ข้าวบาร์เลย์ สรรพคุณ และการปลูกข้าวบาร์เลย์

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ข้าวบาร์เลย์ (Barley) จัดเป็นพันธุ์ข้าวเมืองหนาวที่นิยมปลูก และนำมาใช้ประโยชน์มากในแถบประเทศเมืองหนาว จัดเป็นธัญพืชสำคัญสำหรับใช้ทำขนมปัง ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเบียร์ เป็นต้น

• วงศ์ : Hordeae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hordeum spp.หรือ Hordeum yulgar Linn.
• ชื่อสามัญ : Barley

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ข้าวบาร์เลย์ เป็นพืชเมืองหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในหลายประเทศ ทั้งในแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง อาทิ อิสราเอล ตุรกี เอธิโอเปีย ลิเบีย และโมรอคโค เป็นต้น

ข้าวบาร์เลย์ที่ปลูกในปัจจุบัน (H. vulgare) ถูกพัฒนาสายพันธุ์หรือมีสายพันธุ์บรรพบุรุษมาจากข้าวบาร์เลย์พันธุ์ป่า (H. spontaneum C. Koch) โดยมีศูนย์กลางความหลากหลายทางพันธุกรรมอยู่ที่บริเวณ The Fertile Crescent ของตะวันออกประเทศอิสราเอล ตุรกี และอิหร่าน ซึ่งเป็นพันธุ์ชนิดสองแถวเท่านั้น ที่สามารถปลูก และเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย

จากการศึกษาเครื่องหมายโมเลกุลของข้าวบาร์เลย์พันธุ์ป่า 317 สายพันธุ์ จากหลายประเทศ และสายพันธุ์ปลูก 57 สายพันธุ์ พบว่า ข้าวบาร์เลย์พันธุ์ป่าจากประเทศอิสราเอล และจอร์แดนมีความคล้ายคลึงกับข้าวบาร์เลย์สายพันธุ์ปลูกมากกว่าสายพันธุ์จากประเทศอื่น และทำให้พบว่ามีการเคลื่อนย้ายข้าวบาร์เลย์จากประเทศตะวันออกกลางไปยังเอเชียใต้ตั้งแต่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยลงมาด้วย

ส่วนข้าวบาร์เลย์ชนิดหกแถว พบว่า แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ Type I และ Type II โดยข้าวบาร์เลย์ Type I พบกระจายในหลายประเทศ ทั้งในแถบประเทศเติร์กเมนิสถาน แอฟริกาเหนือ และโมร็อกโค ขณะที่ Type II พบเพียงบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนเท่านั้น และข้าวบาร์เลย์ชนิดหกแถวมีบรรพบุรุษมาจากข้าวบาร์เลย์ชนิดสองแถว

ปัจจุบัน พบการปลูกข้าวบาร์เลย์มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่มีพื้นที่ปลูกมาก และส่งออกในอันดับต้นๆ ได้แก่ รัสเซีย เยอรมัน แคนาดา ฝรั่งเศส และสเปน ส่วนประเทศไทยมีการเพาะปลูกข้าวบาร์เลย์เพียงบางพื้นที่ และมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย ได้แก่ เชียงราย ลำพูนลำปาง พะเยา น่าน และเชียงใหม่ ซึ่งจะพบการปลูกเพียงจังหวัดในตอนบน เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้เหมาะแก่การเพาะปลูก [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ชนิดข้าวบาร์เลย์ที่ปลูก
1. ชนิดเมล็ดหกแถว (six-row barley)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : H. vulgare
2. ชนิดเมล็ดสองแถว (two-row barley)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : H. distichum
3. ชนิดเมล็ดสี่แถว (four-row barley หรือ irregular barley) มีแหล่งกำเนิดในประเทศเอธิโอเปีย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : H. irregulare
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : H. tetrastichum

ชนิดพันธุ์ตามฤดู
1. กลุ่มพันธุ์หนาวแท้จริง (winter type)
เป็นข้าวบาร์เลย์ที่เติบโต และติดเมล็ดได้ดีเฉพาะพื้นที่ที่มีอากาศหนาว และต้องการอากาศหนาวมากกว่า 6 เดือน
2. กลุ่มพันธุ์ฤดูใบไม้ผลิ (spring type)
เป็นข้าวบาร์เลย์ที่เติบโต และติดเมล็ดได้ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นไม่มาก และต้องการระยะเวลาของอากาศหนาวน้อย ประมาณ 6 สัปดาห์ เป็นพันธุ์ที่ปลูกมากในแถบเอเชีย และมีการปลูกในประเทศไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
รากข้าวบาร์เลย์ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. รากจากการงอกของเมล็ด (seminal root) คือ รากชุดแรกที่เกิดมาจากคัพภะหลังจากการงอกของเมล็ด ประกอบด้วยรากแขนงที่แตกออกเป็นกระจุกบริเวณโคนต้นใต้ดิน รากหยั่งลึกได้ประมาณ 20-30 เซนติเมตร เป็นรากที่อยู่ตลอดช่วงการเติบโต หรืออาจตายก่อนการเก็บเกี่ยว
2. รากจากข้อลำต้น (crown root) คือ รากชุดที่สองที่เกิดออกบริเวณข้อของลำต้นหลักหรือลำต้นแขนง บางรากที่อยู่ข้อบริเวณโคนต้นจะหยั่งแทงลงใต้ดินได้

ลำต้น
ข้าวบาร์เลย์ มีลำต้นทรงกลม ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง แกนด้านในเป็นรูกลวง สูงประมาณ 60-180 เซนติเมตร หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ลำต้นแตกเป็นกอคล้ายกับข้าวทั่วไป

ใบ
ข้าวบาร์เลย์ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แตกออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้างกันบริเวณข้อ แต่ละลำต้นจะมีใบประมาณ 5-10 ใบ

ใบข้าวบาร์เลย์ ประกอบด้วยกาบใบ (sheath) ที่เป็นส่วนห่อหุ้มลำต้น ถัดมาเป็นลิ้นใบ (ligule) เป็นส่วนที่โผล่ออกจากด้านล่างของกาบใบ มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆขนาดเล็ก งอกจากข้อต่อขึ้นไปทางด้านบน ต่อมาเป็นหูใบ (auricle) เป็นส่วนที่เป็นง่าม 2 อัน อยู่บริเวณจุดต่อระหว่างกาบใบกับแผ่นใบ ถือเป็นส่วนที่ใช้แยกแยะชนิดพันธุ์ข้าวเมืองหนาว กล่าวคือ หูใบของข้าวบาร์เลย์จะยาวงุ้ม ไม่มีขนปกคลุม และมีขนาดใหญ่กว่าหูใบข้าวสาลี ส่วนหูใบของข้าวสาลีจะมีลักษณะแคบเล็ก และมีขนปกคลุม ส่วนข้าวโอ๊ตจะไม่มีหูใบ

รวงดอกหรือรวงเมล็ด
รวงข้าวบาร์เลย์ หรือก้านช่อเมล็ด มีลักษณะเป็นแท่ง รวงมีความยาวประมาณ 9-12 เซนติเมตร รวงไม่แตกกิ่งแขนง แกนรวงมีลักษณะเป็นปล้องหยักสั้นๆ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ รวงชนิดถี่ที่มีปล้องหยักสั้นประมาณ 2 มิลลิเมตร และรวงชนิดถี่ที่มีปล้องหยักสั้นประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีปล้องด้านล่างสุดเรียกว่า ก้านคอรวง โดยรอยต่อระหว่างแกนรวงกับก้านคอรวงจะมีลักษณะเป็นขอดรอบก้าน เรียกว่า ข้อคอรวง ถัดสูงขึ้นไปจะเป็นปล้องแรกของแกนรวง เรียกว่า ปล้องโคนแกนรวง ซึ่งมีลักษณะต่างจากปล้องอื่นๆ คือ มีลักษณะยาว แต่อาจตรงหรืองอก็ได้

บนก้านรวงหรือช่อประกอบด้วยดอกเรียงเป็นแถวๆ แตกต่างกันตามชนิด รวงข้าวบาร์เลย์ชนิด 6 แถว มีดอกย่อยหลัก (spikelet) เรียงกันเป็นแถว 6 แถว และแต่ละดอกย่อยจะแตกออกเป็นอีก 3 ดอกย่อย ด้านข้าง 2 ดอก และตรงกลาง 1 ดอก และทุกดอกจะติดเป็นเมล็ดทุกเมล็ด ซึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 25-90 เมล็ด/รวง ส่วนข้าวบาร์เลย์ชนิด 2 แถว จะติดเมล็ดเฉพาะดอกย่อยตรงกลาง ส่วนดอกย่อยตรงกลางจะลีบเล็ก ทำให้แลดูเป็น 2 แถว ซึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 15-30 เมล็ด/รวง

ดอก
ข้าวบาร์เลย์ออกดอกเป็นช่อคล้ายกับพืชตระกูลหญ้าหรือข้าวทั่วไป ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เกสรสามารถผสมได้ด้วยตัวเอง ประกอบด้วยดอกย่อยหลัก (spikelet) เกิดบนแกนกลางช่อดอก และแต่ละดอกย่อยหลักประกอบด้วย 3 ดอกเดี่ยว (single floret) โดยแต่ละช่อดอกจะมี 10-30 ปล้อง รวมเป็นประมาณ 30-90 ดอกเดี่ยว แต่จะติดเมล็ดแตกต่างกันตามสายพันธุ์

แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบดอก 2 ส่วน คือ กลีบดอกชั้นนอก (lemma) ซึ่งมีขนาดใหญ่ และกลีบดอกชั้นในที่มีขนาดเล็ก ด้านในดอกมีเกสรตัวเมียที่ประกอบด้วยยอดเกสรมีลักษณะเป็นพู่คล้ายขนนก แตกออกเป็น 2 แฉก ด้านล่างมีรังไข่ 1 อัน ที่โคนของรังไข่มีเยื่อรองรังไข่ติดอยู่ 2 อัน ซึ่งเป็นเยื่อที่มีลักษณะเล็ก และมีขนสั้นๆ สีขาวปกคลุม ส่วนเกสรตัวผู้ ประกอบด้วยอับละอองเกสร 3 อัน

สำหรับกลีบดอกชั้นนอกของข้าวบาร์เลย์จะมีหางแทงยาวออกมาด้านนอก ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นยาว และเป็นหางขมวด ปลายกลีบมีขนาดใหญ่ และแยกออกเป็น 3 แฉก แล้วขมวดงอเป็นปม เมื่อลูบจะรู้สึกสากมือ เพราะมีหนามขนาดเล็กปกคลุม โดยแยกได้เป็นแบบหยาบ และแบบเรียบ ทั้งนี้ ในบางพันธุ์ อาจมีปลายหางที่ขมวดพัฒนาเป็นดอกสมบูรณ์ทำให้ติดเมล็ดได้ และหางขมวดจะมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ และสามารถใช้จำแนกชนิดของสายพันธุ์ได้ อาทิ สายพันธุ์ชนิด 6 แถว จะมีหางขมวดของดอกย่อยตรงกลางยาวกว่าดอกด้านข้าง

เมล็ด
ข้าวบาร์เลย์หลายชนิดจะมีกลีบหุ้มดอกติดแน่นกับเนื้อเมล็ด (hulled) แต่มีบางชนิดที่มีเปลือกร่อนแยกออกจากเนื้อเมล็ดคล้ายกับข้าวสาลีเช่นกัน โดยเมล็ดข้าวบาร์เลย์จะประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1. เมล็ดข้าว (caryopsis) เป็นส่วนของเมล็ดที่อยู่ใต้เปลือกแข็ง มีลักษณะคล้ายเมล็ดข้าวกล้อง ซึ่งมีเยื่อหุ้มเมล็ดติดอยู่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.1 เนื้อเยื่อ (caryopsis coat) ประกอบด้วย 3 ชั้น ได้แก่
– เนื้อเยื่อชั้นนอก (pericarp) เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากกลีบดอกชั้นนอก ประกอบด้วยชั้นของเซลล์ที่อยู่เบียดกันแน่น โดยมีความหนาประมาณ 10 ไมครอน
– เยื่อหุ้มเมล็ด (seed coat) เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากเนื้อเยื่อชั้นนอก
– เยื่อคั่น (nucellus) เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากเยื่อหุ้มเมล็ด มีความหนาประมาณ 2.5 ไมครอน
1.2 เอนโดสเปิร์ม (endosperm) เป็นส่วนที่ประกอบด้วยแป้งเป็นหลัก ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่
– เยื่อหุ้มเนื้อเมล็ด (aleurone layer) เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากเยื่อคั่น ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์หลายชนิด
– เนื้อเมล็ด (starchy endosperm) เป็นส่วนที่ประกอบด้วยแป้งสีขาวเป็นจำนวนมาก สำหรับใช้เป็นอาหารหลักของต้นอ่อน
1.3 คัพภะ (embryo) เป็นส่วนตาเมล็ดที่อยู่ส่วนล่างของเมล็ด และเป็นส่วนที่จะพัฒนาเป็นต้นอ่อนต่อไป

2. กลีบใหญ่หรือกลีบดอกชั้นนอก (lemma) เป็นส่วนของเปลือกหุ้มที่อยู่ด้านหลังของเมล็ด โดยมีลักษณะเป็นเส้นยาว 3 เส้น เรียกว่า เส้นสาแหรก (nerve) ได้แก่
– เส้นสาแหรกกลาง (medium nerve) มีจำนวน 1 เส้น
– เส้นสาแหรกข้าง (lateral nerve) มีจำนวน 2 เส้น
– เส้นสาแหรกกริม (marginal nerve) มีจำนวน 2 เส้น

3. กลีบเล็ก (palea) เป็นเปลือกหุ้มบริเวณด้านท้องของเมล็ด

4. ร่องเมล็ด (crease) เป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางของกลีบเล็ก

5. ก้านติดเมล็ด (rachilla) เป็นส่วนที่อยู่ติดกับเมล็ดด้านท้อง ซึ่งทอดยาวไปตามร่องของเมล็ด

6. เยื่อรังไข่ (lodicules) เป็นส่วนที่อยู่ด้านในถัดจากกลีบใหญ่หรือกลีบดอกชั้นนอก ซึ่งจะพบได้บริเวณโคนเมล็ดเมื่อแกะกลีบดอกชั้นนอกออก [3]

ประโยชน์ข้าวบาร์เลย์
1. เมล็ดข้าวบาร์เลย์ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวเมล็ดกลม เล็กๆ เรียกว่า peal barley ที่นิยมนำมาหุงหรือต้มรับประทานแทนข้าวสวยได้ รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของขนมหวานหรือใช้ใส่ในน้ำเต้าหู้
2. ข้าวบาร์เลย์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แป้งสำหรับใช้ทำขนมปัง และเค้ก เป็นต้น
3. ข้าวบาร์เลย์ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำข้าวมอลต์ (barley malt) ที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในโรงงานผลิตเบียร์ และวิสกี้ โดยพบว่า ข้าวบาร์เลย์ชนิดหกแถวจะมีองค์ประกอบของเอนไซม์ และโปรตีนสูง แต่มีปริมาณแป้งน้อย และขนาดเปลือกหนา ซึ่งการมีปริมาณเอนไซม์สูงนี้จะช่วยเพิ่มการเปลี่ยนแปลงระหว่างกระบวนการ mashing ได้ดี ส่วนข้าวบาร์เลย์ชนิดสองแถว จะมีข้อดีที่ว่ามีองค์ประกอบโปรตีนที่ต่ำกว่า ทำให้ช่วยลดความขุ่น (haze) ของกระบวนการหมักเบียร์ได้ดีกว่า ทั้งนี้ ข้าวบาร์เลย์ 300 กิโลกรัม สามารถทำเป็นข้าวมอลต์ได้ประมาณ 225 กิโลกรัม และข้าวมอลต์ 225 กิโลกรัม จะผลิตเบียร์ได้ประมาณ 1800 ลิตร [2]
4. ข้าวบาร์เลย์ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องดื่มเสริมสุขภาพชนิดต่างๆ อาทิ โอวัลติน ขนมอบกรอบ และอาหารเช้า เป็นต้น
5. กากข้าวบาร์เลย์หรือข้าวมอลต์ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์สำหรับเป็นแหล่งเสริมโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต

สรรพคุณข้าวบาร์เลย์
– ต้านโรคมะเร็ง
– ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่
– กระตุ้นภูมคุ้มกันให้แข็งแรง
– ช่วยกระตุ้นการหลั่ง และรักษาระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ
– กระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และการเจริญพันธุ์
– ช่วยต้านอาการอักเสบ
– ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ
– ช่วยลดอาการบวมน้ำ
– ช่วยบรรเทา และป้องกันโรคเกาต์
– ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
– ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
– ช่วยป้องกันอาการวัยทอง
– ป้องกันโรคกระดูกพรุน
– ช่วยป้องกันโรคไต และบำรุงไต
– ป้องกันโรคโลหิตจาง
– ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
– ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยรักษาโรคอ้วน
– ป้องกัน และรักษาโรคธาลัสซีเมีย

ที่มา : [4] อ้างถึงในอกสารหลายฉบับ

การปลูกข้าวบาร์เลย์
ข้าวบาร์เลย์เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในพื้นที่อากาศหนาวเย็น สามารถทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดี มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ต้องการน้ำน้อย และชอบดินค่อนข้างเหนียวหรือเป็นดินเหนียวปนดินอื่นๆ ปัจจุบันพบปลูกทั้งในประเทศเขตหนาว และเขตร้อน ซึ่งสามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศในประเทศที่มีอากาศหนาวน้อยได้ดี และยังต้องการอากาศหนาวเย็นตลอดช่วงการเติบโต

การปลูกข้าวบาร์เลย์ในประเทศไทย นิยมปลูกมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูหนาว ในแปลงนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวหรือแปลงพื้นที่ไร่

การเตรียมแปลง
หลังเก็บเกี่ยวข้าวหรือพืชไร่แล้ว ให้ไถกลบดินอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ละครั้งตากดินนาน 7-10 วัน จากนั้น ไถยกร่องหรือขุดร่องตื้นๆ ประมาณ 10 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่อง ประมาณ 25-30 เซนติเมตร

วิธีปลูก
หลังเตรียมร่องแล้ว ให้โรยก้นร่องตามแนวยาวของร่องด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 1 ตัน/ไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ แล้วโรยเมล็ดข้าวบาร์เลย์เป็นแถวตามแนวยาวของร่อง ก่อนเกลี่ยดินด้านบนคลุกผสม หรืออักวิธี คือ หว่านเมล็ดทั่วแปลงหลังการไถพรวนครั้งที่ 2 แล้วใช้รถไถปั่นคลุกหน้าดินให้กลบเมล็ด ทั้งนี้ ให้หว่านรองพื้นปุ๋ยก่อนการไถกลบครั้งที่ 2

การเก็บผลผลิต
ข้าวบาร์เลย์เป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 90-110 วัน หรือประมาณ 3 เดือนเศษๆ โดยการเก็บเกี่ยวอาจใช้เคียวเกี่ยวด้วยมือหรือใช้รถเกี่ยวข้าวทั่วไป

สำหรับเมล็ดพันธุ์ควรจัดเก็บในถุงผ้าหรือถุงกระสอบในที่แห้ง ก่อนเก็บควรคลุกสารป้องกันแมลง โดยเฉพาะด้วงงวงข้าว (Sitophilus oryzae) ที่มักพบอาศัย และเจาะกินเมล็ดพันธุ์จนเสียหาย

โรคข้าวบาร์เลย์
1. โรคต้นแห้งจากเชื้อรา มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Trichoderma harzianum พบแพร่ระบาดในแปลงที่ชื้นมาก การระบายน้ำไม่ดี มีการระบาดมากในระยะแตกกอ ทำให้ต้นแห้งตาย มีวิธีป้องกัน คือ นำเมล็ดคลุกสารป้องกันเชื้อราก่อนหว่านลงแปลง เช่น carboxin อัตรา 0.2% และฉีดพ่นด้วยสารกำจัดเชื้อราอีกครั้ง หลังหว่านเมล็ด 30 วัน รวมถึงเตรียมแปลงให้มีร่องหรือลาดเทที่สามารถระบายน้ำได้ดี

เอกสารอ้างอิง
[1] คคนางค์ เอกจิตร, 2550, การประมาณความสามารถของการถ่ายทอดลักษณะ-
พันธุกรรมและความดีเด่นของผลผลิตและ-
องค์ประกอบผลผลิตในข้าวบาร์เลย์.
[2] มานพ ทิวารี, 2538, การผลิตข้าวบาร์เลย์เพื่ออุตสาหกรรมทำเบียร์, บริษัทเชียงใหม่มอลท์ติ้ง จำกัด.
[3] พัธกุล จันทนมัฏฐะ, 2527, ลักษณะและรูปพรรณข้าวบาร์เลย์, กรมวิชาการเกษตร.
[4] จันทิมา ทองบุญ, 2555, การศึกษาเปรียบเทียบสมบัติใบอ่อนข้าว-
พันธุ์สุโขทัย 1 กับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์-
เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม.