Last Updated on 25 ธันวาคม 2016 by puechkaset
ผักแขยง หรือบางครั้งเรียก ผักกะออม จัดเป็นพืชผักพื้นบ้านที่พบมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยเฉพาะตามแปลงนาหรือที่น้ำขังต่างๆ ซึ่งนิยมใช้ประกอบอาหารหรือรับประทานสด เพราะเป็นผักที่ให้รสเผ็ด และกลิ่นหอมฉุน สามารถดับกลิ่นคาวปลาได้ดี
• วงศ์ : Scrophulariaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnophila aromatica (Lam.) Merr.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และอีสาน
– ผักแขยง
– ผักกะแยง
– คะแยง
– ผักกะออม
– มะออม
– ผักลืมผัว
– ควันเข้าตา
– อีผวยผาย
ภาคเหนือ
– ผักกะแยง
– ผักพา
ชาวจีน
– จุ้ยหู่โย้ง
– สุ่ยฝูโหยง
ความแตกต่างของผักแขยง และกะออม
ผักในวงศ์ Scrophulariaceae หรือที่มักเรียกร่วมกันว่า ผักแขยง และผักกะออม รวมถึงชื่ออื่นๆ ซึ่งพืชในวงศ์นี้ที่พบในไทยมีประมาณ 20 ชนิด แต่ชนิดที่พบมาก และนิยมนำมารับประทาน และใช้ประโยชน์มาก คือ ผักแขยง และผักกะออม ซึ่งมักเรียกทั้ง 2 ชนิด เป็นชื่อเดียวกัน ๘นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น แต่ในที่นี้ จะขอใช้ชื่อที่นิยมเรียกมากเป็นชื่อเฉพาะเพื่อให้เกิดความแตกต่าง และชัดเจนในการจำแนก คือ
1. ผักแขยง (นิยมเรียกมากในอีสาน) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Limnophila aromatica (Lam.) Merr. พบมากตามท้องนาในภาคอีสาน ชอบเติบโตในที่น้ำขัง ลำต้นอวบน้ำ สีเขียวอ่อน ดอกมีสีม่วงอ่อน ดอกแก่ม่วงเข้ม นอกจากนั้น ยังพบชนิดผักแขยงที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ลำต้นมีสีแดงอมม่วง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคนละชนิดกัน แต่พบมากเช่นกัน
2. ผักกะออม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Limnophila geoffrayi Bonati. R พบมากในภาคตะวันออก อีสาน และเหนือ แตกต่างจากผักแขยง คือ ขอบใบไม่โค้งเข้ากลางใบ ดอกมีสีม่วงเข้มกว่า และชอบเติบโตในที่ชื้นบนบก ไม่ชอบพื้นที่น้ำขัง
1. ผักแขยง (Limnophila aromatica (Lam.) Merr.)
ผักแขยงชนิดนี้พบมากในภาคอีสาน พบเติบโตเฉพาะในช่วงฤดูฝนหรือหลังทำนาเสร็จ เติบโตในแปลงนาที่มีน้ำขัง ทั้งนี้แปลงนาที่น้ำขังมาก และขังเล็กน้อย แต่จะไม่พบเติบโตหากแปลงนาไม่มีน้ำหรือดินแห้งมาก ทั้งนี้ เมื่อถึงช่วงเกี่ยวข้าว ผักแขยงจะออกดอก และติดผล ซึ่งต้นจะเริ่มแห้งตาย และเมล็ดร่วงในปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แต่ปัจจุบันพบการแพร่กระจายน้อยลง อาจเนื่องมาจากการใช้รถเกี่ยวข้าวที่ทำลายต้นผักแขยงทำให้ตายก่อนที่ลำต้นจะติดผล และเมล็ดร่วง ซึ่งสมัยอดีตจะพบแพร่กระจายมากในช่วงทำนา เพราะเกษตรกรจะเกี่ยวข้าวด้วยมือ ทำให้ต้นผักแขยงส่วนมากไม่ถูกทำลายจนเหลือเติบโตจนถึงผลแก่ และเมล็ดร่วงได้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นผักแขยง เป็นพืชล้มลุกปีเดียว ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ รูปทรงลำต้นทรงกลม และตั้งตรง สูงประมาณ 20-35 เซนติเมตร ผิวลำต้นมีสีเขียวอ่อน และมีขนปกคลุม ส่วนด้านในลำต้นกลวงเป็นรูอากาศ ส่วนลำต้นนี้มีกลิ่นฉุนแรง และให้รสเผ็ด
ใบ
ใบผักแขยง ใบเป็นใบเดี่ยวเป็นคู่ๆตรงข้ามกันบนลำต้น ซึ่งจะออกสลับข้างเรียงกันเป็นชั้นๆ มีโคนใบติดกับลำต้น ซึ่งไม่มีก้านใบ โดยใบจะมีลักษณะรูปหอก โคนใบกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบมีสีเขียว มีต่อมขนาดเล็ก และมีขนปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ส่วนขอบใบจะมีลักษณะหยักเป็นฟันเลื่อย และขอบใบโค้งเข้าหากลางใบ ขนาดใบกว้าง 1-2 เซนติเมตร และยาว 2-5 เซนติเมตร
ดอก
ดอกผักแขยง แทงออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด แต่ละช่อมีดอก 2-10 ดอก แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายกลีบเลี้ยงแยกแหลมเป็นแฉก ส่วนกลีบดอกมีโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวยยาว สีขาวอมเหลือง และมีขนปกคลุม โดยบางชนิดจะมีกรวยสีแดงม่วง ส่วนปลายกลีบกางออกเป็นแฉก 5 แฉก หรือ 5 กลีบ สีกลีบดอกมีสีม่วงอ่อน และบางชนิดมีสีม่วงเข้ม ปลายกลีบมน ยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร ทั้งนี้ ปลายกลีบจะโค้งขึ้นเล็กน้อยทำให้แลดูเป็นรูปถ้วย ถัดมาด้านในมีเกสรตัวผู้ 4 อัน มีก้านเกสรสีขาว โดยส่วนปลายเกสรมีลักษณะนูนยาว ถัดมาตรงกลางด้านล่างเป็นรังไข่ ที่มีสีเขียวอ่อน
ผล
ผลผักแขยง มีลักษณะรียาว ปลายผลเรียวแหลม ขนาดผลยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีน้ำตาล และเมื่อแก่เต็มที่ ผลจะปริแตกแยกออกเป็น 4 แฉก โดยด้านในมีเมล็ดสีน้ำตาลอมดำขนาดเล็กจำนวนมาก
2. ผักกะออม (Limnophila geoffrayi Bonati. R)
ผักกะออมมีลำต้นคล้ายกับผักแขยง ลำต้นมีความสูงใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกันมากที่ลำต้นผักกะออมมีสีแดงอมม่วง และเรียวเล็กกว่าผักแขยง
ส่วนใบมีลักษณะแตกต่างจากผักแขยงมาก คือ แผ่นใบกางแผ่ ไม้โค้งงอเข้ากลางใบ โคนใบสอบแคบ ขณะที่ผักแขยงมีโคนใบกว้าง และแผ่นใบผักกะออมมีสีแดง รวมถึงผักกะออมมีขอบใบที่หยักน้อยกว่าผักแขยง
ส่วนดอกมีลักษณะเป็นกรวยคล้ายกัน แต่กรวยของโคนกลีบของผักกะออมมีสีแดงอมม่วง และกลีบดอกมี 4 กลีบ แต่ผักแขยงมี 5 กลีบ รวมถึงกลีบดอกผักกะออมมีสีม่วงเข้มกว่ามาก และจำนวนช่อดอก และดอกย่อยมีมากกว่าผักแขยง
ส่วนการเติบโต จะพบว่า ผักกะออมจะชอบเติบโตในที่ชื้น ไม่ชอบน้ำขังเหมือนกับผักแขยง
ที่มา : 7)
ประโยชน์ผักแขยง
1. ส่วนของลำต้น และใบที่เป็นยอดหรือลำต้นอ่อน นิยมนำมาประกอบอาหาร อาทิ ใส่แกงปลา แกงลียง ต้มแสบ รวมถึงใช้รับประทานเป็นผักกับอาหารจำพวกลาบ ซุปหน่อไม้ ส้มตำ และน้ำพริก ซึ่งเป็นที่นิยมมากในชาวอีสาน และชาวเหนือ เนื่องจาก ผักชนิดนี้ให้กลิ่นหอมฉุน และสามารถดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ต่างๆได้ดีมาก แต่บางคนก็ไม่นิยมรับประทาน เพราะรู้สึกว่ามีกลิ่นฉุนแรงมาก
2. เกษตรกรบางราย โดยเฉพาะผู้ที่ปลูกพืชผัก และไม่ผล มีการประยุกต์นำต้นผักแขยงมาต้มน้ำร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ อาทิ สะเดา ก่อนใช้ฉีดพ่นแปลงผักหรือสวนผลไม้เพื่อป้องกันหนอนหรือแมลง
3. ผักแขยง หรือบางท้องถิ่นเรียก ผักลืมผัว ซึ่งจะเป็นคนละชนิดกับผักลืมผัวอีกชนิด ซึ่งมีความเชื่อที่ว่า สามีที่รับประทานผักแขยงก่อนนอนจะช่วยป้องกันไม่ให้ผีแม่ม่ายมาเอาไปขณะนอนหลับ หรือที่เรียกว่า โรคไหลตาย
คุณค่าทางโภชนาการผักแขยง (100 กรัม)
– พลังงาน : 32 กิโลแคลอรี
– เส้นใย : 1.5 กรัม
– แคลเซียม : 55 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 62 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 5.2 มิลลิกรัม
– วิตามิน A : 5,862 ยูนิต
– วิตามิน B1 : 0.02 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 : 0.87 มิลลิกรัม
– ไนอาซิน : 0.6 มิลลิกรัม
– วิตามิน C : 5 มิลลิกรัม
ที่มา : 1)
ขอบคุณภาพจาก www.bloggang.com
สารสำคัญที่พบ
ผักแขยงทั้งต้น และใบ พบน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.64% โดยในใบจะพบน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.1% ได้แก่ Limonene และ Perillaldehyde ที่ออกฤทธิ์ในต้านเชื้อแบคทีเรีย
ส่วนการศึกษาเพื่อหาส่วนประกอบทางเคมีจากผักแขยงของ ณ จันทร์คำ และจินตนาในปี 2554 พบสาระสำคัญ 4 ชนิด คือ
– Stigmasterol
– β-sitosterol
– Nevanensin
– Isothymusin
นอกจากนั้น ยังพบสารชนิดอื่นๆ ได้แก่ สารในพืช ปริมาณน้ำมันหอมระเหยสกัดได้จากพืชชนิดนี้มี
ประมาณ 0.13% มีสารสำคัญ อันได้แก่ นอกจากนี้ยังมีสารในกลุ่ม
Flavonoids
– Nevedensin
– Salvigenin
Phenolics
– Caffeic acid
– Chlorogenic acid
ที่มา : 2), 3), 4), 5)
ฤทธิ์ทางเภสัชกรรมของน้ำมันหอมระเหยในผักแขยง
– ฆ่าเชื้อโรค ต้านเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย
– ออกฤทธิ์ระงับประสาท
– ช่วยลดการอักเสบ
– ช่วยขยายหลอดเลือด
– กระตุ้นระบบประสาท
– เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
สรรพคุณผักแขยง
1. การรับประทาน หรือ การดื่มน้ำต้ม
ส่วนที่นิยมนำมารับประทานหรือใช้ทำสมุนไพรด้วยการรับประทานหรือต้มน้ำดื่ม คือ ลำต้นอ่อน และยอดอ่อนที่รวมถึงใบด้วย เมื่อรับประทานจะรู้สึกเผ็ดร้อน และให้กลิ่นหอมฉุนมาก ซึ่งมีสรรพคุณ ดังนี้
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันเส้นเลือดอุดตัน
– ป้องกันโรคหลอดเลือดในสมอง
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยลดความอ้วน
– แก้ไข้ ช่วยลดอาการร้อนใน
– แก้ไขมาลาเรีย แก้ไข้รากสาด
– กระตุ้นภูมิต้านทาน
– บรรเทาอาการไอ ช่วยให้ชุ่มคอ
– ช่วยดับกลิ่นปาก กำจัดแบคทีเรียในช่องปาก
– แก้อาการปวดฟัน
– ช่วยเป็นยาขับน้ำนม และช่วยให้สตรีหลังคลอดฟื้นตัวได้เร็ว แต่มีบางรายงานกล่าวว่า อาจทำให้สตรีหลังคลอดเกิดอาการแพ้หรือเกิดอาการสำแดงได้
– ช่วยให้ผ่อนคลาย
– แก้อาการท้องเสีย แก้อาหารเป็นพิษ
– ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ
– ช่วยในการขับลม
2. การใช้เป็นยาภายนอก
– แก้อาการคันจากหญ้า หรืออาการคันผื่นแพ้ ด้วยการนำต้นผักแขยง 10-15 ต้น มาต้มน้ำประมาณ 10 ลิตร หรือ 2 ถังเล็ก ก่อนใช้อาบ หรือ นำต้นสดประมาณ 2-3 ต้น มาขยำหรือตำบด และทาบริเวณที่เกิดอาการคัน หรือผื่นแดง
– รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน และอาการคันจากเชื้อด้วยการต้มผักแขยงในข้างต้น ก่อนใช้อาบติดต่อกัน 3-5 วัน ในทุกๆ 1-2 ครั้ง/เดือน
– ใช้แก้พิษงู หรือแมลงกัดต่อย โดยนำต้นสด 1-2 ต้น มาตำบดผสมกับฟ้าทะลายโจร 1 ต้น หลังจากนั้น เติมน้ำส้มสายชูเล็กน้อย ก่อนนำเอาพอกบริเวณรอบแผล
– ลำต้นมาขยำ ก่อนใช้ประคบเพื่อลดอาการบวมซ้ำ
– ลำต้น และใบสด นำมาขยำดม ใช้แก้อาการวิงเวียนศรีษะ
เพิ่มเติมจาก : 4) และ 6)
การใช้ประโยชน์
เกษตรหรือชาวนามักหาเก็บผักแขยงในช่วงฤดูทำนา ซึ่งจะเติบโตในแปลงนาที่มีน้ำขัง โดยการใช้มือถอนทั้งต้น หรือเด็ดเฉพาะส่วนยอดอ่อน หลังจากนั้น นำมาแช่น้ำสักพัก และล้างออกให้สะอาด ไม่ให้มีดินปนเปื้อนก่อนนำมารับประทานหรือใช้ประโยชน์ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. การปรุงเป็นอาหารหรือรับประทานเป็นผักสด ในหลายเมนูที่ชาวอีสานหรือภาคอื่นๆนิยมทำ ได้แก่
• การปรุงเป็นอาหาร
– แกงเลียง
– แกงอ่อม
– แกงหน่อไม้
– ต้มแสบปลาหรือเนื้อ
– ห่อหมกปลา กบ
• การรับประทานคู่กับอาหาร
– ส้มตำ
– ป่น แจ่ว หรือ น้ำพริก
– ซุบหน่อไม้
– ลาบ
2. การใช้เป็นยาสมุนไพร
การใช้เป็นยาสมุนไพร อาจอยู่ทั้งในรูปของการรับประทานเป็นอาหาร และต้มน้ำดื่ม รวมถึงการใช้เป็นยาภายนอก ซึ่งกล่าวไว้ในหัวข้อสรรพคุณข้างต้น
ข้อควรระวังผักแขยง
– สตรีมีครรภ์หรือหลังคลอดบุตรบางรายอาจเกิดอาการแพ้ได้
ข้อเสียของผักแขยง
ผักแขยงจัดเป็นพรรณไม้น้ำชนิดชายน้ำที่ชาวนาถือเป็นวัชพืชในนาข้าว เนื่องจากผักชนิดนี้จะเติบโตได้ดีในแปลงนาที่มีน้ำขัง โดยเฉพาะหลังการทำนา ซึ่งจะคอยแย่งอาหาร และบดบังแสง ทำให้ต้นข้าวเติบโตได้ช้าลง ผลิตข้าวต่ำลง ทั้งนี้ เกษตรกรมักกำจัดด้วยการใช้มือถอนทั้งต้นทิ้งตากแดดตามคันนา เพราะผักแขยงสามารถถอนด้วยมือได้ง่าย
การปลูกผักแขยง
ผักแขยงตามธรรมชาติเติบแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก ซึ่งจะหารับประทานได้เพียงฤดูฝนเท่านั้น ดังนั้น หากต้องการเพาะขยายพันธุ์จึงนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ดเป็นหลัก ซึ่งสามารถเก็บเมล็ดแก่ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม หลังจากนั้น ค่อยนำเมล็ดมาหว่านลงแปลงที่มีน้ำขังเล็กน้อยในช่วงฤดูฝนของปีถัดมา
นอกจากนั้น การขยายพันธุ์ยังทำได้ด้วยวิธีปักชำลำต้น แต่จะใช้เฉพาะการนำต้นมาปลูกตามบ้าน แต่ทั่วไปแล้ว หากต้องการนำต้นมาปลูกตามบ้านหรือกระถางจะสามารถถอนต้นอ่อนจากแปลงนามาปลูกได้เลย ไม่จำเป็นต้องตัดต้นมาปักชำ
เอกสารอ้างอิง