ยี่หุบ ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกยี่หุบ

Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ยี่หุบ (Yee hoob) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกชนิดหนึ่ง เนื่องจาก ลำต้นไม่สูงใหญ่ ลำต้นไม่พลัดใบมีสีเขียวตลอดปี และที่สำคัญมีดอกขนาดใหญ่ สีขาว และดูสวยงาม สามารถปลูกได้ทั้งในแปลงจัดสวน และปลูกในกระถาง โดยเฉพาะต้นพันธุ์จากาการตอนกิ่ง และปักชำ

• วงศ์ : MAGNOLIACEAE (วงศ์จำปา)
• ชื่อสามัญ : Yee hoob
• ชื่อวิทยาศาสตร์: Magnolia coco (Lour.) DC.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ :
– Gwillimia indica Rottler ex DC.
– Liriodendron coco Lour.
– Liriopsis pumila Spach ex Baill.
– Talauma coco (Lour.)
• ชื่อท้องถิ่น :
– ยี่หุบ
– ยี่หุบหนู
– ยี่หุบน้อย

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ยี่หุบมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมมาจากประเทศจีนตอนใต้ โดยพบมากที่สุดในเมืองกวางตุ้ง และเมืองกวางซี เพราะเป็นมณฑลที่มีอากาศเย็น และค่อนข้างชื้น เหมาะสมต่อการเติบโตได้เป็นอย่างดี [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ยี่หุบ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 2-4 เมตร ลำต้นแตกกิ่งหลักปานกลาง แตกกิ่งแขนงมาก และใบดก มีขนาดใหญ่ ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มทึบ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียว แก่นลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย

ใบ
ยี่หุบเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ออกเป็นใบเดี่ยวๆเรียงเวียนสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบสั้น 1-1.5 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นรูปหอก กว้างประมาณ 2-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน แผ่นใบแข็ง และค่อนข้างกรอบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบชัดเจน แผ่นใบด้านล่างมีเส้นใบต่อกันเป็นร่างแห

ดอก
ยี่หุบออกดอกเป็นดอกเดี่ยว แทงออกบริเวณปลายยอด ห้อยตัวดอกลงด้านล่าง ดอกประกอบด้วยก้านดอกสั้น 1-2 เซนติเมตร และมีลักษณะเป็นข้อปล้อง ประมาณ 4 ข้อ ตัวดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้ม ขณะดอกตูมจะมีลักษณะเป็นทรงกรวย ถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว จำนวน 3 กลีบ เมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยง และกลีบดอกจะแผ่กางออก ขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีรูปหอก ขอบกลีบ และปลายกลีบโค้งเข้าหากลางกลีบ

กลีบดอก แบ่งออกเป็น 2-3 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบดอก จำนวน 3 กลีบ รวมเป็น 6-9 กลีบ กลีบดอกชั้นในจะเล็กกว่ากลีบดอกชั้นนอก แต่ละกลีบมีรูปหอก แผ่นกลีบ และขอบกลีบเรียบ มีสีขาว และโค้งเข้ากลางกลีบ แผ่นกลีบดอกค่อนข้างหนา กว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ทั้งนี้ เมื่อดอกบานเต็มที่ กลีบดอกจะร่วงหลุดง่าย เหลือเพียงผลขนาดเล็กที่พัฒนาหลังการผสมเกสร ถัดมาตรงกลางดอกจะเป็นเกสรตัวผู้ที่อยู่ฐานรอบนอก มีลักษณะเป็นตุ่มสั้น และเกสรตัวเมียที่อยู่ตรงกลาง มีลักษณะเป็นก้านยาว ทั้งนี้ ยี่หุบจะออกดอกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยดอกจะเริ่มบานเมื่อตะวันใกล้ตกดิน และบานนานประมาณ 2 วัน ก่อนกลีบดอกจะร่วงลงดิน คงเหลือแต่เกสรไว้ และไม่ค่อยติดผลให้พบเห็นบ่อยนัก

ผล
ผลยี่หุบจะติดเป็นผลรวม คล้ายผลน้อยหน่าหรือขนุน ซึ่งจะมีเนื้อผลรวมติดกันกลายเป็นผลเดี่ยวๆที่เรามองเห็น เปลือกผลสดมีสีเขียว มีรูปทรงแปลก คือ มีลักษณะเป็นสันนูนจำนวนหลายอัน ปลายสันแหลม โค้งตวัดคล้ายลายไทย ส่วนด้านในประกอบด้วยเมล็ดที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้ม เมื่อผลแก่จะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ส่วนเมล็ดจะค่อยเปลี่ยนจนเป็นสีน้ำตาลอมดำตามอายุของผล เพิ่มเติมจาก [1]

ประโยชน์ยี่หุบ
1. ยี่หุบนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับเป็นหลัก เพราะลำต้นไม่สูงใหญ่นัก และที่สำคัญมีดอกสีขาวขนาดใหญ่สวยงาม และดูแปลกตา
2. ดอกยี่หุบมีกลิ่นหอม ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับทำเป็นน้ำหอม และน้ำมันทานวดร่างกาย

สรรพคุณยี่หุบ
ดอก
– ดอกใช้ดม ช่วยให้ผ่อนคลาย

น้ำมันหอมระเหย
– แก้อาการปวดเมื่อย และเคล็ดขัดยอกร่างกาย
– ช่วยกระตุ้นระบบประสาท และการไหลเวียนของเลือด
– บรรเทาอาการฟกช้ำ

การปลูกยี่หุบ
ยี่หุบเป็นไม้ยืนต้นที่ชอบอากาศค่อนข้างเย็นพอเหมาะ แต่ไม่ต้องการหนาวเย็นมาก และต้องการอากาศที่มีความชื้นบ้าง เติบโตได้ดีในที่ร่ม มีแสงแดดรำไร ไม่ชอบแสงแดดจัด โดยเฉพาะการปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่จะเติบโตได้ดีกว่าการปลูกกลางแจ้ง หากปลูกในที่โล่ง เมื่อถึงฤดูแล้งที่แสงแดดร้อนจัดจะทำให้ใบแห้งเหี่ยว และตายได้ง่าย [1] และหากปลูกในพื้นที่อากาศเย็นจะช่วยให้ยี่หุบออกดอกมาก และดอกมีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่อากาศร้อน

การปลูกยี่หุบทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด และต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง และกล้าจากการปักชำ ซึ่งอาจปลูกได้ในกระถางสำหรับต้นพันธุ์จากการตอนกิ่ง และการปักชำ ทั้งนี้ ควรปลูกหรือวางกระถางไว้ในที่ร่ม และให้น้ำเป็นประจำอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง

ขอบคุณภาพจาก biogang.net/, NanaGarden.com

เอกสารอ้างอิง
[1] มณฑิรา สาลักษณ์ , 2534, การขยายพันธุ์และการเก็บรักษา-
พันธุ์ยี่หุบโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ.