ถั่วลิสงนา (Alice clover) ประโยชน์ และวิธีกำจัดถั่วลิสงนา

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ถั่วลิสงนา (Alice clover) จัดเป็นวัชพืชล้มลุกในพืชตระกูลถั่วที่พบแพร่กระจายในทุกภาค โดยเฉพาะในนาข้าว และแปลงพืชไร่ เป็นวัชพืชที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว และระบาดรุนแรง กำจัดได้ยาก เพราะทนต่อสภาพแห้งแล้งหรือน้ำท่วมได้ดี

• วงศ์ : Papilionoideae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alysicarpus vaginalis (Linn.) DC.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Alysicarpus wallichii Wt. & Arn.
• ชื่อสามัญ :
– Alice clover
– Buffalo clover
– Ane – leaved clover
• ชื่อท้องถิ่น :
– ถั่วลิสงนา (ภาคกลาง และถั่วไป)
– หญ้าปล้องหวาย (ชลบุรี)
– คัดแซก (ปราจีนบุรี)
– หญ้าเกล็ดหอยใหญ่ (อ่างทอง)

• คำว่า Alysicarpus มาจากภาษากรีก หมายถึง Chain fruit
• คำว่า vaginalis มาจากภาษาลาตินคำว่า vagina หมายถึง sheath และ-alis หมายถึง sheathing stipules

ที่มา : [1], [2], [3]

การแพร่กระจาย
ถั่วลิสงนา เป็นพืชล้มลุกที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก พบได้จั้งแต่บริเวณประเทศเขตร้อนจนถึงเขตกึ่งร้อน ได้แก่ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ลาว ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดเนียเซีย และพบในอินเดีย จีนตอนใต้ ใต้บริเวณเทือกเขาหิมาลัย ออสเตรเลีย ประเทศในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา และสหรัฐอเมริกา [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ถั่วลิสงนา เป็นพืชล้มลุกอายุข้ามปี และมีความผันแปรตามสิ่งแวดล้อมมาก ลำต้นในระยะแรกอาจมีลักษณะเลื้อยตามดิน จากนั้น ลำต้นค่อยตั้งขึ้น และตั้งตรงเมื่อเจริญเต็มที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพืชอื่นแข่งขันเติบโต หรือบางพื้นที่มีลักษณะลำต้นเลื้อยคลุมดิน

ลำต้นมีลักษณะทรงกลม ขนาดเล็ก มีขนปกคลุมในระยะแรก แต่เมื่อโตเต็มที่จะไม่มี เปลือกลำต้นบางสีน้ำตาล ขนาดลำต้น ประมาณ 2-4 มิลลิเมตร สูงประมาณ 40-120 เซนติเมตร ด้านในลำต้นไม่เป็นรูกลวง เนื้อลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นใย มีความเหนียวสูง เด็ดหักได้ยาก ส่วนระบบราก ประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง สามารถหยั่งลึกได้มากกว่า 30 เซนติเมตร

ใบ
ใบถั่วลิสงนา ใบเป็นใบเดี่ยว จำนวน 2 ใบ ตรงข้ามกันเรียงตามความสูงของลำต้น แต่ละใบอาจมีรูปทรงกลมหรือรูปรีหรือรูปไข่ หรืออาจเป็นรูปหอกยาว มีก้านใบสั้น โคนใบเว้าตรงกลางเล็กน้อย ปลายใบกลมหรือแหลม กว้างประมาณ 0.3-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.5-8.5 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบบาง แต่เหนียวคล้ายหนัง แผ่นใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม แผ่นใบด้านบนเรียบ ส่วนใต้ใบมีขนนุ่มปกคลุม

ดอก
ถั่วลิสงนาออกดอกเป็นช่อ แบบ raceme ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ดอกมีหลายสีแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อาทิ สีแดง สีม่วงอมชมพู สีขาวอมเหลืองหรือสีน้ำตาล มีกลีบเลี้ยงแยกเป็นแฉก เว้าลึกประมาณครึ่งหนึ่งของตัวกลีบ และมีขนปกคลุม ส่วนกลีบดอกมีสีตามข้างต้น แต่ละกลีบมีรูปไข่กลับ ด้านในมีเกสรตัวผู้ 2 กลุ่ม รังไข่เกือบไม่มีก้าน มีไข่จำนวนมาก

ผล และเมล็ด
ผลถั่วลิสงนา ออกเป็นฝัก ออกมาที่ปลายกิ่ง ฝักมีรูปทรงกระบอกหรือค่อนข้างแบน หรืออาจพบฝักค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 1.3-2.8 มิลลิเมตร เปลือกฝักบาง และมีขนปกคลุม แต่เมื่อฝักแก่ขนจะหลุดร่วงหมด และมีรอยย่นเป็นร่างแหสีดำ ฝักมีรอยคอดเป็นข้อๆ 4-9 ข้อ ตามความยาวของฝัก แต่ละข้ออวบนูนขนาดเท่ากัน มี 1 เมล็ด แต่ละเมล็ดมีรูปไต มีร่องเว้าเป็นแอ่งลึกบริเวณด้านข้าง

ทั้งนี้ ระยะติดดอก และติดฝักจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว เดือนกันยายน-ธันวาคม

สรรพคุณถั่วลิสงนา
ราก (ต้มดื่ม)
– แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง

ที่มา : [1]

ประโยชน์ถั่วลิสงนา
1. ถั่วลิสงนาในบางประเทศใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชอาหารสัตว์ ทั้งการตัดต้นมาเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ลงแปลงให้แทะเล็ม
2. ถั่วลิสงนาใช้ปลูกเป็นพืชบำรุงดิน เพราะสามารถสร้างปมรากช่วยในการตรึงธาตุไนโตรเจนได้
3. ถั่วลิสงนาใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน เพราะลำต้นเลื้อยแผ่คลุมหน้าดินได้กว้าง เติบโต และเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว ช่วยป้องกันการกัดเซาะหน้าดินได้ดี

ข้อเสียถั่วลิสงนา
ถั่วลิสงนา ถือเป็นวัชพืชที่แพร่ระบาดรุนแรงชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในนาข้าวบริเวณที่ดอนหรือไม่มีน้ำขัง รวมถึงพบระบาดในแปลงไร่ต่างๆ เนื่องจาก เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพความแห้งแล้งหรือน้ำท่วมได้ดี ผลิตเมล็ดได้จำนวนมาก อีกทั้งเมล็ดมีความคงทน แม้ในสภาพน้ำท่วมนาน มีอัตราการงอกสูง ทำให้แพร่ระบาดทำลายพืชผลได้กว้าง นอกจากนั้น ยังทนต่อการกำจัดด้วยสารเคมีหลายชนิด

วิธีกำจัดถั่วลิสงนา
1. การไถกลบ โดยการไถกลบหน้าดิน 1 ครั้ง ในช่วงฤดูแล้ง จากนั้น ปล่อยให้ฝนลง 2-3 ครั้ง จนเมล็ดงอก ค่อยไถกลบอีกครั้ง
2. การกำจัดด้วยแรงงาน โดยใช้จอบถากตัดลำต้น จากถาก และถอนโคนต้น รวมถึงใช้มือถอนทั้งต้น ก่อนกองรวบกันบนที่สูงเพื่อตากแดดให้แห้ง
3. ใช้ยากำจัดวัชพืชชนิดดูดซึมหรือแบบสัมผัส

ขอบคุณภาพจาก biogang.net/, thinkinglaymen.org.in/

เอกสารอ้างอิง
[1] http://rspg.or.th/, ถั่วลิสงนา, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.rspg.or.th/plants_data/use/animals2_30.htm/.
[2] http://rspg.ru.ac.th/, ถั่วลิสงนา, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://rspg.ru.ac.th/index.php/research/plants/plant-database?layout=edit&id=200/.
[3] เต็ม สมิตินันท์, 1980, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.
[4] นาฏยา สวัสดิ์พาณิชย์ , 2526, การศึกษาสัณฐานวิทยาของถั่วลิสงนา Alysicarpus vaginalis (Linn.) DC.