การปลูกแก้วกาญจนา เขียวหมื่นปี

Last Updated on 20 สิงหาคม 2014 by puechkaset

แก้วกาญจนา หรือชื่อเดิม เขียวหมื่นปี หรือเรียกภาษาอังกฤษว่า อโกลนีมา (Aglaonema) เป็นไม้ประดับที่มีลักษณะเด่นทางใบ มีถิ่นกำเนิดในทวีเอเชีย พบมากในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะไทย พม่า ลาว ถือเป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

เขียวหมื่นปี หรือคนโบราณเรียก ว่านขันหมา เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ในธรรมชาติจะแพร่พันธุ์โดยการงอกของเมล็ด ลักษณะลำต้นสีเขียว แตกใบออกตามลำตันตั้งแต่โคนต้นขึ้นไปคล้ายข่าหรือพืชตระกูลว่าน ใบมีอายุนานไม่ค่อยร่วงพลัดใหม่ จนมีลักษณะเป็นทรงพุ่มหนา ลักษณะใบมีสีเขียวสดถึงเขียวเข้ม บางสายพันธุ์มีแถบสีขาวกระจายทั่วไป คล้ายกับต้นสาวน้อยปะแป้ง ซึ่งมักทำให้เข้าใจผิดบ่อยครั้ง ใบมีลักษณะเรียวตรงก้านใบ กว้างตรงกลาง และเรียวลงในส่วนปลายใบ ความยาวของใบประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบกว้างประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ในช่วงแรกๆ มีการนำว่านขันหมามาปลูกในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น เขียวหมื่นปี เพื่อให้มีชื่อที่น่าฟัง และเป็นสิริมงคล หลังๆมามีการปลูกมากทั้งในแง่ของว่าน และได้เพิ่มความนิยมกลายมาเป็นไม้ประดับ

แก้วกาญจนา เป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนามาจาก เขียวหมื่นปี ซึ่งจะมีจุดเด่นกว่าที่สามารถให้สีที่มีความโดดเด่น ฉูดฉาด สวยงามกว่า ปัจจุบันจึงเป็นพันธุ์ที่มีการปลูกมากที่สุด ยิ่งพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีแดงมากก็จะทำให้ราคาสูงมากด้วย ส่วนเขียวหมื่นปี ที่เป็นตระกูลดั้งเดิมก็มีปลูกบ้างแต่ไม่มากนัก แต่ก็ยังมีความนิยมในลักษณะของสายพันธุ์ที่ให้ใบสีเขียวขนาดใหญ่ ทั้งเขียวสด และเขียวอ่อน

เขียวหมื่นปี
เขียวหมื่นปี

แก้วกาญจนาที่มีการผสมพันธุ์ให้มีสีแดงจะใช้สายพันธุ์โพธิ์บัลลังหรือพันธุ์ขันหมากชาววัง ซึ่งจะได้พันธุ์ลูกผสมที่มีสีแดงออกมา ปัจจุบันมีการผสมจนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นหลายพันธุ์

แก้วกาญจนา
แก้วกาญจนา

การขยายพันธุ์
แก้วกาญจนาหรือเขียวหมื่นปี เป็นพืชที่ชอบขึ้นตามที่ร่ม แสงแดดรำไร ดินมีความชื้นสูง ชอบดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก มีอินทรีย์วัตถุสูง อุณหภูมิประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส? สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธี ดังนี้
1. การแยกหน่อ เป็นวิธีที่นิยมมาก ด้วยการแยกหน่ออ่อนจากต้นแม่มาแยกเพาะในกระถาง และเลี้ยงให้โต หน่อที่แยกปลูกจะแตกออกจากบริเวณโคนลำต้น และมีรากติดแล้วจึงจะสามารถแยกได้

2. การตอนยอด เป็นวิธีที่ใช้สำหรับต้นที่สูง ยาว โดยการตอนบริเวณส่วนยอด และนำมาปลูกเพื่อให้ได้ต้นใหม่ที่สั้นลง
– เลือกลำต้นสูง ยาว ที่ต้องการตัดยอดให้สั้น
– เลือกบริเวณตอนยอด โดยให้มีปริมาณใบที่พอเหมาะตามความต้องการ
– ตัดก้านใบบริเวณที่จะตอนออกให้ลึกชิดลำต้น ประมาณ 3-5 ใบ ให้พอเหมาะกับถุงขุยมะพร้าวที่ใช้ตอน
– ใช้มีดกรีดตามแนวยาวลึกเพียงเล็กน้อย ประมาณ 0.5 เซนติเมตร
– หุ้มด้วยถุงขุยมะพร้าว พร้อมรัดด้วยยางหรือเชือกฟางหัว-ท้าย
– ประมาณ 20-30 วันรากจะงอก ให้ดูลักษณะสีของรากที่มีสีเหลืองหรือโคนรากออกสีน้ำตาลแล้วสามารถตัดต้นนำเพาะปลูกในกระถางต่อได้

3. การปักชำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
3.1 การปักชำยอด ใช้สำหรับปักชำในส่วนยอดจากลำต้นมีลักษณะสูงมาก เพื่อให้มีลำต้นที่สั้นลง แต่ยังคงมีใบเหลือติดอยู่ และยังสามารถตัดลำต้นเป็นท่อนๆเพื่อปักชำได้อีก วิธีนี้ ในระยะแรกจะพบว่าใบแก่จะเหี่ยวแห้งเหลือแต่บริเวณส่วนยอด หากการปักชำติด และติดเร็วก็จะทำให้ใบเจริญเติบโตต่อไปได้เหมือนกับต้นเดิม แต่จะเจริญเติบโตไม่ดีเท่ากับการตอนยอดที่ทำให้รากงอกก่อนตัดลำต้น

3.2 การปักชำลำต้น
– ตัดต้นพันธุ์ที่มีลำต้นสูงยาวเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร และต้องมีตาติดมาด้วย
– นำมาปักชำในถุงพลาสติกหรือกระถาง
– ให้นำทุกวัน วันละครั้ง ประมาณ 50-60 วัน จะแตกยอดบริเวณตาที่ข้อ
วิธีนี้ จะได้ลำต้นที่ไม่สวยเพราะมีลำต้นเดิมติดอยู่ ลักษณะลำต้นใหม่ไม่ต่อยเจริญเติบโตดีนัก ใบเล็ก และอายุสั้น

4. การเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่สำคัญมากสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้ลักษณะสายพันธุ์ใหม่ตามต้องการ โดยการผสมเกสรระหว่างเกสรตัวเมีย และเกสรตัวผู้ของต้นพ่อ-แม่ ที่มีลักษณะเด่น

ลักษณะดอกเกสรตัวเมียที่พร้อมในการผสมพันธุ์ จะเป็นดอกที่บานครั้งแรกของวันที่ 1 และวันที่ 2 โดยเฉพาะในช่วงเช้า สังเกตุจากดอกจะมีกลิ่นหอม อาจพบเมือกที่ปลายเกสร และมีขนฟูขนาดเล็กที่เกสร

การผสมเกสรสามารถทำได้โดยใช้แปรงขนอ่อนขนาดเล็กป้ายเขี่ยบริเวณเกสรเพศผู้เพื่อให้เกสรติดที่ขนแปรง และนำมาป้ายเขี่ยใส่เกสรเพศเมีย พร้อมให้หุ้มด้วยกระดาษหรือถุงพลาสติกเพื่อป้องกันการผสมเกสรที่เกิดจากแมลง หลังจากนั้นประมาณ 3-5 วัน จะพบการติดผลสีเขียวเล็กๆบนดอก และจะแก่พร้อมเก็บได้ประมาณ 7-8 เดือน ซึ่งผลแก่อาจจะมีสีแดง สีเหลืองหรือสีส้มหรือออกเป็นสีผสม

การเพาะเมล็ดให้เลือกใช้เมล็ดที่สมบูรณ์ และจากต้นพันธุ์ที่มีลักษณะเด่น วิธีการนี้สามารถให้ต้นที่เติบโตดี แข็งแรง มีลักษณะเด่นตามต้องการ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานมากกว่าวิธีอื่นๆ ทั้งนี้เกษตรกรหรือผู้ป่วยทั่วไปจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้เพื่อหาต้นพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นเป็นของตัวเอง แล้วค่อยมาขยายจากหน่อเพาะเพื่อขายต่ออีกที

การเตรียมดิน และกระถาง
– ดินที่ใช้ควรเป็นดินร่วนปนทราย
– ผสมดินกับอินทรีย์วัตถุต่างๆ เช่น ปุ๋ยหมัก มูลสัตว์ เศษใบไม้ แกลบ ขี้เถ้า ในอัตราส่วนระหว่างดินต่ออินทรีย์วัตถุ 1:1 หรือ 2:1
– ผสมปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-0 ขนาด 1 กำมือต่อดิน 1 ถัง
– นำดินใส่ถุงดำหรือกระถาง เตรียมสำหรับปลูก

การปลูก
การปลูกแก้วกาญจนาหรือเขียวหมื่นปีจะใช้วิธีการแยกเหง้าปลูกถือเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะจะได้ต้นที่มีความแข็งแรง เติบโตดี มีลักษณะเหมือนต้นพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งวิธีนี้มักทำหลังจากวิธีการเพาะเมล็ดที่มีการปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นต้นพ่อ ต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นตามต้องการแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ มีต้นพันธุ์ที่ผ่านการพัฒนาให้มีจุดเด่นต่างๆออกขายตามท้องตลาด ซึ่งไม่ต้องเสียเวลาในการเพาะเมล็ด เพียงจัดหาต้นพันธุ์ตามต้องการมาปลูก ทำการขยายหน่อ และเลี้ยงสักพักก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

– ให้คัดเลือกต้นอ่อนจากต้นพ่อแม่พันธุ์ที่ลักษณะเด่นตามต้องการ โดยมีใบอ่อนแล้ว 3-5 ใบ และมีรากงอกแล้ว
– ใช้มีดที่คมตัดตรงรอยต่อระหว่างหน่อใหม่กับต้นพันธุ์
– นำต้นอ่อนปลูกลงกระถาง กลบดินให้ท่วมโคนต้น
– นำกระถางตั้งไ้ในโรงเรือนหรือบริเวณที่มีแสงแดดรำไร เช่น ใต้ต้นไม้ และรดน้ำให้ชุ่ม
– รดน้ำทุกวัน วันละครั้ง ระวังไม่ควรรดน้ำให้ชุ่มมาก