ยี่โถ พิษ และสรรพคุณที่ไม่ควรมองข้าม

Last Updated on 5 กันยายน 2016 by puechkaset

ยี่โถ (Oleander) จัดเป็นไม้ประดับดอกที่นิยมปลูกตามหน้าบ้าน เนื่องจาก ลำต้นไม่สูงมาก กิ่งออกน้อย แต่ให้ช่อดอกดก แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกมีขนาดใหญ่ และมีสีสันสวยงาม อาทิ สีชมพู สีขาว สีแดง และสีผสมของทั้ง 3 สี นอกจากนั้น คนทั่วไปยังนิยมใช้ลำต้น และใบสำหรับกำจัดหนูหรือแมลงได้อีกด้วย

• วงศ์ : Apocynaceae
• ชื่อสามัญ :
– Oleander
– Fragrant oleander
– Sweet Oleander
– Rose Bay
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Nerium oleander L.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– ยี่โถ
– ยี่โถดอกขาว
– ยี่โถดอกแดง
ภาคเหนือ
– อินโถ
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศในแถบตะวันออกกลางถึงอินเดีย สันนิษฐานว่า ยี่โถน่าจะถูกนำเมล็ดเข้ามาปลูกในไทยครั้งแรกโดยพ่อค้าชาวจีน ในช่วงสมัยตอนต้นของกรุงรัตนโกสินธุ์

ยี่โถชมพูอมขาว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ยี่โถ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อยมาก ทำให้มีทรงพุ่มโปร่ง กิ่งมีลักษณะยาว ตั้งตรงขึ้น ลำต้น และกิ่งมีขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร และอาจใหญ่กว่านี้ แต่พบน้อยมาก เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล สามารถลอกออกเป็นเส้นได้ ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย หากใช้มีดกรีดจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา

ใบ
ยี่โถเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ใบแตกออกเดี่ยวๆ ใบมีลักษณะรียาว คล้ายหอก โคนใบและปลายใบสอบแหลม แผ่นและขอบใบเรียบ แผ่นใบหนา และหยาบแข็ง มีสีเขียว ขอบใบเรียบหนาแข็ง ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้มอมเทาเล็กน้อย ขนาดใบกว้างสุดประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมขาวชัดเจน

ใบยี่โถ

ดอก
ดอกยี่โถแทงออกเป็นช่อตรงส่วนปลายของกิ่ง ประกอบด้วยก้านช่อหลัก และก้านช่อย่อย จำนวนก้านช่อย่อยในแต่ละกิ่งประมาณ 2-10 ก้าน แต่ละก้านช่อย่อยมีดอกประมาณ 2-6 ดอก รวมแล้วกิ่งหนึ่งจะมีดอกประมาณ 4-60 ดอก

ตัวดอกมีก้านดอกสั้น มีฐานดอกเป็นรูปกรวยสีสมพูหรือแดงเรื่อ ซึ่งจะเข้มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสีดอก ถัดมาเป็นกลีบดอก ซึ่งขณะเป็นดอกตูมจะมีรูปร่างเป็นกรวย เมื่อบานจะแผ่กลีบกางออก โดยมีกลีบดอก 5 กลีบ แผ่นกลีบ และขอบกลีบเรียบ โคนกลีบสอบเข้าเล็กน้อย ปลายกลีบขยายออก และปลายมน กลีบทั้ง 5 โค้งงอตามเข็มนาฬิกา แลดูคล้ายใบพัดเรือ ส่วนสีกลีบดอกมีหลายสีอาทิ สีแดง สีขาว สีขาวอมชมพู สีชมพูอมแดง ซึ่งเชื่อว่ามีการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสีแดง และสีขาว จนเกิดสีดอกผสมตามมา ถัดมาด้านในดอกจะเป็นเกสรตัวผู้มีมีก้านเกสรเป็นแผ่นสีเดียวกับสีกลีบดอกเรียงล้อมเกสรตัวเมีย และรังไข่

ผล
ผลยี่โถ มีลักษณะคล้ายฝักถั่วเขียว มีลักษณะทรงกลม และรียาว ผลดิบมีสีเขียว ผลแผ่มีสีน้ำตาล และเมื่อแก่จัดจะปริแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดทรงกลมสีน้ำตาลอมดำจำนวนมาก แต่ละเมล็ดมีขนหรือเรียกว่าปีกสำหรับพยุงเมล็ดให้ลอยตามลมได้

ยี่โถชมพูอมแดง
ยี่โถดอกชมพูอมแดง
ยี่โถดอกแดง
ยี่โถดอกแดง
ยี่โถดอกขาว
ยี่โถดอกขาว

ประโยชน์ยี่โถ
1. ยี่โถนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับดอกเป็นสำคัญ เนื่องจาก ต้นมีกิ่งน้อย แต่แตกดอกเป็นช่อจำนวนมาก แต่ละช่อมีดอกขนาดใหญ่ ดอกมีสีสดสวยงามหลายสี ทำให้เวลาออกดอกจะแลดูเด่น และสวยงามมาก นอกจากนั้น ยามดอกบานจะส่งกลิ่นหอมอ่อนรอบลำต้น
2. ดอกใช้ต้มย้อมผ้า ให้เนื้อผ้าสีแดงหรือชมพู รวมถึงนำน้ำคั้นผสมทำกระดาษสาที่ให้สีกระดาษมีสีฉูดฉาดมากขึ้น อีกทั้ง ผ้าหรือกระดาษที่ถูกย้อมจะคงทนได้นาน ไม่มีหนูหรือแมลงมากัดแทะได้
3. คนทั่วไปนิยมนำลำต้น กิ่งตาก และใบมาตากให้แห้ง แล้วมัดรวมกัน ก่อนนำไปใช้สำหรับกำจัดหรือป้องกัน ได้แก่
– นำมัดยี่โถวางไว้ตามซอกมุมภายในบ้านเพื่อฆ่าหนู แมลงสาบ หรือแมลงอื่นๆ
– นำมัดยี่โถวางไว้ในยุ้งฉาง เพื่อฆ่าหรือป้องกันหนู และแมลงเข้ามากัดแทะทำลายข้าว
4. น้ำต้มทุกส่วนใช้ผสมข้าว สำหรับกำจัดหนู นก หรือแมลงตามทุ่งนา

พิษ และสรรพคุณยี่โถ
ทุกส่วนของยี่โถ ไม่นิยมใช้ทำยา เพราะมีสารพิษโดยเฉพาะลำต้น และใบ มีน้ำยางสีขาวที่ประกอบด้วยสารพิษในกลุ่ม cardiac glycosides ที่ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของหัวใจ และระบบประสาท เมื่อรับประทานจะทำให้ มีอาการปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน สายตาพร่ามัว มองไม่ชัดเจน หูอื้ออึง กล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ หัวใจเต้นช้าลง ชีพจรต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัว หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ง่าย

ในตำรายาไทยโบราณ มีกล่าวถึงการใช้ยี่โถเป็นยาสมุนไพร แต่ยังไม่เด่นชัดถึงปริมาณการใช้นัก เพียงแต่กล่าวถึงให้ใช้ในปริมาณน้อย หากใช้มากอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งยี่โถมีสรรพคุณในด้านต่าง ได้แก่
ราก
– รักษากลากเกลื้อน
เปลือก และลำต้น
– แก้โรคเรื้อน
– แก้แผลพุพอง

ใบ
– ช่วยบำรุงหัวใจ

ดอก
– บำรุงหัวใจ
– กระตุ้นการเต้นของชีพ
– แก้อาการปวดศีรษะ

ผล และเมล็ด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– บำรุงหัวใจ

เพิ่มเติมจาก : 1)

การใช้ยี่โถสำหรับยาภายนอก อาจเกิดประโยชน์ในทางยา ได้แก่
– ใบนำมาขยำหรือบดสำหรับทาพอกรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน หรือโรคเชื้อราต่างๆ
– ใบนำมาต้มอาบสำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ช่วยป้องกัน และรักษาโรคผิวหนัง

ทั้งนี้ หากต้องการใช้ยี่โถสำหรับการดื่มหรือรับประทานเพื่อสรรพคุณทางยานั้น จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้ในปริมาณมากโดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่หากไม่มั่นใจ ให้หลีกเลี่ยงการใช้จะดีที่สุด

การปลูกยี่โถ
ยี่โถสามารถปลกขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด หรือ การตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง แต่ส่วนมากนิยมใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก เพราะสามารถให้ต้นที่แตกกอได้ใหญ่ แตกกิ่งจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ได้ช่อดอกมาก และลำต้นมีอายุยาวนานหลายปี ส่วนการตอน และการปักชำ มีข้อดีที่สามารถให้ดอกได้หลังการปลูก และลำต้นเตี้ย แต่มีข้อเสีย คือ ต้นแตกกิ่งน้อย และมีอายุเพียงไม่กี่ปีก็ตายไป

กล้ายี่โถ

หลังการปลูกยี่โถแล้วประมาณ 1 ปี ควรตัดแต่งกิ่ง โดยให้ตัดทุกกิ่ง รวมถึงกิ่งหลักของลำต้น เพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งเพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง
1) พนิดา ใหญ่ธรรมสาร. ยี่โถ…มีพิษจริงหรือ. ออนไลน์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. เข้าถึงได้ที่ http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/ยี่โถ-มีพิษจริงหรือ/.

ขอบคุณภาพจาก www.himabhangarden.co.th, pantip.com, www.nanagarden.com