Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ลำแพน (Red-brown mangrove) จัดเป็นไม้ป่าชายเลนชนิดเบิกนำที่อยู่ในระดับบนสุดของป่าชายเลน มีประโยชน์หลักสำหรับเป็นแหล่งพักอาศัยของสัตว์ต่างๆในระบบนิเวศป่าชายเลน ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในส่วนของผล ทั้งทำผลไม้ดองหรือผลไม้กวน อีกทั้ง นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในกระถาง
อนุกรมวิธาน [1]
อาณาจักร (kingdom): Plantae
ดิวิชั่น (Division): Magnoliophyta
ชั้น (class): Magnoliopsida
อันดับ (order): Myrtales
วงศ์ (family): Lythraceae
สกุล (genus): Sonneratia
ชนิด (species): alba
ชื่อวิทยาศาสตร์: Sonneratia alba J. Sm.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Sonneratia griffithii Watson
ชื่อสามัญ : Red-brown mangrove
ชื่อท้องถิ่น :
– ลำแพน (ภาคกลาง และทั่วไป)
– ลำแพนทะเล ปาด (พังงา ภูเก็ต)
– รำป๊าด (มลายู-สตูล)
– บูแม (มลายู-นราธิวาส)
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [1]
ลำแพนเป็นไม้ชายเลนที่พบการกระจายในเขตร้อนชื้นทั่วโลก พบได้ในแถบประเทศแอฟริกาตะวันออก มาดากัสการ์ อินเดีย และแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจัดเป็นไม้ชายเลนประเภทไม้เบิกนำที่อยู่ชั้นแรกตอนบนของไม้ชายเลน มักขึ้นเป็นกลุ่มแลเป็นป่าดงใหญ่ เป็นไม้ชายเลนที่เจริญได้ดีในน้ำกร่อยจนถึงระดับชายเลนที่มีน้ำค่อนข้างเค็ม ชอบขึ้นในบริเวณที่มีสภาพดินเลนอ่อน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำแพน เป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ มีลำต้นสูงประมาณ 6-25 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาลอมชมพูหรือเทา และมีการแตกล่อนเป็นสะเก็ด ลำต้นแตกกิ่งในระดับต่ำ แตกกิ่งจำนวนมากจนแลดูเป็นทรงพุ่มใหญ่ กิ่งแขนงมีลักษณะกลม และมีข้ออวบอ้วนเป็นช่วงๆ เนื้อไม้ของกิ่งเปราะหักง่าย
ส่วนรากประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง โดยรากแขนงประกอบด้วยรากแขนงในดิน และรากแขนงชนิดรากหายใจ ซึ่งจะโผล่พ้นน้ำตั้งตรงขึ้นเหนือน้ำ รากหายใจมีลักษณะรูปกรวยคว่ำ สูง 20-40 เซนติเมตร โคนรากอวบใหญ่ ปลายรากแหลมทู่ เปลือกรากมักแตกร่อนเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลอมชมพู
ใบ
ใบลำแพนออกเป็นเดี่ยว เรียงสลับตรงข้ามตั้งฉากกันตั้งแต่บริเวณกลางกิ่งถึงปลายกิ่ง แผ่นใบมีรูปไข่กลับ หรือ รูปไข่แกมรูปรี เนื้อแผ่นใบค่อนข้างอวบน้ำ โคนใบสอบ กลางใบกว้าง ปลายใบเว้าตื้นถึงกลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวเข้ม
ดอก
ดอกลำแพนออกเป็นดอกเดี่ยว หรือบางครั้งอาจพบออกเป็นแบบช่อกระจุก ตัวดอกแทงออกบริเวณปลายสุดของกิ่ง ดอกตูมเป็นดอกที่ถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยง มีสีเขียว มีลักษณะรูปขอบขนานหรือรูปรี โคนดอกสอบ ปลายดอกมน เมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยงจะแผ่กลางออกเป็น 6-8 แฉก กลีบเลี้ยงด้านนอกมีสีเขียว ด้านในมีสีแดงเรื่อ ตัวกลีบเลี้ยงมีรูปสามเหลี่ยมหรือรูปหอก โคนกลีบเลี้ยงกว้าง ปลายกลีบเลี้ยงแหลม
ส่วนกลีบดอกไม่ปรากฏพบ โดยถัดมาด้านในจากกลีบเลี้ยงจะเป็นเกสรเพศผู้ มีลักษณะเป็นแท่งยาวสีขาวจำนวนมาก โคนก้านเกสรติดอยู่กับรังไข่ ปลายเกสรเป็นอับเรณูสีเหลือง ก้านเกสรเพศเมีย สีเขียวอ่อน จำนวน 1 อัน ยาวยื่นโผล่ออกมาให้เห็นเด่นชัดบริเวณกลางดอก ซึ่งมีความยาวเป็นสองเท่าของเกสรเพศผู้ โดยปลายยอดเกสรเพสเมียเป็นตุ่มสีเขียว
ผล
ผลลำแพนมีรูปกลมแบนหรือทรงแป้น ที่ขั้วผลมีกาบใบเป็นรูปหกแฉกหุ้ม ตรงกลางผลท้ายด้ายมีติ่งเป็นแท่งสีเขียวยื่นยาวออกมา ผลมีผิวเรียบ ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เปลือกผลบางติดกับเนื้อผล เนื้อผลหนา และมีเมล็ดจำนวนมากแทรกตรงกลางเนื้อผล แบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด
ประโยชน์ลำแพน
1. ผลลำแพนมีรสเปรี้ยวอมฝาด นิยมใช้ทำผลไม้ดองเค็ม
2. ผลลำแพนใช้ทำขนมลำแพนกวน
3. ก้านเกสรตัวผู้ของดอกกำลังบานนำมาลวกเป็นผักคู่กับข้าวหรือใช้ประกอบอาหาร
4. ปลูกเป็นไม้ประดับในกระถาง เพราะหากนำมาปลูกในกระถางจะมีพื้นที่จำกัด ลำต้นจะโตช้า ลำต้นไม่ใหญ่เหมือนตามธรรมชาติ อีกทั้ง มีรากอากาศโผล่ขึ้นมาเหนือกระถางจึงแลดูแปลกตา
5. ลำต้น และกิ่งใช้ทำฟืนหุงต้มหรือนำมาเผาเป็นถ่านใช้ในครัวเรือน
สรรพคุณลำแพน [1]
ใบหรือผลต้มน้ำดื่ม ช่วยบรรเทาอาการท้องร่วง ท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ
การขยายพันธุ์ และปลูกลำแพน
ตามธรรมชาติ ลำแพนจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยผลสุกที่ล่นจากต้นแม่จะฝั่งในดินเลน แล้วเมล็ดจะงอกเติบโตเป็นต้นใหม่ แต่หากอยู่ในแหล่งน้ำขึ้นลงหรือน้ำไหลผ่าน ผลสุกก็จะลอยตามกระแสน้ำไปตกบนดินเลนห่างจากต้นแม่ ส่วนการปลูกเป็นไม้ประดับในกระถาง นิยมขุดต้นอ่อนหรือต้นกล้าจากป่าชายเลนนำมาปลูกลงกระถาง
เอกสารอ้างอิง
[1] สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. ลำแพน. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงได้ที่ : http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=915&view=showone&Itemid=59/.
ขอบคุณภาพจาก
– Pantip.com
– Thaimatha