ผักแว่น ชนิด ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกผักแว่น

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ผักแว่น (Water clover) เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ง่ายบริเวณริมน้ำหรือริมตลิ่งตามห้วย หนอง คลอง บึงหรือบ่อเก็บน้ำตามหัวไร่ปลายนา เป็นผักสมุนไพรที่นิยมเก็บทั้งต้นมารับประทานสดคู่กับกับข้าว อาทิ เมนูป่นหรือน้ำพริก ซุปหน่อไม้ ลาบ และส้มตำ เป็นต้น

ชนิดของผักแว่น [1] อ้างถึงใน ศิริพร และคณะ, 2552
จากการสำรวจ และเก็บตัวอย่างผักแว่นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย พบว่า ชนิดของผักแว่นที่สำรวจพบมีจำนวน 4 ชนิด คือ 1. ผักแว่นหรือผักลิ้นปี่ 2. ผักแว่นใบมัน (2 ชนิดนี้ เป็นชนิดพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่พบในไทย พบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยชนิดที่ 1 เป็นพันธุ์ที่พบมากที่สุด) 3. ผักแว่นขน หรือผักแว่นกำมะหยี่ 4. ผักแว่นใบวง ( 2 ชนิด นี้เป็นผักแว่นต่างถิ่น ถูกนำเข้ามาเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ ยังไม่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ)
1. ผักแว่นหรือผักลิ้นปี่ (Marsilea crenata C.Presl L )
เป็นผักแว่นที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย และแพร่กระจายทั่วไป เป็นเฟิร์นนำเลื้อยทอดยอดไปตามพื้นดินหรือพื้นน้ำใบเขียว-ใส แยกเป็น 4 ใบเท่าๆ กัน จากบริเวณที่ติดกับก้านใบจุดเดียวกัน คล้ายรูปพัด ขอบใบเรียบหรือบางครั้งพบหยักเล็กน้อย สร้างสปอโรคาร์ปเป็นกลุ่มที่ซอกโคนใบ จำนวนแตกต่างกัน 2-10 อัน รูปร่างคล้ายเมล็ดถั่ว ใบที่สร้างสปอโรคาร์ปและไม่สร้างสปอโรคาร์ปไม่แตกต่างกัน คือแผ่นใบบาง เขียว

ผักแว่น/ผักลิ้นปี่

2. ผักแว่นใบมัน (Marsilea scalaripes D.M.Johnson)
เป็นผักแว่นที่มีลักษณะและขนาดใบเหมือนกับผักลิ้นปี่ แต่ใบที่สร้างสปอโรคาร์ปมีลักษณะใบหนา เป็นเงาหรือเป็นนวล สร้างสปอโรคาร์ปรูปร่าง กลม-รีบนก้านใบ จำนวน 2-12 อัน เรียงอยู่บนก้านใบอย่างเป็นระเบียบ สำหรับใบที่ไม่สร้างสปอโรคาร์ปมีลักษณะเหมือนใบของผักลิ้นปี่ คือ ลักษณะบาง พบเมื่อนำผักแว่นใบมันมาปลูกในสภาพดินแห้ง หรือเมื่อปลูกไว้นานๆ ในพื้นที่จำกัด โดยไม่มีการบำรุงดิน จะเกิดยอดที่มีใบสีเขียวอ่อน และบางเหมือนกับผักลิ้นปี่ ก้านใบจะเล็กกว่าใบที่สร้างสปอโรคาร์ป มีการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนเร็ว จนทำให้ใบมันหรือใบนวลหายไปในที่สุด และถึงแม้จะมีการบำรุงดิน หรือให้นำก็จะไม่เกิดใบที่มีลักษณะเป็นใบมันอีกเลย คือไม่เกิดใบที่สร้างสปอโรคาร์ป จากใบที่ไม่สร้างสปอโรคาร์ป

ผักแว่นใบมัน

ทั้งนี้ ส้มกบ เป็นชื่อเรียกผักแว่นชนิดนี้เช่นกันในบางท้องที่เช่นกัน แต่จะแตกต่างกันที่ส้มกบชนิดนี้มักพบได้บนพื้นดิน ไม่ใช่ริมขอบน้ำ เถามีขนาดเล็กกว่า และมีสีเขียมอมแดงเรื่อ เถามีความเหนียว ไม่ฉ่ำน้ำ ใบย่อยมีลักษณะเป็นนวลมากกว่าผักแว่นชนิดแรก

3. ผักแว่นขน หรือผักแว่นกำมะหยี่ (Marsilea dummondii A.Br.)
เป็นผักแว่นพื้นเมืองของออสเตรเลีย ถูกนำเข้ามาเป็นไม้ประดับ พบจำหน่ายในตลาดนัดสวนจตุจักร ตั้งแต่ปี 2550 มีลักษณะคล้ายผักแว่น แต่ใบมีขนาดใหญ่ ใบมีขนนุ่ม สีขาวปกคลุมทั่ว เหมือนกำมะหยี่ มีการสร้างสปอโรคาร์ปเป็นกลุ่มที่ซอกใบ เช่นเดียวกับผักแว่น แต่สปอโรคาร์ปของผักแว่นกำมะหยี่จะเกิดตรงโคนก้านใบ มีขนาดใหญ่ มีขนขาวปกคลุมทั่วจนเห็นเป็นสีขาวนวล ก้านสปอโรคาร์ปยาวมากเมื่อเทียบกับชนิดอื่นๆ

4. ผักแว่นวง (Marsilea mutica Mett.)
เป็นผักแว่นพื้นเมืองของออสเตรเลีย และถูกนำเข้ามาเป็นไม้ประดับเช่นกัน มีลักษณะคล้ายกับผักแว่นใบมัน แต่บริเวณกลางใบมีสีเขียวจางแตกต่างจากแผ่นใบด้านนอก และมองเห็นเป็นลายเหมือนมีวงตรงกลางใบ ใบมักลอยบนผิวนำ ไม่พบใบที่ชูเหนือน้ำ และใบที่มีลักษณะแตกต่างกัน ทุกใบสามารถสร้างสปอโรคาร์ปได้ สปอโรคาร์ปเกิดที่โคนซอกใบ รูปร่างกลมรี จำนวน 1-2 อัน ก้าน-สปอโรคาร์ปไม่แตกแขนง

ผักแว่น หรือ ผักลิ้นปี่
อนุกรมวิธาน [2], [3]
• อาณาจักร (kingdom): Plantae
• ดิวิชั่น (Division): Pteridophyta
• ชั้น (class): Pteridopsida
• อันดับ (order): Salviniales
• วงศ์ (family): Marsileaceae
• สกุล (genus): Marsilea
• ชนิด (species): crenata

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Marsilea crenata Presl.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ :
• ชื่อสามัญ:
– Water clover
– Water fern
– Pepperwort
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ผักแว่น
– ส้มกบ
ภาคเหนือ
– ส้มดิน
– หญ้าตานทราย
– ส้มสังก๋า
– สังส้ม
– หนูเต๊าะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน)
ภาคใต้
– ผักลิ้นปี่

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักแว่น เป็นเฟิร์นน้ำชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป เอเชีย และออสเตรียเลีย พบมากในแถบประเทศอบอุ่น โดยในทวีปเอเชียพบผักแว่นได้มากในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ผักแว่นเป็นพืชริมน้ำ พบได้ทั่วไปตามริมขอบน้ำหรือริมตลิ่งตามห้วย หนอง คลอง บึง รวมทั้ง พบได้ตามท้องนาหรือพื้นที่ชื้นแฉะ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ผักแว่น จัดเป็นพืชในกลุ่มของเฟินน้ำ และจัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยไปตามผิวดินหรือผิวน้ำ เถาสามารถแตกเถาย่อยหรือเถาแขนงได้ แต่ละเถามีลักษณะกลม สีขาว หรือ สีเหลืองอมขาว และเมื่อก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำ โดยเถามีลักษณะเป็นข้อปล้อง และฉ่ำน้ำ ขนาดเถาประมาณ 2-4 มิลลิเมตร มีความยาวของเถาได้กว่า 20-40 เซนติเมตร

ส่วนระบบรากผักแว่นจะไม่มีรากแก้ว มีเฉพาะรากฝอย รากฝอยนี้พบได้ทั้งในส่วนลำต้นหลัก และบริเวณข้อปล้อง โดยรากฝอยอาจแทงหยั่งลงดินหรือลอยน้ำ

ใบ
ใบผักแว่นจัดเป็นใบประกอบ ประกอบด้วยก้านใบ สีเขียว ขนาดก้านใบ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายก้านใบประกอบด้วยใบย่อย จำนวน 4 ใบ เรียงล้อมเป็นวงกลม แต่ละใบย่อยมีพัด ไม่มีก้านใบ โคนใบสอบแคบ แล้วค่อยๆกว้างขึ้นไปจนถึงปลายใบ โดยปลายใบกว้างมน ตัวแผ่นใบ และขอบใบเรียบ ขนาดใบกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตร

ดอก
ผักแว่นออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นหลายดอกแทงออกบริเวณซอกใบที่ข้อปล้อง ตัวดอกมีก้านดอกขนาดเล็กสีเขียว มีขนปกคลุม ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ปลายก้านดอกเป็นตัวดอก ประกอบด้วยกลีบดอกสีเหลืองสด โดยจำนวนดอกต่อต้นจะพบจำนวนน้อย ถัดจากก้านดอกจะเป็นตัวดอกที่มีใบประดับขนาดเล็กรูปหอกสีเขียว ขนาด 2-4 × 1 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นกลีบดอกจำนวน 5 กลีบ มีลักษณะรูปไข่กลับแกมขอบขนาน แผ่นกลีบดอกมีสีเหลืองสด ขนาดกลีบดอกกว้าง 3-8 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน

ผล หรือ สปอร์
มีสปอร์เป็นก้อนแข็ง ๆ สีดำ รูปขนาน หรือรูปรีคล้ายเมล็ดถั่วเขียว ออกที่โคนก้านใบขณะอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

ผลของผักแว่นเรียกว่าสปอร์ มีลักษณะเป็นผลแห้งแบบแคปซูลขนาดเล็ก แบ่งเป็น 5 ช่อง แต่ละช่องมีจำนวนเมล็ด 5-11 เมล็ดต่อช่อง เมื่อแก่แล้วจะปริแตกออกได้ตามแนวยาวของสันผล ภายในมีเมล็ดรูปไข่แบน สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลแดง ขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร

ประโยชน์ผักแว่น
1. ผักแว่น เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ในทุกท้องถิ่น นิยมนำมารับประทานสดคู่กับกับข้าวหลายเมนู อาทิ น้ำพริกชนิดต่างๆ ซุปหน่อไม้ ลาบ และใช้เป็นผักผสมในเมนูยำหรือสลัดต่างๆ
2. ผักแว่น นำส่วนของต้น และใบมาปั่นเป็นน้ำผักสำหรับดื่ม
3. ผักแว่น ในบางท้องที่หรือในกลุ่มผู้นิยมไม้แปลกมีการนำผักแว่นมาปลูกในกระถางเพื่อเป็นไม้ประดับ และดูดสารพิษในอาคาร

สารสำคัญที่พบ [3]
ใบ
– tartaric acid
– citric acid
– potassium oxalate
– วิตามินซี
– carotene

สรรพคุณผักแว่น [3], [4]
• ทุกส่วนมีรสจืดอมฝาดเล็กน้อย ทั้งเถา ใบ ดอก และราก ใช้เคี้ยวรับประทานสด ทำกับข้าว หรือ ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณต่างๆหลายด้าน ได้แก่
– ช่วยเป็นยาธาตุ ช่วยเจริญอาหาร
– แก้ฝีในลำคอ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
– เป็นยาในการถอนพิษทั่วไป
– แก้อาการเจ็บคอ คอแห้ง ลำคออักเสบ
– ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด
– แก้ปวดท้อง ท้องเสีย
– แก้ปวดเมื่อยรูมาติก แก้อุจจาระเป็นเลือด
– แก้อาการปัสสาวะเป็นเลือด
– แก้เคล็ดขัดยอก ปวดเมื่อยตามร่างกาย
– แก้อาการปวดฟัน ป้องกันโรคฟันผุ
– ช่วยสมานแผลในปาก ลำคอ และกระเพาะอาหาร
– แก้อาการร้อนใน
– ช่วยลดไข้ แก้หวัดร้อน บรรเทาอาการไข้ต่างๆ
– ช่วยดับกระหายน้ำ
– ช่วยแก้ดีพิการ

• ทุกส่วนใช้บดขยำทาภายนอก มีสรรพคุณ
– ใช้หยอดตา ช่วยแก้อาการเจ็บตาหรือระคายเคืองตา แก้ตาอักเสบ รวมถึงช่วยบรรเทาโรคต้อกระจก
– นำมาโขลกแล้วผสมกับสุรา ใช้ทาหรือประคบแก้อาการปวดฝีในบริเวณต่างๆ รวมถึงใช้ทาหรือประคบบริเวณฟกช้ำ แก้อาการปวด และบวมบริเวณฟกช้ำ รวมถึงอาการฟกช้ำในอวัยวะภายใน
– ใช้ทารักษาตาปลา และหูดบนผิวหนัง

งานวิจัยด้านฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
1. ผลการศึกษาความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากผักแว่น กระแตไต่ไม้ และกีบม้าลม พบว่า ชนิดของสารสกัดมีผลต่อความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของเฟิร์นทั้ง 3 ชนิด โดยพบว่า การใช้สารเอทิลอะซิเตทในการสกัดจะมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงสุด และเมื่อเทียบความสามารถของเฟิร์นทั้ง 3 ชนิด พบว่า ผักแว่นมีความสามารถต้านอนุมูลอิสระได้สูงสุด โดยมีค่า DPPH ที่ 107.77 มิลลิกรัม/Trolox/กรัมแห้ง และมีค่า ABTS ที่ 153.75 มิลลิกรัม/Trolox/กรัมแห้ง นอกจากนั้น ยังพบว่า ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระจะมีความสัมพันธ์กับปริมาณเบต้าแคโรทีนที่พบในเฟิร์นทั้ง 3 ชนิด โดยตรวจพบปริมาณเบต้าแคโรทีนในผักแว่นสูงที่สุดที่ 2,291.06 มิลลิกรัม/ 100 กรัม ผักแว่นแห้ง [4]

2. การศึกษาสารสกัดจากพืชตระกูลเฟิร์นที่มีต่อการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส ที่เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน พบว่า สารสกัดจากผักแว่นมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดสได้สูงสุดที่ร้อยละ 98.57 เมื่อเทียบกับพืชอีก 2 ชนิด (กระแตไต่ไม้ และผักกูด) และเมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานในการยับยั้งเอนไซม์แอลฟา-กลูโคซิเดส พบว่า สามารถที่จะยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวได้กว่าร้อยละ 97.14 ดังนั้น ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ผักแว่นสามารถที่จะลด บรรเทา และบำบัดอาการจากโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ [5]

3. การศึกษาหาปริมาณสารฟลาโวนอยด์และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ พบว่า วิธีการสกัดด้วยเอทานอลกับน้ำในอัตราส่วน 70:30 สามารถสกัดสารฟลาโวนอยด์จากผักแว่นได้ที่ 18.54 mg QE/g แห้ง และซึ่งมีค่าต่ำกว่าปริมาณสารฟลาโวนอยด์จากกระแตไต่ไม้ที่ 31.657 mg QE/g แห้ง โดยพบว่า ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ในพืชทั้ง 2ไม่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งผักแว่นมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงสุดที่ 14.98 mg VCEAC/ กรัม แห้ง สูงกว่ากระแตไต่ไม้ ทั้งที่ปริมาณสารฟลาโวนอยด์มีค่าต่ำกว่า [6]

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าปริมาณสารเบต้าแคโรทีนมีความสัมพันธุ์กับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ และที่สำคัญปริมาณสารเบต้าแคโรทีนในผักแว่นถือได้ว่ามีปริมาณสูง จึงทำให้ผักแว่นเป็นผักที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี

การปลูกผักแว่น
ปัจจุบัน ผักแว่นยังไม่เป็นที่นิยมปลูกเพื่อการค้า เนื่องจาก สามารถหาเก็บรับประทานได้ทั่วไปตามห้วย หนอง คลอง บึง ต่างๆ แต่มักพบมีการเก็บมาเพื่อจำหน่ายตามตลาดท้องถิ่นทั่วไป ซึ่งมักเก็บได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติในท้องถิ่น

การปลูกผักแว่นสามารถทำได้เช่นกัน โดยนำเถาผักแว่นมาตัดแยกเป็นส่วนๆ ก่อนนำลงปักชำตามริมขอบสระหรือแหล่งดินที่ชื้นแฉะ รวมถึงสามารถนำมาปลูกปักชำในกระถางที่ปริ่มน้ำได้เช่นกัน

การตลาด
ผักแว่น ปัจจุบันยังไม่มีการปลูกเพื่อจำหน่ายแบบจริงจังหรือเต็มรูปแบบ แต่มีการเก็บจากธรรมชาติเพื่อมาจำหน่าย ซึ่งพบได้ตามตลาดนัดของชุมชนหรือตลาดกลางของอำเภอหรือจังหวัด ในกำมือละ 5-10 บาท ซึ่งล้วนได้มาจากการเก็บจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ ในอนาคตภาคหน้าคาดว่าผักชนิดนี้สามารถที่จะปลูกเพื่อการจำหน่ายได้แน่นอน

เอกสารอ้างอิง
[1] ศิริพร ซึงสนธิพร และธัญชนก จงรักไทย. 2556. ชีววิทยา และการแพร่กระจายของวัชพืชสกุลผักแว่น- (Marsilea L.) และศักยภาพการเป็นวัชพืชของผักแว่นต่างถิ่น
[2] สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. ผักแว่น. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงได้ที่ : http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=2269&view=showone&Itemid=59/.
[3] ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ส้มกบ. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2563. เข้าถึงได้ที่ : http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=283/.
[4] นุชนาถ ประหยัดทรัพย์. 2554. การสกัดและทดสอบความสามารถใน-
การต้านอนุมูลอิสระจากพืชตระกูลเฟิน.
[5] ปนัดดา ทินบุตร. 2554. การศึกษาสารสกัดจากพืชตระกูลเฟิร์นที่มีฤทธิ์ยับยั้งแอลฟา-กลูโคซิเดส.
[6] จุฑารัตน์ ทวีกิจโภไคย. 2554. การหาปริมาณฟลาโวนอยด์และความสามารถ-
ในการต้านอนุมูลอิสระจากพืชตระกูลเฟิน-
โดยการสกัดด้วยตัวทำละลายร่วมกับอัลตราโซนิค.

ขอบคุณภาพจาก
– https://pantip.com/topic/30681650
– https://pantip.com/topic/33338817
– rbg-web2.rbge.org.uk/
– twitter.com/hashtag/ผักแว่น?lang=he
seeyaonair.com