มะม่วงหิมพานต์ สรรพคุณ และการปลูกมะม่วงหิมพานต์

Last Updated on 12 พฤษภาคม 2017 by puechkaset

มะม่วงหิมพานต์ (Cashew Nut) เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมารับประทาน และส่งออก รวมถึงนำมันจากเปลือกเมล็ดที่นิยมใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมหลายด้าน อาทิ น้ำมันขัดเงา กาว สีทาบ้าน หมึกพิมพ์ และอื่นๆ รวมถึงส่วนต่างๆของมะม่วงหิมพานต์นิยมใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร และทางการแพทย์หลายอย่าง

• วงศ์ : Anacardiaceae
• ชื่อสามัญ
– Cashew
– Cashew Nut
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anacardium occidentale L.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– มะม่วงหิมพานต์
– มะม่วงไม่รู้หาว
ภาคอีสาน
– หมากม่วงหิมพานต์
ภาคเหนือ
– มะม่วงสิโห
– มะโห
– มะม่วงกาสอ
– มะหม่วงกุลา
– มะม่วงลังกา
– มะม่วงหยอด
– มะม่วงสินหน
ภาคใต้
– มะม่วงเล็ดล่อ
– มะม่วงยางทุย
– ส้มม่วงชูหน่วย
– มะม่วงทูนหน่อย
– กะแตแหล
– นายก
– ยาโงย
– ยาร่วง
– ยาห้อย
– กาหยู
– กาหยี
– ม่วงเม็ดล่อ
– ม่วงเล็ดล่อ
– หัวครก
– ท้ายล่อ
– ตำหยาว
– ส้มม่วงชูหน่วย
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศบราซิล และประเทศใกล้เคียงในอเมริกาใต้

มะม่วงหิมพานต์1

ประวัติมะม่วงหิมพานต์
มะม่วงหิมพานต์ มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอเมริกาใต้บริเวณแถบประเทศบราซิล แล้วค่อยแพร่กระจายไปสู่ทวีปแอฟริกา อเมริกาเหนือ ยุโรป และทวีปเอเชีย โดยในช่วงแรกที่นิยมปลูกในทวีปอเมริกาจะเป็นการปลูกเพื่อปลูกเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งปลูกทั่วไปในแทนซาเนีย ไรบีเรีย และประเทศอื่นๆ

ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 16 ชาวโปรตุเกสได้นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์เข้ามาทดลองปลูกในประเทศอินเดีย ซึ่งสามารถเติบโต และให้ผลได้ดีมาก จึงนิยมปลูกกันมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกตามชายฝั่งเพื่อเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะตามชายฝั่ง ซึ่งสามารถป้องกันการกัดเซาะอย่างได้ผลดี และมีการขยายปลูกเพื่อการค้ามากขึ้น ซึ่งขณะนั้น เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่อินเดียได้ยังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจนส่งออกเป็นรายใหญ่ของโลก จากนั้น จึงแพร่ลงมาทางประเทศศรีลังกา และแพร่เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาเลเชีย และเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้

มะม่วงหิมพานต์ ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2444 ที่ถูกนำเข้ามาพร้อมกับยางพาราจากประเทศมาเลเชีย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (ดอซิมบี้ ณ ระยอง) ซึ่งดำรงตำแหน่งเทศาภิบาลจังหวัดตรัง พร้อมกับทดลองปลูกครั้งแรกที่จังหวัดตรัง ซึ่งต่อมาจึงเริ่มนิยมปลูกมากขึ้นในภาคใต้

ต่อมา นายเธท ซิน จากหน่วยงาน FAO ได้นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์จากโมโรเนีย ประเทศไลบีเรีย เข้ามาให้กองค้นคว้า และทดลอง กรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตร) จำนวน 80 เมล็ด สำหรับทดลองปลูกที่สถานีไหม จังหวัดศรีษะเกษ และสถานีทดลองยางโป่งแรก จังหวัดจันทบุรี ในช่วงประมาณวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2504

ต่อมาประมาณวันที่ 14 ของเดือน และปีเดียวกัน หม่อมราชวงศ์จักรทอง ทองใหญ่ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมกสิกรรมในขณะนั้น ได้รับมอบเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 25 กิโลกรัม จากสถานทูตไทยในอินเดีย จึงได้ทดลองปลูกที่สถานีทั้ง 2 แห่ง เพิ่มอีก นอกจากนั้น ยังมีการนำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์จากประเทศบราซิลเข้ามาทดลองปลูกร่วมด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มะม่วงหิมพานต์ เป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 6-12 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงหลักปานกลาง แต่มีกิ่งย่อยมาก กิ่งแขนงหลักแตกออกเป็นแนวขนานกับพื้นดินทำให้รูปทรงพุ่มเป็นรูปร่ม กว้างประมาณ 4-10 เมตร

ลำต้นมะม่วงหิมพานต์มีลักษณะทรงกลม ตั้งตรง และไม่สูงมาก เพราะลำต้นแตกกิ่งที่ความสูงไม่มาก เปลือกลำต้นค่อนข้างหนา และเรียบ มีสีเทาอมน้ำตาล

ต้นมะม่วงหิมพานต์
ขอบคุณภาพจาก www.adaytochill.com

ใบ
ใบมะม่วงพิมหานต์ มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โคนใบสอบแคบ และค่อยๆขยายใหญ่ขึ้นจนถึงปลายใบ โดยปลายใบค่อนข้างมนหรือเป็นป้าน ขนาดใบยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขนาดกว้างสูงสุดที่ปลายใบประมาณ 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ และเกลี้ยงเป็นมัน แผ่นใบมีสีเขียวสด มีเส้นกลางใบสีเขียวอ่อนขนาดใหญ่ พร้อมแตกเส้นแขนงใบออกในแนวตรงจากกลางใบ

ดอก
มะม่วงหิมพานต์ ออกเป็นช่อตรงซอกใบบริเวณปลายกิ่ง แต่ละช่อจะมีก้านช่อย่อย 5-10 ก้าน เรียงสลับกันบนก้านช่อหลัก ก้านดอกอ่อนมีสีชมพู แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีขาว และสีเขียวเมื่อแก่ขึ้น แต่ละก้านช่อจะมีดอก 10-30 ดอก ทั้งนี้ ในก้านดอกหลักจะมีดอก 3 ประเภท คือ ดอกตัวผู้ มีประมาณร้อยละ 96 ดอกตัวเมีย และดอกสมบูรณ์เพศ ซึ่งดอก 2 ชนิดหลัง จะรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 4 ซึ่งดอกจะสามารถผสมเกสรได้เองภายในช่อดอกเดียวกัน และจะติดผลเพียงไม่กี่ผลต่อช่อเท่านั้น

ดอกจะประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนหุ้มบริเวณโคนดอก ถัดมาเป็นกลีบดอกที่มีสีเหลืองอมขาว จำนวน 5 กลีบ เมื่อบานเต็มที่กลีบดอกจะมีสีอมแดงเรื่อบริเวณโคนกลีบ กลีบดอกมีลักษณะเรียว ปลายกลีบแหลม ถัดมากลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ 7-10 อัน และเกสรตัวเมีย

ผล และเมล็ด
มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีลักษณะผลแปลกประลาด กล่าวคือ ส่วนที่อวบ และมีสีแดง มีลักษณะคล้ายผลชมพู่ ซึ่งเรามักเข้าใจว่าเป็นผลจริง แท้จริงแล้ว คือ ผลเทียม ซึ่งเป็นส่วนของก้านผลที่ขยายอวบนูนขึ้น ส่วนผลแท้เป็นส่วนที่มีรูปคล้ายไตห้อยอยู่ด้านล่าง

• ผลเทียม
ผลเทียม เป็นส่วนที่เป็นก้านผล แต่มีการพองขยายตัวจนมีรูปร่างคล้ายผลจริงเหมือนกับผลไม้ทั่วไป ผลเทียมจะมีรูปร่างคล้ายผลชมพู่ แต่ตรงขั้วผลจะไม่สอบแคบเหมือนผลชมพู่ ขนาดผลยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกจะมีสีแดงเรื่อหรือสีชมพูหรือสีเหลืองตามสายพันธุ์ ภายในผลประกอบด้วยเนื้อผลที่ฉ่ำด้วยน้ำ ให้รสหวานอมฝาด หากสุกน้อยจะฝาดมาก หากสุกมากจะมีรสหวานเพิ่มขึ้น แต่ยังคงรสฝาดไว้เหมือนเดิม ทั้งนี้ ที่ปลายผลจะห้อยด้วยผลแท้ที่มีรูปร่างคล้ายไต

มะม่วงหิมพานต์

ขอบคุณภาพจาก www.easycashew.com

• ผลแท้
ผลแท้ เป็นส่วนที่มีรูปร่างคล้ายไต ห้อยติดด้านล่างของผลเทียม ผลเมื่ออ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเทาหรือสีน้ำตาล ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยเปลือกหุ้มผลที่หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ด้านในเป็นที่อยู่ของเมล็ดที่มีรูปคล้ายไตเช่นกัน แบ่งออกเป็น 2 ซีก ประกบกันอยู่ เนื้อเมล็ดนี้มีสีขาว เมื่อนำมาคั่วไฟจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้รับประทาน เนื้อเมล็ดมีความกรอบ มีกลิ่นหอม ให้รสมันอร่อย ทั้งนี้ เมื่อปอกเปลือกแล้วจะเหลือเนื้อเมล็ดประมาณ 25% ส่วนอีกประมาณ 75% จะเป็นเปลือกที่หุ้มด้านนอก

การพัฒนาของผลแท้ และผลเทียมในระยะแรก ผลแท้จะพัฒนาขยายใหญ่กว่าผลเทียม จากนั้น เมื่อโตเต็มที่จะคงตัว และค่อยเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเทาอมน้ำตาล ส่วนผลเทียมจะค่อยๆพัฒนาขยายใหญ่ขึ้นทีหลัง จนมีขนาดผลใหญ่กว่าผลแท้หลายเท่า

สำหรับเปลือกผลแท้ที่หุ้มเมล็ดจะน้ำยางสีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก สามารถบีบคั้นได้ หรือโดยเฉพาะเมื่อนำมาเผาไฟจะเห็นเป็นน้ำยางไหลเยิ้มออกมา และลุกติดไฟได้ดี และหากน้ำยางนี้ถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดเป็นแผลเปื่อยได้ง่าย เนื่องจากมีสภาพเป็นกรดสูง แต่น้ำยางนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้วยกัน

ประโยชน์มะม่วงหิมพานต์
1. เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถือเป็นอาหารขบเคี้ยวที่นิยมรับประทานมาก และนิยมมากกว่าเมล็ดธัญพืชเกือบทุกชนิด เนื่องจากมีความกรอบ ให้รสมัน และมีกลิ่นหอม
2. เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ นิยมใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ ใส่ส้มตำ ใส่ยำต่างๆ ใส่ไอศกรีม เป็นต้น
3. ผลเทียมที่ฉ่ำด้วยน้ำหวาน แต่อมฝาดเล็กน้อย ใช้สำหรับรับประทานเป็นผลไม้สด รวมถึงใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ น้ำผลไม้ปั่น ไวน์มะม่วงหิมพานต์ ไอศรีมมะม่วงหิมพานต์ แยม และน้ำส้มสายชู เป็นต้น
4. ยอดอ่อนใช้รับประทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก หรือใช้รับประทานเป็นเครื่องเคียงต่างๆ
5. ผลเทียมใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์หรือใช้เลี้ยงสัตว์จำพวกนก กระรอก และสุกร เป็นต้น
6. ผลเทียมมีกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยกว่า 20 ชนิด สามารถใช้สกัดเป็นหัวน้ำหอมหรือผสมทำน้ำหอมได้
7. เปลือกเมล็ดนำมาสกัดกรดน้ำมันที่นำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่
– ใช้ทำหมึกพิมพ์
– ใช้ผลิตสีทาบ้าน
– ใช้ในกระบวนการทำผ้าเบรก
– ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันขัดโลหะ
– ใช้ทาไม้สำหรับป้องกันปลวก และแมลง
– ใช้เป็นน้ำมันในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติก
– ใช้เป็นส่วนผสมของกาว
– ใช้ในกระบวนการฟอกย้อม
8. เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ย้อมแห ย้อมอวน
9. เปลือกนำมาตากแห้งจะกลายเป็นสีดำ นำมาต้มสกัดเพื่อใช้ทำหมึกประทับตราผ้า รวมถึงใช้สำหรับทำน้ำประสานในงานบัดกรีโลหะ
10. ยางที่ไหลออกจากจากเปลือกลำต้น เมื่อรวมกันเป็นก้อนจะมีสีเหลือง เรียกว่า กัม ใช้สำหรับทำน้ำมันขัดเงาโลหะหรือไม้แกะสลัก
11. ยางจากเปลือกนำมาเคี่ยวสำหรับทำกาว ทั้งงานไม้ และงานกระดาษ โดยเฉพาะหากนำยางดังกล่าวที่เคี่ยวแล้วหรือน้ำยางสดมาผสมกับน้ำมะนาวจะยิ่งทำให้เป็นกาวเหนียวมากขึ้น
12. เปลือกหุ้มเมล็ดที่กะเทาะออกแล้วนำมาใช้เป็นเชื้อสำหรับก่อไฟ ช่วยให้การก่อไฟติดได้ง่ายขึ้น
13. เนื้อไม้มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้เนื้ออ่อนถึงแข็งปานกลาง ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของต้น ต้นอ่อนมักให้สีเหลืองอมน้ำตาล ต้นที่มีอายุมากให้สีแดงหรือน้ำตาลอมแดง สามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ อาทิ โต๊ะ ที่รองนั่ง เก้าอี้ เป็นต้น
14. ลำต้น กิ่ง และใบแห้งใช้ทำเชื้อเพลิงในครัวเรือน

ที่มา : 1)

เมล็ดมะม่วงหิมพานต์

คุณค่าทางโภชนาการเมล็ดมะม่วงหิมะพานต์ (เมล็ดดิบ 100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 5.20
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 553
โปรตีน กรัม 18.22
ไขมัน กรัม 43.85
คาร์โบไฮเดรต กรัม 30.19
เส้นใย กรัม 3.3
น้ำตาลทั้งหมด กรัม 5.91
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 37
เหล็ก มิลลิกรัม 6.68
แมกนีเซียม มิลลิกรัม 292
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 592
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 660
โซเดียม มิลลิกรัม 12
สังกะสี มิลลิกรัม 5.783
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 0.5
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.423
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.058
ไนอะซีน มิลลิกรัม 1.062
วิตามิน B-6 มิลลิกรัม 0.417
โฟเลต ไมโครกรัม 25
วิตามิน B-12 ไมโครกรัม 0.00
วิตามิน A, RAE ไมโครกรัม 0.00
วิตามิน A, IU IU 0.00
วิตามิน E มิลลิกรัม 0.90
วิตามิน D (D2 + D3) ไมโครกรัม 0.0
วิตามิน K ไมโครกรัม 34.1
Lipids
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด กรัม 7.783
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด กรัม 23.797
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด กรัม 7.845
คอลเลสเตอรอล มิลลิกรัม 0
Caffeine มิลลิกรัม 0

 

ที่มา : USDA Nutrient Database

สาระสำคัญที่พบ
เปลือกหุ้มเมล็ด
1. กรดอะนาคาร์ดิด (anacardid acid)
สารชนิดนี้ จัดเป็นกรดไฮดรอกซิล คาร์บอกซิลิก มีสูตร คือ C22H32O3 นิยมสกัดด้วยความร้อนที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งสามารถสกัดได้มากที่สุดถึง 65-70% สถานะของสารมีความเป็นกรด มีกลิ่นฉุน สามารถกัดผิวหนังเปื่อยพองได้

2. คาร์ดานอล (cardanol)
สารชนิดนี้ จัดอยู่ในกลุ่มสารประกอบฟีนอลิก มีหมู่ไฮดรอกซี 1 ตำแหน่ง นิยมสกัดที่อุณหภูมิต่ำเช่นกัน เพราะหากใช้อุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดปฏิกิริยาดีคาร์บอกซิเลชันที่เข้าไปทำลายหมูไฮดรอกซีลได้ ซึ่งจะได้คาร์ดอลประมาณร้อยละ 18 และนิยมใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตโพลิยูริเทน รวมถึงใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมสีต่างๆ

3. คาร์ดอล (cardol)
สารชนิดนี้ จัดอยู่ในกลุ่มสารประกอบฟีนอลิก เมื่อสกัดที่อุณหภูมิต่ำจะได้สารประมาณร้อยละ 5

4. 2 เมทิล คาร์ดอล (2 methyl cardol)
สารชนิดนี้ จัดอยู่ในกลุ่มสารประกอบฟีนอลิกเช่นกัน เมื่อสกัดที่อุณหภูมิต่ำจะได้ปริมาณน้อยมาก เพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น จึงไม่นิยมสกัดมาใช้ประโยชน์

สรรพคุณมะม่วงหิมพานต์
ผลเทียม
– ช่วยบำรุงสมอง และกระตุ้นความจำ
– แก้โรคกระเพาะอาหาร รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยแก้อาเจียน
– ลดอาการเจ็บคอ ช่วยให้ชุ่มคอ
– ช่วยขับเหงื่อ
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะอย่างแรง

เปลือกเมล็ด
เปลือกเมล็ดมีกรดน้ำมันจำนวนมาก นิยมใช้เป็นยาภายนอก ได้แก่
– ใช้แก้อาการเหน็บชา
– ใช้ถอนหูด ตาปลา
– ใช้รักษาส้นเท้าแตก
– ใช้เป็นส่วนผสมของยำจัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ
– ใช้รักษาโรคผิวหนัง อาทิ กลาก เกลื้อน และโรคผิวหนังจากเชื้อราอื่นๆ
– ใช้เป็นส่วนประกอบของยาสำหรับแก้โรคมะเร็ง

เมล็ด
เมล็ดอุดมด้วยสารอาหารหลายชนิดที่ช่วยส่งเสริมร่างกายในหลายด้าน ได้แก่
– กรดไลโนเลอิก ช่วยป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด และไขมันอุดตันในตับ รวมถึงลดความเสี่ยงการเกิดโรคในระบบเส้นเลือด และหัวใจ
– แมกนีเซียมในเมล็ดช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น รวมถึงช่วยลดความเครียด และทำให้ผ่อนคลาย
– แคลเซียมช่วยเสริมสร้างกระบวนการสร้างกระดูก
– กรดอะมิโน และกรดไขมันหลายชนิดช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ช่วยให้ร่างกายทำงานปกติ

ใบ และยอดอ่อน
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
– ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร
– แก้อาการท้องร่วง
– ใบแก่นำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาพอกรักษาแผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก

เปลือกลำต้น
– นำมาสกัดสารสำหรับเป็นส่วนผสมของยาแก้ปวดฟัน
– ใช้ต้มน้ำดื่มสำหรับแก้ท้องร่วง
– น้ำต้มใช้กลั้วปาก และลำคอ เพื่อแก้อาการอักเสบ รักษาแผลในช่องปาก ลดจำนวนแบคทีเรีย
– ประเทศบราซิลนำเปลือกมาทำยาดองดื่ม สำหรับช่วยลดความดันเลือด และใช้รักษาไข้มาลาเรีย ส่วนคนไทยก็ใช้เปลือกมาดองเหล้า เรียกว่า หวาก หรือ ตะหวาก

ที่มา : 1)

ข้อควรระวัง
1. เปลือกหุ้มเมล็ดห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจาก มีน้ำมันกรดจำนวนมาก หากรับประทานจะทำให้ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร เยื่อบุทางเดินอาหารเปื่อยเป็นแผลได้ ดังนั้น หากต้องการรับประทานเมล็ดมะม่วงหิมพานต์จะต้องกะเทาะเปลือกออกให้หมดทุกครั้ง

การปลูกมะม่วงหิมพานต์
พันธุ์มะม่วงหิมพานต์
1. พันธุ์ศรีสะเกษ 60-1
พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นโดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ มีลักษณะเด่น คือ ทรงพุ่มแน่นทึบ ออกดอกเร็วในช่วงเดือนพฤศจิกายน อายุเก็บผลผลิต 90-95 วัน หลังจากดอกบาน ผลเทียมค่อนข้างป้อม และรี เปลือกผลมีสีแดงเข้ม ส่วนเมล็ดมีสีเทา น้ำหนักเมล็ดรวมเปลือกประมาณ 158 เมล็ด/กิโลกรัม หากเริ่มเก็บผลตั้งแต่ 3 ปี แรกหลังปลูก และเก็บผลนาน 8 ปี สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 12.25 กิโลกรัม/ต้น/ปี เมล็ดดีให้เนื้อเมล็ดหลังกะเทาะเปลือก ประมาณ 27 % มีปริมาณเมล็ดเสียประมาณ 11 % เมล็ดส่วนมากจัดอยู่ในเกรด 3 ของมาตรฐาน ทั้งนี้ จัดเป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรคได้ดี

2. พันธุ์ศรีสะเกษ 60-2
เป็นพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษเช่นกัน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นมีทรงพุ่มค่อนข้างโปร่ง อายุเก็บผลผลิต 100 –110 วัน หลังจากดอกบาน ผลเทียมมีลักษณะรียาว เปลือกผลมีสีชมพูอมเหลือง เมล็ดแท้มีสีน้ำตาลอมแดง น้ำหนักเมล็ดรวมเปลือกประมาณ 138 เมล็ด/กิโลกรัม หากเริ่มเก็บผลตั้งแต่ 3 ปี แรกหลังปลูก และเก็บผลนาน 8 ปี สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 12.25 กิโลกรัม/ต้น/ปี สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 9.4 กิโลกรัม/ต้น/ปี เมล็ดดีให้เนื้อเมล็ดหลังกะเทาะเปลือก ประมาณ 25% มีปริมาณเมล็ดเสียประมาณ 25% เมล็ดส่วนมากจัดอยู่ในเกรด 3 ของมาตรฐาน พันธุ์นี้ จัดเป็นพันธุ์ที่ทนต่อโรคได้ดี และจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคม

3. พันธุ์ศิริชัย 25
เป็นพันธุ์ที่ค้นพบโดย บริษัท มาบุญครองศิริชัยมะม่วงหิมพานต์ จำกัด ในปี 2525 บริเวณจังหวัดจันทบุรี และได้เพิ่มปริมาณการปลูกมากขึ้นในช่วงปี 2528-2533 มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นมีทรงพุ่มครึ่งวงกลมหรือรูปร่ม ผลเทียมมีสีแดงเข้ม เมล็ดมีขนาดใหญ่ น้ำหนักเมล็ดรวมเปลือกประมาณ 154 เมล็ด/กิโลกรัม เมล็ดดีให้เนื้อเมล็ดหลังกะเทาะเปลือกค่อนข้างสูง ประมาณ 34%

4. พันธุ์เกาะพยาม
เป็นพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ในจังหวัดระนอง พบปลูกมากที่ ต. เกาะพยาม มีลักษณะเด่น คือ ผลเทียมมีสีเหลือง และอมแดงจางๆ เมล็ดแท้มีสีน้ำตาลอมเทา รูปร่างเมล็ดอวบใหญ่ ขนาดเมล็ดใหญ่ น้ำหนักเมล็ดรวมเปลือกประมาณ 100-110 เมล็ด/กิโลกรัม เมล็ดดีให้เนื้อเมล็ดหลังกะเทาะเปลือก ประมาณ 25% ปริมาณผลผลิตเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ 4 กิโลกรัม/ต้น/ปี

พันธุ์เกาะพยาม
พันธุ์เกาะพยาม

การคัดเลือกพันธุ์
1. มีเมล็ดขนาดใหญ่ น้ำหนักเมล็ดไม่เกิน 150 เมล็ด/กิโลกรัม
2. ให้ผลผลิตสูงตั้งแต่ 20 กิโลกรัม/ต้น/ปี ขึ้นไป
3. สามารถต้านต่อโรค และแมลงได้ดี
4. ให้ผลผลิตสม่ำเสมอทุกปี

การเพาะขยายพันธุ์
1. การเพาะเมล็ด
พันธุ์ที่ใช้ปลูกจะต้องได้เมล็ดจากต้นแม่ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อการคัดเลือกพันธุ์ และยังมีลักษณะอื่นๆ ได้แก่
– ทรงพุ่มหนา
– ลำต้นแข็งแรง
– แตกกิ่งมาก
– ออกดอก และติดผลดก มากกว่า 30 ผล/ช่อ
– ผลเทียมมีขนาดเล็ก แต่ผลแท้หรือเมล็ดมีขนาดใหญ่
– ร้อยละเมล็ดเสียน้อย
– เปลือกเมล็ดบาง เปลือกมีน้ำมันน้อย
– ให้ร้อยละเมล็ดหลังการกะเทาะเปลือกมาก มากกว่าร้อยละ 25

ลักษณะเมล็ดที่นำมาเพาะ จะต้องอวบใหญ่ ไม่มีรอยกัดแทะของแมลง เมล็ดไม่ลีบ เปลือกเมล็ดเป็นมันวาว และที่สำคัญ เมล็ดจะต้องไม่เก็บมาแล้วนานเกิน 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อความแน่ใจต้องตรวจสอบด้วยสายตาก่อน ร่วมกับการแช่น้ำคัดแยกออก โดยเมล็ดที่ลอยหรือกึ่งจมกึ่งลอยให้คัดแยกออก

วัสดุเพาะควรใช้ดินร่วนผสมกับแกลบดำ ร่วมกับปุ๋ยคอก อัตราส่วนดิน : แกลบดำ : ปุ๋ยคอก ที่ 2 : 1 : 1 นำมาคลุกผสมให้เขากัน ส่วนถุงเพาะชำให้ใช้ขนาด 5×8 นิ้ว หรือ ใช้วิธีปลูกลงหลุมเลย แต่ไม่แนะนำ เพราะอาจทำให้เสียเวลา เสียเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกในแปลงขนาดใหญ่ เนื่องจากอัตราการงอก และการรอดจะน้อยกว่าการเพาะในถุงก่อนนำลงปลูก แต่หากปลูกเพียงไม่กี่ต้น ทำได้โดยคลุกปุ๋ยคอกหรือวัสดุอินทรีย์กับดินในตำแหน่งที่จะปลูก ก่อนกดเมล็ดด้านเว้าลงดิน และให้เมล็ดเอียงประมาณ 45 องศา

หลังจากเพาะกล้าในถุงจนได้อายุประมาณ 4 เดือน แล้ว ก็พร้อมที่จะนำกล้าพันธุ์ลงปลูกในแปลง แต่ไม่ควรเพาะกล้านานเกิน 4 เดือน และควรย้ายกล้าลงปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ดังนั้น จะต้องเพาะเมล็ดในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์

2. การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
การขยายพันธุ์แบบนี้ ที่นำมาใช้ได้ ได้แก่
– การตอน
– การติดตา
– การเสียบข้าง
– การเสียบยอด

การขยายพันธุ์ด้วยวิธีเหล่านี้ มีข้อดี คือ ได้ลำต้นที่มีลักษณะเหมือนต้นพ่อแม่พันธุ์เดิม ไม่มีการกลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ลำต้นเตี้ย ลำต้นแตกกิ่งน้อย ทั้งนี้ นิยมใช้ขยายพันธุ์ในกรณีที่ต้องการลักษณะพันธุ์ให้คงไว้ และใช้เป็นต้นพ่อแม่พันธุ์สำหรับการเพาะเมล็ดพันธุ์ และวิธีที่นิยมที่สุดคือ การเสียบข้าง และการเสียบยอด ซึ่งจะขอกล่าวถึงการเสียบข้าง ตามขั้นตอน ดังนี้
1. เพาะเมล็ดเพื่อให้ได้ต้นตอ ขนาดใหญ่กว่าแท่งปากกา ปาดเปลือกลำต้นเป็นรูป ก หรือ ตัว U หัวกลับ
2. เลือกยอดพันธุ์ที่ต้องการ พร้อมตัดใบ และก้านออกให้หมด
3. ใช้มีดปาดโคนยอดทั้ง 2 ด้าน ซ้าย-ขวา เป็นรูปสามเหลี่ยมที่ให้ได้ขนาดพอเหมาะกับรอยกรีดบนต้นตอ ซึ่งจะต้องปาดให้เรียบ และสม่ำเสมอ
4. ง้างเปลือกให้อ้าออก จากนั้น นำโคนหยอดบริเวณที่ปาดเสียบเข้ารอยกรีดบนต้นตอให้ปิดรอยปาดได้พอเหมาะกัน
5. ใช้นิ้วกดเปลือกต้นตอให้แนบสนิทกับยอดที่เสียบ พร้อมใช้แผ่นพลาสติกพันรอบให้แน่น
6. หลังจากเสียบยอด 20-30 วัน หากกิ่งเสียบยังปลายกิ่งหรือลำกิ่งเขียวอยู่ ให้เปิดแผ่นพลาสติกออก พร้อมตัดปลายต้นตอออกครึ่งหนึ่ง
7. เมื่อกิ่งเสียบแตกยอดใหม่แล้ว 5-10 ใบ จึงตัดลำต้นที่เหลือของต้นตอทิ้ง โดยให้ตัดใกล้กับรอยเสียบให้มากที่สุด

การเสียบข้าง

การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
ไถพรวนแปลง พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด จากนั้น ขุดหลุมปลูกกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว 6-8 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ประมาณ 30-45 ต้น จากนั้น ตากหลุมทิ้งไว้นาน 5-7 วัน เมื่อตากหลุมจนแห้งแล้วให้นำปุ๋ยคอกโรยก้นหลุม ประมาณ 1 ถังเล็ก/หลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/หลุม ทั้งนี้ การเตรียมแปลง และขุดหลุม ควรทำในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อที่จะปลูกในต้นฤดูได้

ขั้นตอนการปลูก
กรีดถุงเพาะชำ และนำถุงออก ก่อนนำต้นพันธุ์วางลงหลุม พร้อมเกลี่ยหน้าดินลงกลบให้แน่น ทั้งนี้ ให้วางต้นพันธุ์ตั้งตรงขณะเกลี่ยดินกลบ หลังจากนั้น นำหลักไม้ไผ่เสียบไว้ด้านข้างลำต้นให้แน่น พร้อมรัดด้วยเชือกฟางหลวมๆบริเวณกลางต้นเข้ากับลำไม้ไผ่

ทั้งนี้ ในระยะ 1-2 ปีแรก ที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ยังไม่สูงหรือขยายพุ่มใหญ่นัก แนะนำให้ปลูกพืชอย่างอื่นแซมเพื่อสร้างรายได้ อาทิ แตงโม มันขี้หนู ข้าวฟ่าง ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นการควบคุมวัชพืชอื่นไม่ให้เติบโตได้ด้วย

การดูแลรักษา
1. การใส่ปุ๋ย
– หลังการปลูก 6 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยคอกรอบโคนต้น อัตรา 3-5 กำมือ/หลุม และใส่อีกครั้งหลังการปลูก 12 เดือนหรือ 1 ปี ทั้งนี้ ควรใส่ในช่วงต้นฤดูฝน และปลายฤดูฝน
– อายุมะม่วงหิมพานต์ยัง 1-2 ปี ให้ใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยคอกรอบโคนต้นทั้ง 2 ครั้ง ในอัตราปุ๋ยคอกเท่าเดิมหรือมากกว่า และปุ๋ยเคมีในอัตรา 1 กำมือ/ต้น โดยใช้ปุ๋ยสูตร12-24-12 ทั้งนี้ ควรใส่ปุ๋ยเคมีให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 20-30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันความเค็มของปุ๋ยที่อาจทำให้รากเสียหายได้
– อายุมะม่วงหิมพานต์ยัง 3-6 ปี ให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นในทุกๆ 3 ครั้ง/ปี ในอัตราที่เพิ่มขึ้น 2-4 เท่าตัว แต่เปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็นสูตร 15-15-15
– อายุมะม่วงหิมพานต์ยัง 6-7 ปี ขึ้นไป ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง/ปี และเพิ่มปริมาณปุ๋ยเป็น 5-8 เท่า ของปีที่ 1-2 และเปลี่ยนปุ๋ยเคมีเป็นสูตร 13-13-21

2. การให้น้ำ
มะม่วงหิมพานต์หลังจากการปลูกในช่วง 1 ปี แรก หากถึงช่วงฤดูแล้งที่ดินแห้งมาก ควรให้น้ำเป็นครั้งคราวเพื่อให้ต้นรอดได้ แต่หลังจาก 1 ปีไปแล้ว ต้นมะม่วงหิมพานต์จะสามารถทนแล้งได้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องให้น้ำก็ได้

3. การกำจัดวัชพืช
ในช่วง 1 ปีแรก หลังการปลูก ให้กำจัดวัชพืชอย่างน้อย 3 เดือน/ครั้ง ด้วยการใช้รถไถพรวนกลบวัชพืชหรือใช้จอบถากกำจัดวัชพืชบริเวณรอบลำต้น หรือใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกันก็ยิ่งได้ผลดี เมื่ออายุมะม่วงหิมพานต์เข้าในปีที่ 2 แล้ว จะไม่ค่อยเป็นห่วงนัก เพราะลำต้นสามารถตั้งตัวได้ดี ทนแล้งได้ดี และมีอัตราการเติบโตที่เร็วขึ้น จึงแข่งกีบวัชพืชได้ดี แต่ทั้งนี้ ควรไถพรวนกำจัดวัชพืชในทุกๆ 6 เดือน/ครั้ง จนกว่าต้นจะมีอายุ 3-4 ปี ค่อยลดลงเหลือเพียงปีละครั้งก็ได้

4. การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งจะเริ่มทำหลังจากต้นมีอายุแล้วประมาณ 2 ปี หรือหากต้นเติบโตเร็วก็อาจตัดแต่งกิ่งในช่วงปลายปีที่ 1 ทั้งนี้ การตัดแต่งกิ่ง ควรตัดกิ่งด้านล่างที่ยาวออกก่อน และให้ตัดกิ่งขนาดเล็กออก โดยเฉพาะกิ่งขนาดเล็กที่อยู่ชิดกับกิ่งขนาดใหญ่ รวมถึงกิ่งที่ติดโรคหรือกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมด

การเก็บผลผลิต และการเก็บรักษา
วิธีเก็บเกี่ยว
มะม่วงหิมพานต์จะเริ่มให้ผลผลิตครั้งแรกเมื่อมีอายุ 3-4 ปี ซึ่งจะเริ่มติดดอกในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และจะเก็บเมล็ดได้หลังจากนั้นประมาณ 2-2.5 เดือน คือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์จะเก็บได้มากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และควรเก็บเมล็ดจากผลที่ร่วงลงพื้น ไม่ควรเด็ดเก็บเมล็ดออกจากผลที่ยังห้อยบนต้น เพราะเมล็ดที่ยังห้อยอยู่กับผลมักจะเป็นเมล็ดอ่อนที่ยังไม่แห้ง หลังเก็บมาแล้วจะขึ้นรา และเมล็ดเหี่ยวลีบได้ง่าย

การเก็บรักษา
เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เก็บมาแล้ว ให้นำมาตากแดดนาน 2-3 วัน หรือนานกว่าหากแดดรำไร ทั้งนี้ เมล็ดที่แห้งดีแล้วจะมีความชื้นไม่เกิน 10% หลังจากนั้น เก็บบรรจุใส่ถุงรอการจำหน่ายหรือกะเทาะเมล็ดต่อไป

โรคพืช/ศัตรูพืช
โรค ได้แก่
– โรคกิ่งสีชมพู (Pink-disease)
– โรคโคนเน่าในต้นกล้า (seedling bright)
– โรคช่อดอกเหี่ยว (inflorescence blight)
– โรคผลเน่าและแห้ง (dry rot)
แมลงศัตรู ได้แก่
– เพลี้ยหอยขี้ผึ้งสีแดง (red wax scale)
– เพลี้ยแป้งลาย (striped mealybug)
– เพลี้ยกินใบ (leaf thrips)
– เพลี้ยไฟ (thrips)
– ด้วงเจาะลำต้น (stem borrer)
– ด้วงเจาะลำต้นมะม่วง (mango stem borrer)
– หนอนชอนใบ (cashew leaf miner)
– หนอนกินใบ (leaf-eating caterpillar)
– หนอนเจาะเปลือกลำต้น (bark borrer)
– หนอนบุ้งกินใบ (defoliating hairy caterpillar)
– หนอนปลอก (bagworm)
– หนอนกินยอด (shoot tip caterpillar)
– แมลงทับ (metalic wood borrer)
– มดดำ (black ant)
– ยุงชาหรือมวนยุง (tea mosquito)

วิธีสกัดกรดน้ำมันจากเปลือกมะม่วงหิมพานต์
1. การใช้เครื่องบีบอัด เช่น เครื่องบีบอัดด้วยไฮโดรลิก และเครื่องบีบอัดแบบเกลียวหมุน วิธีนี้ สามารถสกัดกรดน้ำมันได้ประมาณ 20% ความสะอาดประมาณ 85%
2. การสกัดด้วยความร้อน เช่น การย่าง และการใช้ไอน้ำ ที่อุณหภูมิประมาณ 250 ◦C ซึ่งสามารถสกัดกรดน้ำมันได้ประมาณ 85-90%
3. การสกัดด้วยตัวทำละลาย อาทิ เอทานอล และอะซิโตน เป็นต้น โดยขณะสกัดจะให้อุณหภูมิประมาณ 180-190 ◦C ซึ่งสามารถสกัดกรดน้ำมันได้ประมาณ 50%

เอกสารอ้างอิง
1) ระรินธร สายแสงทอง, 2557. การใช้น้ำมันเปลือกเมล็ดมะม่วงหิมพานต์-
เป็นสารลดแรงตึงผิวสำหรับดีโซฮอล์.