็นไม้ตกแต่ง เช่น ไม้ฝ้า ไม้ปิดขอบ เป็นต้น แต่ไม่นิยมแปรรูปเป็นไม้โครงสร้างหลัก เช่น เสา คาน เพราะเนื้อไม้มีลักษณะไม่แข็งแรง เปราะ และหักง่าย
6. ดอกแคนา นอกจากเป็นที่ชื่นชอบของมนุษย์ที่นำมาเป็นผักแล้ว ดอกจะเป็นอาหารที่ชื่นชอบของโค กระบือ และหมูป่าด้วย
ลักษณะการใช้ประโยชน์
ดอกแคนาหรือแคป่า จัดเป็นผักป่าพื้นบ้านที่นิยมรับประทานมากของคนอีสาน ทั้งรับประทานสด และลวกน้ำร้อน
การกินสด
การกินดอกสดจะนิยมมากสำหรับเป็นผักกินกับอาหารจำพวกลาบ และซุปหน่อไม้ รวมถึงกินสดสำหรับจิ้มน้ำพริกต่างๆ ทั้งนี้ ดอกที่ใช้กินสดจะนิยมฉีกดอกแบ่งครึ่งก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เป็นเกสรตัวผู้ออก ก่อนนำไปกินสด
การลวก
การลวกจะเริ่มด้วยการฉีกดอกแบ่งครึ่ง แล้วนำเกสรตัวผู้ออกให้หมด คงเหลือแต่ก้านกลีบดอก และส่วนดอก แล้วค่อยน้ำมาลวกน้ำตามระดับความขมที่ต้องการ แต่การลวกน้ำที่นานในระยะหนึ่งจะให้ความขมที่มากกว่าดอกสด แต่หากลวกนานมาก รสขมจะน้อยลง และดอกจะยุ่ยเปื่อยทำให้กินไม่อร่อย
การต้มดอกแคนา และเทคนิคการต้มไม่ให้มีรสขม
ดอกแคนาในบางพื้นที่นิยมนำมาต้มหรือลวกน้ำสำหรับเป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือรับ ประทานเป็นผักคู่กับอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ลาบก้อย ซุบหน่อไม้ เป็นต้น
การต้มหรือลวกดอกแคนาไม่ให้แข็งหรือนิ่มเิกินไป และไม่ให้มีรสขมออกมามากนั้น ทำดังนี้
1. ฉีกดอกแคนาตามแนวยาวจนถึงก้านดอก แล้วแผ่ให้กางออก
2. ลอกเกสรตัวผู้ที่มีอยู่ 4 อันออกให้หมด
3. ต้มน้ำให้เดือด
4. นำดอกแคนาลงต้มหรือลวก เพียง 1-3 นาที ก่อนนำขึ้นมาพักให้เย็น ก่อนนำไปรับประทาน
5. ดอกแคนาที่ต้มหรือลวกในน้ำเดือกในระยะอันสั้น จะได้ดอกแคนาลวกที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม และกรอบ รวมถึงไม่มีรสขมมาก และสีดอกแคนาจะไม่ซ้ำหรือเป็นสีน้ำตาลมาก
สารสำคัญที่พบ
เนื่องจากการศึกษาหาสารสำคัญที่พบในดอกแคนายังไม่พบการศึกษา แต่จากการรวบรวมเอกสารจากพืชที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น แคหัวหมู และแคหางด่าง พบสารสำคัญ ได้แก่
– Verbascoside
– Leucosceptoside
– Leucoside A และ B
– Khaephuoside A และ B
– Phlomisethanoside
สรรพคุณแคนา/แคป่า
ดอก (รสขม)
– ลดอาการท้องเสีย
– ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง
– ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยลดอาการเจ็บคอ และช่วยขับเสมหะ
– บดทาประคบแผล ช่วยห้ามเลือด ต้านจุลินทรีย์ และช่วยลดอาการอักเสบของแผล
– ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ
ฟัก และเมล็ด
– ใช้เป็นยาถ่าย
– แก้อาการท้องเสีย
– แก้ริดสีดวง
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ
ราก เปลือก และแก่น
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้อาการท้องเสีย
– ลดอาการท้องอืด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ใช้บดทาพอกแผล ลดอาการอักเสบทำให้แผลหายเร็ว
การปลูกแคนา/แคป่า
การปลูก และขยายพันธ์แคนาจะใช้วิธีการเพาะเมล็ด ส่วนต้นแคนาที่เราเห็นตามปั๊มน้ำมันนั้น จะเป็นต้นแคนาที่โตเต็มที่โดยได้มาจากการขุดทั้งส่วนราก และลำต้น แล้วย้ายมากปลูก
นอกจากการปลูกขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดแล้ว แคนายังสามารถขยายพันธุ์ด้วยการตอน และการปักชำได้ด้วย แต่ยังไม่เป็นที่นิยมนัก
สำหรับบางพื้นที่ที่มีต้นแคนามาก ผู้ที่สนใจปลูกแคนามักออกหากล้าแคนาที่เกิดใกล้ๆกับต้นแม่ แล้วย้ายนำมาปลูกตามที่ต้องการ
การเก็บแคนา/แคป่า
คนอีสานหรือคนในภาคต่างๆที่ต้องการเก็บดอกแคนานั้น จะออกเก็บแคนาตั้งแต่เช้าตรู่ประมาณตี 5-7 โมงเช้า ส่วนคนที่ต้องการเก็บดอกแคนาสำหรับนำมาขาย มักจะออกเก็บตั้งแต่ตอนดึก เพราะถือเป็นการจับจองต้นแคนาคนแรก และจะสามารถเก็บดอกแคนาจากต้นอื่นได้มากกว่าคนที่มาสาย ทั้งนี้ เนื่องจากต้นแคนาที่พบตามป่าหรือตามทุ่งนาจะมีน้อยมาก เพราะเกษตรกรมักตัดโค่นออก และมักจะพบแคนาเกิดเป็นหย่อมๆในบางพื้นที่เท่านั้น