ต้นสาคู/สาคูไทย/ปาล์มสาคู/สาคูพุทธรักษา ประโยชน์ และสรรพคุณต้นสาคู

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ต้นสาคู หรือ สาคู เป็นชื่อเรียกของพืชหลายชนิด โดยนำแป้งจากส่วนหัวหรือลำต้นมาใช้ประโยชน์สำหรับทำขนม ปัจจุบัน แป้งจากต้นสาคูไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะมีการนำแป้งจากแหล่งอื่นมาทดแทน ซึ่งหาง่าย และราคาถูก อาทิ แป้งมันสำปะหลัง และแป้งข้าวเจ้า เป็นต้น

ส่วนคำว่า สาคู อีกชื่อ เป็นชื่อเรียกขนม หรือ ขนมสาคู ซึ่งแต่ก่อนใช้แป้งจากต้นสาคู ตัวขนมมีลักษณะเป็นทรงกลม เนื้อค่อนข้างใส ด้านในยัดด้วยไส้ขนม หรือ อีกชนิดเป็นเม็ดแป้งขนาดเล็ก แล้วนำมาต้มสุก ก่อนเติมน้ำกะทิ และน้ำเชื่อมรับประทาน ปัจจุบัน ขนมสาคู ไม่นิยมใช้แป้งจากต้นสาคูแล้ว เพราะกระบวนการผลิตแป้งยุ่งยาก และหายาก จึงนิยมใช้แป้งมันสำปะหลังแทน

ชนิดต้นสาคู
ต้นสาคู แบ่งเป็น 3 ชนิด ได้แก่ [1]
1. สาคูไทย หรือ ว่านสาคู (Marantaarundinaceae L.)
2. พุทธรักษาสาคู (Canna edulis Ker.)
3. ปาล์มสาคู (Metroxylon sagu)

นอกจากสาคู 3 ชนิดนี้ ต้นสาคู อาจหมายรวมถึงพืชชนิดอื่นที่ให้แป้งเหมือนกัน เช่น บุก และท้าวยายหม่อม เป็นต้น

1. สาคูไทย หรือ ว่านสาคู
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maranta arundinaceae L.
• ชื่อสามัญ :
– arrowroot, West Indian arrowroot (อังกฤษ)
– Arrurruz (ฝรั่งเศส)
– Garut, Angkrik, Larut (อินโดนีเชีย)
– Aroru, Ubi garue, Berolu (มาเลเซีย)
– Aroru, Sagu (ฟิลิปปินส์)
– Zulu (อเมริกาใต้)
– Hore kiki (บราซิล)
– Viuxita (เม็กซิโก)
– Kuzu ukon (ญี่ปุ่น)
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– สาคู
– สาคูไทย
– สาคูขาว
– ว่านสาคู
– สาคูวิลาส
– สังคู
– มันสาคู
– มันอาโรรุต

ที่มา : [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
สาคูไทย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ อเมริกากลาง ตะวันตกของเอกวาดอร์ ตอนกลางของทุ่งหญ้าของกิอานา และแถบทะเลคาริบเบียน [4] อ้างถึงในสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2544) ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วในแถบประเทศเขตร้อนชื้น ส่วนประเทศไทยพบในทุกภาค แต่พบปริมาณน้อยลง เพราะไม่นิยมปลูก และรับประทานกันมากนัก เนื่องจาก หัวมีกาก และเส้นใยมาก ทำให้เคี้ยวลำบาก แต่ยังพบได้ตามป่าธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ตามริมลำห้วยหรือที่ชื้นใกล้แหล่งน้ำ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น และใบ [2]
1. ลำต้นใต้ดิน
ลำต้นใต้ดินสาคูไทย เรียกว่า หัว หรือ เหง้า มีลักษณะคล้ายหัวลูกศร ขนาดหัวกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-40 เซนติเมตร แบ่งออกเป็น 2 ชนิดได้แก่
– เครโอล (creole) หัวมีขนาดเล็ก เรียว และยาว แทงลึกลงดินได้หลายเซนติเมตร
– บานานา (banana) หัวมีขนาดใหญ่ และอวบสั้น ปริมาณหัวต่อต้นน้อย หัวแทงลงดินตื้นกว่าชนิด creole

หัวหรือเหง้าหลักจะติดกับโคนต้น และแตกหัวย่อยแทงลึกลงดิน โคนหัวแตกรากแขนงจำนวนมาก หัวย่อยอาจมีหัวเดียวหรือหลายหัว มีลักษณะทรงกระบอก เรียวยาว มีลักษณะแบ่งเป็นข้อๆ และมีตาชัดเจน และมีเกล็ดสีขาวหรือสีน้ำตาลหุ้ม เนื้อหัวด้านในมีสีขาว มีเส้นใยตามแนวยาวของหัว

2. ลำต้นเหนือดิน และใบ
ลำต้นสาคูไทยเหนือดินเป็นส่วนที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ประกอบด้วยแกนลำต้น และกาบใบ คล้ายกับพืชในกลุ่มว่านทั่วไป ส่วนด้านในเป็นแกนกลางที่ถูกหุ้มด้วยกาบใบ ส่วนด้านนอกเป็นกาบใบตั้งตรง มีลักษณะเกือบทรงกลม ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ถัดมาเป็นก้านใบ มีขนาดสั้น จากนั้น เป็นแผ่นใบ มีรูปหอก กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มองเห็นเส้นกลางใบสีเขียวชัดเจน ใบด้านล่างสุดมีขนาดใหญ่กว่าใบด้านบน แผ่นใบแบ่งออกเป็นสองข้างไม่เท่ากัน ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม และค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อถึงหน้าแล้ง

ดอก
ดอกสาคูไทย แทงขึ้นกลางลำต้น มีดอกออกเป็นช่อแขนง ตั้งแต่ 2 ช่อ ขึ้นไป ช่อแขนงมีใบประดับรองรับ ปลายกิ่งแยกออกเป็นก้านดอก 1 คู่ และหันหน้าเข้าหากัน ก้านช่อดอกแต่ละคู่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อย ยาวประมาณ 5-15 มิลลิเมตร

บนช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยสีขาว ขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงบางๆ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงมีรูปหอก สีเขียว แยกออกจากกัน และมีขนาดไม่เท่ากัน ยาวประมาณ 12-16 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นวงกลีบดอกที่เป็นรูปหลอดสั้นๆ สีขาว มีลักษณะเป็น 3 พู ถัดมาติดกับกลีบดอกจะเป็นเกสรตัวผู้ แบ่งเป็นชั้นๆ จำนวน 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นเกสรที่เป็นหมัน ส่วนตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย มียอดเกสรแยกเป็น 3 พู และรังไข่ 1 อัน ซึ่งอยู่ด้านล่างตรงกลาง ทังนี้ ต้นสามารถออกดอกได้หลังปลูกแล้ว 5-6 เดือน

ผล และเมล็ด
สาคูไทยถึงแม้จะออกดอก แต่ติดผล และเมล็ดยาก เพราะธรรมชาติของสาคูไทยจะแพร่กระจาย และเติบโตด้วยการแตกหน่อใหม่แทน แต่หากติดผลจะมีผลลักษณะกลม เปลือกผลแข็ง มีสีน้ำตาลอมแดง ขนาดผลประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนเมล็ดมีขนาดเล็ก มีผิวหยาบ แบ่งออกเป็น 3 พู

ทั้งนี้ ดอกสาคูไทยจะมีปัญหาเรื่องการผสมเกสร และหากติดผล เมล็ดจะมีอัตราการงอกต่ำมาก

พันธุ์สาคูไทย
ในเขตร้อนแถบเอเชียมีหลายพันธุ์ ได้แก่ Guangdong, Guangxi, Hainan, Taiwan และS. Yunnan ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของอเมริกา ส่วนเซนต์วินเซนต์ มี 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หัวสีขาวที่ประกอบด้วย Crole และ Banana และอีกพันธุ์เป็นหัวสีแดงจากโดมินิกา

พันธุ์ Crole เป็นพันธุ์ที่เกษตรรายย่อยนิยมปลูก หัวมีขนาดเล็ก เรียวยาว และจำนวนหัวต่อต้นมาก สามารถเก็บได้นานมากกว่า 7 วัน หลังการขุดจากดิน ส่วนพันธุ์ Banana มีหัวขนาดใหญ่ แต่สั้นอวบ เส้นใยมีน้อย ให้ผลผลิตหรือน้ำหนักสูง นิยมปลูกมาในเกษตรรายใหญ่ แต่อายุการเก็บรักษาจะน้อยกว่าพันธุ์ Crole ส่วนประเทศไทยพบ 2 สายพันธุ์ คือ สาคูวิลาส (Arundinacea) และสาคูด่าง (Variegate Hort) [5]

สารสำคัญที่พบ
– Benzoic acid
– 4-hydroxy
– Chlorogenic acid
– Luteolin
– 3′ methyl ether
– Ether
– 6-c-glycoside
– Phloretic acid
– Protocatechuic acid
– Quercetin
– Syringic acid
– Vanillic acid
– Beta carotene
– Niacin
– Riboflavin
– Thaiamin

ที่มา : [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ประโยชน์สาคูไทย
1. หัวสาคูไทยนำมาต้มหรือเผารับประทาน เนื้อหัวมีรสหวาน แต่ค่อนข้างมีเส้นใยมาก โดยเฉพาะพันธุ์หัวเล็ก
2. แป้งสาคูไทยมีขนาดเม็ดเล็ก และละเอียด เป็นแป้งที่ย่อยง่าย จึงนิยมใช้ทำเป็นอาหารทารก และผู้ป่วย
3. แป้งสาคูไทยใช้ประกอบอาหารหรือเติมในอาหารเพื่อเพิ่มความหนืดเหนียว
4. แป้งสาคูไทยแปรรูปเป็นขนมหวาน ทำขนมสาคู ทำเค้ก คุกกี้ ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ และขนมจีน เป็นต้น
5. หน่ออ่อนหรือแกนลำต้นอ่อนใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผัด แกงเลียง หรือนำมารับประทานเป็นผักสดหรือลวกรับประทานคู่น้ำพริก
6. หัวหรือแป้งใช้หมักผลิตแอลกอฮอล์หรือน้ำส้มสายชู
7. เมล็ดนำมาคั่วไฟรับประทาน มีรสมันคล้ายถั่วทั่วไป
8. หัวหรือหน่ออ่อนนำมาต้มหรือให้สดเป็นอาหารเลี้ยงหมู
9. ใบใช้ห่อข้าว ห่ออาหาร ใช้ทำห่อหมก
10. เมล็ดนำมาร้อยเป็นลูกปัดหรือลูกประคำ
11. ลำต้น และใบสดนำมาเผารมควัน ช่วยไล่เหลือบ และยุง
12. บางพื้นที่นอกจากปลูกเพื่อรับประทานหัวแล้ว ยังปลูกเป็นไม้มงคล และไม้ประดับ

สรรพคุณสาคูไทย
– ชาวชวานำเมล็ดมาบด ก่อนใช้พอกรักษาอาการปวดหัว
– น้ำต้มจากหัวใช้ดื่ม แก้อาการท้องเสีย
– ชาวกัมพูชานำหัวมาตำให้ละเอียด และรับประทาน ช่วยแก้โรคคุดทะราด
– ชาวฮ่องกงนำหัวมาต้มเคี่ยว ก่อนดื่ม ช่วยแก้โรคตับอักเสบ
– ชาวอินโดนีเชียนำหัวสดมาตำให้ละเอียด ก่อนใช้ทาพอกรักษาแผล
– ชาวฟิลิปปินส์นำหัวมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รวมถึงมาแช่น้ำ และตำให้ละเอียด ก่อนใช้อุดจมูกรักษาเลือดกำเดาออก

ที่มา : [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

การปลูกสาคูไทย
สาคูไทยเป็นพืชที่ชอบดินชื้น เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง แต่ไม่ชอบน้ำท่วมขังหรือสภาพแห้งแล้งจัด

การปลูกสาคูไทยนิยมปลูกด้วยการแยกเหง้าเป็นหลัก โดยขุดเหง้าให้มีต้นหรือหน่อติดมาด้วย 1-3 ต้น จากนั้นตัดลำต้นส่วนปลายทิ้ง เหลือไว้ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร หรือ ใช้หัวที่มีข้อ 2-4 ข้อ และอาจนำมารมควันก่อนนำลงปลูก เพื่อให้หัวแทงหน่อได้เร็วขึ้น ส่วนการปลูกในแปลงใหญ่จะใช้เหง้าเช่นกัน โดยปลูกเป็นแถว ระยะห่างระหว่างแถว และต้น ประมาณ 40-60 เซนติเมตร ทั้งนี้ ควรแยกเหง้าปลูกในช่วงต้นฤดูฝน หลังจากนั้น ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ

การขุดเก็บหัว นิยมขุดเมื่ออายุได้ประมาณ 8-12 เดือน โดยจะขุดเก็บในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งลำต้น และใบจะเริ่มเหลือง และแห้ง

2. สาคูพุทธรักษา หรือ พุทธรักษากินได้
พุทธรักษาสาคู หรือ พุทธรักษากินได้ หรือบางท้องที่อาจเรียก สาคูจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canna edulis Ker. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า arrowroot เช่นเดียวกับสาคูไทย จัดเป็นพืชในตระกูลพุทธรักษาที่มีดอก และลำต้นสีม่วง หัวหรือเหง้ามีการเก็บสะสมแป้ง ซึ่งจะต่างกับพุทธรักษาบางชนิดที่หัวไม่มีแป้งหรือเป็นพุทธรักษาชนิดกินไม่ได้

มีลำต้นคล้ายกับพุทธรักษาทั่วไป แต่กาบใบหุ้มลำต้นจะมีสีม่วง ส่วนดอกจะมีกลีบเรียวเล็ก กลีบดอกสีแดงหรือสีม่วงแดง ส่วนใบมีลักษณะเรียว ขอบใบมีสีม่วง ส่วนเหง้าใต้ดินมีลักษณะเป็นหัวกลม ประกอบด้วยแป้งจำนวนมาก

สาคูพุทธรักษา นิยมขุดเก็บหัวเมื่อต้นอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สามารถให้ผลผลิตหัวได้สูงถึง 4 ตัน/ไร่ ไม่ต้องการการดูแลมาก มีโรคหรือแมลงน้อย

ประโยชน์สาคูพุทธรักษา
แป้งสาคูจากพุทธรักษากินได้ นิยมใช้ผลิตเป็นอาหารอ่อนสำหรับเลี้ยงทารก และอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ เพราะแป้งสารถย่อยได้ง่าย นอกจากนั้น ลำต้น และเปลือกของหัวพุทธรักษาสามารถนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ได้ [3] รวมถึงประโยชน์ด้านอื่นเหมือนกับสาคูชนิดอื่น อ่านเพิ่มเติม พุทธรักษา

3. ปาล์มสาคู
• ตระกูล : Principes
• ชื่อวงศ์ : Arecaceae Palmae
• สกุล : etroxylon
• Species :
– Metroxylon sagus Rottb. (ไม่มีหนาม)
– Metroxylon nemphii Mart. (มีหนาม)

• ชื่อวิทยาศาสตร์ :
– Metroxylon sagus Rottb. (ยอดสีแดง)
– Metroxylon rumphii Rottb. (ยอดสีขาว)
– Metroxylon squarrosum Becc.
• ชื่อสามัญ :
– Sago palm
• ชื่อท้องถิ่น :
– สาคู
– ปาล์มสาคู

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปาล์มสาคู เป็นพืชท้องถิ่นในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศแถบร้อนชื้นของมหาสมุทรแปซิฟิก จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่พบในแถบประเทศเขตร้อนชื้นทั่วโลก พบมากในประเทศแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร ทั้งในทวีปเอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิก และอเมริกา เป็นพืชที่ต้องการน้ำสูง เติบโตได้ดีในพื้นที่ฝนชุก และสม่ำเสมอ ประมาณ 1,000-2,500 มิลลิเมตร/ปี ชอบอุณหภูมิ ประมาณ 29-32 ºC เติบโตได้ทั้งแหล่งน้ำจืด และน้ำกร่อย ที่ดินชื้นหรือมีน้ำท่วมขัง

ประเทศไทยพบปาล์มสาคูมากในป่าพรุของภาคใต้ แต่พบเพียงชนิดเดียว คือ ปาล์มสาคูยอดแดง (Metroxylon sagus Rottb.) พบได้ในภาคใต้ของไทย ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นต้น

ชนิดปาล์มสาคู [6]
ปาล์มสาคูทั่วโลกมีประมาณ 2 ชนิด ได้แก่
1. Metroxylon sagus Rottb. เป็นปาล์มสาคูที่มียอดสีแดง ลำต้นสูง และมีขนาดใหญ่ ก้านใบไม่มีหนาม
2. Metroxylon rumphii Mart. เป็นปาล์มสาคูที่มียอดสีขาวอมเขียว ก้านใบไม่มีหนามขนาดใหญ่ และแหลมคม ใบมีขนาดเล็ก และสั้นกว่าชนิดยอดสีแดง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ (Metroxylon sagus Rottb.)
ลำต้น
ปาล์มสาคู เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นสูงประมาณ 8-10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 – 60 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะคล้ายปาล์มขวดหรือต้นมะพร้าว ลำต้นตั้งตรง ไม่มีหนาม ยกเว้นในบางชนิด มีเปลือกลำต้นหุ้มหนา สีเทาอมขาว ไม่แตกกิ่งก้าน แกนลำต้นประกอบด้วยเส้นใย และแป้งจำนวนมาก ทั้งนี้ แกนลำต้นจะเริ่มสะสมแป้งเมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี และจะสะสมแป้งได้สูงสุดเมื่อเริ่มออกดอก คือ ประมาณ 8 ปี จึงเป็นช่วงที่ชาวบ้านนิยมตัดลำต้นมาแยกเอาแป้ง ทั้งนี้ หลังออกดอก และติดผลจนสมบูรณ์แล้ว ปาล์มสาคูจะหยุดเติบโต และค่อยโทรม จนล้มตาย รวมอายุแล้วประมาณ 10-12 ปี จากนั้น เหง้า และรากต้นเก่าจะเริ่มแตกหน่อ และเติบโตเป็นลำต้นขึ้นใหม่อีกครั้ง

ใบ
ใบปาล์มสาคู เป็นใบประกอบแบบขนนก คล้ายกับใบมะพร้าว แต่มีขนาดใหญ่ และยาวกกว่า มีทางใบหรือก้านใบหลักยาว มีสีเขียว ยาวประมาณ 6 – 7 เมตร ก้านใบมีปมเป็นเสี้ยนเรียงเป็นระยะ ทางใบประกอบด้วยใบย่อยเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ประมาณ 50 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเรียวยาว สีเขียว กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 60-180 เซนติเมตร ทั้งนี้ ปาล์มสาคูจะออกใบใหม่ในทุกๆ 1 เดือน ต้นหนึ่งๆจะมีทางใบประมาณ 18 ใบ

ดอก
ดอกปาล์มสาคูออกแทงออกตรงกลางยอด ดอกออกเป็นช่อ ช่อดอกแตกก้านช่อย่อยออกคล้ายเขากวาง กว้างประมาณ 3-4 เมตร ชาวบ้านเรียกว่า แตกเขากวาง ดอกมีสีน้ำตาลแดง เป็นดอกแยกเพศ มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมีย แต่อยู่บนก้านช่อเดียวกัน ดอกย่อยเรียงกันเป็นเกลียวคู่ แต่ละคู่มีดอกตัวผู้ ดอกเป็นหมัน และดอกตัวเมียปะปนกัน ทั้งนี้ การผสมเกสรจะอาศัยแมลงช่วยผสมเป็นหลัก

ผล และเมล็ด
ช่อผลของปาล์มสาคูเรียกเป็น ทะลาย ประกอบด้วยผลเรียงชิดกันบนช่อผล จำนวนผลประมาณ 7,500 – 8,000 ผล/ทะลาย แต่ละผลมีลักษณะของผลคล้ายผลกะลุมพี ผลมีเกล็ดหุ้ม เปลือกผล และเนื้อเมล็ดมีรสฝาด ทั้งนี้ เมื่อผลแก่ และเริ่มร่วง ลำต้นจะเริ่ม โทรม และแห้งตายหลังผลร่วงหมด

ประโยชน์ปาล์มสาคู เพิ่มเติมจาก [7]
1. แป้งสาคูที่แยกได้จากลำต้นนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่
– แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมหรือของคบเคี้ยวชนิดต่างๆ อาทิ ขนมสาคู เค้ก คุกกี้ เป็นต้น
– แปรรูปเป็นเส้นหมี่ และเส้นก๋วยเตี๋ยว
– ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับหมักผลิตแอลกอฮอล์ และน้ำส้มสายชู
– ใช้เป็นแป้งสำหรับประกอบอาหารหรือใช้เติมในอาหารเพื่อเพิ่มความหนืดเหนียวแก่อาหาร
– ใช้เป็นส่วนผสมหรือใช้ทำเป็นอาหารของเด็กอ่อนหรือผู้ป่วย เนื่องจาก ประกอบด้วยแป้งที่ร่างกายย่อย และนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย

รอเพิ่มข้อมูล

การสกัดแป้งจากปาล์มสาคู
ต้นปาล์มสาคูจะเริ่มตัดมาทำแป้งสาคูได้เมื่อต้นเริ่มออกดอก หรืออยู่ในช่วงติดผลอ่อน ซึ่งจะเริ่มออกดอกที่อายุตั้งแต่ 8 ปี ขึ้นไป และหลังจากออกดอกจนถึงผลแก่เริ่มร่วงจะใช้เวลาประมาณอีก 4 ปี รวมอายุขัยประมาณ 12 ปี

มีวิธีแยกเอาแป้ง มีดังนี้
1. โค่นต้นสาคูทั้งต้น โดยตัดบริเวณโคนต้น จากนั้น ตัดก้านใบ และยอดทิ้ง
2. ตัดลำต้นออกเป็นท่อนๆ ขนาดพออุ้มหรือยกได้ง่าย
3. ถากเปลือกลำต้นออกให้หมด ให้เหลือแก่นลำต้นที่มีสีขาว จากนั้น ผ่าออกเป็นแท่งๆที่จับยกได้สะดวก
4. นำแก่สาคูเข้าเครื่องบดหรือเครื่องสับให้เป็นผง แต่การทำมือสมัยก่อนจะใช้แผ่นไม้ตอกตะปูเป็นแผงถี่ แล้วใช้ขูดแยกแป้งออก
5. นำผงหรือแป้งสาคูขูดมาผสม และคั้นน้ำหลายรอบ จนได้น้ำแป้งขาวข้น
6. ปล่อยน้ำแป้งทิ้งไว้ให้ตกตะกอน ประมาณ 10-12 ชั่วโมง
7. แยกก้อนแป้งออกจากน้ำ ก่อนนำก้อนแป้งมาฟอกสีด้วยโปแทสเซียมเมตาซัลไฟต์ (potassium metabisulfite)
8. แยกก้อนแป้งออก ก่อนนำไปตากแห้ง นาน 1-2 วัน หรืออบในตู้อบที่ 60 °C นาน 12 ชั่วโมง ก่อนบรรจุใส่ถุง และมัดปิดให้สนิท

ทั้งนี้ หลังโคนต้นปาล์มสาคูแล้ว ให้รีบบดแยกแป้งออก ไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 5-7 วัน เพราะแป้งจะเริ่มเน่า ปาล์มสาคูที่อายุประมาณ 8 ปี จำนวน 1 ต้น จะแยกแป้งสาคูได้ประมาณ 167 กิโลกรัม/ต้น หรือประมาณ 6.7-7.3 ตัน/ไร่ และหากปลูกในระยะ 7×7 เมตร ปลูกได้จำนวน 33 ต้น/ไร่ จะสามารถให้แป้งได้สูงถึง 175 กิโลกรัม/ต้น โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แป้งได้สูงถึง 54-60% ของน้ำหนักแกนลำต้น [6]

ขอบคุณภาพจาก www.nanagarden.com/, rakbankerd.com/, http://watnawong.ac.th/

เอกสารอ้างอิง
[1] นพร แซ่เบ๊, 2547, ผลการดัดแปรด้วยปฏิกิริยาการแทนที่ และปฏิกิริยา-
เชื่อมขวางด้วยหมู่ฟอสเฟตต่อสมบัติทางเคมีกายภาพ-
ของสตาร์ชสาคูไทย (Maranta arundinaceae L.)-
และสตาร์ชสาคูจีน (Canna edulis Ker.).
[2] ไสว พงษ์เก่า และสมภณ สินธุประมา, 2523, พืชหัว, สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน.
[3] ดำริ ถาวรมาศ, 2532, สาคู, กสิกร.
[4] อัปสร วิทยประภารัตน์, 2547, ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของสาคูในประเทศไทย.
[5] เต็ม สมิตินันท์, 2544, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.
[6] FAO, 1983.
[7] สมศักดิ์ เหล่าเจริญสุข, 2530, การใช้ต้นสาคูเลี้ยงสัตว์.