Last Updated on 21 กรกฎาคม 2023 by puechkaset
ผักอีนูน หรือ ผักสาบ เป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปหรือแหล่งกำเนิดดั่งเดิมตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง โดยจะผลัดใบในฤดูแล้ง จากนั้นจะแตกใบอ่อน และออกดอกติดผล ซึ่งช่วงนี้ชาวบ้านจะเข้าไปเก็บมาขาย หรือ เพื่อประกอบอาหาร ทั้งใบอ่อน ดอก และผลอ่อน เป็นที่นิยมรับประทานมาก เพราะมีความนุ่ม ให้รสหวานมัน อมขมนิดๆติดลิ้น ซึ่งเป็นรสของผักป่าที่หารับประทานได้ยาก ไม่เหมือนรสของผักทั่วๆไป
อนุกรมวิธาน
Division (ดิวิชัน) : Magnoliophyta
Class (ชั้น) : Magnoliopsida
Order (อันดับ) : Malpighiales
Family (วงศ์) : Passifloraceae (วงศ์เดียวกับ เสาวรส หรือ กะทกรก)
Genus (สกุล) : Adeniia
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adenia viridiflora Craib
ชื่อท้องถิ่น :
กลาง และทั่วไป
– ผักอีนูน
เหนือ
– ผักสาบ
– ผักอีนูน
อีสาน
– ผักสาบ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
รากผักอีนูนประกอบด้วยรากแก้ว และรากฝอย เลื้อยลึกประมาณ 10-20 เซนติเมตร
ลำต้นผักสาบ หรือ ผักอีนูน มีลักษณะเป็นเถาเลื้อย เลื้อยเกาะตามต้นไม้อื่นๆ เถามีลักษณะกลม ผิวเรียบ สีเขียวเข้ม เถาแก่มีสีน้ำตาล เปลือกผิวขุขระ
ใบ
ใบผักอีนูนเป็นใบเดี่ยว เรียงเยื้องสลับกัน มีมือจับเป็นเส้นสีเขียวขนาดเล็กที่ซอกใบ ก้านใบสั้นและมีหูใบ 1 คู่ แผ่นใบเรียบ และบาง สีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ฐานใบกว้าง และเว้าตรงกลาง ปลายใบแหลมที่ส่วนปลาย คล้ายรูปหัวใจ เส้นกลางใบใหญ่ เส้นแขนงใบแยกออกเป็นเส้นเล็ก ๆ 10-12 เส้น
ดอก
ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อดอกแตกออกเป็นช่อดอกย่อย ตามข้อเป็นกลุ่มตามซอกใบแบบซี่ มีก้านดอกยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร พบดอกเพศผู้จำนวน 5-15 ดอก ดอกเพศเมีย 1-3 ดอก ตัวดอกมีกลีบดอกสีเขียวที่โคนดอกและออกเหลืองที่ปลายดอก ขนาดดอกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ มีกลีบดอกจำนวน 4-5 กลีบ ภายในดอกมีเกสรเพศผู้ 4-5 อัน จัดเรียงกันเป็นวง แยกไม่ติดกัน เกสรตัวเมียมีสีเหลืองอ่อน มีก้านเกสรยาว 1 เซนติเมตร
ผล
ผลมีลักษณะเป็นทรงกลม คล้ายผลมะนาว ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลแก่มีสีเขียวเข้ม ผลสุกมีสีเหลือง และแดงตามลำดับ และแก่จัดมีสีดำ ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ หลายเมล็ด ภายในแบ่งเป็น 3 ช่องรังไข่ แต่ละช่องรังไข่มีเมล็ดอยู่ภายใน 5-20 เมล็ด เมล็ดสีเทา กว้าง 0.5 ยาว 0.8 หนา 0.2 เซนติเมตร
ที่มา : [1]
สรรพคุณ
ส่วนที่รับประทาน อาทิ ใบ ยอดอ่อน ดอก และผล มีรสหวาน อมขมเล็กน้อย
– แก้ไข้
– การแก้ท้องเสีย
– บำรุงตับ
– บำรุงเลือดหลังคลอด
– รสขมช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร
– บำรุงเลือดหลังคลอด
– แก้ปัสสาวะเป็นหนอง
สาร ferulic acid และ sinapic acid ในปริมาณมาก โดยสาร ferulic acid ออกฤทธิ์ในหลายด้าน ได้แก่
– ลดน้ำตาลในเลือด
– กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน
– กระตุ้นการอักเสบ
– ต้านโรคเบาหวาน
– สร้างสมดุลเมื่อเข้าสู่สภาวะการหมดประจำเดือน
– แก้ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
ส่วน sinapic acid คุณสมบัติในหลายด้าน ได้แก่
– การรักษาโรคนิ่วไต
– ความสามารถในการต้านการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
– ต้านการอักเสบ
– ความสามารถในการต้านมะเร็ง (anticancer)
– ยับยั้งการกลายพันธุ์ (antimutagenic)
ราก หรือ เครือนำมาต้มน้ำหรือฝนบดน้ำดื่ม
– ราก นำมาต้มน้ำหรือฝนบดน้ำดื่ม
– แก้ปัสสาวะเป็นหนอง
– แก้ไข้
– บำรุงตับ
– ช่วยเจริญอาหาร
ที่มา : [1], [2]
การใช้ประโยชน์
1. ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ใช้รับประทานสด หรือ ลวก จิ้มน้ำพริกกินคู่กับข้าวอื่นๆ
2. ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อนใช้ประกอบอาหารเมนูแกง อาทิ แกงอ่อม แกงเลียง แกงเปอะ และอื่นๆ
3. ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน ใช้ทำเมนูผัดผัก ผัดใส่ไข่
4. ใบอ่อน ยอดอ่อน ดอก และผลอ่อน นำมาดองเป็นผักดองรับประทานคู่กับกับข้าวเมนูอื่นๆ
5. ราก และเถา นำมาต้มน้ำหรือบดใช้ดื่มหรับรับประทานเป็นยาสมุนไพร
การปลูก และขยายพันธุ์ผักอีนูน
การขยายพันธุ์ผักอีนูนสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชา แต่พบว่า การเพาะด้วยเมล็ดจะมีอัตราการงอกต่ำจึงไม่นิยม โดยวิธีที่นิยมที่สุด คือ การปักชำ รองลงมา คือ การตอนกิ่ง
ขอบคุณภาพจาก
https://www.facebook.com/hashtag/ผักอีนูน/
ปัจจุบัน พบการปลูกเพื่อการรับประทานภายในครัวเรือนมากขึ้น เพราะให้รสอร่อยมากกว่าผักทั่วไป รวมถึงพบมีการปลูกเพื่อการค้าในหลายพื้นที่ สร้างรายได้หลักหมื่น-แสน ต่อเดือนเลยทีเดียว
เอกสารอ้างอิง
[1] ฉัตรติยา ติวา. 2563. การอนุรักษ์ผักอีนูน (Adenia viridioflora Craib) โดยใช้เทคนิค
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และการวิเคราะห์ลายพิมพ์ DNAโดยใช้เทคนิค AFLP.
[2] เรณู ขาเลิศ และคณะ. 2559. รายงานการวิจัย เรื่อง การปลูกเลี้ยง เก็บเกี่ยว
การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว พฤกษเคมี และการพัฒนาเพิ่มมูลค่าผักอีนูน
เพื่อเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (ระยะที่ 1).