Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ผักหวานบ้าน (Star gooseberry) จัดเป็นผักพื้นบ้านไทยนิยมนำใบอ่อน และยอดอ่อนมารับประทานสด และใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะสำหรับเป็นผักจิ้มน้ำพริก และอาหารที่มีรสเผ็ด หรือใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู เนื่องจากใบมีความกรอบ และมีรสหวาน
• วงศ์ : Euphorbiaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sauropus androgynus (L.) Merr.
• ชื่อสามัญ : Star gooseberry
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ผักหวานบ้าน
ภาคอีสาน
– ผักหวานบ้าน
ภาคเหนือ
– ผักหวานก้านตง
– จ๊าผักหวาน
– ใต้ใบใหญ่
– โถหลุ่ยกะนีเต๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ภาคใต้
– มะยมป่า (ประจวบคีรีขันธ์)
– ผักหวานใต้ใบ (สตูล),
– นานาเซียม (มลายู-สตูล)
• จีน และมาเลเซีย : นานาเซียม
ที่มา : [1] อ้างถึงใน ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพทางการเกษตร (2551), [2], [12]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ผักหวานบ้าน เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 0.1-4 เมตร ลำต้นกลม และตั้งตรง ลำต้นแตกกิ่งแขนงตั้งแต่ระดับล่าง และแตกกิ่งแขนงมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ โคนลำต้นมีลักษณะเนื้อไม้แข็ง เปลือกโคนลำต้นมีสีน้ำตาล ปลายลำต้นมีเปลือกสีเขียว ส่วนกิ่งมีเปลือกสีเขียว เป็นเนื้อไม้อ่อนเปราะหักง่าย และกิ่งบางกิ่งในระยะแรกที่เติบโตงอกงามมักโค้งลงต่ำ แต่เมื่อกิ่งมีอายุมากขึ้นจะค่อยๆตั้งตรงมากขึ้น และหากตัดแต่งกิ่งหรือตัดลำต้น เมื่อทิ้งไว้สัก 1 อาทิตย์ จะแทงยอด และกิ่งใหม่แทนได้
ใบ
ผักหวานบ้าน เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ประเภทใบกระกอบแบบขนนกชนิดใบเดี่ยว (มีใบเดียวที่ก้านปลายใบหลัก) แตกออกจากลำต้น และกิ่งในลักษณะเวียนสลับกัน ประกอบด้วยก้านใบหลัก สีเขียว ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร บนก้านใบหลักมีใบย่อยเรียงเยื้องสลับกัน
ใบย่อยแต่ละใบมีก้านใบขนาดเล็ก และสั้น ยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร มีหูใบรูปสามเหลี่ยมที่โคนก้านใบ แต่ละใบรูปไข่หรือรูปไข่รียาว โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบบางกรอบ แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม และมีไขเคลือบที่ผิวใบ แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่า ส่วนเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นไม่ชัดเจน แต่เส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบด้านล่างมีลักษณะนูนเด่น มองเห็นได้ชัด
ดอก
ดอกผักหวานบ้านออกเป็นช่อกระจุกบริเวณซอกใบย่อย เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศหรือดอกแยกเพศบนต้นเดียวกัน ตัวดอกมีลักษณะคล้ายจานหรือร่ม เมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 5-12 มิลลิเมตร มีก้านดอกสั้น ประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ตัวดอกไม่มีกลีบเลี้ยง มีกลีบดอกจำนวน 6 กลีบ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น กลีบชั้นใน จำนวน 3 กลีบ กลีบชั้นนอก จำนวน 3 กลีบ แผ่นกลีบมีรูประฆัง สีแดง โคนกลีบสอบแคบ กลางกลีบ และปลายกลีบกว้าง และมีติ่งแหลมที่ปลายกลีบตรงกลาง ในดอกตัวผู้จะมีเกสรตัวผู้ 3 อัน ส่วนดอกตัวเมียมีรังไข่ตรงกลาง ทั้งนี้ ดอกจะออกในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน
ผล
ผลผักหวานบ้านติดเป็นผลเดี่ยวหรือมากกว่า 1 ผล ผลห้อยลงด้านล่างใต้ก้านใบหลักหรือใต้ใบย่อย ผลมีลักษณะกลม และแป้นเล็กน้อย คล้ายผลมะยม แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนาดผลกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ที่ขั้วผลจะมีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ และท้ายผลด้านล่างมีติ่งสีแดงขนาดเล็ก จำนวน 3 ติ่ง เปลือกผลเรียบ และหนา และแบ่งเป็นร่องพูเล็กๆพอมองเห็น จำนวน 3 ร่องพูใหญ่ แต่มี 6 ร่องเมื่อปริแตก ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ผลสุกหรือแก่จัดมีสีขาวอมชมพู และปริแตกออกเป็นส่วนๆตามร่องพู
ภายในผลมีเมล็ดเรียงล้อมแกนผล จำนวน 6 เมล็ด แทรกอยู่ในแต่ละร่องพู แต่เมล็ดมีลักษณะรูปครึ่งวงกลม กว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ขอบเมล็ดด้านนอกกว้าง และยาว มีสีดำ แข็ง และหนา ขอบเมล็ดด้านในสอบแคบลงเป็นครึ่งวงกลม และมีสีขาว
ประโยชน์ผักหวานบ้าน
1. ใบอ่อน และยอดอ่อนของผักหวานบ้าน นิยมรับประทานสดคู่กับกับข้าวที่มีรสเผ็ด อาทิ น้ำพริก ลาบ และซุปหน่อไม้ เป็นต้น เนื่องจากใบอ่อน และยอดอ่อนมีความกรอบ ให้รสหวาน นอกจากนั้น ยังใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ แกงอ่อม แกงเลียง และแกงจืด เป็นต้น แต่หากทำสุกความหวานจะลดลง ไม่สู้รับประทานสด อีกทั้ง ยังมีกลิ่นเหม็นเขียวเล็กน้อย
2. ในประเทศฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เชื่อว่าใบ และยอดผักหวานบ้าน สามารถช่วยกระตุ้นการเพิ่ม และการหลั่งน้ำนมได้ จึงนิยมใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะโคนม เพื่อให้มีน้ำนมเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ผักหวานบ้านสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไปได้ โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ และแกะ
การศึกษาใช้ผักหวานบ้านเป็นอาหารเสริมให้กับไก่เนื้อ ที่ปริมาณ 10-30 กรัม/น้ำหนักตัวกิโลกรัม พบว่า การให้ผักหวานบ้านไม่มีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว และปริมาณโปรตีน แต่พบว่ามีผลต่อการลดลงของปริมาณไขมันที่สะสมในตัวปลาได้ [3]
3. ใบอ่อน และยอดอ่อนผักหวาน นำมาล้างนำให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้ง 7-10 วัน ก่อนใช้ชงเป็นชาดื่ม
คุณค่าทางโภชนาการผักหวานบ้าน (ใบ และยอดอ่อน 100 กรัม)
Proximates | ||
น้ำ | กรัม | 89.6 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 39 |
โปรตีน | กรัม | 3.0 |
ไขมัน | กรัม | 0.4 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 5.9 |
ใยอาหาร | กรัม | 3.5 |
เถ้า | กรัม | 1.1 |
Minerals | ||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 11 |
Vitamins | ||
วิตามิน C | มิลลิกรัม | 6 |
ไทอะมีน (B1) | มิลลิกรัม | 0.04 |
ไรโบฟลาวิน (B2) | มิลลิกรัม | 0.02 |
ไนอะซีน (B3) | มิลลิกรัม | 0.8 |
เบต้า แคโรทีน | มิลลิกรัม | 4823 |
วิตามิน A, RAE | ไมโครกรัม | 804 |
วิตามิน E | มิลลิกรัม | 2.96 |
ที่มา : [7]
สาระสำคัญที่พบ (ใบ และลำต้น)
– Three nucleosides
– Adenosine
– 5′-deoxy-5′-methylsulphinyladenosine
– Uridine
– One rare flavonol trioside
– 3-0-B-D-glucosyl-kaempferol (GKK)
ที่มา : [9] อ้างถึงใน Wang, Perng Hau Lee, Shoei-Sheng, (1997), [11] อ้างถึงใน วุฒิ (2540)
นอกจากนั้น ยังพบสารต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับสารต้านอนุมูลอิสระมาตรฐานสูงถึง 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร [9] อ้างถึงใน จรรยา แสงอรุณ (2542)
สรรพคุณผักหวานบ้าน
ใบอ่อน และยอดอ่อน (ต้ม/ชงน้ำดื่ม หรือรับประทาน)
– ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดำนม และเพิ่มน้ำนมหลังคลอดบุตร
– บำรุงร่างกายในสตรีหลังคลอดบุตร
– ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
– ช่วยระงับอาการปวดเกร็งที่กระเพาะอาหาร ลำไส้ ถุงน้ำดี และทางเดินปัสสาวะ
– ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อ HIV
– ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
– รักษาแผลในจมูก
– รักษาระบบการไหลเวียนของเลือดในสมองผิดปกติ
– ช่วยให้กระดูก และฟันแข็งแรง
– ป้องกันโรคภูมิแพ้จากอากาศ
– ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
– เป็นยาประสะน้ำนม
– ช่วยมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
ใบอ่อน และยอดอ่อน (ใช้ภายนอก)
– ตำบดใช้พอกรักษาแผล
– ใช้ผอกรักษาฝี
– รักษาแผลในจมูก (อุดแผลในจมูก)
น้ำยางจากกิ่ง
– ใช้หยอดรักษาตาอักเสบ
ดอก
– ช่วยขับเลือดเสีย
ราก (ต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยลดไข้
– ระงับความร้อน แก้อาการร้อนใน
– รักษาโรคคางหมู
– แก้พิษสำแดงจากอาหารแสลง
ราก (ใช้ภายนอก)
– ใช้ทารักษาแผล
– ใช้ผอกรักษาฝี
ที่มา : [3], [4], [5], [6], [10], [12]
พิษ และข้อควรระวัง
การศึกษาเสริผักหวานบ้านให้แก่กระต่าย พบว่า สามารถเพิ่มการหลั่งน้ำนมได้ แต่มีผลข้างเคียง คือ มีผลต่อการแท้งลูก [3] อ้างถึงใน Santoso (2000)
การรับประทานผักหวานในรูปผงหรือดื่มน้ำสกัดเพื่อควบคุมน้ำหนักจะมีผลต่อระบบหายใจ ที่คาดว่าน่าจะมีสาเหตุจากสารชนิดหนึ่งชื่อ alkaloid papaverine [3] อ้างถึงใน Ger และคณะ (1997) นอกจากนี้ ยังพบว่า ใบมีสาร papaverine หากรับประทานมากจะทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ และอาการท้องผูก [4]
การปลูกผักหวานบ้าน
การขยายพันธุ์ ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การเพาะเมล็ด
การเพาะเมล็ด ทำได้โดยการเก็บผลแก่จัด ซึ่งจะมีเมล็ดสีดำ นำผลมาแกะเปลือก และแยกเมล็ดออกแล้วนำเมล็ดผึ่งไว้ในที่ร่ม 3-5 วัน จนเมล็ดแห้ง ก่อนนำเมล็ดมาห่อรวมกันด้วยผ้า และเก็บไว้ในที่ร่ม นาน 1-2 เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัว
เมล็ดที่เก็บไว้ตามระยะเวลา ให้นำเมล็ดมาเพาะในถุงเพาะชำที่กรอกวัสดุเพาะเตรียมไว้หรือนำเมล็ดลงเพาะในแปลงเพาะโดยตรง
สำหรับแปลงเพาะทำได้ด้วยการวางอิฐเป็นสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสม ก่อนนำวัสดุเพาะที่ใช้ดินผสมกับแกลบดำหรือวัสดุอินทรีย์อื่นเทใส่แปลงเพาะ ก่อนนำเมล็ดหยอดเป็นแถวๆ ระยะห่างเมล็ด และแถวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม ดูแลจนเมล็ดงอก ก่อนย้ายใส่ถุงเพาะชำดูแลต่อ
สำหรับการเพาะในถุงเพาะชำ ให้หยอดเมล็ดใส่ถุงละ 1 เมล็ด ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลจนต้นกล้าสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร จึงนำปลูกลงแปลงต่อ
2. การปักชำกิ่ง
กิ่งชำ ให้เลือกกิ่งที่มีอายุพอเหมาะ ลำกิ่งมีสีเขียวอมสีน้ำตาลหรือสีเขียวเข้มซึ่งเป็นกิ่งที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ตัดให้มีขนาดยาว 20 เซนติเมตร หรือประมาณเท่าแท่งดินสอ โดยวัสดุที่ใช้ปักชำ คือ ขี้เถ้าแกลบที่กรอกใส่ถุงดำไว้เรียบร้อยแล้วหรือดินผสม โดยรดน้ำให้ชุ่มก่อนปักชำหรืออาจให้หลังจากการปักชำก็ได้ ในการปักชำต้องชำในที่ร่ม โดยเสียบลึกประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวกิ่งลงไปในแนวตั้ง หลังปักชำอายุ 1 – 2 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกลงแปลงได้
การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
หากปลูกแปลงใหญ่เพื่อจำหน่ายจะต้องเตรียมแปลงด้วยการไถกลบดินก่อน 1-2 รอบ เพื่อกำจัดวัชพืช และหมักกลบวัชพืชให้เป็นปุ๋ย
การเตรียมหลุมปลูก ให้ขุดหลุม กว้าง และลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 1-1.5 เมตร และแถว 1.5-2 เมตร แล้วตากหลุมทิ้งไว้ 3-5 วัน จากนั้น รองพื้นด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 5-10 กำมือ/หลุม หรือรองเพิ่มด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ ครึ่งกำมือ- 1 กำมือ/หลุม พร้อมคลุกผสมหน้าดินให้เข้ากัน
วิธีปลูกผักหวานบ้าน
การปลูกผักหวานบ้าน ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงกลางฤดูฝน โดยใช้ต้นพันธุ์จากกิ่งปักชำหรือกล้าเพาะเมล็ดที่แตกใบแล้ว 5-7 ใบ หรือมีความสูงของต้นกล้า ประมาณ 20-30 เซนติเมตร นำปลูกลงหลุมที่เตรียมไว้
การใส่ปุ๋ย
สำหรับปุ๋ยเคมีให้ใส่เดือนละครั้ง ส่วนปุ๋ยคอกให้ใส่ 3 เดือน/ครั้ง โดยปุ๋ยเคมีจะใช้สูตร 15 – 15 -15 เป็นหลัก สลับกับสูตร 13 – 21 – 21 เช่น 2 เดือน แรก ใส่สูตร 15 – 15 – 15 ไป เดือนต่อไปให้ใส่สูตร 13 – 21 -21 และพอเดือนถัดไปให้กลับมาใช้สูตร 15 – 15 -15 อีกครั้ง โดยใช้การโรยรอบโคนต้นหรือแบบหว่านข้าวให้ทั่ว ทั้งนี้ ควรเพิ่มปุ๋ยคอกร่วมด้วย เพราะจะทำให้ยอดผักหวานมีรสหวาน และกรอบมากขึ้น รวมถึงลดกลิ่นเหม็นเขียว
การให้น้ำ
หลังการปลูก ซึ่งจะปลูกในต้นฤดูฝนจนถึงกลางฤดูฝน ช่วงนี้ต้นพันธุ์จะได้รับน้ำจากฝนอย่างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อการเติบโตไปจนถึงฤดูแล้งได้ เมื่อถึงฤดูแล้ง ควรให้น้ำเพิ่ม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงการเก็บยอดอ่อน
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่ง หรือ การทำสาว เป็นการตัดแต่งต้น และกิ่งผักหวานที่เติบโตยาวหรือสูงเกินไป ทำให้การเก็บยอดไม่สะดวก โดยนิยมตัดแต่งกิ่งเมื่อต้นผักหวานเติบโตได้ ประมาณ 1 ปี และจะตัดแต่งกิ่งในทุกๆปี การตัดแต่งกิ่งนั้น ให้ตัดสูงเหลือต้นประมาณหัวเข่าหรือถึงเอว กิ่งที่ตัดทิ้ง ให้คัดเลือกนำไปปักชำขยายพันธุ์ต่อ เพื่อจำหน่ายหรือปลูกขยายเพิ่ม ทั้งนี้ หลังการตัดแต่งกิ่งแล้วให้รดน้ำตามปกติภายใน 15 วันผักหวานจะให้ผลผลิตที่แตกออกมาอีกครั้ง
การเก็บเกี่ยว
ผักหวานบ้าน สามารถเก็บยอดอ่อนหรือใบอ่อนได้หลังปลูกแล้ว ประมาณ 2 เดือน และเก็บยอดใหม่ในรอบถัดไปได้อีกประมาณ 20-30 วัน หลังจากครั้งแรก ทั้งนี้ สามารถเก็บยอดได้ตลอดทั้งปี และเก็บได้จนถึงอายุของลำต้น 10-20 ปี ขึ้นอยู่กับต้นพันธุ์จากการเพาะเมล็ด ซึ่งมีอายุนานกว่าต้นพันธุ์จากการปักชำกิ่ง รวมถึงการดูแล และบำรุงต้น
การเก็บยอดอ่อน ให้เก็บในช่วงเช้าจนถึงก่อน 10 โมงเช้า หากเลยมากกว่านั้น แดดจะร้อน ใบ และยอดอ่อนจะเริ่มอ่อนตัว ยอดไม่สด และเก็บไว้ได้ไม่นาน
การเก็บ ควรตัดเก็บยอดอ่อนที่ความยาวประมาณ 10 – 12 นิ้ว ทั้งนี้ ไม่ควรจะทิ้งไว้ให้ยอดอ่อนกลายเป็นใบแก่หรือเก็บช้าเกินไป เพราะผักหวานบ้านจะแตกยอดในรุ่นต่อไปช้าตามมา และควรจะเก็บยอดอ่อนให้หมดเป็นรุ่นๆในแต่ละแปลง เพื่อให้ทันการตัดแต่ง และเก็บยอดครั้งต่อไป เมื่อเก็บยอดใบอ่อนของผักหวานบ้าน แล้วควรเก็บไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทดี พร้อมกับพรมน้ำให้ชุ่ม อย่าให้โดนแสงแดด เพราะจะเหี่ยว และใบจะร่วงได้ง่าย
โรค และแมลงที่สำคัญ
เพลี้ยไฟ เป็นแมลงตัวสำคัญที่เข้าทำลายยอดผักหวานบ้านที่เป็นยอดอ่อน ทำให้ใบหงิกงอ ส่วนหนอนจะเข้ากัดกิน และเจาะลำต้น แต่จะพบน้อย เพราะมีการเก็บยอดทุกๆสัปดาห์ ทำให้ไม่มีการสะสมในเรื่องของโรคและแมลง [8]
ขอบคุณภาพจาก pinterest.com/, BOTANY.cz/, kasetloongkim.com/, www.สมุนไพรสามร้อยยอด.com/, NanaGarden.com/,
เอกสารอ้างอิง
[1] ชลพร กมลเลิศ, การฟอกฆ่าเชื้อ ชักนำให้เกิดยอด และ-
เพิ่มปริมาณยอดของผักหวานบ้าน.
[2] อมรทิพย์ ภิรมย์บูรณ์, 2548, แนะนำผักหวานบ้านพันธุ์ทองผาภูมิ-
หวาน กรอบ ปลอดสารพิษที่กาญจนบุรี.
[3] อาภรณ์ ส่งแสง; อัจฉรัตน์ สุวรรณภักดี; ปิยาภรณ์ ภาษิตกุล, 2546, การศึกษาระดับไวตามินอีในใบ-
ผักหวานบ้าน (Sauropus androgynus (L.)Merr. leave) –
และผลของการเสริมใบผักหวานบ้านในอาหาร-
แม่สุกรเลี้ยงลูกต่อระดับไวตามินอีในน้ำนม-
และซีรัมและสมรรถภาพการเจริญเติบโตของลูกสุกร.
[4] วงศ์สถิตย์ ฉั่วสกุล, 2539, สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.
[5] กองส่งเสริมพืชสวน, 2543, เอกสารวิชาการผักพื้นบ้าน1.
[6] วันดี กฤษณพันธ์, 2536, เภสัชวินิจฉัยและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เล่ม 2.
[7] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
[8] อภิชาติ ศรีสอาด, 2547, คู่มือผักหวานบ้าน.
[9] มานี เตื้อสกุล และถนอมจิต สุภาวิตา, 2546, ศึกษาเปรียบเทียบคุณค่าทางอาหารและ-
ฤทธิ์ของสารสกัดที่ได้จากผักหวานบ้าน.
[10] วิไล ไชยมาศ, วุฒิเดช ศรีมงคล และอนุธิดา ผายพันธุ์, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากผักหวานบ้าน.
[11] รัชนี เพ็ชร์ช้าง, 2556, ผลของรังสีอัลตราไวโอเลตซี (UV-C)-
ต่อสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและ-
ปริมาณสารฟีนอลทั้งหมดในสารสกัดจาก-
การเพาะเลี้ยงปลายยอดผักหวานบ้าน.
[12] สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), 2560, ผักหวานบ้าน, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 25560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=9127/.