หญ้าเนเปียร์/หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 ประโยชน์ และการปลูกหญ้าเนเปียร์

Last Updated on 26 มีนาคม 2019 by puechkaset

หญ้าเนเปียร์ (Napier Grass) จัดเป็นหญ้าอาหารสัตว์ที่นิยมปลูกมาก เนื่องจาก ลำต้น และใบมีขนาดใหญ่ และมีคุณค่างทางอาหารสัตว์สูง รวมถึงสามารถเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง สามารถเก็บเกี่ยวต้นได้ตลอดทั้งปี และเก็บเกี่ยวได้นาน 5-7 ปี ต่อการปลูก 1 ครั้ง

• วงศ์ : Gramineae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pennisetum purpureum Schumaach
• ชื่อสามัญ :
– Napier Grass
– Elephant Grass
• ชื่อท้องถิ่น :
– หญ้าเนเปียร์
• ถิ่นกำเนิด : แถบประเทศของแอฟริกา

ประวัติ
หญ้าเนเปียร์ (Pennisetum purpureum) มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศของแอฟริกา ปัจจุบันพบปลูกแพร่กระจายทั่วโลกในแถบประเทศอบอุ่น ส่วนประเทศไทยได้นำหญ้าเนเปียร์จากประเทศมาเลเซียเข้ามาปลูกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472 โดย นายอาร์ พี โจนส์ และในช่วงปี พ.ศ. 2504-2507 ประเทศไทยได้นำเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศมาปลูกอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรมปศุสัตว์ นำเข้าพันธุ์ลูกผสมจากประเทศอินเดียเข้ามาปลูก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
หญ้าเนเปียร์ เป็นหญ้าที่มีลำต้นขนาดใหญ่ ลำต้นแตกเป็นกอหรือแตกต้นใหม่ได้ ลำต้นมีลักษณะแข็งแรง มีลำต้นสั้นๆบางส่วนอยู่ใต้ดิน ลำต้นเหนือดินมีลักษณะทรงกลม และตั้งตรง ขนาดลำต้น 2-2.5 เซนติเมตร สูง 2-6 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง ประมาณ 15-20 ข้อ ส่วนรากมีเฉพาะระบบรากฝอยที่แตกออกจากเหง้าจำนวนมาก

หญ้าเนเปียร์

ต้นหญ้าเนเปียร์

ใบ
ใบหญ้าเนเปียร์ออกเป็นใบเดี่ยว ประกอบด้วยกาบใบที่ห่อหุ้มลำต้น และมีขนเล็กๆ นุ่มมือปกคลุม โดยตรงรอยต่อระหว่างกาบใบกับแผ่นใบมีลิ้นใบ ถัดมาเป็นแผ่นใบยาว แผ่นใบมีสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 70-100 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร แผ่นใบมีเส้นกลางใบขนาดใหญ่

ดอก
ดอกหญ้าเนเปียร์ออกเป็นช่อ แบบ spike ช่อดอกมีรูปทรงกระบอก สีเหลือง ยาวประมาณ 15-22 เซนติเมตร หนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ด้านในดอกมีเกสรตัวเมีย และตัวผู้

ผล และเมล็ด
หญ้าเนเปียร์พบติดผลได้น้อยมาก เปลือกผล และเมล็ดหุ้มติดกัน

พันธุ์หญ้าเนเปียร์
1. หญ้าเนเปียร์ยักษ์
ชื่อสามัญ : King grass
ชื่อวิทยาศาสตร์ : P. purpureum King grass
ต้นประเทศที่นำเข้า : ประเทศอินโดนีเซีย
ปีที่นำเข้า : มกราคม 2533
ผู้นำเข้า : นายชาญชัย มณีดุล
ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นสูง แตกกอง่าย ใบและลำต้นมีขน ให้ผลผลิตต่อไร่สูง 10-60 ตัน/ไร่/ปี หรือมากกว่า  (ตัดหลายรุ่นต่อปี) ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และน้ำ

2. หญ้าเนเปียร์แคระ
ชื่อสามัญ : Mott Dwarf Elephant Grass
ชื่อวิทยาศาสตร์: P. purpureum cv. Mott
ต้นประเทศที่นำเข้า : มหาวิทยาลัยแห่งรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
ปีที่นำเข้า : พฤศจิกายน 2532
ผู้นำเข้า : นายวิฑูรย์ กำเนิดเพชร
ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นเตี้ย แตกกอง่าย เป็นพุ่ม ใบ และลำต้นมีขน

เนเปียร์แคระ
หญ้าเนเปียร์แคระ

3. หญ้าเนเปียร์ปากช่อง1 (พันธุ์ลูกผสม)
ชื่อสามัญ : Pak Chong 1
ชื่อวิทยาศาสตร์: P. purpureum x pennisetum americanum
พันธุ์ดั้งเดิม : หญ้าเนเปียร์ยักษ์ และหญ้าไข่มุก
หน่วยงานพัฒนาสายพันธุ์ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ โคราช กรมปศุสัตว์
ลักษณะเด่นชัด : ลำต้นสูงใหญ่ เหมือนเนเปียร์ยักษ์ ลำต้นอวบ และออกเขียวอ่อน ใบ และลำต้นไม่มีขน ลดการคันขณะเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตเหมือนกับหญ้าเนปียร์ยัก ผลผลิตต่อไร่สูง 10-60 ตัน/ไร่/ปี หรือมากกว่า  (ตัดหลายรุ่นต่อปี) ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และน้ำ

ประโยชน์หญ้าเนเปียร์
1. ใช้ปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะโคเนื้อ โคนม และกระบือ ซึ่งเหมาะสมสำหรับการให้กินสด และการทำหญ้าหมัก
2. ใช้เป็นชีวะมวลสำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า
3. ใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน
4. ลำต้นใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษ
5. ลำต้นนำมาสับ และอัดเป็นแท่งสำหรับเป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหาร
6. หญ้าเนเปียร์มีโปรตีนสูง และให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าหญ้าทุกสายพันธุ์ เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับวัวขุน โคขุนและวัวชนทุกระยะ

คุณค่าทางโภชนาการหญ้าเนเปียร์ (อายุ 45 วัน : 100 กรัม)
– พลังงาน : 175.40 แคลอรี่
– โปรตีน : 7.32 กรัม
– ไขมัน : 0.99 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 34.32 กรัม
– ความชื้น : 8.68 กรัม
– เถ้า : 11.51 กรัม
– กาก : 37.21 กรัม
– แคลเซียม : 247.5 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 203.9 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 12.4 มิลลิกรัม

ปริมาณโปรตีนที่พบ นั่นหมายถึงว่า มีโปรตีนสูงถึง 7.32%

ที่มา : 1)

คุณสมบัติที่ดีของหญ้าเนเปียร์
– ลำต้น และใบมีขนาดใหญ่ ลำต้นเติบโตได้เร็ว และให้ผลผลิตต่อไร่สูงมาก
– มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เหมาะสำหรับเป็นอาหารหยาบเลี้ยงสัตว์
– ลำต้นแตกกอใหม่ได้เร็ว ให้ผลผลิตได้ทั้งปี และเก็บผลผลิตได้ยาวถึง 5-7 ปี
– ลำต้น และใบ มีปริมาณแป้ง และน้ำตาลสูง หากนำไปหมักอาจไม่ต้องเติมกากน้ำตาล
– ลำต้น และใบ แก่ช้า
– ลำต้น และใบมีความอ่อนนุ่ม สัตว์เคี้ยวได้ง่าย
– ไม่พบโรค และแมลงทำลาย
– ทนต่อสภาพแห้งแล้งได้เล็กน้อย
– ทนต่อสภาพน้ำขังได้บ้าง
– เติบโตได้ดีในทุกสภาพดี
– ทนต่อดินเปรี้ยวได้ดี
– ทนต่อดินเค็มได้ดี
– เหมาะสำหรับการให้สัตว์กินสด และการทำหญ้าหมัก

ข้อจำกัดหญ้าเนเปียร์
– ไม่ค่อยทนต่อการเหยียบย่ำ
– ไม่ทนต่อสภาพน้ำขัง
– ไม่เหมาะสำหรับการทำหญ้าแห้ง เพราะลำต้น และใบมีขนาดใหญ่

หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1
หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นหญ้าระหว่างหญ้าเนเปียร์ยักษ์ และหญ้าไข่มุก ซึ่งในปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และนิยมอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ

หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 ลำต้นมีอายุหลายปี ลำต้นมีความสูงได้มากกว่า 4 เมตร ลำต้นมีระบบรากแข็งแรง สามารถดูดนํ้า และปุ๋ยได้ดี ทำให้เป็นหญ้าที่เจริญเติบโตเร็ว โดยเฉพาะน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการเกษตรต่างๆ อาทิ น้ำเสียจากโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง เมื่อให้แก่ หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 พบว่า ลำต้น และใบตอบสนองได้ดีมาก จึงเป็นประโยชน์อีกทางที่จะนำน้ำเสียมากำจัด และใช้ประโยชน์ได้มาก

ลักษณะเด่น
– เติบโตเร็ว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง
– ลำต้น และใบมีน้ำตาล และโปรตีนสูง รวมถึงโภชนาการอื่นๆสูงด้วย
– ลำต้น และใบมีความอ่อนนุ่ม ใบไม่มีขน และไม่มีคม ทำให้สัตว์ชอบกิน
– ตอบสนองต่อน้ำและปุ๋ยได้ดี
– ลำต้นแตกกอ และเติบโตเร็ว
– ลำต้น และใบแก่ช้า
– ทนต่อสภาพแล้งได้
– เติบโตได้ดี แม้ในฤดูหนาว
– ฤดูหนาวสามารถเติบโตได้ดี ลำต้นไม่หยุดชะงัก
– มีระยะออกดอกสั้น ไม่ติดเมล็ด
– ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และเก็บเกี่ยวได้นานถึง 5-7 ปี หลังจากการปลูก
– มีปริมาณน้ำตาลในใบและลำต้นสูง
– ไม่มีโรค และแมลงรบกวน
– เหมาะกับฟาร์มหรือเกษตรเลี้ยงโค กระบือ ที่มีพื้นที่น้อย

การปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1
หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 สามารถปลูกได้ด้วยการใช้ท่อนพันธุ์ เพราะไม่มีการติดเมล็ดหรือติดเมล็ดน้อยมาก โดยหญ้าพันธุ์นี้สามารถเติบโตได้ดีในทุกสภาพดินของทุกภาค แต่โดยทั่วไปจะชอบดินที่มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง และมีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารสูง โดยมีช่วงการปลูกในต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เพื่อให้ลำต้นเติบโตด้วยน้ำฝนตามธรรมชาติ

ท่อนพันธุ์

การเตรียมแปลง
เตรียมแปลงด้วยการไถกลบดิน ให้ลึกไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินนาน 1 อาทิตย์ ทั้งนี้ หากพื้นที่ไม่รกมาก ให้หว่านปุ๋ยคอก ประมาณ 2 ตัน/ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 30- กิโลกรัม/ไร่ ก่อนทำการไถกลบ แต่หากพื้นที่รกมาก ให้ไถกลบดิน 2 รอบ โดยหว่านปุ๋ยก่อนการไถในรอบที่ 2 และหากปลูกแบบร่อง แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ที่มีความลาดชันเล็กน้อย เพื่อให้ระบายน้ำได้ดี

ขั้นตอนการปลูก
ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกจะต้องเป็นลำต้นที่มีข้อปล้องสมบูรณ์ โคนต้นมาการแตกรากบ้างแล้ว ซึ่งจะใช้ลำต้นที่มีอายุตั้งแต่ 3-4 เดือน ขึ้นไป จนถึง 1 ปี แบ่งลักษณะการปลูก ได้ดังนี้
• การปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก
การปลูกลักษณะนี้จะใช้พื้นที่เพียงไม่กี่ไร่ ซึ่งมักเป็นการปลูกสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ของตนเอง โดยมีการใช้แรงงานคนในการปลูกเป็นสำคัญ

ขั้นตอนการปลูกจะเริ่มจากการตัดท่อนพันธุ์ให้เป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความยาวข้อเป็นสำคัญ โดยให้แต่ละท่อนมีข้อ 2 ข้อ ห้ามน้อยกว่านี้ หลังจากนั้น นำท่อนพันธุ์ 2 ท่อน ปักลงดิน โดยให้ข้อแรกของโคนท่อนปักลึกลงดิน ส่วนข้อที่ 2 ให้อยู่เหนือดิน โดยทั้ง 2 ท่อน จะปักลงดินในลักษณะที่ไขว้กันให้เอียงประมาณ 30-40 องศา ระยะปลูกของต้นที่ 70-80 เซนติเมตร และระยะแถว 100-120 เซนติเมตร ทั้งนี้ อาจใช้ท่อนพันธุ์เพียงท่อเดียวก็ได้หากมีข้อจำกัดด้านปริมาณท่อนพันธุ์ที่ใช้

การปลูก

• การปลูกแบบอ้อยหรือแบบไถร่อง
การปลูกวิธีนี้ มักใช้กับแปลงปลูกขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการไถยกร่อง และวางท่อนพันธุ์ที่คล้ายกับการปลูกอ้อยการปลูกนั้นจะเริ่มจาก การวางท่อนพันธุ์ทั้งท่อนต่อกันในแนวร่อง จากนั้น ค่อยตัดท่อนพันธุ์ และจัดเรียงให้ห่างกันประมาณ 85 เซนติเมตร หรือ ใช้วิธีตัดท่อนพันธุ์ก่อน แล้วค่อยวางท่อนพันธุ์ในร่อง ก่อนจะไถกลบท่อนพันธุ์ให้ดินถมตามความเหมาะสมในฤดู

การให้น้ำ
หากปลูกเพื่อใช้เลี้ยงโคไม่กี่ตัว และปลูกในแปลงขนาดเล็ก เกษตรมักปล่อยให้เติบโตด้วยการอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ แต่หากปลูกในแปลงขนาดใหญ่ มักใช้อุปกรณ์การให้น้ำ อาทิ ระบบน้ำสปริงเกอร์ หรือสูบน้ำปล่อยให้ไหลตามแปลง ระยะการให้น้ำประมาณ 7-10 วัน/ครั้ง โดยเฉพาะฤดูแล้งที่ต้องให้อย่างสม่ำเสมอ

การใส่ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ย มักใส่หลังการกำจัดวัชพืชเสร็จ โดยหลังจากปลูกที่ท่อนพันธุ์แทงหน่อแล้ว 2 อาทิตย์ ให้ใส่ปุ๋ยคอก ประมาณ 2-3 ตัน/ไร่ และปุ๋ยยูเรีย 20-30 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม

ต้นอ่อนหญ้าเนเปียร์

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
หลังจากที่หญ้าเนเปียร์ขึ้นต้นใหม่ ประมาณ 60-75 วัน สามารถเริ่มตัดได้ครั้งแรก ส่วนการตัดครั้งต่อไป และการตัดในทุกๆครั้งจะตัดห่างกันประมาณ 50-60 วัน หรือมากกว่าเล็กน้อย แต่หากต้องการหญ้าสดที่อ่อนพอดีควรตัดในช่วง 45-50 วัน

วิธีตัดหญ้าเนเปียร์ทำได้หลายวิธี อาทิ การใช้เคียว การใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพาย การใช้เครื่องยนต์ตัดเก็บ เป็นต้น ทั้งนี้ ควรตัดลำต้นหญ้าเนเปียร์ให้เหลือตอสูงจากพื้นประมาณ 10 เซนติเมตร

การดูแลหลังเก็บเกี่ยว
หลังการตัดหญ้าทุกครั้ง จำเป็นต้องบำรุงตอหญ้าให้แตกหน่อใหม่ได้เร็ว ด้วยการใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยยูเรีย โดยหว่านปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 ตัน/ไร่ แล้วรำน้ำให้ชุ่ม และหลังจากที่ตอแตกหน่อใหม่แล้ว 2 อาทิตย์ จึงใส่ด้วยปุ๋ยยูเรีย อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้ การใส่ปุ๋ยยูเรีย ระวังห้ามใส่ชิดโคนต้นมาก เพราะอาจทำให้หน่อตายได้ นอกจากนั้น ให้สลับสูตรปุ๋ยครั้งต่อไปเป็นสูตร 15-15-15 สลับกับปุ๋ยยูเรียหลังการตัดในแต่ละครั้ง

แปลงหญ้าเนเปียร์

ผลผลิตหญ้าเนเปียร์
1. หญ้าเนเปียร์ต้นสด
เป็นการเก็บหญ้าเนเปียร์แบบต้นสด และไม่มีการสับหรือบด โดยตัดเป็นต้น และนำไปให้สัตว์กินโดยตรง ทั้งนี้ นิยมตัดต้นอ่อนในระยะเติบโตที่ยังไม่มีข้อมาก
2. หญ้าเนเปียร์บดสด
เป็นการเก็บหญ้าเนเปียร์แบบนำมาบดสด ทั้งการบดในแปลงด้วยเครื่องจักร หรือ ตัดมือ แล้วขนมาบดด้วยเครื่องจักร ทำให้ได้หญ้าเนเปียร์แบบบดเป็นชิ้นเล็กๆ สัตว์เลี้ยงสามารถกินได้ง่าย และลดการสูญเสียได้เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับแบบให้ทั้งต้นสด ปัจจุบันมีการปลูกในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายมากขึ้น

ภาพจากคุณพร จ.กาญจนบุรี

3. หญ้าเนเปียร์หมัก
เป็นผลผลิตหญ้าเนเปียร์ที่ได้จากการนำหญ้าเนเปียร์บดสดมาหมัก โดยมีส่วนผสมหลายแบบตามที่ต้องการ เช่น หมักกับยูเรีย หมักกับกากน้ำตาล หรือ ควบคู่ทั้งสองอย่าง เป็นต้น ทำให้หญ้าเนเปียร์มีความหยาบน้อยลง สัตว์เลี้ยงสามารถเคี้ยว และได้ย่อยง่าย รวมถึงนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับหญ้าสดที่ไม่ได้หมัก
4. หญ้าเนเปียร์บดแห้ง
เป็นผลผลิตหญ้าเนเปียร์ที่ได้จากการนำหญ้าเนเปียร์บดสดมาตากแห้ง 2-3 วัน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ทำให้ได้หญ้าเนเปียร์บดแห้ง สามารถเก็บไว้ได้นานหลายสัปดาห์ และมีกลิ่นหอม แต่หากต้องการเก็บไว้นานมากขึ้นในหลายเดือน ต้องผ่านกระบวนการตากที่ความชื้นไม่ควรเกินกว่า 15-20% แต่ทั้งนี้ การให้หญ้าเนเปียร์บดแห้งจะทำให้สัตว์ต้องการน้ำเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการให้แบบบดสดหรือแบบหมัก ดังนั้น ต้องมั้นให้น้ำทุกๆ 3-6 ชั่วโมง ในช่วงการกินอาหาร ปัจจุบันมีการปลูกในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งเกิดจากฟาร์ที่ขายแบบบดสด

เหมาะสำหรับโค แพะ แกะ ม้า วัวขุน โคขุน และวัวชนทุกระยะ

*****************************************************

ขอบคุณภาพจาก www.technologychaoban.com, mygreengardens.com, talung.gimyong.com, aecplastic.com

เอกสารอ้างอิง
1 ) Dumrong Leenanuruksa, 2522. การผลิตหญ้าแห้งเพื่อเลี้ยงโค กระบือจากหญ้าเนเปียร์. งานวิจัย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.