Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ลูกท้อ หรือ ลูกพีช (Peach) เป็นไม้ผลเมืองหนาวที่ต่างประเทศนิยมรับประทานผลสดหรือแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม เยลลี่ รวมถึงนำผลดิบมาดองรับประทาน เปลือกผลมีสีสันสวยงาม เนื้อผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ในไทยพบปลูกบ้างตามภูเขาสูงเท่านั้น
• วงศ์ : Rosaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus persica (L.) Stokes
• ชื่อสามัญ : Peach
• ชื่อท้องถิ่น :
– ท้อ
– ลูกท้อ
– มะฟุ้ง
– มักม่น
– มักม่วน
– หุงหม่น
– หุงคอบ
• จีนแต้จิ้ว : ท้อ
• จีนกลาง : เถา
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ลูกท้อหรือลูกพีช เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แล้วค่อยแพร่กระจายเข้าสู่เปอร์เซีย ยุโรป และอเมริกา รวมถึงแพร่ลงมาในแถบประเทศใกล้เคียง อาทิ พม่า และไทยตอนบน เติบโตได้ดีในพื้นที่ภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นประมาณ 10 ºC ทั้งปี พบเติบโตบนพื้นที่สูงตั้งแต่ 3000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นไม้ที่ต้องการน้ำไม่มาก และทนแห้งแล้งได้ดี
ในประเทศไทย ลูกท้อแพร่เข้ามาจากชาวเผ่าภูเขาที่อพยพ และนำเมล็ดลูกท้อจากจีนตอนล่างเข้ามาอาศัยในประเทศไทย ต่อมาพันธุ์เหล่านั้น หลายเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่พบทั่วไปบนภูเขาสูง และปัจจุบันพบปลูกเฉพาะบางพื้นที่บนภูเขาสูงในภาคเหนือ ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ต่างประเทศที่มีผลขนาดใหญ่
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลูกท้อเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง ลำต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่ระดับต่ำ กิ่งหลัก และกิ่งแขนงมีปานกลาง ทำให้เป็นทรงพุ่มโปร่ง ไม่หนาทึบ
ใบ
ลูกท้อเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวเรียงเยื้องสลับกันตามปลายยอด ใบมีรูปหอก แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียว
ดอก
ลูกท้อออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ทั้งออกเป็นกระจุกใกล้กันหลายดอกหรือออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีแดงขนาดเล็ก 5 กลีบ ปลายกลีบเลี้ยงโค้งมน และมีขนปกคุลม ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบมีรูปหอก และบาง ปลายกีบโค้งมน และค่อนข้างแหลม แผ่นกลีบดอกมีทั้งสีขาวอมชมพู และสีแดง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย
ผล และเมล็ด
ผลลูกท้อออกเป็นผลเดี่ยวๆ ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม คล้ายผลบ๊วย (apricot) แต่ขนาดผลจะใหญ่กว่า และมีขนปกคลุมทั่วบริเวณผิว แต่บางพันธุ์มีผลขนาดเล็กกว่าผลบ๊วย ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกเปลี่ยนเป็นสีชมพู ทั้งนี้ ก่อนออกดอก ต้นท้อจะผลิใบร่วงจนหมด แล้วค่อยติดดอก และแตกใบใหม่พร้อมกัน
ประโยชน์ลูกท้อ/ลูกพีช
1. ลูกท้อหรือลูกพีชใช้เป็นผลไม้รับประทานสด เนื้อผลหนาคล้ายผลแอปเปิ้ล มีสีขาวอมเหลือง มีรสกรอบ หวาน และกลิ่นหอมอ่อนๆ
2. เนื้อลูกท้อหรือลูกพีชแปรรูปทำแยม ลูกท้อดอง ลูกท้อเชื่อม ลูกท้อแช่อิ่ม เป็นต้น โดยเฉพาะลูกท้อขนาดเล็กที่นิยมดองเป็นผลไม้หรือลูกท้อแช่อิ่ม
3. ชาวจีนมักเปรียบกลีบดอกลุกท้อเหมือนแก้มผู้หญิงที่มีสีชมพูอ่อน นอกจากนั้น ยังถือว่าต้นลูกท้อเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ โดยหมอผีหรือผู้เฒ่ามักใช้กิ่งลูกท้อปักยื่นในทิศตะวันออกหรือทิศใต้เพื่อใช้เป็นไม้บังคับ ส่วนใบลูกท้อนิยมใช้ผสมลงในหม้อยาหรือหม้อน้ำมนต์สำหรับพรมขับไล่ผี และวันขึ้นปีใหม่ อีกทั้งชาวจีนยังนิยมดื่มน้ำลูกท้อหรือนำลำต้น กิ่ง และใบมาต้มน้ำอาบในวันขึ้นปีใหม่ของจีน รวมถึงนำไม้ลูกท้อมาทำเครื่องราง เครื่องประดับแขวนไว้หน้าบ้านสำหรับกันภูตผี
ตำนานที่เกี่ยวกับลูกท้อในประเทศจีนกล่าวถึงลุกท้อว่า ลูกท้อสวรรค์จะมีช่วงการสุกที่ประมาณ 3000 ปี/ครั้ง และหากผลท้อสุก เหล่าเทพ และเซียนทั้งหลายจะเข้าแย่งเก็บกินลูกท้อ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้คงกระพัน และความเชื่อเหล่านั้นยังสะท้อนด้วยภาพเขียนรูปเด็กหรือผู้เฒ่ายืนถือลูกท้อ ชื่อว่า เหลาซี แปลว่า ผู้สูงอายุหรือผู้มีอายุยืนยาว มีลักษณะเด่นที่ หน้าผากกว้างยาวกว่าคนปกติ [1] อ้างถึงใน นิตยาสารสารคดี (2537)
ทั้งนี้ การรับประทานลูกท้อหรือลูกพีช ควรนำลูกท้อมาล้างน้ำ และขัดขนออกก่อนหรือใช้เศษผ้าขัดขน ก่อนนำมาล้างน้ำ เพราะหากรับประทานขณะที่มีขน อาจทำให้ระคายเคืองคอได้
คุณค่าทางโภชนาการลูกท้อ (ผลสุก 100 กรัม)
Proximates | ||
น้ำ | กรัม | 88.87 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 39 |
โปรตีน | กรัม | 0.91 |
ไขมัน | กรัม | 0.25 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 9.54 |
ไฟเบอร์ | กรัม | 1.5 |
น้ำตาล | กรัม | 8.39 |
Minerals | ||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 6 |
เหล็ก | มิลลิกรัม | 0.25 |
แมกนีเซียม | มิลลิกรัม | 9 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 20 |
โพแทสเซียม | มิลลิกรัม | 190 |
โซเดียม | มิลลิกรัม | 0 |
สังกะสี | มิลลิกรัม | 0.17 |
Vitamins | ||
วิตามิน C | มิลลิกรัม | 6.6 |
ไทอะมีน | มิลลิกรัม | 0.024 |
ไรโบฟลาวิน | มิลลิกรัม | 0.031 |
ไนอะซีน | มิลลิกรัม | 0.806 |
วิตามิน B-6 | มิลลิกรัม | 0.025 |
โฟเลต | ไมโครกรัม | 7 |
วิตามิน B-12 | ไมโครกรัม | 0 |
วิตามิน A, RAE | ไมโครกรัม | 16 |
วิตามิน A, IU | IU | 326 |
วิตามิน D (D2 + D3) | ไมโครกรัม | 0.0 |
วิตามิน K | ไมโครกรัม | 2.6 |
Lipids | ||
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด | กรัม | 0.019 |
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด | กรัม | 0.067 |
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด | กรัม | 0.086 |
คอลเลสเตอรอล | มิลลิกรัม | 0 |
ที่มา : [2] USDA Nutrient Database
สรรพคุณลูกท้อ/ลูกพีช
ผลลูกท้อ
– ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่
– ป้องกันมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
– เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านโรคหวัดหรือเชื้อโรคต่างๆ
– ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคตาต่างๆ
– ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน
– ส่งเสริมการสร้างกระดูก และฟัน ป้องกันโรคกระดูกเสื่อม
เมล็ดลุกท้อ
– ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ
– ช่วยบำรุงโลหิต
– ช่วยบรรเทาอาการไอ
– ช่วยแก้อาการท้องเสีย
– กระตุ้นการทำงานของลำไส้ และหัวใจให้เป็นปกติ
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
ดอกลูกท้อ
– ใช้เป็นยาระบาย กระตุ้นการขับถ่าย
– ช่วยขับปัสสาวะ
ใบลุกท้อ
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ
การปลูกลูกท้อ/ลูกพีช
ลูกท้อที่ปลูกในประเทศไทยส่วนมากยังเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เป็นพันธุ์ดั้งเดิมมาจากประเทศจีน มีชื่อพันธุ์ว่า แปะมุงท้อ และอ่างขางแดง เป็นต้น พันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ มักมีผลขนาดเล็กเมื่อเทียบกับพันธุ์ต่างประเทศ ติดดอก และผลน้อย แต่ช่วงหลังเริ่มมีการนำพันธุ์ต่างประเทศอื่นๆที่ให้ผลผลิตสูง และผลมีขนาดใหญ่เข้ามาปลูก อาทิ พันธุ์ฟลอดาชัน พันธุ์ฟลอดาเรด พันธุ์ฟลอดาเบลล์ และเออลิแกรนด์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา และพันธุ์หญิงคู จากประเทศไต้หวัน
การขยายพันธุ์ลูกท้อ
ต้นพันธุ์ลูกท้อนิยมนำเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองมาเพาะกล้าให้เติบโตสำหรับใช้เป็นต้นตอ หลังจากนั้น นำกิ่งพันธุ์ดีที่มีผลขนาดใหญ่มาเสียบยอดหรือติดตา ก่อนดูแลให้ตั้งตัวได้ แล้วค่อยนำลงปลูก
นอกจากนั้น อาจใช้วิธีนำต้นตอของพันธุ์พื้นเมืองลงปลูกในแปลงให้ตั้งตัวได้ก่อน จากนั้น ค่อยนำกิ่งพันธุ์ดีมาเสียบยอด ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลดีเช่นกัน ทั้งนี้ การปลูกนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูหนาวเป็นหลัก
การเตรียมหลุม
แปลงปลูกท้อ ควรไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชออกก่อน จากนั้น ขุดหลุมปลูก กว้าง ลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม และแถวประมาณ 6 x 6 เมตร ตากหลุมไว้ 3-5 วัน
วิธีปลูกลูกท้อ
หลังตาหลุมได้กำหนดแล้ว ให้โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 1 ถัง และปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 ประมาณ 2 กำมือ/หลุม พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงคลุกให้เข้ากัน ก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก พร้อมเกลี่ยดินกลบ จากนั้น ปักข้างลำต้นด้วยไม้ไผ่ และคล้องเชือกรัดหลวมๆเพื่อพยุงลำต้น
การใส่ปุ๋ย
– ระยะ 1-3 ปี ก่อนลูกท้อติดดอกครั้งแรก ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง สูตร 15-15-15 ร่วมกับปุ๋ยคอกรอบโคนต้น
– ระยะติดดอก และผลในช่วง 3-4 ปี เป็นต้นไป ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง สูตร 13-13-21 ใส่ก่อนออกดอก และสูตร 15-15-15 ใส่ระยะหลังเก็บผล ร่วมกับปุ๋ยคอกทุกครั้ง
– การใส่ปุ๋ยแต่ละครั้ง ให้ใส่หลังกำจัดวัชพืชหรือไถพรวนดินร่วม
การตัดแต่งกิ่ง
หลังการปลูกในช่วงปีแรก ให้ตัดยอดลำต้นทิ้ง เพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งออก หลังจากนั้น ตัดแต่งกิ่งหลักให้เหลือประมาณ 3 กิ่ง แล้วปล่อยให้กิ่งหลักแตกกิ่งแขนงออก
ผลผลิต และการปลิดผลทิ้ง
ลูกท้อจะออกดอก และติดผลหลังปลูกประมาณ 3 ปี โดยจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายฤดูฝน ย่างเข้าฤดูหนาว และเก็บผลได้ประมาณหน้าแล้ง ช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ต้นลูกท้อจะติดผลดกในช่วงอายุ 4-5 ปี และเก็บผลได้นานประมาณ 10 ปี
หลังจากที่ดอกลูกท้อติดผลแล้ว 5-8 สัปดาห์ หลังดอกบาน ให้ปลิดผลบางส่วนทิ้ง โดยเลือกผลที่สมบูรณ์ไว้ ระยะห่างของแต่ละช่วงผลประมาณ 15-20 เซนติเมตร ซึ่งอาจปล่อยให้ติดผลเพียง 1 หรือ 2 ผล ไม่ควรมากกว่านี้ ผลอื่นๆให้ปลิดทิ้ง ทั้งนี้ เพื่อให้ผลพัฒนาอย่างสมบูรณ์ และมีขนาดผลใหญ่ หากปล่อยให้ติดผลบนกิ่งมาก ผลจะมีขนาดเล็ก และสีสันไม่สวยงาม
โรค และแมลงลูกท้อ/ลูกพีช
• โรค
– Peach leafcurl
– Brown rot scab
– Rust
• แมลง มีแมลงทำลายที่สำคัญ คือ แมลงวันทองผลไม้
การป้องกัน กำจัด
1. ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา ฉีดพ่นด้วยยากำจัดแมลงวันทอง
2. ใช้เหยื่อพิษล่อแมลงวันทอง ได้แก่ การผสมสารเมททิล ยูจินอลในผลไม้
3. ห่อผลด้วยถุงกระดาษ
4. เก็บ และกำจัดผลสุกที่ร่วงใต้ต้นออกให้หมด
ขอบคุณภาพจาก chiangmaifreshgarden.com/, pantip.com/, BlogGang.com
เอกสารอ้างอิง
[1] ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกท้อของเกษตรกรบ้านขุนวาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่.
[2] USDA Nutrient Database, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงได้ที่ : https://ndb.nal.usda.gov/ndb/foods/show/2311?fgcd=&manu=&lfacet=&format=&count=&max=50&offset=&sort=default&order=asc&qlookup=Prunus+persica+&ds=&qt=&qp=&qa=&qn=&q=&ing=