Last Updated on 12 ธันวาคม 2016 by puechkaset
สารพัดพิษ (Necklace Pod) จัดเป็นพรรณไม้ป่าที่มีพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งหากได้รับเข้าไปมากจะมีผลทำลายระบบประสาท แต่ก็มีบางรายงานที่กล่าวถึงสรรพคุณของสารพัดพิษ โดยเฉพาะสรรพคุณในการถอนพิษงูหรือพิษจากสัตว์มีพิษต่างๆได้ดี
คำว่า สารพัดพิษ อาจตั้งขึ้นด้วยคุณสมบัติของพืชใน 2 แง่ คือ
1. สารพัดพิษ เพราะเป็นพืชมีพิษ
2. สารพัดพิษ เพราะสามารถรักษาพิษสัตว์กัดต่อยได้หลายชนิด
• ชื่อวงศ์ : Leguminosae หรือ Fabaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sophora tomentosa L.
• ชื่อสามัญ :
– Necklace Pod
– Yellow Necklace Pod
– Silverbush
• ชื่อท้องถิ่น :
– สารพัดพิษ
– ซับพิษ
– ส้มพอ
– กักไม้ฝอย
– สะนาน
ที่มา : (1), (3)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สารพัดพิษ เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุนาน 20-30 ปี ลำต้นแตกกิ่งเป็นทรงพุ่ม สูงประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นอ่อน และกิ่งอ่อนมีเปลือกสีเขียวนวล ลำต้นที่โตเต็มที่ และกิ่งแก่มีสีเทาอมน้ำตาล และมีขนสีนวลปกคลุม
ใบ
ใบสารพัดพิษ ใบประกอบแบบขนนกแบบใบเดี่ยว (ใบสุดท้ายมีใบเดียว) ประกอบด้วยก้านใบหลัก ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร บนก้านใบหลักมีใบย่อย 13-21 ใบ ใบย่อยมีรูปไข่กลับ โคนใบ และปลายใบโค้งมน บางชนิดปลายสุดของใบเป็นติ่งแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร
ดอก
ดอกสารพัดพิษออกเป็นช่อ แทงออกที่ปลายยอดในแต่ละกิ่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร แต่ละก้านช่อมีดอกย่อย 15-40 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะทรงกระบอก คล้ายดอกแคบ้าน ยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงที่มีลักษณะเป็นรูปถ้วยสีเหลืองอมเขียวห่อหุ้มดอกไว้ ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีลักษณะรียาว จำนวน 5 กลีบ แต่ละกลีบยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตร แผ่นกลีบดอกมีสีเหลือง
ผล
ผลสารพัดพิษ เรียกเป็นฝัก ออกเป็นผลเดี่ยว ผลมีลักษณะแปลก คือ ผลมีลักษณะขอดเป็นข้อหรือก้อนนูน 1-10 ขอด เรียงกันยาวคล้ายสร้อยลูกปัด ฝักอ่อนมีสีเขียวสด และมีขนนวลปกคลุม ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล แล้วแห้งกลายเป็นสีดำ
เมล็ดสารพัดพิษจะมีจำนวนตามขอดหรือก้อนนูนบนฝัก เช่น จำนวนขอด 5 ขอด ก็จะมีเมล็ด 5 เมล็ด ซึ่งเมล็ดจะแทรกอยู่ภายในขอด เมล็ดในฝักอ่อนมีสีเขียวอมขาว เมล็ดแก่มีสีน้ำตาล เปลือกเมล็ดค่อนข้างแข็ง
ประโยชน์ และสรรพคุณสารพัดพิษ
ในเอกสารหลายฉบับกล่าวถึงสรรพคุณของสารพัดไว้หลายประการ แต่ควรพิจารณาให้รอบคอบหากนำไปใช้ เพราะต้นสารพัดก็มีเอกสารหลายฉบับกล่าวถึงเฉพาะพิษที่รุนแรงเช่นกัน โดยสรรพคุณที่มีกล่าวกล่าวถึง ได้แก่
ลูกสด และเมล็ด (รสเย็น)
– แก้ไข้เซื่องซึม
– ใช้บดทารักษาฝีหนอง
ราก (รสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มดื่ม)
– แก้พิษร้อน
– แก้ร้อนใน บรรเทาอาการกระหายน้ำ
– แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
ราก (บดหรือฝนทาภายนอก)
– ใช้ทาแก้แก้พิษงู พิษแมลงป่อง และตะขาบต่อย
– ใช้ทาแก้ปวดฝี
– ใช้ทาผิวบริเวณร้อนใน แก้ปวดแสบปวดร้อน
ฝัก และเมล็ด (ต้มดื่ม)
– แก้พิษร้อน
– แก้ร้อนในกระหายน้ำ
– แก้ไข้เซื่องซึม
– แก้พิษไข้
– รักษาบิดเรื้อรัง
– รักษาอาการท้องเสีย
ใบ (นำมาต้มดื่ม)
– ใช้ถอนพิษงู และพิษจากสัตว์
ใบ (ใช้ภายนอก)
– ใช้ถอนพิษงู และพิษจากสัตว์
– รักษาแผลน้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้ ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบ ปวดร้อน ทำให้แผลหายเร็ว
ตำรายาไทย บรรยายการนำสารพัดพิษมาใช้ถอนพิษงู โดยนำเอาใบของสารพัดพิษมาตำโขลก และผสมกับเหล้าโรง แล้วคั้นเอาน้ำมาดื่ม และนำส่วนของรากให้นำมาตำบดเช่นกันแล้วนำมาพอกบริเวณแผลงูกัด ซึ่งสามารถดับพิษได้ภายใน 1-2 ชั่วโมง รวมถึงสามารถนำไปใช้ดับพิษสัตว์ชนิดอื่นๆ อาทิ พิษแมงป่อง พิษและตะขาบ เป็นต้น
การใช้สารพัดพิษสำหรับบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อนจากน้ำร้อนลวก ให้นำใบสารพัดพิษมาคั่วไฟกับน้ำมันพืช น้ำมันมะพร้าว ก่อนนำน้ำมัน และใบที่เคี่ยวแล้วมาทารักษาแผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก
ที่มา : (1), (2)
ความเป็นพิษของสารพัดพิษ
บางสถาบันกล่าวว่า สารพัดพิษเป็นพืชที่มีสารพิษ ซึ่งพบสารพิษสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ได้แก่
– Nicotine
– Cytocine
– Labelline
อาการหลังได้รับพิษ
หลังรับประทานสารพัดพิษเข้าไป จะทำให้เกิดอาการของพิษภายใน 15 นาที ได้แก่
– ระคายเคือง หรือแสบร้อนในช่องปาก
– น้ำลายออกมาก
– คลื่นไส้ อาเจียน และอาจอาเจียนเป็นเลือด
– มีอาการท้องเสียบ้าง
– เหงื่อออก กระหายน้ำ
– อุณหภูมิร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างเร็ว
– ม่านตาขยาย
– ปัสสาวะไม่ค่อยออก
– มีอาการปวดศรีษะ มึนงง มีอาการสับสน
– มีอาการเคลิ้มฝัน
– หากได้รับมากจะมีอาการชัก และมีอาการเป็นอัมพาต
– ระบบประสาทไม่ตอบสนอง
– หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันเลือดเพิ่ม
– หายใจไม่ออก และทำให้เสียชีวิตได้
วิธีแก้พิษ
1. หากมีการอาเจียนไม่มาก ให้ล้างท้องด้วยสารละลายด่างทับทิม ที่ความเข้มข้น 1:10,000
2. ให้เคี้ยวกินถ่านไม้ ดื่มน้ำ และนมให้มาก
3. ให้ออกซิเจน
4. ลดความดันโลหิต ด้วยการให้ Phenylephrine ขนาด 2-4 มิลลิกรัม
5. รับประทานยาระบาย อาทิ Pilocaspine nitrate ขนาด 5 มิลลิกรัม
ที่มา : (3)
ขอบคุณภาพจาก www.network54.com/, www.flickriver.com/, http://naturewatch.org.nz/, http://lepcurious.blogspot.com/, gardeningknowhow.com/
เอกสารอ้างอิง
(1) https://th.wikipedia.org. สารพัดพิษ. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้ที่ : https://th.wikipedia.org/wiki/สารพัดพิษ/
(2) เกษร บุญเกิด. 2510. การสกัดสารเคมีจากต้นสารพัดพิษ.
(3) สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล. สารพัดพิษ. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้ที่ : http://medplant.mahidol.ac.th/tpex/toxic_plant.asp?gr=G21&pl=0663&id=1/