ละหุ่ง (Castor) สรรพคุณ และการปลูกละหุ่ง

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ละหุ่ง (Castor) จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งในอดีต เพราะเมล็ดนำมาสกัดน้ำมัน ซึ่งถูกใช้มากในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การผลิตน้ำมันหล่อลื่น สี หมึกพิมพ์ น้ำมันขัดเงา สบู่ และลิปสติก เป็นต้น รวมถึงใช้กากหลังการสกัดเป็นส่วนผสมอาหารสัตว์ เพราะมีโปรตีนสูง แต่ต้องกำจัดสารพิษก่อน ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง เพราะมีการใช้น้ำมันจากแหล่งอื่นมาใช้แทน

อนุกรมวิธาน
• อาณาจักร : Plantae
• อาณาจักรย่อย : Magnoliophyta
• ชั้น : Magnoliopsida
• ตระกูล: Malpighiales
• วงศ์ : Euphorbiaceae
• สกุล : Ricinus
• ชนิด : Communis L.

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ricinus communis Linn
• ชื่อสามัญ :
อังกฤษ
– Castor
– Castor bean (นิยมใช้เรียกส่วนของเมล็ด แต่ปัจจุบันไม่นิยมแล้ว เพราะ ละหุ่งไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว)
– Castor oil plant
สเปน และโปรตุเกส
– Ricinus
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ละหุ่งแดง
– ละหุ่งขาว
– มะละหุ่ง
ภาคเหนือ
– มะโห่ง
– มะโห่งหิน
จีน : ปี่มั้ว

คำว่า Ricinus มาจากภาษาลาติน แปลว่า เห็บสุนัข เพราะ Linnaeus เห็นเมล็ดละหุ่งด้านในคล้ายกับเห็บสุนัข ส่วนชื่อสามัญคำว่า Castor มาจากพ่อค้าชาวอังกฤษใช้เรียกน้ำมันที่ได้มาจาก Vitex agnus-castus [4] อ้างถึงใน Weiss (1983)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ละหุ่งสันนิษฐานว่ามีถิ่นกำเนิดในอินเดียหรือแอฟริกา [1] อ้างถึงใน Kulkarni และ Ramnamurthy (1977) ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อน เขตร้อนชื้น โดยพบมากในประเทศบราซิล จีน อินเดีย รัชเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทย [1] อ้างถึงใน อนันต์ (2526) ส่วนประเทศไทยพบละหุ่งแพร่กระจายในทุกภาค พบได้มากในพื้นที่ลุ่มหรือริมทางน้ำ ริมแม่น้ำ เพราะการไหลของน้ำช่วยในการแพร่กระจายของเมล็ด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ละหุ่ง เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียวหรือมีอายุข้ามปี ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 2-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงออกน้อย ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้น และกิ่งมีทั้งสีเขียว สีน้ำตาล สีเหลืองหรือสีม่วงแดง และอาจมีนวลสีขาวปกคลุม ซึ่งแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ส่วนแก่นลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย

ใบ
ละหุ่ง เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แทงใบออกเดี่ยวๆเรียงสลับตามลำต้น ใบมีก้านใบทรงกลม ยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ถัดมาเป็นแผ่นใบที่มีลักษณะเว้าเป็นแฉกๆคล้ายใบมะละกอ แต่ก้านใบละหุ่งจะเชื่อมกับแผ่นใบบริเวณตรงกลาง แผ่นมีขนาดประมาณ 20-60 เซนติเมตร แต่ขนาดใบจะแตกต่างตามสายพันธุ์ แผ่นใบเป็นแฉกเว้า ประมาณ 7-11 แฉก เรียงกันเป็นวงกลม แต่ละแฉกมีโคนเชื่อมติดกัน แผ่นแต่ละแฉกเรียบ ขอบมีลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นแฉกมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน ทั้งนี้ ทั้งก้านใบ แผ่นใบ เส้นกลางใบจะมีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์ อาทิ ก้านใบสีม่วงแดง ก้านใบสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน เส้นกลางใบสีม่วงแดง เป็นต้น

ดอก
ละหุ่งออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ประกอบด้วยดอกแยกเพศ แต่จะอยู่บนช่อดอกเดียวกัน ซึ่งใช้การผสมเกสรด้วยแมลงเป็นหลัก ประกอบด้วยมีช่อดอกยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ช่อดอกมีลักษณะเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นประกอบด้วยดอกออกเป็นกระจุกรวมกันแน่น

ดอกตัวผู้จะอยู่ด้านล่างของช่อดอก ประมาณ 50-70% ส่วนดอกตัวเมียจะอยู่ด้านบนของช่อ ประมาณ 30-50% โดยดอกตัวผู้จะไม่มีกลีบดอก มีเพียงกลีบเลี้ยงห่อหุ้มอับเรณูเอาไว้ เกสรด้านในมีสีเหลือง ส่วนดอกตัวเมียจะไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงหุ้มไว้เช่นกัน โดยมีด้านล่างเป็นรังไข่ ปลายเกสรมีสีเหลืองแยกออกเป็น 3 แฉก

ผล
ละหุ่งติดเป็นผลเดี่ยวที่รวมบนช่อผลเดียวกัน ผลมีลักษณะทรงกลม ขนาดผลประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีสีแตกต่างกันตามสายพันธุ์ เปลือกหุ้มผลหนา เปลือกหุ้มผลมีหนามปกคุลมทั่วผล คล้ายผลเงาะ ผลอ่อนมีหนามอ่อน ไม่ปักทิ่มร่างกาย แต่หากผลแก่ หนามจะแข็งขึ้น เมื่อผลแห้ง เปลือก และหนามจะแข็ง และคม เปลือกผลมีสีน้ำตาลอมดำ และปริแตกออกเป็นพูชัดเจน จำนวน 3 พู แต่ละพูมีเมล็ด 3 เมล็ด

เมล็ด
เมล็ดละหุ่งมีรูปรี และแบนเล็กน้อย ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร เปลือกเมล็ดเรียบ มีลายสีน้ำตาลดำ และสีครีมประ ผิวเป็นมัน และแข็ง ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อเมล็ด สีขาวนวลหรือสีขาวอมเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันจำนวนมาก

พันธุ์ละหุ่ง และการปรับปรุงพันธุ์
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่เริ่มปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ละหุ่งต้านทานโรค และให้ผลิตสูง โดยเริ่มรวบรวมพันธุ์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1902 ณ รัฐ Oklahoma และNew York และได้เริ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์ในปี ค.ศ. 1941 ทำให้ได้พันธุ์ดีที่มีอายุการเก็บเหี่ยวสั้นหลายพันธุ์ ประเทศอื่นที่มีการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ ประเทศรัชเซีย โดย Popova ทำเริ่มวิจัยปรัปรุงพันธุ์ละหุ่งในปี ค.ศ. 1922 และต่อมา Pustovoit ได้ปรับปรุงพันธุ์ละหุ่งจนได้พันธุ์ดีต่างๆ อาทิ Kruglik 5 และ NVIIMK 165 รวมถึงได้มีการค้นพบสายพันธุ์ s-pistillate type ในประเทศอิสราเอล พร้อมพัฒนาสายพันธุ์จนได้ลูกผสมที่สามารถปลูกเป็นพันทางการค้าได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1950 [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ในประเทศไทยได้เริ่มปรับปรุงพันธุ์ละหุ่งประมาณปี พ.ศ. 2496 ด้วยการเริ่มรวบรวมพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์ดีไว้ ณ สถานีกสิกรรมบ้านใหม่สำโรง จ.นครราชสีมา จนได้พันธุ์แท้ 6 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขาว, พันธุ์แดง, พันธุ์แดงเข้ม, พันธุ์ดำใหญ่, พันธุ์ม่วงดำ และพันธุ์ลายหินอ่อน หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2500 เสริมลาภ วสุวัต ได้นำเข้าพันธุ์เมล็ดเล็กจำนวน 8 พันธุ์ มาจากสหรัฐอเมริกา [2] อ้างถึงใน อารีย์ (2532) และดุสิต (2525)

พันธุ์ละหุ่งตามอายุการเก็บเกี่ยว [3]
1. พันธุ์อายุสั้น (annual type)
เป็นพันธุ์ที่มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 140-180 วัน หลังปลูก มีลักษณะเด่น คือ มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนง ช่อดอกมี 4 ชั้น ผลแห้งไม่ปริแตกหรือปริออกเพียงเล็กน้อย ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็ก ให้น้ำมันประมาณ 50-52% ได้แก่ พันธุ์ลูกผสม H22 และพันธุ์ TCO ของบริษัทสยามน้ำมันละหุ่ง เป็นต้น

2. พันธุ์อายุยาว หรือ พันธุ์ยืนต้น (perennial type)
พันธุ์นี้ มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 200 วัน หลังปลูก จัดเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมของไทย ลำต้นมีอายุยืนประมาณ 8-12 ปี แต่ให้ผลผลิตตั้งแต่ปีแรกในการปลูก และจะปลูกใหม่ในทุกๆปีหรือเก็บผลผลิตให้ข้ามปีก่อน เพราะปีถัดไปจะให้ผลผลิตลดลง มีลักษณะเด่นที่ ลำต้นสูงใหญ่ แตกกิ่งสาขามาก ช่อดอกมีมากกว่า 4 ชั้น ผลมีขนาดใหญ่ เปลือกผลแข็ง และปริแตก แต่ให้น้ำมันน้อยกว่าพันธุ์อายุสั้น ประมาณที่ 46-48% เท่านั้น พันธุ์นี้ ได้แก่ พันธุ์แท้ 6 พันธุ์ ที่กล่าวข้างต้น

ประโยชน์ละหุ่ง
1. เมล็ดละหุ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์จากต้นละหุ่งที่สำคัญ และมีมูลค่าสูงสุด เมล็ดที่กะเทาะเปลือกออกแล้วจะเข้าสู่กระบวนการสกัดน้ำมัน ซึ่งถูกนำใช้ในหลายด้าน ได้แก่
– ใช้ในทางการแพทย์ สารหล่อลื่นภายนอก ใช้เป็นส่วนผสมของยาถ่าย เป็นต้น
– ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอุตสาหกรรม อาทิ น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันขัดเงา สีทาบ้าน หมึกพิมพ์ ทำสบู่ ลิปสติก เป็นต้น
– ใช้เป็นส่วนผสมของยาป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช หรือใช้ฉีดพ่นในแปลงผักโดยตรง
3. พันธุ์สีม่วงแดงนำยอดอ่อนมาย้อมผ้า ให้ผ้าสีเขียวอมเหลือง ส่วนเปลือกผลที่มีสีแดงนำมาย้อมผ้าเช่นกัน ให้ผ้าสีชมพู
4. ลำต้นใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษ โดยเฉพาะกระดาษสา
5. ชาวประมงอีสานรู้จักนำเมล็ดละหุ่งมาตำบด แล้วคลุกผสมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันหมู่ ก่อนใช้ทารอบตัวเพื่อป้องกันพิษจากหอยคันหรือป้องกันผื่นแพ้จากสาหร่ายเมื่อลงทอดแหหรือจำปลา
6. กากละหุ่งหลังการสกัดน้ำมันใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ เพราะกากที่เหลือมีโปรตีน และไขมันสูง ทั้งนี้ กากเมล็ดจะต้องเข้าสู่กระบวนการทำลายพิษก่อนนำไปใช้
7. กากละหุ่งใช้คลุกผสมกับวัสดุเพาะเห็ดสำหรับเพาะเห็ดต่างๆ
8. กากละหุ่งใช้ทำปุ๋ยหมักหรือเทใส่แปลงเกษตร และไถกลบก่อนฤดูเพาะปลูก

ส่วนประกอบทางเคมี และสารสำคัญในเมล็ดละหุ่ง
1. น้ำมันละหุ่ง (castor oil)
น้ำมันละหุ่งมีในเมล็ดละหุ่งประมาณ 50% แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามกระบวนการสกัด คือ น้ำมันละหุ่งสกัดเย็น มีลักษณะเหลืองใส ใช้มากในทางการแพทย์ และน้ำมันละหุ่งสกัดด้วยตัวทำละลาย มีลักษณะสีเหลืองเข้มกว่าชนิดสกัดเย็น ถูกใช้มากเป็นน้ำมันล่อลื่น และใช้ในกระบวนผลิตอุตสาหกรรม

2. โปรตีน
เมล็ดละหุ่งมีโปรตีนประมาณ 20% ของน้ำหนักเมล็ดทั้งหมด ซึ่งมีปริมาณสูงเมื่อเทียบกับเมล็ดธัญพืชบางชนิด ชนิดโปรตีนที่พบ ได้แก่ อัลบูมิน โกลบูลิน และไรซิน (ricin) เป็นต้น โดยโปรตีนไรซินจัดเป็นสารพิษอีกชนิดที่พบ

3. สารอัลคาลอยด์
เมล็ดละหุ่งพบสารอัลคาลอยด์หลัก คือ ไรซีนีน (ricinine) ซึ่งเป็นสารพิษ พบประมาณ 0.3% ในเนื้อเมล็ด และประมาณ 1.5% ในเปลือกเมล็ด [1] อ้างถึงใน ประทุม และสมบูรณ์ (2527)

องค์ประกอบของเนื้อเมล็ด และกากละหุ่ง (%) [1]

ส่วนประกอบ เนื้อเมล็ดละหุ่ง

(กะเทาะเปลือกแล้ว)

กากละหุ่ง

(สกัดด้วยเอทธิล อีเธอร์)

กากละหุ่ง

(สกัดด้วยเฮกเซน)

วัตถุแห้ง 93.64 91.90 92.28
โปรตีน 19.06 38.30 37.49
น้ำมัน 50.19 1.03 2.78
ใยอาหาร 7.14 14.53 12.24
เถ้า 2.57 5.60 5.47

สารพิษ และสารแพ้ในเมล็ดละหุ่ง
สารพบที่พบในเมล็ดละหุ่งมี 2 ชนิด คือ ไรซิน (ricin) และไรซีนีน (ricinine) ส่วนสารแพ้ ได้แก่ CB-1A
1. ไรซิน (ricin)
ไรซิน เป็นสารประกอบประเภทโปรตีนที่มีมวลโมเลกุลสูง พบประมาณ 1-1.5% ในกากเมล็ดละหุ่งที่สกัดน้ำมันแล้ว จัดเป็นสารพิษรุนแรง โดยเฉพาะสัตว์เคี้ยวเอื้อง แม้จะได้รับในปริมาณน้อยก็ตาม เมื่อเข้าสู่ร่างกายสัตว์หรือมนุษย์ ไรซินจะทำให้เม็ดเลือดแดงจับรวมกัน และตกตะกอน ทั้งนี้ ความเป็นพิษจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของสัตว์ อาทิ สัตว์เคี้ยวเอื้องจะต้านทานพิษได้ต่ำ ขณะนกจะมีความต้านทานพิษได้สูงกว่าหลายเท่า นอกจากนั้น การได้รับพิษสะสมเป็นเวลานานจะทำให้สัตว์เบื่ออาหาร สัตว์กินอาหารได้น้อยลง อัตราการเติบโตหยุดชะงัก

2. ไรซีนีน (ricinine)
ไรซีนีน เป็นสารพิษประเภทอัลคาลอยด์ พบในกากเมล็ดละหุ่งประมาณ 0.3% แต่สารนี้ มีความเป็นพิษน้อยกว่าไรซิน แต่หากได้รับในปริมาณสูง และติดต่อเป็นเวลานานจะทำให้สัตว์หยุดการเติบโตได้เช่นกัน

3. สารแพ้ CB-1A
สารแพ้ CB-1A พบในกากเมล็ดละหุ่งประมาณ 12.5% จัดเป็นสารประเภทโปรตีนที่มีความคงทนต่อสภาพเป็นกรดได้ดี แต่ทนต่อสภาพเป็นด่างได้น้อย

ทั้งนี้ สารพิษทั้ง 2 ชนิด มีผลต่อร่างกายมนุษย์คล้ายกับสัตว์อื่นๆ คือ ทำให้เม็ดเลือดแดงตกตะกอน ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง เบื่ออาหาร ร่างกายซูบผอม มีเลือดตะตะกอนในเส้นเลือด ไต และพบเลือดออกในอวัยวะ ร่างกายขาดออกซิเจน ความดันต่ำ เกิดภาวะเป็นลม และหมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ส่วนสารแพ้สามารถทำลายได้ในกระบวนการผลิตด้วยการผ่านความร้อน แต่สารแพ้ CB-1A ไม่สามารถทำลายด้วยความร้อนทั้งหมดได้ และทำลายได้น้อยด้วยกรด

สารแพ้ CB-1A มีผลรุนแรงในมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่อสารชนิดนี้ต่ำ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรง พบอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีอาการเจ็บคอ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ท้องเดิน มีอาการชัก และอาจทำให้เสียชีวิตได้

จากการศึกษาความเป็นพิษของเมล็ดละหุ่งที่ทดลองให้อาหารข้น 250 กรัม แก่แกะ และผสมกากเมล็ดละหุ่งปริมาณ 10, 20 และ30% นาน 150 วัน พบว่า แกะไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่เมื่อผ่าพิสูจน์ซาก พบว่า มีเซลล์ตับบางส่วนตาย มีเลือดตกตะกอนในเส้นเลือด ไต และต่อมไทรอยด์ และการศึกษาให้กากเมล็ดละหุ่งแก่ปลาดุก พบว่า ปลาดุกไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่เมื่อตรวจสอบเนื้อปลาดุก พบว่า มีการสะสมสารแพ้ CB-1A ในเนื้อเยื่อ แต่หยุดการให้ประมาณ 7 วัน จะไม่พบสารแพ้ CB-1A ในเนื้อเยื่อแต่อย่างใด ดังนั้น ปลาดุกมีความสามารถสะสม และกำจัดสารแพ้ CB-1A ออกจากร่างกายได้ภายใน 7 วัน

วิธีทำลายสารพิษ และสารแพ้ CB-1A
1. การต้มในขั้นตอนการสกัดน้ำมัน
ในขั้นตอนการสกัดน้ำมันละหุ่งด้วยการต้มเมล็ดละหุ่งในสารละลายเฮกเซน อุณหภูมิ 100 ºC นาน 1-2 ชั่วโมง จะทำลายสารไรซินได้ ส่วนสาร CB-1A จะถูกทำลายได้ด้วยการต้มที่อุณหภูมิตั้งแต่ 207 ºC นาน 125 นาที

2. การอบแห้ง
การนำเมล็ดละหุ่งมาอบแห้งที่อุณหภูมิตั้งแต่ 207 ºC นาน 125 นาที สามารถทำลายสาร CB-1A ได้ แต่เนื้อเมล็ดละหุ่งจะไหม้เกรียม

3. การต้มในสารละลายด่าง
การต้มเมล็ดละหุ่งในสารละลาย NaOH 1% อุณหภูมิ 100 ºC นาน 12-15 นาที จะช่วยลดสาร CB-1A ได้ประมาณ 97-98.4% และหากนึ่งด้วย NaOH 2% ความดัน 20 ปอนด์/ตารางนิ้ว อุณหภูมิ 302 องศาฟาเรนไฮด์ จะสามารถทำลายสาร CB-1A ได้ 100%

4. การอบไอน้ำ
การนำเมล็ดละหุ่งมานึ่งด้วยไอน้ำร้อนที่ความอัน 15 psi นาน 1 ชั่วโมง จะสามารถทำลายสารพิษ และสาร CB-1A ได้ทั้งหมด

5. การทำลายด้วยสารเคมี
การใช้สารเคมีแช่เมล็ดละหุ่ง ได้แก่ ฟอร์มาดีไฮด์ (HCHO) เข้มข้น 3% ร่วมกับกรดไฮโดรคลอริก เข้มข้น 0.9% หรือใช้ใช้ฟอร์มาดีไฮด์ (HCHO) เข้มข้น 10% ร่วมกับโซเดียมไฮดรอกไซด์ เข้มข้น 2% จะสามารถทำลายสารพิษ และสาร CB-1A ได้ทั้งหมด

สรรพคุณละหุ่ง
ละหุ่งจัดเป็นพืชมีพิษ โดยเฉพาะในเมล็ด ที่ประกอบด้วยสารพิษสำคัญ 2 ชนิด และสารทำให้แพ้ 1 ชนิด ดังนั้น จึงควรระวังที่จะนำส่วนอื่นๆของลำต้นมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการรับประทานหรือต้มดื่มเป็นสมุนไพร แต่สามารถใช้เป็นสมุนไพรภายนอกได้ ทั้งนี้ จากการรวบรวมเอกสารต่างๆได้กล่าวถึงสรรพคุณของละหุ่งไว้ ดังนี้
น้ำยาง
– ใช้ทาห้ามเลือดจากแผลสด
– ใช้ทาผิวหนัง แก้อาการผดผื่นคัน หรือการระคายเคืองที่ผิวหนัง

ใบ
– นำมาต้มดื่ม แก้อาการปวดท้อง ช่วยลดไข้
– นำมาตำหรือบดขยำ ก่อนใช้ทาพอกรักษาฝี
– นำมาขยำ ก่อนใช้ทาแก้อาการผดผื่นคันหรือรักษาโรคผิวหนัง รวมไปถึงใช้ต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง

ราก และลำต้น
– นำมาต้มดื่ม แก้อาการหอบหืด

เมล็ดละหุ่ง
– ใช้รับประทานเป็นยาถ่าย (เพราะจะได้รับสารพิษ และสารแพ้โดยตรง)

ที่มา : [5]

การปลูกละหุ่ง
การปลูกแปลงเดี่ยว
เป็นการปลูกลงแปลงเป็นผืนใหญ่ ไม่มีพืชอื่นแซม มุ่งเพื่อเก็บเมล็ดละหุ่งเป็นหลัก อาจปลูกตั้งแต่ไม่ถึงไร่จนถึงเป็นหลายสิบไร่ แต่ละพันธุ์มีระยะปลูกแตกต่างกัน พันธุ์ต้นใหญ่ (พันธุ์พื้นเมือง) ให้ปลูกห่าง พันธุ์ต้นเล็ก (พันธุ์ต่างประเทศอายุสั้น) ให้ปลูกถี่ หากปลูกในหน้าฝนจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ หากปลูกหน้าแล้ง ให้พิจารณาแหล่งน้ำชลประทานหรือสร้างแหล่งน้ำสำรองไว้ เมื่อเก็บผลจนหมดต้นในครั้งแรก ให้ตัดต้นทิ้ง แล้วปลูกใหม่ หรือทยอยเก็บไม่เกิน 2 ปี หลังปลูก เพราะผลผลิตละหุ่งจะสูงเฉพาะปีแรก ปีต่อมาจะลดลงมาก การปลูกใหม่จะได้กำไรคุ้มค่ากว่า

การปลูกแซมพืชอื่น
1. การปลูกแซมข้าวโพด
ในช่วงการปลูกข้าวโพด ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ที่หลังการปลูกข้าวโพดแล้ว เกษตรกรจะปลูกละหุ่ง แซมในแถวข้าวโพด โดยเก็บเกี่ยวข้าวโพดประมาณเดือนพฤศจิกายน ละหุ่งจะแตกกิ่งก้านสาขา และพร้อมเก็บเกี่ยวเมล็ดต่อในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

2. การปลูกแซมพริก
หลังการปลูกพริกแล้วประมาณ 3 เดือน เกษตรกรจะปลูกละหุ่งแซมในแปลง หลังหลังเก็บเกี่ยวพริกแล้วจึงได้ระยะเก็บเกี่ยวเมล็ดละหุ่งต่อ

การเตรียมดิน
แปลงปลูกละหุ่งแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ แต่จำเป็นต้องไถพรวนแปลง และกำจัดวัชพืช อย่างน้อย 1 รอบ

วิธีปลูก
การปลูกละหุ่ง เกษตรนิยมปลูกในต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ด้วยการหยอดเมล็ด เพราะสะดวก และรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด โดยขุดหลุมด้วยเสียมให้เป็นแถวๆ ลึกประมาณ 5-8 เซนติเมตร หรือไถคราดเป็นร่องตื้นๆแบ่งการปลูกได้ ดังนี้
– สำหรับพันธุ์พื้นเมือง เนื่องจากมีลำต้น และทรงพุ่มใหญ่ ให้ปลูกแต่ละแถวห่างกัน ประมาณ 3 เมตร แต่ละหลุมห่างกันประมาณ 2-3 เมตร ใช้เมล็ดประมาณ 0.5 กิโลกรัม/ไร่
– สำหรับพันธุ์ต่างประเทศ หรือพันธุ์อายุสั้น ให้ปลูกแต่ละหลุม และแถวห่างกัน ประมาณ 1-2 เมตร ใน 1 ไร่ ใช้เมล็ดประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม

จากนั้น หยอดเมล็ด หลุมละ 2-3 เมล็ด ก่อนเกลี่ยหน้าดินกลบ และปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ

การดูแล
– การถอนต้น หลังหยอดปลูกเมล็ด ประมาณ 10-15 วัน เมล็ดจะแทงต้นอ่อนให้เห็น จากนั้น ประมาณ 15-20 วัน ให้ถอนต้นกล้าที่มีขนาดเล็กหรือไม่สมบูรณ์ออก เหลือไว้ต้นที่สมบูรณ์ที่สุดเพียง 1 ต้น/หลุม
– การเด็ดยอด หากปลูกแปลงเดี่ยว เมื่อต้นละหุ่งสูงประมาณ 1ศอก ให้เด็ดยอดทิ้ง หากปลูกแซมในพืชอื่น เมื่อโต 2 ศอก ค่อยเด็ดยอดทิ้ง ทั้งนี้ ให้เด็ดยอดในช่วงเย็น ไม่ควรเด็ดช่วงสายหรือกลางวัน เพราะอากาศร้อนจะทำให้ต้นคายน้ำทางแผลมาก
– การกำจัดวัชพืช กำจัดด้วยจอบถาก ใน 1 เดือน แรกหลังปลูก ให้เริ่มกำจัดวัชพืช ต่อไป ทุกๆ 2 เดือน/ครั้ง ซึ่งอาจใช้สารกำจัดวัชพืชฉีดพ่นก็ได้
– แมลงศัตรูพืชที่สำคัญ ได้แก่ หนอนคืบ หนอนกระทู้ เพลี้ยจักจั่น และไรแดง แต่ที่พบบ่อย และทำความเสียหายมาก คือ หนอนคืบ และเพลี้ยจักจั่น เมื่อพบระบาดให้ฉีดพ่นด้วยสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

ระยะการเติบโตละหุ่ง [6]
ระยะที่ 1 : เมล็ดเริ่มงอก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-18 วัน เริ่มต้นจากเมล็ดดูดน้ำจนพองบวม รากแทงออกจากเปลือกเมล็ด ลำต้นอ่อนดึงใบเลี้ยงชูขึ้นเหนือผิวดิน
ระยะที่ 2 : ใบจริงคู่แรกแตกออก ใช้เวลา 7-17 วัน
ระยะที่ 3 : ละหุ่งมีใบจริง 5-6 ใบ และตาข้างเริ่มพัฒนา
ระยะที่ 4 : เนื้อเยื่อตายอดพัฒนากลายเป็นตาดอก ใช้เวลา 7-18 วัน
ระยะที่ 5 : เนื้อเยื่อตาดอกเริ่มเจริญ และพัฒนา ใช้เวลา 10-17 วัน
ระยะที่ 6 : การพัฒนาของเนื้อเยื่อเกสร และรังไข่
ระยะที่ 7 : การเติบโตของช่อดอก
ระยะที่ 8 : ช่อดอกเจริญพ้นใบที่ห่อหุ้ม ละอองเกสรแบ่งตัวออกเป็น 2 ลอน
ระยะที่ 9 : ดอกบาน และผสมเกสร
ระยะที่ 10 : การพัฒนาของผลและเมล็ด
ระยะที่ 11 : เมล็ดเริ่มแก่ ใช้เวลา 12-16 วัน
ระยะที่ 12 : เมล็ดแก่ทั้งช่อ ใช้เวลา 14-18 วัน

การเก็บเมล็ดละหุ่ง
เมล็ดละหุ่งพันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์ เมื่อแก่เมล็ดจะปริแตก และร่วงลงดิน ทำให้เมล็ดเสีย แต่พันธุ์พื้นเมืองบางพันธุ์ เมล็ดไม่ปริแตก และไม่ร่วงง่ายทั้งที่แก่แล้ว ได้แก่ พันธุ์ลายขาวดำ ส่วนพันธุ์ต่างประเทศ เป็นพันธุ์อายุสั้น ลำต้นเป็นทรงพุ่มเตี้ย อายุเริ่มเก็บเมล็ดประมาณ 4-6 เดือน เมื่อแก่ เปลือกผลจะไม่ปริแตก ทำให้เก็บบนต้นได้ แม้ผลแก่จนแห้งก็ตาม

หลังจากเก็บผลละหุ่งแล้ว นำช่อผลละหุ่งมาตากแดด 2-3 แดด ให้แห้ง จากนั้น ให้เด็ดผลละหุ่งออกจากช่อ แล้ววางบนแผ่นไม้หรือลานปูน ก่อนใช้ไม้แผ่นตีหรือกดเบาที่ผล ผลก็จะปริแตก แยกเมล็ดออกมา

ขอบคุณภาพจาก kasetporpeang.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] อรประพิมพ์ จันทร์นวล, 2534, การใช้กากละหุ่งขจัดสารแพ้แทนกากถั่วเหลือง-
เป็นอาหารเสริมโปรตีนสำหรับสุกรระยะเจริญเติบโต.
[2] ยอดชาย เพชรัตนกูล, 2540, การประเมินสมรรถนะการผสมระหว่างละหุ่ง-
ต่างประเทศ 8 สายพันธุ์ แบบพบกันหมดในสองสถานที่.
[3] เรวัต เลิศฤทัยโยธิน, 2541, ละหุ่ง, พฤกษศาสตร์พืชเศรษฐกิจ.
[4] อานนท์ เที่ยงตรง, 2547, การศึกษาสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและน้ำมันสูง-
จากลูกผสมระหว่างพันธุ์ไทยกับพันธุ์อิสราเอล-
ของละหุ่ง (Ricinus communis L.)
[5] นันทวัน บุณยะประภัศร, 2539, สมุนไพรไม้พื้นบ้าน.
[6] อารีย์ วรัญญูวัฒน์, 2544, ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และละหุ่ง.