เก็กฮวย/เก๊กฮวย น้ำเก็กฮวย และสรรพคุณเก็กฮวย

Last Updated on 22 สิงหาคม 2016 by puechkaset

เก็กฮวย หรืออาจเขียนเป็น เก๊กฮวย (Chrysanthemum) เป็นชื่อเรียกพืชในกลุ่มของดอกเบญจมาศที่นิยมนำดอกแห้งมาต้มน้ำดื่ม หรือที่เรียกว่า น้ำเก็กฮวย ที่มีลักษณะสีเหลือง มีกลิ่นหอม ซึ่งจะผสมน้ำตาลเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสหวาน

เก็กฮวย/เก๊กฮวย มักใช้เรียกพืชในกลุ่มของดอกเบญจมาศ 2 ชนิด ที่นิยมนำมาทำน้ำเก็กฮวย คือ
1. เก๊กฮวยดอกขาว แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 เก๊กฮวยขาวดอกใหญ่
มีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้น ตรง แข็ง เป็นพุ่มใหญ่ ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม ก้านใบมีสีม่วงอมเขียว ดอกมีสีขาว ขนาดใหญ่ ขนาดประมาณ 4.7-5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5-6 ชั้น มีกลีบดอกประมาณ 90 กลีบ เมื่อนำมาตากแดด ดอกจะแห้งเร็ว
1.2 เก๊กฮวยขาวดอกเล็ก
มีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้นตรง เป็นพุ่มเล็ก ลำต้นค่อนข้างอ่อน ดอกมีขนาดประมาณ 4.5 เซนติเมตร เล็กกว่าพันธุ์แรก ส่วนกลีบดอกมีมากกว่าที่ 6-7 ชั้น มีจำนวนกลีบดอกประมาณ 120 กลีบ ส่วนสีดอกมีสีขาวอมสีเนื้อ ดอกเมื่อนำมาต้มจะให้กลิ่นหอมกว่าดอกใหญ่ แต่อาจมีรสขมปนเล็กน้อย

เก๊กฮวยขาว
ขอบคุณภาพจาก pantip.com

2. เก๊กฮวยดอกเหลือง มีลักษณะทั่วไป คือ หลีบดอกมีสีเหลือง และให้รสขมมากกว่าพันธุ์ดอกขาว

เก๊กฮวยเหลือง

เก๊กฮวย เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน มีพันธุ์เก๊กฮวยที่นิยมปลูก และนำมาต้มเป็นน้ำเก๊กฮวยมากที่สุด คือ เก๊กฮวยดอกขาว ที่ปลูกมากกว่าร้อยละ 90 ของเก๊กฮวยทั้งหมด โดยเฉพาะที่เมืองหังโจ ประเทศจีน ส่วนเก๊กฮวยสีเหลือง ไม่นิยมทำน้ำเก๊กฮวย เพราะน้ำให้รสขม แต่นิยมใช้เป็นยาสมุนไพรสำหรับแก้ร้อนใน

สำหรับดอกเก๊กฮวยที่ชาวยุโรปนิยมใช้ชงเป็นชาดื่มเหมือนกับเก๊กฮวยของชาวเอเชียจะเป็นดอกเก๊กฮวยที่อยู่ในวงศ์เดียวกันดาวเรืองหรือเก๊กฮวย คือ ดอกคาโมมายล์ (Chamaemelum nobile (L.) All. มีกลีบดอก 2 สี คือ สีขาว และสีเหลือง

การปลูกเก๊กฮวย
เก๊กฮวยในประเทศจีนจะใช้เวลาปลูกประมาณ 9 เดือน โดยเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤศจิกายน ซึ่งเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงที่ให้ดอก และเก็บดอกตากแห้ง

การปลูกเก๊กฮวยจะปลูกได้หลายวิธี ได้แก่ การหว่านเมล็ด ซึ่งเกษตรกรจะแบ่งแปลงเก๊กฮวยที่ปล่อยให้ดอกติดเมล็ดไว้สำหรับทำเมล็ดพันธุ์ ส่วนวิธีอื่นๆ ได้แก่ การใช้ตอเดิมให้แตกยอดใหม่ และการโน้มกิ่งทับดิน

การเก็บดอกเก๊กฮวย
การเก็บดอกเก๊กฮวยจะต้องให้ดอกบานเต็มที่เสียก่อน และจะเก็บในช่วงเช้าที่ไม่มีน้ำค้างติดดอกหรือให้น้ำค้างระเหยให้หมดจากดอกก่อน ซึ่งจะเป็นช่วงสายหรือช่วงบ่ายก็ได้

การทำให้แห้ง
หลังจากเก็บดอกเก๊กฮวยมาแล้ว เกษตรกรจะนำดอกมาผึ่งไว้ในร่มประมาณ 1 วัน ไม่ควรมากกว่านี้ เพราะจะทำให้สีดอกเก๊กฮวยซีดจางลง หลังจากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการทำแห้ง 2 กระบวนการ คือ
1. การนึ่ง
หลังจากที่ผึ่งดอกเก๊กฮวยแล้ว 1 วัน จึงนำดอกเก๊กฮวยมานึ่งไอน้ำ ด้วยการใส่ดอกเก๊กฮวยไม่ให้แน่นเกินไป และควรหงายดอกขึ้น นำไปนึ่งที่น้ำเดือด นาน 4-5 นาที ทั้งนี้ พึงระวังอย่าให้น้ำร้อนสัมผัสกับดอกเก๊กฮวย เพราะจะทำให้สีดอกเก๊กฮวยเปลี่ยน สีไม่สวย
2. การทำให้หรือไล่ความชื้นออก
ขั้นตอนนี้ทำได้ 2 วิธี คือ การตากแดด และการอบแห้ง หากเป็นการตากแดดจะทำเมื่อมีแดดออก ด้วยการนำดอกเก๊กฮวยที่นึ่งแล้วมาเทลงถาดหรือเสื่อ พร้อมเกลี่ยเบาๆให้ดอกกระจายกันดี ซึ่งจะตากแดดจนให้นาน 5-7 วัน

ส่วนการอบแห้งจะเป็นวิธีที่ในช่วงนั้นไม่ค่อยมีแดดหรือตามสะดวกของผู้ทำ ซึ่งมักใช้วิธีแบบพื้นบ้าน คือ นำดอกเก๊กฮวยที่นึ่งแล้วมาเทเกลี่ยบนตะแกรงไม้ไผ่ที่วางไว้ด้านบนเหนือเตาถ่านที่ก่อไฟจนถ่านไหม้แดงแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาการอบนาน 4-6 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ พึงระวัง ห้ามนำดอกเก๊กฮวยลงอบในขณะที่เตาถ่านมีควัน เพราะจะทำให้มีกลิ่นควันติดดอกเก๊กฮวยได้

สาระสำคัญที่พบ
– ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)
– ไครแซนทีมิน (Chrysanthemin)
– อดีนีน (Adenine)
– สตาไคดวีน (Stachydrine)
– โคลีน (Choline)
– น้ำมันหอมระเหย (Essential oils)

ประโยชน์เก๊กฮวย
1. ดอกเก๊กฮวยแห้งนิยมใช้ต้มหรือชงเป็นชาดื่ม น้ำเก๊กฮวยจะมีสีเหลืองอ่อน และให้กลิ่นหอมน่าดื่ม น้ำ ซึ่งอาจใช้ทั้งดอกเก๊กฮวยแห้งหรือผงดอกเก๊กฮวย
2. ใช้เป็นส่วนผสมของยาสมุนไพร คือ เก๊กฮวยสีเหลือง ซึ่งให้รสขม
3. ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์
4. ลำต้นเก๊กฮวย ใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน
5. ลำต้น และใบเก๊กฮวยที่เก็บดอกแล้ว ทำการไถกลบสำหรับเป็นปุ๋ยพืชสดหรือนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก

สรรพคุณเก๊กฮวย
– ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
– ช่วยรักษาโรคเลือดในสมอง
– ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
– ช่วยรักความดันเลือดให้เป็นปกติ
– ช่วยลดไข้ แก้อาการเป็นหวัด
– แก้อาการร้อนใน
– แก้อาการปวดศรีษะ ลดอาการไมเกรน
– ใช้เป็นยาระงับประสาท
– ช่วยให้นอนหลับง่าย
– ช่วยลดอาการเครียด ลดจิตฟุ้งซ่าน ทำให้มีสมาธิมากขึ้น
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยในการย่อยอาหาร
– ช่วยแก้ท้องอืด และช่วยขับลม
– ช่วยป้องกันโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะมะเร็งในระบบทางเดินอาหารต่างๆ
– ช่วยบำรุงไต ช่วยในการทำงานของไต
– ช่วยบำรุงสายตา ทำให้มองเห็นได้ดีในที่มืด
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผิวสดใส แลดูอ่อนวัย
– ใช้ป้องกัน และรักษาโรครูมาติซัม
– ช่วยขับเหงื่อ
– ช่วยดับกระหาย แก้อาการคอแห้ง

เพิ่มเติมจาก 1 )

น้ำเก๊กฮวย
น้ำเก๊กฮวย หมายถึง น้ำต้มดอกเก๊กฮวยหรือน้ำที่ได้จาการชงผงดอกเก๊กฮวยที่มีลักษณะเป็นสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม

น้ำเก๊กฮวย

เอกสารอ้างอิง
1 ) แจ่มจันทร์ วรรณภีร์ , 2530. การศึกษาคุณภาพกลิ่นและรสของน้ำเก๊กฮวย.