Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
หญ้ารีแพร์ หรือเรียก หญ้าหียุ่ม (Barbed grass) จัดเป็นหญ้าสมุนไพรป่าชนิดหนึ่งที่สตรีหลังคลอดนิยมใช้สำหรับกระชับช่องคลอด และช่วยให้มดลูกเข้าอู่ให้เร็วขึ้น รวมถึงใช้สารสกัดเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางสำหรับการบำรุงผิว ปัจจุบัน มีการปลูกหญ้ารีแพร์เพื่อจำหน่ายมากขึ้นในหลายท้องที่
• วงศ์ : Poaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centotheca lappacea (L.) Desv.
• ชื่อสามัญ : Barbed grass
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– หญ้ารีแพร์
– หญ้าหียุ่ม
– เป้าหียุ่ม
– ขนหมอยแม่หม่าย
– หญ้าเหนียวหมา
– หญ้าอีเหนียว (ชัยนาท)
– หญ้าไผ่เล็ก (ปราจีนบุรี)
ภาคใต้
– หญ้าหมอยแม่หม้าย, ขนหมอยแม่ม่าย (สตูล)
– หญ้าเหล็กไผ่ (สุราษฎร์ธานี)
– เหนียวหมา (ระนอง)
• มาเลเซีย :
– Rumputdarah
– Rumputlilitkain
– Rumputtemega
– Rencambuluh
ที่มา : [1], [2], [4]
การแพร่กระจาย
หญ้ารีแพร์ เป็นพืชตระกูลไผ่ที่พบได้ทุกภาค พบได้มากในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบชื้น พบได้มากบริเวณที่ราบเชิงเขา เชิงเขา หรือภูเขาสูง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้ารีแพร์ เป็นพืชล้มลุกตระกูลไผ่ อายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้องทรงกลม ขนาดเล็ก สูงประมาณ 30 – 70 เซนติเมตร ลำต้นถูกหุ้มด้วยกาบใบ สีเขียวอมม่วง ลำต้นไม่มีแก่น อ่อน และหักง่าย แต่เหนียวเด็ดด้วยมือขาดได้ยาก โคนลำต้นแตกหน่อแยกเป็นต้นใหม่ และกลายเป็นกอใหญ่ได้
ใบ
หญ้ารีแพร์เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แทงใบออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงเยื้องสลับกันตามความสูงของลำต้น มีกาบใบสีเขียวอมม่วงหุ้มลำต้นตั้งแต่บริเวณเหนือข้อขึ้นมา ก้านใบสั้นติดกับกาบใบ ลิ้นใบ (Ligule) เป็นแผ่นบางๆ สีน้ำตาลติดกับโคนก้านใบ แผ่นใบมีรูปหอก กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวเข้ม ขอบใบโค้งเป็นลูกคลื่นขวางเข้าหากลางใบ แผ่นใบมีเส้นใบเป็นริ้วเล็กจำนวนมากตามแนวยาวของใบ
ดอก
หญ้ารีแพร์ออกดอกเป็นช่อแขนง คล้ายช่อของดอกหญ้าทั่วไป ช่อดอกแทงออกบริเวณปลายยอดของลำต้น มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 15 – 45 เซนติเมตร ประกอบช่อดอกย่อย (Spikelets) ที่ประกอบด้วยดอกย่อย 10-30 ดอก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้นๆ
เมล็ด
เมล็ดหญ้ารีแพร์มีลักษณะรียาว กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว เมล็ดแก่มีสีเหลือง บริเวณกาบหุ้มเมล็ดด้านล่างมีติ่งแหลมคล้ายหนาม ที่ทำหน้าที่ปักยึดขนสัตว์หรือเสื้อผ้า เพื่อให้เมล็ดติดไปหล่นห่างจากลำต้น [1] อ้างถึงใน นลิษา มณีแจ่ม (2558)
ประโยชน์หญ้ารีแพร์
1. หญ้ารีแพร์ถูกใช้ประโยชน์มากในแง่สมุนไพร โดยเฉพาะในสตรีหลังคลอดบุตรที่ช่วยให้ช่องคลอดกระชับ และมดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ด้วยการต้มดื่มหรือคั้นน้ำทาบริเวณช่องคลอด นอกจากนั้น ยังใช้เพื่อการดูแลผิวพรรณให้แลดูสดใส
2. สารสกัดจากหญ้ารีแพร์ใช้เป็นเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิว ครีมกันแดด ทำหน้าที่ช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื้น ผิวพรรณแลดูเปล่งปลั่ง นอกจากนั้น สารสกัดจากหญ้ารีแพร์ยังใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริม ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และเสริมสร้างคอลลาเจน [3]
3. หญ้ารีแพร์ใช้ปลูกเป็นอาหารสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ โค กระบือ แพะ และแกะ เป็นต้น
4. หญ้ารีแพร์เป็นพืชเศรษฐกิจสมุนไพรตัวใหม่ ทั้งแบบเก็บจากแหล่งธรรมชาติ และการปลูกเพื่อจำหน่ายในรูปหญ้ารีแพร์สด และหญ้ารีแพร์แห้ง กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นสตรีหลังคลอดบุตร
การใช้ประโยชน์ในต่างประเทศ
1. ในมาเลเซียใช้หญ้ารีแพร์ต้มดื่ม ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยขับนิ่ว และขับปัสสาวะ
2. ประเทศในแถบแปซิฟิกใต้นิยมใช้หญ้ารีแพร์เป็นยาลดไข้หรือยาแก้ปวด ทั้งทำเป็นยาทาภายนอก และดื่มหรือรับประทานเป็นยาภายใน เช่น การนำหญ้ารีแพร์ หญ้าข้าวนก และหญ้าสนกระจับมาตำบดผสมกัน จากนั้น ห่อด้วยผ้าบางๆ ก่อนนำลงคั้นน้ำในภาชนะ แล้วดื่มหรือผสมกับน้ำมะพร้าวดื่ม ส่วนกากที่เหลือหลังการคั้นจะใช้ทาพอกรักษาแผลหรือประคบบริเวณที่มีอาการปวด
3. ชนพื้นเมืองที่อาศัยในหมู่เกาะ Rotunma และหมู่เกาะใกล้เคียงในมหาสมุทรแปซิฟิก นิยมใช้ใบหญ้ารีแพร์ต้มดื่มเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ
4. บางประเทศในเอเชียใต้ นำหญ้ารีแพร์ต้มดื่มเพื่อรักษาเลือดออกในช่องคลอดหรือช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อช่องคลอด ช่วยให้ช่องคลอดกระชับ รวมถึงช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น ยังนำหญ้ารีแพร์มาบดทาพอกรักษาแผล [2]
สารสำคัญในหญ้ารีแพร์
1. Bamboo Silica
– ตามตำราอายุรเวทใช้พืชสกุลไผ่สำหรับบำรุงร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก และเนื้อเยื่อ และช่วยรักษาแผลให้หายเร็ว
– เป็นสารที่ใช้ในการสร้างคอลลาเจน และน้ำไขข้อในร่างกาย มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective Tissue) เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เพิ่มน้ำเมือกในช่องคลอด ทำให้หล่อลื่นได้ดีขึ้น
– ปริมาณซิลิกาในใบไผ่หรือพืชสกุลไผ่มีประมาณ 8.12-9.95%
– สารสกัดของใบไผ่หรือพืชสกุลไผ่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด มีสรรพคุณที่สำคัญ คือ ช่วยต้านการเสื่อมของเซลล์ ช่วยบำรุงผิว ช่วยเพิ่ม และรักษาความชุ่มชื้น
2. สารต้านอนุมูลอิสระ
สารสกัดหญ้ารีแพร์ประกอบด้วยสารสำคัญหลายชนิด อาทิ สารในกลุ่มฟีนอลิก (Phenolic Compounds) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารเหล่านี้ ออกฤทธิ์สำคัญต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง และช่วยชะลอความแก่
3. สารยับยั้งการทำลายคอลลาเจน
สารสกัดหญ้ารีแพร์ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำลายคอลลาเจน และช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน โดยทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Collagenase (MMP-1) และ gelatinase (MMP-2) ช่วยชะลอการถูกทำลายของคอลลาเจน (Collagen) และอีลาสติน (Elastin) ทำให้คงสภาพความแข็งแรง และความยืดหยุ่นของผิว เซลล์ผิวเสื่อมหรือเกิดริ้วรอยช้าลง [2]
สรรพคุณซิลิกาในหญ้ารีแพร์
1. รักษาสมดุล และซ่อมแซมโครงสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อในร่างกาย รวมถึงช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบกระดูก และกล้ามเนื้อ อาทิ ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแคลเซียม
2. ช่วยฟื้นฟูรักษาแผลให้หายเร็ว
3. ช่วยฟื้นฟู และเสริมการสร้างคอลลาเจนในเซลล์ผิว ทำให้ผิวพรรณแลดูเต่งตึง สดใส ลดการเกิดริ้วรอย
4. ช่วยฟื้นฟู และเสริมการสร้างคอลลาเจนในเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อกระชับ และทำงานได้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว อาทิ กล้ามเนื้อภายในช่องคลอด
5. ต้านการติดเชื้อของแผล
6. ลดภาวะการเกิดโรคจากวัยที่หมดประจำเดือน
7. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รักษาความชุ่มชื้นของเซลล์ผิว เพิ่มความยืดหยุ่น และความกระชับของเซลล์ผิว
8. ช่วยป้องกันโรคในช่องปาก และฟัน
9. ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และความเงางามของเล็บ
10. ช่วยกระตุ้นการงอกของเซลล์เส้นผม ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความดกดำ และลดการหลุดของเส้นผม
11. เสริมสร้างความแข็งแรงของหลอดเลือด ป้องกันหลอดเลือดในสมองแตก
12. เสริมความแข็งแรงของเนื้อเยื่อปอด ช่วยให้ปอดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดการติดเชื้อในปอด
13. ป้องกันนิ่วในไตในระบบทางเดินปัสสาวะ
14. ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
15. กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
16. ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และสมอง [3]
สรรพคุณทั่วไปหญ้ารีแพร์
ต้มดื่มหรือรับประทาน
– ช่วยกระชับช่องคลอดหลังการคลอดบุตร
– ช่วยบีบมดลูกให้แห้ง ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
– ช่วยรักษาแผลในช่องคลอดหลังคลอดบุตร
– ช่วยขับน้ำคาวปลา
– บำรุงร่างกาย
– ช่วยให้ผิวพรรณกระจ่างใส
– แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
– ช่วยขับปัสสาวะ
– รักษาริดสีดวง
ต้มน้ำอาบหรือบดคั้นน้ำใช้ภายนอก
– นำน้ำคั้นหรือน้ำต้มหญ้ารีแพร์ล้างทำความสะอาดช่องคลอด ช่วยรักษาแผล ช่วยให้ช่องคลอดกระชับ – ทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้น เปล่งปลั่ง
– ช่วยห้ามเลือด
– ช่วยรักษาแผล บรรเทาอาการปวดบวมของแผล
– แก้ผดผื่นค้น
– รักษาโรคผิวหนัง
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยรักษาฝี โดยนำหญ้ารีแพร์ห่อผ้า ก่อนอังไฟให้ร้อน แล้วนำมาประคบบนฝี
เพิ่มเติมจาก : [1]
ข้อควรระวัง
การใช้หญ้ารีแพร์ในช่องคลอด ควรนำน้ำที่คั้นได้ต้มผ่านความร้อนก่อน ไม่ควรใช้น้ำคั้นสด เพราะอาจติดเชื้อได้ง่าย
การขยายพันธุ์ และการปลูกหญ้ารีแพร์
หญ้ารีแพร์เป็นพืชระดับล่างที่เติบโตได้ดีในแสงรำไรหรือเติบโตภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้น ตามธรรมชาติ หญ้ารีแพร์จะแพร่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก แต่หากนำมาปลูกสามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ด และการแยกเหง้าปลูก
การปลูกหญ้ารีแพร์ควรปลูกในหน้าฝน นิยมปลูกด้วยการแยกหน่อ และสามารถปลูกด้วยการหว่านเมล็ดได้เช่นกัน โดยการปลูกแยกหน่อหรือแยกกอจะง่ายที่สุด เพราะหญ้ารีแพร์สามารถแตกหน่อใหม่ และขยายกอได้อย่างรวดเร็ว
หน่อหรือต้นที่แยกปลูก อาจใช้เพียง 3-5 ต้น/หลุม ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว ประมาณ 30-50 เซนติเมตร หลังขุดหลุมให้โรยด้วยปุ๋ยคอก อาทิ มูลโค มูลไก่หรือมูลสุกร รวมถึงปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 กำมือ/หลุม จากนั้น คลุกปุ๋ยกับดินให้เข้ากัน ก่อนนำหญ้ารีแพร์ลงปลูก หลังการปลูก หากฝนไม่ตกให้รดน้ำทุกวัน เมื่อต้นตั้งตัวได้ค่อยปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ
ขอบคุณภาพจาก Pantip.com/, Pinterest.com/, NanaGarden.com
เอกสารอ้างอิง
[1] ธนัฎฐา สุทธิมาศ, 2558, การพัฒนาสารสกัดหญ้ารีแพร์-
เพื่อใช้ในเครื่องสาอาง.
[2] สุภาภรณ์ ปิติพร, 2557, บันทึกของแผ่นดิน 7 สมุนไพรดูแลแม่หญิง.
[3] สุภาภรณ์ ปิติพร, 2557, บันทึกของแผ่นดิน 8 ชะละวัยไกลโรค.
[4] กนกพร อะทะวงษา, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, สมุนไพรวัยทอง, วัยทอง, สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.medplant.mahidol.ac.th/events/25580128/doc25580128_03.pdf/.