ตะไคร้ต้น ประโยชน์ และสรรพคุณตะไคร้ต้น

Last Updated on 3 เมษายน 2017 by puechkaset

ตะไคร้ต้น หรือ ตะไคร้ภูเขา (May chang) จัดเป็นเครื่องเทศที่พบมากตามเชิงดอยหรือภูเขาสูงที่นิยมนำผลแห้งมาใช้ประกอบอาหารร่วมกับเครื่องเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นพริกไทย หรือ มะแขว่น เพราะผลแห้งตะไคร้ต้นมีกลิ่นหอมคล้ายตะไคร้หรือมะนาว รวมถึงส่วนอื่นๆที่มีกลิ่นหอมด้วย อาทิ ราก แก่นลำต้น และดอก ซึ่งใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคต่างๆ

อนุกรมวิธาน
• Division : Spermatophyta
• Subdivision : Angiospermae
• Class : Dicotyledoneae
• Order : Ranales (Polycarpicae)
• Family : Lauraceae
• Genus : Litsea

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Litsea cubeba Pers.
• ชื่อสามัญ :
– May chang
– Pheasant pepper tree
• ชื่อท้องถิ่น :
– ตะไคร้ต้น
– ตะไคร้ภูเขา
– สะไค้
– ตะไคร้ดอย
– เกล๋อ (ภาษาลัวะ)
– ฉือซือ (มูเซอแดง)
– กวาเจา (จีนฮ่อ)
• อังกฤษ : Pheasant pepper tree
• จีน : May chang
• อินโดนีเซีย : Krangean
• มาเลเซีย : Medang ayer

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ตะไคร้ต้น มีถิ่นกําเนิดในประเทศเอเชียแถบร้อนชื้น ได้แก่ จีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศอินเดีย พบเติบโตทั่วไปบนพื้นที่ที่มีความสูง 700 – 2,300 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยในประเทศไทยพบมากตามพื้นที่สูงบนเขาในระดับความสูง 700– 1,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล

%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%95%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ตะไคร้ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก และพลัดใบ มีลำต้นสูงประมาณ สูง 8-10 เมตร เปลือกต้นบางมีสีน้ำตาล เนื้อไม้หรือแก่นไม้มีกลิ่นหอม กิ่งอ่อนมีขนสั้นปกคลุม ส่วนรากเป็นระบบรากแก้ว และมีรากแขนง ทั้งนี้ ทั้งราก และแก่นลำต้นมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาวหรือตะไคร้ สามารถใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยได้

ใบ
ตะไคร้ต้นเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับกันตามปลายกิ่ง ใบเป็นรูปขอบขนาน ค่อนข้างรีเรียว มีก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร แผ่นใบกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่น และขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม ค่อนข้างหนา และเหนียว แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมขาวชัดเจน มีเส้นแขนงใบ 6-16 คู่ แผ่นมีขนปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่าง ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

ดอก
ดอกตะไคร้ต้นออกดอกเป็นช่อ แทงออกหลายช่อบริเวณซอกใบที่ปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยลงด้านล่าง ช่อดอกมีก้านดอกสั้นๆ ยาวประมาณ 2-16 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกมีขนสั้นปกคลุม แต่ละช่อมีดอกย่อย 4-6 ดอก แต่ละดอกมีลักษณะกลมรีหรือรูปไข่ ขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีครีม และมีกลิ่นหอม ประกอบด้วยดอกแยกเพศตัวผู้ และตัวเมีย แต่อยู่บนช่อดอกเดียวกัน ทั้งนี้ ตะไคร้ต้นจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม และติดผลต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม

ดอกเพศผู้มี 6 กลีบ มีรูปไข่ มี stamen 9 อัน มีขนที่ก้านชูเกสร อับเรณู stamen มี 3 วง วงที่ 3 มีก้านชูอับเรณูสั้น และมีต่อมน้ำหวานที่ฐาน ผิวของ rudimentary pistil เรียบ

ดอกเพศเมียมี 6 กลีบ มีรูปไข่ มี staminode 9 อัน มีขนที่ก้านชู staminode การเรียงตัวของ staminode เรียงเป็น 3 วงๆ 3 อัน วงที่ 3 มีต่อมน้ำหวานที่ฐานดอก มีรังไข่ติดกับบริเวณฐานดอก รังไข่มี 1 ห้อง

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%95%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99

ผล และเมล็ด
ผลของตะไคร้ต้น มีลักษณะกลมเล็ก ขนาดผลประมาณ 8-9 มิลลิเมตร เปลือกผล และเนื้อผลบาง ด้านในเป็นเมล็ดขนาดใหญ่ จำนวน 1 เมล็ด มีชั้นกลีบเลี้ยงยังคงติดที่ฐาน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีม่วงเข้ม และแก่จัดจนแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ ผลส่งกลิ่นหอมคล้ายตะไคร้ ติดผลให้เห็นประมาณช่วงเดือนเมษายน – ตุลาคม และผลสุกประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

%e0%b8%9c%e0%b8%a5%e0%b8%95%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99-1

ประโยชน์ตะไคร้ต้น/ตะไคร้ภูเขา
1. ผลแห้งของตะไคร้ต้นนิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร เนื่องจากผลแห้งมีกลิ่นหอมแรงคล้ายตะไคร้ ช่วยดับกลิ่นคาวของอาหาร ช่วยเพิ่มความหอม และปรับปรุงรสให้อร่อยขึ้น ทั้งอาหารจำพวกแกง ผัด ลาบ ทอด และปิ้งย่าง
2. ราก แก่นลำต้น ดอก และผลแห้ง นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้น้ำมันสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นมะนาวหรือบางคนรู้สึกคล้ายตะไคร้ ถูกใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ
– ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสำหรับแต่งกลิ่นอาหาร
– ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง อาทิ แซมพูสระผม สบู่ ครีมบำรุงผิว และน้ำหอม เป็นต้น
– ใช้ทานวดเพื่อบรรเทาอาการเมื่อยล้า
– ใช้ชโลมผม เพิ่มความเงางามของผม
– ใช้ฉีดพ่นป้องกัน และไล่ยุงได้ดี หรือใช้เป็นส่วนผสมของโลชั่นสำหรับทาป้องกันยุง
– ใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์
– ฯลฯ

สาระสำคัญที่พบ
(1) กรมป่าไม้ (2531) ได้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากผลสดตะไคร้ต้น พบว่า ผลสดสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ประมาณ 3.10% และพบองค์ประกอบทางเคมีเป็นสารต่าง ได้แก่
– citral 55%
– limonene 22%
– methyl heptenone 6.8%

(2) เบญจวรรณ (2542) ได้สกัดน้ำมันหอมระเหยจากผลสด และผลแห้งของตะไคร้ต้น พบสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่
– β-phellandrene
– limonene
– geranial (citral a)

(3) จิตติมา และธนพงศ์ (2543) ได้ศึกษาสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้นเปรียบเทียบกับตะไคร้หอม พบว่า สารที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากพืชทั้ง 2 ชนิด เป็นชนิดเดียวกัน ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ชนิด คือ
ใบตะไคร้หอม
– geraniol 17.04%
– citronellol 9.88%
– citronellal 39.84%
ผลตะไคร้ต้น
– geraniol 40.84%
– citronellol 32.62%
– citronellal 1.74%

ทั้งนี้ สารทั้ง 3 นิยมใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ คือ
– geraniol ใช้ในการสังเคราะห์วิตามิน A, ionene และ methylionone และใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร
– citronellal ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาไล่แมลงหรือยุง และใช้เป็นส่วนผสมทำสบู่
– citronellol ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำหอม

(4) สุภาพรรณ (2543) ได้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้น พบสาระสำคัญ ได้แก่
– citral
– citronellal
– linalool
– limonene
– myrcenol
– β-pinene
– 6-methyl-5-hepten-2-one

นอกจากนั้น มีรายงานการพบสารอื่นๆ ได้แก่
1. terpene ได้แก่
– α-thujene
– α-pinene
– sabinene
– β-phellandrene
– γ-terpinene
– trans-sabinene hydrate
– cis-sabinene hydrate
สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มี oxide เป็นองค์ประกอบ ได้แก่
– 1,8-cineole
– α-terpineol
– terpinen-4-ol

ที่มา : (7)

สรรพคุณตะไคร้ต้น/ตะไคร้ภูเขา
ผลสด ผลแห้ง และเมล็ดตะไคร้ต้น
– บรรเทาอาการเป็นหวัด และลดไข้
– ช่วยย่อยอาหาร
– ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยขับลม
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยบำรุงระบบประสาท และสมอง
– ช่วยกระตุ้นระบบประสาท
– บรรเทาอาการวิงเวียนศรีษะ
– ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการเครียดหรือหงุดหงิด
– ป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
– บำรุงสตรีหลังคลอดบุตร
– ป้องกันโรคหอบหืด
– ป้องกันโรคลมบ้าหมู ลดอาการเกร็งชักของกล้ามเนื้อ
– ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการแก่ก่อนวัย
– ลดน้ำตาลในเลือด
– ลดไขมันในเส้นเลือด
– ป้องกันโรคหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน
– ป้องกันโรคหัวใจ
– ต้านการอักเสบ
– บรรเทาอาการปวดเมื่อย
– บรรเทาอาการปวดตามข้อ
– รักษาโรคอุจจาระร่วง
– รักษาโรคบิด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
– ใช้เป็นยาถอนพิษ
– ใช้ทารักษาสิว

น้ำมันหอมระเหย
– ช่วยเจริญอาหาร
– ต้านเชื้อจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคต่างๆ
– ต้านการอักเสบ
– ช่วยขยายหลอดเลือด และกระตุ้นการไหลเวียนเลือด
– ช่วยลดความดันโลหิต
– ออกฤทธิ์ระงับประสาท ทำให้ผ่อนคลาย และสงบ
– ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย
– ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
– แก้อาการชักเกร็ง
– มีสรรพคุณอื่นๆ คล้ายกับเมล็ดตะไคร้ต้น

ราก กิ่ง และลำต้น (ต้มน้ำดื่ม)
– แก้โรคเกี่ยวกับมดลูก
– บรรเทาอาการปวดหลัง ปวดตามกระดูก ปวดตามข้อ
– บรรเทาอาการวิงเวียนศรีษะ
– ช่วยขับลม
– ช่วยย่อยอาหาร
– มีสรรพคุณอื่นๆ คล้ายกับผล

ราก กิ่ง และลำต้น (ต้มน้ำอาบหรือใช้ทาภายนอก)
– ประเทศจีนนำมาฝนหรือบดสำหรับทารักษาสิว
– แก้โรคผิวหนัง แก้อาการผื่นคันตามผิวหนัง
– มีสรรพคุณอื่นๆ คล้ายกับผล

เพิ่มเติมจาก : (5) (6) และ (7)

การปลูกตะไคร้ต้น
ตะไคร้ต้นสามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่ส่วนมากนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ด เพราะง่าย และสะดวกกว่าวิธีอื่น หลังการเพาะ เมล็ดจะงอก ประมาณ 30-60 วัน แต่บางเมล็ดอาจใช้เวลางอกนานกว่า 3 เดือน หลังการเพาะ และดูแลจนกว่าต้นกล้าจะอายุ 6-8 เดือน ค่อยนำลงปลูกในแปลง

การเก็บผล
ผลตะไคร้ต้นที่เก็บมาใช้ประโยชน์ ควรเก็บในระยะที่สุกจัด ผลมีสีแดงจัด จากนั้น นำมาตากแดดให้แห้ง ก่อนบรรจุห่อเก็บในถุงพลาสติก

ขอบคุณภาพจาก http://www.fca16mr.com/, http://www.manager.co.th/

เอกสารอ้างอิง
(1) กรมป่าไม้. 2531. คุณสมบัติและการใช้ประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยตะไคร้ต้น.
(2) เบญจวรรณ ซื่อสัตย์. 2542. น้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร-
ที่ปลูกในภาคเหนือของไทย. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(3) จิตติมา ชีวตระกุลพงษ์ และธนพงศ์ จามิกรานนท์. 2543. การศึกษาสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย-
จากตะไคร้ต้นเปรียบเทียบกับตะไคร้หอม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(4) สุภาพรรณ มณีบุญ. 2543. การแยกองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้น-
โดยเทคนิคโครมาโทกราฟีคอลัมน์. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(5) กรมวิชาการเกษตร. ตะไคร้ต้น… ต้นไม้ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 11 ธันวาคม 2559. เข้าถึงได้ที่ : http://doa.go.th/pibai/pibai/n13/v_2-mar/korkui.html/.
(6) พนิดา รุ่งรัตนกุล. 2545. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาทากันยุงจากน้ำมันตะไคร้ต้น-
และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกร. มหาวิทยาลัยนเรศวร.
(7) มทินา แก้วกันใจ. 2547. การศึกษาปริมาณและองค์ประกอบของ-
น้ำมันหอมระเหยจากใบตะไคร้ต้น (Litsea cubeba Pers. var. cubeba). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.