Last Updated on 27 มิถุนายน 2024 by puechkaset
ว่านสาวหลง จัดเป็นว่านมหาเสน่ห์ที่ปลูกไว้เป็นสิริมงคลทำให้คนนิยมชมชอบ ทั้งหญิง และชาย ช่วยให้ค้าขายร่ำรวย และเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูก รวมถึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับ และไม้สะสมที่หายาก
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum biflorum Jack.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Globba winitii C.H.Wright
• วงศ์ : Zingiberaceae
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ว่านสาวหลง
– ว่านฤาษีผสม
– ว่านฤาษีสร้าง
– กลางคาน
ภาคเหนือ
– กล้วยจะก่าหลวง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นแท้ของว่านสาวหลงจะเป็นหัวที่อยู่ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นลำต้นเทียมที่ประกอบด้วยกาบใบหุ้มเรียงซ้อนกันแน่นพันรอบแก่นที่เจริญมาจากส่วนหัว ขนาดขอลำต้นเทียมประมาณ 1 ซม. ซึ่งจะเล็กกว่าลำต้นเทยมของข่า ส่วนความสูงจะประมาณ 40-100 ซม.
หัวว่านสาวหลง มีลักษณะคล้ายหัวตะไคร้ มีอวบอ้วนเป็นพูพอน เมื่อต้นอายุมากจะแตกหัวหรือเหง้าแยกออกใหม่ โดยเปลือกหัวชั้นนอกมีสีน้ำตาล แก่นหัวมีสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอม ส่วนรากมีระบบรากเป็นรากฝอยจำนวนมาก รากมีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ และยาวมาก คล้ายรากหญ้าคาหรือหญ้าแฝก อาจยาวได้ถึง 1 เมตร ซึ่งลักษณะเด่นของราก ทำให้ง่ายในการแยกแยะออกจากว่านหรือพืชตระกูลข่าอื่นๆที่มีลักษณะกอหรือใบที่คล้ายกัน
ใบ
ว่านสาวหลงเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบออกเรียงสลับเยื้องตรงข้ามกันตามความสูงของลำต้น ใบมีรูปร่างคล้ายใบข่า แต่จะมีขนาดเล็กกว่า และจะสังเกตความแตกต่างที่ใบว่านสาวหลง จะมีขนทั้งใบด้านบน และแผ่นใบด้านล่าง ส่วนใบข่าจะไม่มีขน ใบว่านสาวหลงมีรูปเรียวรี แผ่นใบกว้าง 5-8 ซม. ยาว 20-30 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบเรียวแหลม และบิดเล็กน้อย แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ส่วนเส้นกลางใบด้านบนจะเป็นร่องสีขาวอมเหลืองที่มองเห็นได้ชัดเจน ส่วนเส้นกลางใบด้านล่างจะนูน และมีสีกลมกลืนกับแผ่นใบ ผิวใบด้านบนมีลักษณะเป็นคลื่นที่มีร่องเป็นแถบตื้นๆตามแนวของเส้นแขนง
ขอบคุณภาพจาก www.nanagarden.com
ส่วนก้านใบจะมีความยาวประมาณ 0.5-1.5 ซม. โดยด้านบนเว้าเป็นร่อง มีสีเขียว ส่วนด้านล่างมีลักษณะนูนกลม ถัดมาเป็นส่วนโคนก้านที่เป็นกาบเรียงซ้อนกันแน่น ยาวประมาณ 2-5 ซม. กาบด้านนอกมีสีเขียวแกมน้ำตาลแดง และมีขนปกคลุม นอกจากนั้น ยังพบลิ้นใบ รูปกลมรี ที่มีขนสีเขียวประแดง ยาว 0.2-0.3 ซม. ทั้งนี้ ส่วนของกาบที่หุ้มลำจะมี 2 แบบ ที่แยกตามสี คือ สีเขียวที่เป็นว่านสาวหลงตัวเมีย และสีเขียวแกมน้ำตาลแดงที่เป็นว่านสาวหลงตัวผู้
ดอก
ดอกว่านสาวหลงแทงออกเป็นช่อจากตรงกลางของลำต้นเทียม ประกอบด้วยก้านช่อดอกยาว และมีดอกเป็นช่อที่ปลายก้านดอก ตัวดอกประกอบด้วยกลีบประดับที่หุ้มช่อดอก ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกันในลักษณะเป็นหลอด ส่วนกลีบดอก จะเชื่อมเป็นหลอดเช่นกัน โดยกลีบดอกแต่ละกลีบจะมีสีขาวใส ปลายกลีบเว้าเป็นร่องตื้นๆ ถัดมาภายในเป็นกลีบที่มีลักษณะเป็นปากแตร โดยตรงกลางกลีบมีแถบสีน้ำตาลแดงเป็นลายประถึงปลายกลีบ ส่วนขอบกลีบมีสีเหลือง ภายในดอกมีเกสรเพศผู้ ก้านเกสร และอับเกสรสีขาว เมื่อดอกบานจะมีกลิ่นหอมแรง
ประโยชน์
1. ว่านสาวหลง นิยมปลูกมากในกลุ่มผู้ชาย ด้วยความเชื่อว่า เป็นว่านมหานิยม ใครปลูกไว้ในบ้านจะเป็นที่รักที่นิยมชมชอบของคนอื่น ทั้งหญิง และชาย มีผู้คนไปมาหาสู่ไม่ขาดสาย รวมถึงช่วยให้ทำมาค้าขายร่ำรวย และเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว
2. ว่านสาวหลงเป็นว่านแปลกนอกจากจะปลูกเพื่อเป็นว่านมงคลแล้วยังปลูกไว้ในแง่ของไม้ประดับ และไม้หายากอีกด้วย
3. หัวหรือแง่ง
– นำมาตากแห้ง และบดเป็นผงใช้ชงเป็นชาดื่ม
4. น้ำมันหอมระเหยจากดอก และหัว
– ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อาทิ น้ำหอม ครีมบำรุงผิว และสบู่
– ใช้ทานวด แก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
5. หัว และราก นิยมนำมาตากแห้ง และบดสำหรับผสมทำเครื่องรางหรือพระเครื่อง
สาระสำคัญที่พบ
น้ำมันหอมระเหยจากว่านสาวหลง มีส่วนประกอบ ได้แก่
• (E)- but-1-enyl-4-methoxybenzene 85%
• Limonene 2.2%
• β- pinene 2.1%
• Camphor 1.8%
สรรพคุณ
หัวนำมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยลดไข้
– ช่วยลดอาการไอ ลดอาการแสบคอ คออักเสบ
– ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอความแก่
หัวนำมาต้มน้ำอาบ
– ช่วยแก้อาการผื่นคัน
– รักษาโรคผิวหนัง
ดอกน้ำมาต้มดื่ม
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ
– บรรเทาอาการไข้หวัด
ดอกสด
– นำมาสูดดม แก้อาการวิงเวียนศรีษะ
การปลูกว่านสาวหลง
ว่านสาวหลงสามารถปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด และการแยกแบ่งหัวหรือเหง้าปลูก แต่โดยธรรมชาติ ว่านสาวหลงจะแตกหัวเติบโตเป็นต้นใหม่ขยายกอให้ใหญ่ขึ้น ส่วนดอกจะไม่ค่อยพบเห็นติดเป็นผลบ่อยนัก