Last Updated on 20 มีนาคม 2015 by puechkaset
ว่านดอกทอง (Elettariopsis) เป็นว่านที่คนโบราณนิยมปลูก และนำมาใช้ประโยชน์ด้านเมตตามหานิยม และมหาเสน่ห์ รวมถึงการนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค นอกจากนั้น ยังจัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับสำหรับปลูกตามแปลงจัดสวนหรือปลูกในกระถางเพื่อชมใบ และดอก
ว่านดอกทองที่พบในไทยมีจำนวนหลายสายพันธุ์ มักชื่อเรียกท้องถิ่นต่างๆ ได้แก่ ว่านราคะ ว่านดอกทองกระเจา ว่านดอกทองตัวเมีย ว่านดินสอฤษี ว่านมหาเสน่ห์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้นเทียม และใบ
ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบที่โอบหุ้มกันแน่นหรืออย่างหลวม ลำต้นเทียมเหนือดินสูงประมาณ 30-150 เซนติเมตร ใบเป็นแบบใบเดี่ยว มี 1-10 ใบ แผ่นใบรูปไข่ รูปทรงรี หรือรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน สีเขียวเข้ม โคนใบสอบเรียวยาวหรือเรียวแหลม ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง ก้านใบยาว
• เหง้า และลำต้น
มีเหง้าขนาดเล็ก และยาว เลื้อยทอดขนานใต้ผิวดินเล็กน้อย
• ดอก
ช่อดอกแทงออกจากเหง้า มี 2 แบบ คือ ช่อดอกแบบยืดยาว และช่องดอกแบบกระจุก ก้านของช่อดอกมีทั้งแบบสั้น และยาว ใบประดับมีขนาดเล็ก รูปขอบขนานหรือรูปไข่ ใบประดับย่อย รูปไข่หรือรูปใบหอก ดอกมีสีขาวหรือสีเหลือง กลีบเลี้ยงสีขาวหรือสีชมพู โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบดอกแยกออกเป็น 3 แฉก รูปรีหรือรูปไข่ กลีบปากรูปไข่กลับ ปลายเว้าเป็น 3 พู พูกลางเป็นสีเหลือง ตรงโคนอาจมีแถบสีแดง 2 แถบ เกสรเพศผู้มีก้านสั้น แต่ถ้าหากเกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสองกลีบข้างอาจมีหรือไม่มี ถ้ามีจะเป็นติ่งเล็กๆ หรือลดรูป รยางค์เกสรเพศผู้มีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจใช้ในการจำแนกชนิด รังไข่มี 3 ช่อง มีออวุลจำนวนมาก
• ผล
ผล มีรูปกลมนูน ไม่มีสันหรือรูปรี มีสัน 6-8 สัน
Baker (1892) ได้ตั้งชื่อสกุลว่าดอกทอง (Elettariopsisi) เป็นครั้งแรก ที่ได้จากการศึกษา และสำรวจในที่มาเลเชียที่พบ 3 ชนิด คือ E. exserta (Scort.) Baker, E. curtisii Baker และ E. serpentine Baker การจำแนกใช้ ใบ ลำต้น และช่อดอก ชนิดพันธุ์ E. exserta (Scort.) Baker มีใบเดียว ส่วนชนิดอื่นมีใบมากกว่า 1 ใบ ลำต้น E. curtisii Baker มีลำต้นเหนือดินสูง 10-30 เซนติเมตร ส่วน E. serpentine Baker และ E. exserta (Scort.) Baker มีลำต้นเหนือดินสูง 25-60 เซนติเมตร ช่อดอก E. curtisii Baker เป็นแบบช่อกระจุกแน่น ส่วนช่อดอกของ E. serpentine Baker เป็นแบบช่อกระจะ
Gagnepain (1908) ได้ศึกษาพืชวงศ์ขิงในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยพบพืชสกุลว่านดอกทอง (Elettariopsis) ที่มี A. trilobum Gagnep. ได้จัดเป็น E. triloba (Gagnep.) Loes. พบที่เวียดนามและลาว ส่วน A. Monophyllum Gagnep ได้จัดเป็น E. Monophylla (Gagnep) Loes. sp. nov. พบที่เมืองหลวงพระบางประเทศลาว ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างกันที่กลีบปากโดย E. triloba (Gagnep.) Loes sp. nov. กลีบปากเป็นรูปลิ่มปลายเว้าเป็น 3 พู ย่น และลักษณะที่ใช้ในการจำแนกแยกพืชทั้งสองชนิดนี้ออกจากสกุลกระวาน (Amomum) ลักษณะที่ต่างกันอย่างชัดเจน คือใบประดับย่อยของพืชสกุลกระวาน (Amomum) จะเชื่อมติดกันเป็นหลอดส่วนสกุลว่านดอกทอง (Elettariopsis) จะเป็นแผ่นรูปไข่หรือรูปใบหอก ไม่เชื่อมกันเป็นหลอด และรยางค์เกสรเพศผู้ของสกุลกระวาน (Amomum) จะเป็นรูปเขา 2 เขา แตกต่างกับสกุลว่านดอกทอง (Elettariopsis) ที่ไม่มีรยางค์เกสรเพศผู้อย่างชัดเจน
พืชสกุลว่านดอกทอง (Elettariopsis) ในมาเลย์เซีย 3 ชนิด คือ E.exserta (Scort) Baker, E curtisii Baker และ E. triloba (Gagnep.) Loes
พืชสกุลว่านดอกทอง (Elettariopsis) ในคาบสมุทรมลายูและได้รายงานพืชสกุลนี้ไว้ทั้งหมด 5 ชนิด 2 สายพันธุ์ โดยชนิดที่เพิ่มจากการศึกษาของ Holttum (1950) คือ E.burttiana Y.K. Kam, E. smithiae Y.K. Kam.Var. smithiae และ E. smithiae Y.K. Kam.Var. rugosa
พืชสกุลว่านดอกทอง (Elettariopsis) ในแถบคาบสมุทรมลายูทั้งหมดมี 9 ชนิด ทั้งที่พบในมาเลเซีย และภายใต้ของประเทสไทย ในจำนวนนี้มีพืชชนิดใหม่อีก 2 ชนิด คือ E. élan C.K. Lim และ E. slahmong C.K. Lim และได้แยกพืชชนิด E. smithiae Y.K. Kam เป็นชนิดใหม่ คือ E. rugosa (Kam) C.K. Lim
ในไทยมีการสำรวจพบ 6 ชนิด คือ การสำรวจพืชสกุลว่านดอกทองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา 3 ชนิด พร้อมระบุชื่อท้องถิ่น ได้แก่ E. curtisii Baker (ปุดสิงห์), E. exserta (Scort.) Baker (ซลาดาโฮง) และ E. triloba (Gagnep.) Loes. (ตือปุตีกุ๊) และอีก 2 ชนิดที่พบคือ E. smithiae Kam, E.exserta (Scort.) Baker และ E. elan C.K. Lim และอีก 2 ชนิดล่าสุด คือ E. chayaniana Yupparach (จังหวัดจันทบุรี) และ E. monophylla (Gagnep.) Loes.
สารสำคัญที่พบ
ใบ เหง้า และราก พบน้ำมันระเหยง่ายที่มีองค์ประกอบเป็นสารระเหยทั้งหมด 28 ชนิด โดยมีองค์ประกอบหลักเป็น geraniol (71.6%) ส่วนการศึกษาในเหง้าและรากพบน้ำมันระเหยง่ายในที่มีองค์ประกอบหลักเป็นสาร alpha-pinine (5.4%), camphene (28.6%), fenchyl acetate (8.6%), alpha-phellanderene (8.4%)
น้ำมันระเหยง่ายในใบมีองค์ประกอบหลักเป็น สารระเหยซึ่งเป็นประกอบด้วย geranial (33.2%), neral (24.7%), alpha-pinene (22.9%), และ beta-pinene (6.6%)
E. triloba (Gagnep.) Loes. ได้ทดลองสกัดน้ำมันระเหยง่ายจาก E. triloba (Gagnep.) Loes. 2 สายพันธุ์ ที่นำมาจาก Rimba Ilmu Botany Garden และ Botany Research Garden ประเทศมาเลเซีย โดยใช้ 3 ส่วน คือ ราก เหง้า และใบ พบว่า มีน้ำมันระเหยง่ายในสายพันธุ์ที่ 1 มากกว่าสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งสายพันธุ์แรกพบองค์ประกอบเคมีใน ใบ 36 ชนิด ในราก 36 ชนิด ในเหง้า 37 ชนิดส่วน ในสายพันธุ์ที่ 2 พบองค์ประกอบเคมีในใบ 10 ชนิด ในราก 19 ชนิด ในเหง้า 28 ชนิด สำหรับสายพันธุ์ที่ 1 ในใบพบน้ำมันระเหยง่ายที่มีองค์ประกอบหลักเป็น alpha-citral (16.16%) และ beta-citral (14.13%), ในเหง้ามีน้ำมันระเหยง่ายที่มีองค์ประกอบหลักเป็น limonene (9.68%), heptan-2-ol-acetate (9.68%), 2 carenne (9.05%) และในรากมีน้ำมันระเหยง่ายที่มีองค์ประกอบหลักเป็น alpha- terpinyl acetate (3.73%), alpha-fenchyl acetate (3.64%), alpha-phellandren (3.63%)
ประโยชน์ว่านดอกทอง
อาหาร ใบปุดสิงห์ (E. slahmong C.K. Lim) มีกลิ่นคล้ายกับแมงดา ชาวบ้านภาคใต้ใช้ปรุงแต่งอาหาร เช่น ใช้ตัดกลิ่นคาวปลา ทำให้อาการมีกลิ่นหอมคล้านแมงดา นอกจากนั้น หน่ออ่อน และดอก ยังใช้รับประทานเป็นผักลวกหรือสดจิ้มน้ำพริกหรือน้ำบูดูได้
สมุนไพร ชาวบ้านมุสลิมทางภาคใต้ใช้ปุดสิงห์ (E. slahmong C.K. Lim) และใบของ E. exserta (Scort.) Baker เป็นยาบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลม ขับเหงื่อ และเจริญอาหาร
ไม้มงคล ว่านดอกทอง เป็นว่านมหาเสน่ห์มหานิยม โดยเชื่อว่าเมื่อดอกบานที่ให้กลิ่นหอม หากชายหรือหญิงได้กลิ่นจะทำให้กระตุ้นความกำหนัดทางเพศได้ จึงเรียก “ว่านมหาเสน่ห์” ผู้ชายไทยในสมัยโบราณจะใช้พืชนี้หุงกับน้ำมันจันทน์ หรือบดรวมกับสีผึ้งสีปาก ใช้สำหรับทาตัวหรือใช้สีปาก เชื่อว่าเมื่อพบผู้หญิงจะทำให้หญิงรัก และคล้อยตาม
การปลูกว่านดอกทองตามหน้าบ้านที่ร้านคา เชื่อว่าจะทำให้ค้าขายดี เป็นมหานิยมเรียกคนเข้าร้าน เจรจาซื้อขายง่าย
การปลูกไว้ในบ้านมีความเชื่อเรื่องเมตตามหานิยมทำให้ผู้คนเคารพ รักใคร่ แต่บางตำรากล่าวถึงเรื่องอับประมงคลที่ไม่ควรปลูกไว้ในบ้าน เพราะอาจทำให้สามีหรือภรรยาเกิดความนอกใจกัน
วัตถุนิยม โดยเฉพาะพระเครื่องที่นิยมนำส่วนดอก ใบ และเหง้า ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับในการทำพระเครื่อง ส่วนของดอก และเหง้านิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมันนวด ใช้ทาผม ทาผิว ทาริมฝีปาก เป็นน้ำมันมหาเสน่ห์