ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ ความเป็นมงคล ประโยชน์ และการปลูกว่านเศรษฐีกอบทรัพย์

Last Updated on 22 กุมภาพันธ์ 2020 by puechkaset

ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ จัดเป็นว่านโชคลาภ และมหานิยม ที่นิยมปลูกไว้หน้าบ้านหรือหน้าร้านค้า ด้วยความเชื่อที่ว่า ว่านชนิดจะนำความร่ำรวยมาให้ การทำมาค้าขายรุ่งเรือง มาผู้คนเข้ามาในร้านไม่ขาดสาย

ชื่อท้องถิ่น :
– ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์
– ว่านเศรษฐีขอดทรัพย์

การตั้งชื่อว่าน เศรษฐีกอบทรัพย์ หรือ เศรษฐีขอดทรัพย์ น่าจะตั้งชื่อมาจากลักษณะของใบที่มีส่วนปลายบิด และขอดงอเป็นเกลียว เหมือนกับการขอดทรัพย์เงินทองเข้าหาตัวเอง ทำให้ค้าขายร่ำรวย และมีทรัพย์สิน เงินทองตามมา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ มีลำต้นแท้เป็นหัวใต้ดิน หัวมีลักษณะคล้ายหัวหอม มีลักษณะกลม เปลือกหุ้มด้านนอกมีสีขาว และเนื้อหัวด้านในมีสีขาว หัวที่แก่เต็มที่จะแตกหัว และเกิดเป็นต้นใหม่ได้

ใบ
ใบว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ ถือเป็นจุดเด่นของว่านที่มีลักษณะใบหรือที่เรียกลำต้นเทียมคล้ายกับใบกุ้ยซ่าย ทำให้แยกแยะว่านชนิดนี้ได้ง่ายจากว่านชนิดอื่น แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างใบกุ้ยช่ายที่ตรงปลายใบจะม้วนงอ และใบจะหนา และมีความยาวมากกว่า

ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์

ใบหรือลำต้นทียมว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ จะแทงงออกจากปลายหัวใต้ดิน ใบมีลักษณะเป็นแผ่นบาง สีเขียวเข้ม เป็นมัน แผ่นใบกว้าง 0.5-1 ซม. ใบยาวประมาณ 30-60 ซม. แผ่น และขอบใบเรียบ ตรงกลางใบมีลักษณะแอ่นเป็นร่องเล็กน้อย ใบอ่อนมีลักษณะตั้งตรงอยู่เป็นกลุ่มตรงกลาง ใบแก่อยู่วงนอกของกอ มีปลายใบม้วนงอเป็นเกลียว และโค้งลงด้านล่างตามขนาดของใบที่ยาว และมีน้ำหนักมากขึ้น ส่วนปลายสุดของใบแหลม ใบแก่จะเริ่มแห้ง และเหี่ยวมาจากส่วนปลาย

ดอก
ดอกว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ จะออกก็ต่อเมื่อหัวมีอายมากแล้ว ดอกมีลักษณะเป็นช่อ แทงออกตรงกลางของหัว

ประโยชน์ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์
1. ด้วยลักษณะใบที่เป็นแผ่นเรียบ ปลายใบม้วนงอ ทำให้เป็นพรรณไม้โดดเด่น และดูสวยงามแปลกตา ทำให้นิยมปลูกเป็นไม้ประดับใบหรือประดับต้น นอกจากนั้น ยังปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางสำหรับตั้งในห้องหรืออาคารเพื่อดูดซับสารพิษต่างๆ
3. ส่วนของใบว่านสามารถนำมาประกอบอาหารได้ มีรส และกลิ่นคล้ายกุยช่าย แต่กลิ่นจะอ่อนกว่า และไม่เหนียวไม่กุยช่ายแต่ทั่วไปไม่นิยมนำมารับประทาน

ความเป็นมงคลว่านเศรษฐีกอบทรัพย์
เศรษฐีกอบทรัพย์ นิยมปลูกเป็นว่านเสี่ยงโชคลาภ และเมตตามหานิยม ที่จะช่วยให้ผู้ปลูกทำมาค้าขายร่ำรวย มาคนเข้าร้านไม่ขาดสาย รวมถึงช่วยให้เกิดโชคลาภเงินทองไหลมาเทมา และยิ่งปลูก และดูแลจนใบใหญ่ เขียมเป็นทรงพุ่มหนาก็มักจะยิ่งมีโชคลาภมากขึ้น และหากปลูกในปีใดที่ออกดอก ก็ยิ่งจะมีโชคลาภมากเท่านั้น

หลังปลูกว่านนี้ คนโบราณ รวมถึงนักเล่นว่านหรือเซียนว่าน มักกล่าวไว้ว่า หลังปลูกว่านแล้วไม่ใช่ว่าจะขี้เกียจ ไม่ทำงานทำการ เพราะเพียงหวังรอให้ว่านนำโชคลาภมาให้นั้น ไม่ได้ แต่หากมีความขยัน และกล้าคิดกล้าทำแล้ว ว่านนี้จะคอยส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองได้เร็วขึ้น

การปลูกว่านเศรษฐีกอบทรัพย์
ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ เป็นว่านที่ค่อนข้างชอบดินชื้นพอประมาณ มักนิยมปลูกในกระถางสำหรับการตั้งหน้าบ้านหรือหน้าร้านเป็นหลัก

การปลูกนั้น นิยมแยกหัวออกปลูกเป็นหลัก ด้วยการขุดหัวจากกอที่แน่นแล้วแยกออกปลูกในกระถางใหม่ แต่สามารถปลูกได้ด้วยวิธีอื่น เช่น การชำหัวที่ผ่าซีก

การชำหัวทำได้โดย นำหัวว่านมาผ่าเป็นซีกๆตามแนวตั้ง ประมาณ 4-6 ซีก โดยให้แนวผ่าผ่านฐานหัว และให้แต่ละซีกมีรากติดมาด้วย หลังจากนั้น นำซีกหัวที่ผ่าลงชำในกระถางที่เป็นดินผสมวัสดุอินทรีย์ หรือเป็นดินผสมที่ใช้สำหรับการปลูกในกระถางทั่วไป

การปลูกว่านเศรษฐีกอบทรัพย์ในกระถางนั้น จะใช้ดินผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก แกลบดำ รวมถึงขุยมะพร้าว ใช้อัตราส่วนผสมระหว่างดินกับวัสดุอินทรีย์ที่ 1:3 และใส่ก้อนกรวดผสมทรายเพิ่มอีกประมาณ 1 ใน 10 ส่วนของวัสดุดินที่ผสมแล้ว

การตั้งกระถาง ควรตั้งในที่โล่งหรือที่มีแสงส่องถึง อาจเป็นเพียงช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ เพราะพืชชนิดนี้จะชอบแสงมากสำหรับการสังเคราะห์แสงให้กับใบ ช่วยให้ใบมีสีเขียวเข้มมากขึ้น

ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์1

การดูแลนั้น จะไม่ค่อยยุ่งยากมากนัก เพียงมั่นให้น้ำอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง และใส่ปุ๋ยคอกโรยกลบหน้ากระถางเป็นระยะ เพราะว่านชนิดนี้จะชอบดินที่ร่วนซุย และมีอินทรียวัตถุสูง นอกจากนั้น หากต้องการให้ใบมีความเขียวมาก อาจเพิ่มด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 24-12-12 หรือ ปุ๋ยยูเรีย ใส่ประมาณหยิบมือรอบโคนต้นในทุกๆ 2-3 เดือน แต่ไม่ควรใส่มาก เพราะจะทำให้ดินในกระถางแน่น และมีความเป็นกรดมากขึ้นได้

สำหรับใบแก่ที่เริ่มมีส่วนปลายใบแห้งเหลือง ควรต้องมั่นตัดทิ้งเป็นระยะ เพราะหากมีใบแก่มากมักจะทำให้กอว่านแลดูไม่สวยงาม

ว่านเศรษฐีกอบทรัพย์นิยมปลูกตั้งคู่กับว่านชนิดอื่น เช่น ว่านมหาลาภ ว่านมหาโชค เป็นต้น

คาถากำกับ
เป็นคาถาที่ใช้ท่องในขณะปลูก หรือ รดน้ำ
• คาถาเสริมโชคลาภ
ตั้งนะโม 3 จบ แล้วท่องคาถา 3 จบ
“มหาลาโภ โหตุ ภวันตุเม”

• วันปลูก : วันจันทร์

ขอบคุณภาพจาก
www.bloggang.com