Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset
มะเฟือง (Star Fruit) จัดเป็นไม้ผลสำคัญอีกชนิดที่มีการปลูกเพื่อรับประทานผล และการส่งออก ด้วยลักษณะผลที่แปลกตา และเนื้อผลให้รสหวานอมเปรี้ยวหรือบางพันธุ์ให้รสหวานมากทำให้นิยมรับประทานทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ นอกจากนั้น ผลมะเฟืองยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด อาทิ แยม มะเฟืองดอง มะเฟืองแช่อิ่ม เป็นต้น
มะเฟืองถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจอีกชนิดที่มีการส่งจำหน่ายไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบทวีปยุโรป ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลมีลักษณะสีสันสวยงาม และแปลกตา นอกจากนั้น ยังให้เนื้อ และน้ำที่ชุ่มหวานอีกด้วย
มะเฟืองจัดเป็นไม้ไม่ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเชีย และมาเลเชีย แล้วค่อยแพร่กระจายเข้ามาสู่ไทย พม่า ลาว และประเทศใกล้เคียง เป็นต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในอากาศร้อนชื้น ไม่ทนต่ออากาศหนาวที่มีน้ำค้างแข็งหรือหิมะ
• วงศ์ : Averrhoaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Averrhoa carambola L.
• ชื่อสามัญ :
– Carambola
– Star Fruit
• ถิ่นกำเนิด : อินโดนีเชีย และมาเลเชีย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะเฟืองเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 5-12 เมตรขนาดลำต้นประมาณ 20-25 เซนติเมตร เปลือกลำต้นมีลักษณะเรียบ สีน้ำตาลอมดำ และมีรอยแตกตามยาวไปทั่ว ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก
ใบ
ใบมะเฟืองจะติด และแทงใบใหม่ตลอดทั้งปี ไม่มีการผลัดใบ ทำให้เป็นร่มเงาได้ดีมาก โดยใบมีลักษณะใบประกอบประเภทใบเดี่ยว (ใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว) ประกอบด้วยก้านใบหลัก ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร และมีใบย่อยจำนวน 5-11 ใบ โดยใบย่อยเรียงเป็นคู่ๆจนถึงปลายก้านใบ และมีใบสุดท้ายเป็นใบเดี่ยว
ใบมะเฟืองมีลักษณะคล้าย และขนาดใกล้เคียงกับใบมะยม แต่ใบมะเฟืองค่อนข้างป้อมกว่า ฐานใบเบี้ยวมน ปลายใบแหลม มีก้านใบสีม่วงแดง ใบอ่อนมีสีแดงหรือม่วงแดง เมื่อแก่มีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่าด้านบน แผ่น และขอบใบเรียบ แผ่นใบเป็นมัน และมีขนปกคลุม คล้ายขนกำมะหยี่
ดอก
ดอกมะเฟืองเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรทั้งเพศผู้ และเพศเมียในดอกเดียวกัน โดยออกดอกเป็นช่อตามกิ่ง และลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 1.5-7.5 เซนติเมตรดอกตูมมีสีม่วงแดง เมื่อบานจะมีสีแดงม่วง สีขาว หรือชมพู ที่ประกอบด้วยกลีบดอกขนาดเล็ก 5 กลีบ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน ด้านล่างสุดเป็นรังไข่ที่จะเจริญเป็นผล
ผล และเมล็ด
ผลมะเฟืองมีลักษณะที่แปลกตา คือ รูปผลเป็นเหลี่ยมหรือเป็นแฉกคล้ายรูปดาว 5 เหลี่ยม หรืออาจพบ 6 เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามัญ Star Fruit ผลมีขนาดยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ขนาดผลประมาณ 3-10 เซนติเมตรปลายก้นแหลม ผลขณะอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน สีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง และสีเหลืองเมื่อสุกเต็มที่ เนื้อผลด้านในฉ่ำด้วยน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย บางพันธุ์มีรสเปรี้ยวมาก ภายในผลบริเวณแกนกลางมีเมล็ดแทรกอยู่ จำนวนเมล็ด 5-12 เมล็ด แต่บางพันธุ์จะมีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเมล็ดเลย เมล็ดมีลักษณะฐานมน ปลายแหลม เปลือกเมล็ดแข็ง มีสีน้ำตาล ผลมะเฟืองจะเริ่มสุกหลังจากดอกบานแล้วประมาณ 55-60 วัน
ประโยชน์มะเฟือง
– ผลมะเฟืองสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวใช้รับประทานเป็นผลไม้
– ผลมะเฟืองดิบที่ยังไม่ห่ามหรือสุก นำมาฝานเป็นชิ้นสำหรับรับประทานคู่กับแหนม
– ผลมะเฟืองห่ามใช้ทำสลัดร่วมกับผักอื่น
– ผลมะเฟืองห่ามนำมาประกอบอาหาร อาทิ ผัดเปรี้ยวหวาน หรือผลที่เปี้ยวมากใช้ใส่อาหารประเภทต้มยำเพื่อเพิ่มรสเปรี้ยว และชาวจีนใช้มะเฟืองนึ่งรวมกับปลา
– ผลมะเฟืองสุกนำมาผ่า และแยกเมล็ดออก ก่อนหั่นเป็นชิ้น แล้วนำมาปั่นหรือคั้นเป็นน้ำมะเฟืองดื่ม
– ผลมะเฟืองที่ยังไม่สุกมากใช้นำมาดองเป็นมะเฟืองดอง มะเฟืองแช่อิ่ม
– ผลมะเฟืองสุกนำมาปอกเปลือก และยกเอาเฉพาะเนื้อสำหรับทำแยมมะเฟือง
– ต้นมะเฟืองแตกกิ่งมาก ออกใบดกเขียวตลอดทั้งปี นิยมปลูกไว้หน้าบ้านหรือภายในบ้านเพื่อเป็นร่มเงาพักผ่อน
คุณค่าทางโภชนาการ (100 กรัม)
– พลังงาน 34 กิโลแคลอรี่
– โปรตีน 0.4 กรัม
– ไขมัน 0.1 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 7.8 กรัม
– เส้นใย 0.8-0.9 กรัม
– แคลเซียม 9 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 15 มิลลิกรัม
– เหล็ก 0.9 มิลลิกรัม
– วิตามินบี1 0.02 มิลลิกรัม
– วิตามินบี2 0.17 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน 0.8 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 28 มิลลิกรัม
– เบต้าแคโรทีน 3.19 RE
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข (2530)(1)
สรรพคุณมะเฟือง
ผลมะเฟือง (รสเปรี้ยว/หวานอมเปรี้ยว) ด้วยการับประทานสดหรือคั้นน้ำดื่ม
– บรรเทาอาการคอแห้ง ทำให้ชุ่มคอ
– ลดอาการเลือดออกตามไรฟัน
– ช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ และลดอาการไอหรือเจ็บคอ
– แก้อาการอาเจียน
– แก้เมารถ เมาเรือหรืออาการเมาค้างจากการดื่มเหล้า
– ช่วยลดความเครียด ทำให้ผ่อนคลาย หรือนอนหลับได้ง่ายขึ้น
– ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย
– ช่วยขับระดู ทำให้ระดูเป็นปกติ
– ช่วยขับน้ำลาย และช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยขับปัสสาวะ และช่วยในการฟอกไต ลดสารพิษที่ตกค้างในไต
– แก้อาการหนองใน
– ช่วยเสริมสร้างภูมต้านทาน ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วยบ่อย
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ และหลอด
– แก้อาการร้อนใน ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเป็นปกติ
– ลดความเสี่ยงต่อโรคโลหิตจาง
– แก้อากรท้องร่วง ท้องเสีย
เมล็ดมะเฟือง (รสขม) ด้วยการนำมาต้มน้ำดื่ม
– ช่วยให้นอนหลับง่าย
– แก้อาการปวดเมื่อย
– แก้ดีซ่าน
– ช่วยในการขับระดู โดยเฉพาะสตรีที่เริ่มมีระดูหลังคลอดใหม่
– บรรเทาอาการปวดท้อง แน่นท้อง
ใบมะเฟือง (รสจืด และมัน) ใช้ด้วยการนำมาต้มหรือบดขยำทาภายนอก
– บรรเทาอาการเป็นหวัด ลดไข้
– ช่วยในการดับร้อน
– ช่วยถอนพิษสำแดง
– ช่วยขับปัสสาวะ และฟอกสารพิษจากไต
– แก้โรคนิ่ว ลดการสะสมแคลเซียมที่กระเพาะปัสสาวะ
– แก้อาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเล็ด
– ใบนำมาขยำใช้พอกหรือสระผมร่วมกับแชมพู ทำให้รังแคน้อยลง
– ใบนำมาบดใช้ทาพอกแก้ผื่นคัน
– ใบนำมาบดใช้ประคบแผล รักษาแผล
– ใบบดนำมาประคบแผล ช่วยในการห้ามเลือด
– ใบบดใช้ประคบแผลแมลงกัดต่อย ช่วยบรรเทาอาการปวด และบวมของแผล
ดอกมะเฟือง (รสจืดเย็น) ใช้โดยการต้มน้ำดื่ม
– บรรเทาอาการไข้ ลดอาการตัวร้อน
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยขับสารพิษ
เปลือก (รสฝาด) โดยนำมาต้มน้ำดื่มหรือฝนเป็นผงทาภายนอก
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยรักษาแผล ทำให้แผลแห้ง
ราก (รสหวาน และเย็น) โดยนำมาต้มน้ำดื่ม
– แก้อาการปวดศรีษะ
– แก้ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ
– บรรเทาอาการไข้ แก้อาการเป็นหวัด
– บรรเทาอาการปวดแสบจากโรคกระเพาะอาหาร
– บรรเทาอาการจุกแน่นหน้าอก
เพิ่มเติมจาก อริสา และคณะ (2536)(2), วุฒิ (2540)(3)
การปลูกมะเฟือง
มะเฟืองในปัจจุบันนิยมขยายพันธุ์ด้วยการต่อยอด การตอนกิ่ง การติดตา และการปลูกด้วยเมล็ด โดยจะเริ่มติดผลได้เมื่อต้นมีอายุประมาณ 4-5 ปี และจะติดผลตลอดทั้งปี
พันธุ์มะเฟือง
พันธุ์มะเฟืองที่พบในประเทศไทยสามารถแบ่งตามรสได้ 2 พันธุ์หลัก คือ พันธุ์เปรี้ยว และพันธุ์หวาน โดยพันธุ์เปรี้ยวจะเป็นพันธุ์ท้องถิ่นที่มีการปลูกมาตั้งแต่ดั้งเดิม มีทั้งผลขนาดเล็ก และใหญ่ เนื้อให้รสเปรี้ยวมาก ส่วนพันธุ์หวานเป็นพันธุ์ที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศหรือพันธุ์ดั้งเดิมที่มีการปรับปรุงพันธุ์แล้ว โดยจะมีผลขนาดใหญ่ เนื้อให้รสหวานหรือหวานอมเปรี้ยว
พันธุ์มะเฟืองที่พบในไทย
1. พันธุ์ดั้งเดิม/พื้นเมือง เป็นพันธุ์ที่มีความเปรี้ยวมาก ปัจจุบันไม่นิยมปลูก และพบน้อยมาก
2. พันธุ์ศรีเวียง คาดว่าเป็นพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์ดั้งเดิม ผลมีรูปทรงเหมือนกัน และผิวมีรอยกะ ผิวผลมีสีเหลือง เหลืองอมส้ม และเป็นกะ ผลดิบมีรสหวาน และเมื่อสุกจะให้รสหวานมาก
3. พันธุ์ดาราสยาม เป็นพันธุ์ที่มีความหวานมาก ประมาณ 12 บริกซ์
4. พันธุ์ไต้หวัน เป็นพันธุ์ต่างประเทศจากไต้หวัน ผลมีขนาดใหญ่ ให้รสหวาน
5. พันธุ์กวางตุ้ง เป็นพันธุ์ต่างประเทศจากจีน ผลมีขนาดใหญ่ สีผลค่อนข้างขาวนวล ขอบเหลี่ยมมีสีเขียว เนื้อให้รสหวานคล้ายพันธุ์ไต้หวัน
6. พันธุ์มาเลเชีย เป็นพันธุ์ต่างประเทศจากมาเลเชีย และเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด ผลมีขนาดใหญ่มาก เหลี่ยมผลบาง ผลมีสีเหลืองทองหรือแดงส้ม เนื้อให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ทั้งนี้ พันธุ์มาเลเชียยังแบ่งย่อยได้อีก 2 พันธุ์ คือ
– พันธุ์ B10 เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาครั้งแรก ผลมีขนาดใหญ่ ผลมีสีเหลืองทอง เหลี่ยมผลบาง และร่องผลลึก ส่วนเนื้อให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย แต่สุกจัดจะมีรสหวาน พันธุ์นี้นิยมปลูกกันมากเช่นกัน
– พันธุ์ B17 เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกหลังพันธุ์ B10 ผลมีขนาดใหญ่ แต่เล็กกว่าพันธุ์ B10 และผลเรียวยาวกว่า ผลมีสีแดงส้ม ขอบเหลี่ยมมีฟองอากาศ เนื้อด้านนอกค่อนข้างกรอบ ให้รสหวานเข้มข้น เหมาะสำหรับการรับประทานสดมากกว่าพันธุ์ B10
ที่มา : เบญจมาพร มธุลาภรังสรรค์ (2551)(4)
เอกสารอ้างอิง