Last Updated on 11 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ผักบ๋าซาด เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์เดียวกับเปล่าน้อย พบได้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ พบมากในภาคอีสาน โดยจัดเป็นผักป่าหรือผักพื้นบ้านอีกชนิดที่นิยมนำยอดอ่อนมาลวก ต้ม หรือ นึ่งรับประทานเป็นผักคู่กับข้าว
อนุกรมวิธาน [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
• Kingdom : Plantae
• Division : Anthophyta
• Class : Angiospermae
• Order : Euphorbiales
• Family : Euphorbiaceae
• Genus : Strophioblanchia
• Species : Strophioblanchia glandulosa
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Strophioblanchia glandulosa Pax. Var. pandufolia Airy Shaw
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคอีสาน
– บ๋าซาด
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ผักบ๋าซาด เป็นพืชที่บได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบมากในภาคอีสานตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง แต่พบมากในป่าเต็งรัง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ [1]
ราก และลำต้น
ผักบ๋าซาดมระบบรากหยั่งลึก ประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง โดยรากแขนงมีขนาดเล็ก และยาว ขนาด 0.1-0.2 เซนติเมตร ผิวรากมีสีน้ำตาล และมีกลิ่นหอม
ลำต้นผักบ๋าซาดมีลักษณะกลม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ลำต้นส่วนที่อยู่ใต้ดิน และลำต้นส่วนที่อยู่เหนือดิน โดยส่วนที่อยู่ใต้ดินจะมีลักษณะกลม อวบอ้วนกว่าส่วนที่อยู่เหนือดิน ผิวลำต้นสีน้ำตาล ขรุขระ มีรอยแตก มีกลิ่นหอม มีทั้งแบบแทงราบขนานกับผิวดิน และแบบแทงลึกในแนวดิ่ง ส่วนลำต้นเหนือดินมีลักษณะกลมเช่นกัน แต่ผิวลำต้นมีสีเขียว ตั้งตรง และแตกกิ่งแขนงตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น มีขนสีขาวขนาดเล็กทั้งตามลำต้น และกิ่ง ขนาดประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร
ใบ
ใบผักบ๋าซาดออกเป็นใบเดี่ยว ไม่มีหูใบ ออกเรียงสลับกันตามความยาวของกิ่ง มีก้านใบกลม สีเขียว ยาวประมาณ 5-9 เซนติเมตร แผ่นใบมี 2 แบบ ได้แก่ แผ่นใบแบบรูปหัวใจ (coredate) มีลักษณะปลายใบแหลม ฐานแผ่นใบเป็นรูปหัวใจ กว้างประมาณ 5-9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-1 เซนติเมตร และอีกแบบ คือ แผ่นใบแบบ pandurate มีลักษณะปลายใบแหลมเป็นติ่ง ส่วนถัดมาจากปลายใบจะเป็นส่วนที่กว้างที่สุด ถัดลงมาถึงโคนแผ่นใบจะค่อยๆแคบลงเรื่อยๆ และฐานแผ่นใบโค้งเป็นรูปติ่งหู แผ่นใบกว้างประมาณ 6-11 เซนติเมตร ยาวประมาณ 11-19 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองแบบมีลักษณะหนา แผ่นใบมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วแผ่นใบ
ทั้งนี้ ใบอ่อนหรือยอดอ่อนที่นิยมใช้ประกอบอาหารจะมีเก็บได้ในช่วงเดียว คือ ระยะต้นฤดูฝนเท่านั้น
ดอก
ผักบ๋าซาดออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง มีก้านช่อดอกที่ไม่รวมความยาวก้านช่อดอกย่อย ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ตัวดอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ แยกเป็นดอกเพศผู้ และเพศเมีย
ดอกตัวผู้อยู่ด้านบนสุด แต่ละช่อดอกมีประมาณ 5-11 ดอก ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว จำนวน 4 กลีบ เชื่อติดกัน ไม่มีกลีบดอก ภายในมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก
ดอกตัวเมียอยู่ด้านล่างถัดจากดอกตัวผู้ลงมา มีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ แต่ละช่อดอกมีประมาณ 1-3 ดอก ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวขนาดใหญ่ จำนวน 5 หรือ 6 กลีบ เชื่อติดกัน ไม่มีกลีบดอก ภายในมีรังไข่ 1 อัน สีเขียว มีลักษณะเป็นพู 3 พู เชื่อมติดกัน ภายในแต่ละพูแบ่งเป็น 1 ห้อง ที่ประกอบด้วยโอวุล 1 อัน ซึ่งต่อมาจะเปลี่ยนเป็นเมล็ด
ผล และเมล็ด
ผลผักบ๋าซชาดมีลักษณะเป็นแบบแคปซูล ประกอบด้วย 3 พู ประกบกัน คล้ายผลละหุ่ง ขนาดผลประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลมีแท่งขนแข็งปกคลุมทั่ว ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่แห้ง และแข็ง มีสีน้ำตาลอมดำ
เมล็ดผักบ๋าซาดมีลักษณะกลมรี เมล็ดอ่อนจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดสีขาว ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ยาวประมาณ1-1.5 เซนติเมตร เมื่อเมล็ดแก่ เปลือกหุ้มเมล็ดจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ และแข็ง ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร
ประโยชน์ผักบ๋าชาด
1. ผักบ๋าซาด ชาวอีสานนิยมนำยอดอ่อนมาประกอบอาหารในหลากหลายเมนู อาทิ ใช้เป็นผักใส่หมกแย้ หมกกะปอม หมกอึ่งอ่าง ใช้เป็นผักใส่แกงคั่ว แกงอ่อมต่างๆ
2. ชาวอีสานนิยมนำยอดอ่อนผักบ๋าซาดนำมาลวก หรือ ต้ม เป็นผักจิ้มน้ำพริก ก้อยแย้ ก้อยกะปอม หรือ ใช้เป็นผักนึ่งคู่กับปลาจิ้มน้ำพริก
3. ชาวอีสานนิยมนำช่อดอกอ่อน และผลอ่อน นำมาประกอบอาหาร หรือ นำมาลวก หรือ ต้ม หรือ นึ่งคล้ายกับยอดอ่อนข้างต้น
สรรพคุณผักบ๋าซาด
ชาวอีสานนิยมนำราก หรือ เหง้าผักบ๋าซาดมาประกอบทำยาหลายขนาน ได้แก่
– ใช้รากบ๋าซาด ร่วมกับน้ำนมราชสีห์ หุนไห้ (ป้องแล่ง) โดยฝนผสมกับน้ำดื่มสำหรับแก้อาการอัมพาต และมะเร็งเต้านม
– ใช้รากบ๋าซาดตัดเป็นท่อนดองเหล้า หรือ ฝนเป็นผงผสมน้ำดื่ม แก้ฝีในท้อง
– ใช้รากบ๋าซาดฝนเป็นผงร่วมกับเครือหมาแดง และรากเข็มผสมน้ำดื่ม ใช้ทาแก้อาการเจ็บคอ
– ใช้รากบ๋าซาดฝนเป็นผงร่วมกับจันทร์แดง และกระดูกช้างผสมน้ำดื่ม ใช้ทาแก้ลมพิษบริเวณต่างๆ
– ใช้รากบ๋าซาดฝนเป็นผงร่วมกับประดงแดง ประดงขาวหรือประดงเลือด ใช้ผสมน้ำดื่ม แก้ไข้รากสาดใหญ่
– ใช้รากบ๋าซาดฝนเป็นผงร่วมกับเครือประสงค์ช้าง ประสงค์น้อย ประดงตัวผู้ ใช้ผสมน้ำดื่ม แก้ไข้โรคประดง
– ใช้รากบ๋าซาดฝนเป็นผงร่วมกับเครือโป๊ะข้าว ดอกมะลิ ไม้ข้าวหลาม รากข้าวจี่ นมราชสีห์ ภังคี รากกระจาย รากสามควาย อ้อยสามสวน แก้ไข้หมากไม้ แก้อาการร้อนนอกร้อนใน
– ใช้รากบ๋าชาดฝนเป็นผงร่วมกับสระแบง รากข้าวจี่ ผสมปูนขาว ใช้ทารักษาฝี
ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
การปลูกผักบ๋าซาด
ผักบ๋าซาดนิยมสามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
เอกสารอ้างอิง
[1] สุมาลี ชุมอภัย.2543.การศึกษาลักษณะทางชีววิทยาของบ๋าซาด (Strophioblanchia glandurosa Pax var. panduurifolia).
ขอบคุณภาพจาก
– http://satit.msu.ac.th/
– http://nutrition.dld.go.th/