มะม่วงหาวมะนาวโห่/หนามแดง และสรรพคุณมะม่วงหาวมะนาวโห่

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

มะม่วงหาวมะนาวโห่ หรือ หนามแดง (Karanda) จัดเป็นผลไม้ท้องถิ่นที่ให้รสเปรี้ยวมาก และจะออกรสหวานเล็กน้อยหากผลสุกจัดเป็นสีดำ แต่มีเนื้อสัมผัสที่ให้ความกรอบได้ตลอด ดังนั้น จึงเป็นผลไม้ที่ใช้รับประทานสดเพื่อดับกระหายคลายร้อนได้ดี รวมถึงนิยมนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ แยม ไวน์ เป็นต้น

ผลของมะม่วงหาวมะนาวโห่ ถือได้ว่าให้สรรพคุณทางยาในหลายด้าน โดยเฉพาะเปลือกที่เต็มไปด้วยสารแอนโทไซยานินจำนวนมาก รวมถึงส่วนของเนื้อที่อุดมไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุอื่นๆอีกหลายชนิด ซึ่งสารเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ดีจึงมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน อาทิ ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ และช่วยลดไขมันในเส้นเลือด เป็นต้น นอกจากนั้น ส่วนอื่นๆ เช่น ใบ เปลือก แก่นไม้ และราก ยังมีสรรพคุณทางยาอีกหลายด้าน ดังจะกล่าวให้ทราบต่อไป

• วงศ์ : APOCYNACEAE
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carissa carandas L
• ชื่อสามัญ
– Karanda
– Bengal Currants
– Christ’s thorm

• ชื่อท้องถิ่นไทย :
กลาง และทั่วไป
– มะม่วงหาวมะนาวโห่
– มะม่วงไม่รู้หาวมะนาวไม่รู้โห่
– หนามแดง
– มะนาวไม่รู้โห่
เหนือ
– หนามขี้แฮด
ใต้
– มะนาวโห่

ผลมะม่วงหาวมะนาวโห่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นมะม่วงหาวมะนาวโห่/หนามแดง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-5 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำ ตาลเข้ม เมื่อใช้มีดสับจะมียางสีขาวไหลออกมา ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก และมีหนามแหลมคม ยาวประมาณ 2 นิ้ว กระจายทั่ว

ใบ
ใบแทงออกเป็นใบเดี่ยว แทงออกตรงข้ามกันบนกิ่ง ใบมีรูปทรงไข่ และป้อม สีเขียวเข้ม โคนใบมน ปลายใบโค้งหยักเข้าตรงกลาง ใบกว้างประมาณ 2-4 ซม. ยาวประมาณ 4-8 ซม. แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยง และเป็นมัน ท้องใบมีสีจางกว่าด้านบน และมีเส้นใบมองเห็นได้ชัดเจน

ดอก
ดอกมะม่วงหาวมะนาวโห่/หนามแดง แทงออกเป็นช่อบริเวณซอกใบตามปลายกิ่ง มีก้านชูดอกสีแดงเข้มมีกลีบรองดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาวอมชมพู ยาวประมาณ 1 ซม. โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกออก และมีรูปทรงกรวย ภายในดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 5 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน ส่วนด้านล่างสุดเป็นรังไข่ที่จะเจริญต่อมาเป็นผล

ดอกมะม่วงหาวมะนาวโห่

ผล และเมล็ด
ผลมะม่วงหาวมะนาวโห่มีรูปร่างกลม และรี ขนาดผลประมาณ 1-1.5 ซม. ยาวประมาณ 2-4 ซม. ผลอ่อนมีเปลือกสีขาว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีแดงอมชมพู และเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีดำ ส่วนเนื้อเมื่อยังดิบจะมีสีขาว และเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงอมชมพู เนื้อผลมีลักษณะกรอบแม้เมื่อสุกแล้ว และภายในผลบริเวณตรงกลางจะมีเมล็ดแทรกรวมกันอยู่ 4-6 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างแบน มีเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาล

มะม่วงหาวมะนาวโห่

ประโยชน์มะม่วงหาวมะนาวโห่/หนามแดง
– ผลนำมารับประทานสดเป็นผลไม้ที่เนื้อให้รสเปรี้ยวจัดจ้าน
– ผลนำใส่แกงประเภทต้มยำ ต้มแสบ เพื่อเพิ่มความเปรี้ยว เพียงทุบหรือผ่าเป็นซีกใส่ในต้ม 3-5 ลูก หรือ ตามรสเปรี้ยวที่ต้องการ
– ผลนำมาแปรรูปเป็นผลไม้ดอง แช่อิ่ม แยม ไวน์ และน้ำผลไม้บรรจุขวด เป็นต้น
– ผลนำมาปั่นเป็นน้ำผลไม้ โดยผสมน้ำตาลตามความหวานที่ต้องการ น้ำของผลสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารแทนมะนาวได้
– เปลือกผลที่มีสีแดงอมชมพูหรือสีแดงดำนำมาสกัดเป็นสีผสมอาหาร

ผลิตภัณฑ์มะม่วงหาวมะนาวโห่

สาระสำคัญที่พบ
ในผลมะม่วงหาวมะนาวโห่พบสารจำพวกแอนโทไซยานินจำนวนมาก ได้แก่
– cyanidin-3-O-rhamnoside
– pelargonidin-3-Oglucoside
– cyanidin-3-O-glucoside

ที่มา : จุฑามาส และคณะ (2556)(1)

สรรพคุณมะม่วงหาวมะนาวโห่/หนามแดง
ผล
– ผลมีสารประกอบหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ดี ทำให้ช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ผิวพรรณแลดูเต่งตึง ดูอ่อนไหว รวมถึงช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของอวัยวะภายในทำให้อวัยวะทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ ไม่ป่วยง่าย
– ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย และส่งเสริมการทำงานของตับ และไต
– ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย
– ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง
– ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง
– ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ทำให้ตื่นตัวอยู่เสมอ
– ช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือ รวมถึงอาการเมาค้าง เมาสารเคมี เป็นต้น
– ช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย ทำให้อยากอาหาร
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด โดยเฉพาะไขมันคอลเลสเตอรอล
– ป้องกัน และลดอาการเลือดออกตามไรฟัน
– ลดอาการคันคอ อาการคออักเสบ และลดอาการไอ ช่วยขับเสมหะ
– รักษาแผลในช่องปาก และการติดเชื้อในช่องปาก
– ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน
– ช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงการเป็นโรคโลหิตจาง
– ช่วยขับปัสสาวะ ลดอาการปัสสาวะเล็ดหรือปัสสาวะออกยาก
– ลดความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพฤกต์ อัมพาต

น้ำยางจากเปลือก และผล
– นำมาทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ เช่น เกลื้อ
– นำมาทารักษาแผลสด ทำให้แผลแห้งเร็ว
– นำมาทาตาปลาตามร่างกาย ช่วยในการผลัดเซลล์อออก

ใบ (นำมาต้มน้ำดื่มหรือบดทาพอกภายนอก)
– เป็นยาแก้ท้องร่วง
– แก้อาการปวดหู
– แก้ไข้แก้เจ็บคอ เจ็บปาก ลดอาการอักเสบภายในลำคอ
– แก้ และบรรเทาโรคลมชัก ไม่ให้เกิดขึ้นถี่
– บรรเทาอาการท้องร่วง ท้องเสีย
– นำใบมาขยำก่อนใช้ประคบแผลเพื่อช่วยห้ามเลือด
– นำใบมาต้มน้ำอาบ ช่วยป้องกัน และรักษาโรคผื่นคัน รวมถึงโรคผิวหนังจากเชื้อราต่างๆ

เปลือก และเนื้อไม้ (นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ใช้ยาบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย ช่วยในการเจริญอาหาร
– ช่วยบรรเทาอาการเป็นไข้ ลดอาการเป็นหวัด
– ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศรีษะ
– ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน
– ช่วยขับพยาธิ
– นำมาบดหรือฝนสำหรับทาแผลเป็นหนอง แผลติดเชื้อ ช่วยให้แผลหายเร็ว
– นำมาบดเป็นผง แล้วผสมน้ำเล็กน้อยก่อนทาบริเวณผิวหนังเพื่อลดอาการคัน เป็นผดผื่น
– นำเปลือกหรือแก่นมาต้มน้ำอาบ ช่วยในการรักษาโรคผิวหนัง ป้องกันการลุกลามของโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน เป็นต้น

ราก (นำมาต้มน้ำดื่ม และอื่นๆ)
– เป็นยาขับพยาธิ
– ช่วยบำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร
– ช่วยในการขับปัสสาวะ
– บรรเทาอาการท้องเสีย
– นำบดสำหรับทาพอกแก้อาการผื่นคัน

เพิ่มเติมจาก : ดาลัด (2551)(2), กุลพร (2554)(3)

การปลูกมะม่วงหาวมะนาวโห่/หนามแดง
มะม่วงหาวมะนาวโห่ที่เติบโตตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แต่ปัจจุบันเริ่มนิยมปลูกมากขึ้น จึงนิยมปลูกจากต้นพันธุ์ที่ได้จากการเสียบกิ่ง การตอนกิ่ง และการปักชำ เป็นหลัก เพราะจะช่วยให้ติดผลได้เร็ว

กล้ามะม่วงหาวมะนาวโห่

เอกสารอ้างอิง
1