เพชรสังฆาต ประโยชน์ และสรรพคุณเด่น

Last Updated on 11 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

เพชรสังฆาต เป็นไม้เลื้อย เนื้ออ่อน ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม และเป็นข้อปล้อง นิยมปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านสมุนไพรเป็นหลัก โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติกำหนดในตำรับยาสำหรับรักษาอาการริดสีดวงทวารหนัก

อนุกรมวิธาน [1] อ้างถึงในนันทวัน และคณะ, (2542)
• Kingdom (อาณาจักร) : Plantae
• Division (วงศ์) : Vitaceae
• Class (ชั้น) :
• Order (อันดับ) :
• Family (ตระกูล) :
• Genus (สกุล) :
• Species (ชนิด) :

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cissus quadrangularis Linn.
• ชื่อท้องถิ่น :
– เพชรสังฆาต
– ขันข้อ
– สันชะควด
– สามร้อยต่อ
– สามร้อยข้อ
– สันชะฆาต
– ตำลึงทอง

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย [2], [3]
เพชรสังฆาต เป็นพืชที่พบเติบโตบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย รวมถึงพบได้ในประเทศอินเดีย ประเทศแถบอาหรับ ทวีปแอฟริกา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ [1]
ราก และลำต้น
เพชรสังฆาตมีระบบรากเป็นรากฝอย แทงลงดินทั้งแนวดิ่ง และแนวราบ

เพชรสังฆาตมีลำต้นเป็นพูสามเหลี่ยม และเป็นข้อปล้องเชื่อมต่อกันจำนวนหลายปล้อง เปลือกลำต้นเรียบ สีเขียวอ่อน โดยบริเวณข้อปล้องแต่ละข้อมีมือเกาะเป็นเส้นสีเขียวขนาดเล็ก และยาว ทำหน้าที่เกาะวัสดุอื่นสำหรับค้ำยึดหรือพยุงลำต้น

ใบ
ใบเพชรสังฆาตออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณข้อปล้อง ข้อละ 1 ใบ มีก้านใบสีเขียวอ่อน ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบมีรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 3-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-10 เซนติเมตร ขอบใบมีร่องหยักห่างๆ แผ่นใบเรียบ สีเขียวอ่อน ค่อนข้างหนา

ดอก
เพชรสังฆาตออกดอกเป็นช่อที่บริเวณข้อปล้องหรือปลายกิ่ง ช่อดอกแต่ละช่อประกอบด้วยช่อดอกย่อย ตัวดอกมีขนาดเล็ก มีลักษณะกลม กลีบดอกจำนวน 4 กลีบ ฐานกลีบดอกมีสีแดง กลีบดอกด้านนอกมีสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกด้านในมีสีเขียวอมขาว เกสรตัวผู้มี 4 อัน เมื่อบานเต็มที่ตัวดอกจะโค้งงอลงด้านล่าง

ผล และเมล็ด
ผลเพชรสังฆาตมีลักษณะทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนมีเปลือกผลสีเขียว ผลแก่หรือผลสุกมีสีแดงอมดำ ด้านในผลมีเมล็ด เมล็ด ทรงกลม สีน้ำตาล

ประโยชน์เพชรสังฆาต
1. เพชรสังฆาต มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ลำต้นเป็นสามเหลี่ยม และมีข้อปล้อง บางพื้นที่ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ ทั้งปลูกในกระถาง หรือ ปลูกให้เลื้อยตามรั้วบ้าน
2. บางพื้นที่ใช้ปลูกเป็นไม้มงคล โดยเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่า คุ้มภัยให้แก่คนภายในบ้าน

สาระสำคัญที่พบ [1], [2] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
Arborenol iso
Delta-amyrin
Delta-amyron
Cissus quadrangularis keto steroid
Cissus quadrangularis oxo steroid
Cissus quadrangularis steroid
Docosan-1-ol cyclohexane
Friedelan-3-one
Heptadecyl octadecanoate
Icosanyl icosanoate
Lupenone
Octadec-9-ene
Onocer-7-ene-3-α-21-β-diol
Nocer-7-ene-3-β-21-α-diol
Onocer-8-ene-3-β-21-α-diol
Pentacosanoic acid,iso
Quercetin
Taraxerol
Taraxerol acetate
Tricos-2-en-22-one
Tritriacontan-1-ol
Tritriacontanoicacis
β-sitosterol
δ-amyrin
δ-amyrone
4-hydroxy-2-methyl
7-hydroxy-20-oxo
7-oxo pentacosanoic acid
9-methyl
31-methyl

ในจำนวนสารสำคัญที่พบในเพชรสังฆาตทั้งหมด สารเควอซิทิน (Quercetin) เป็นสารสำคัญหลักที่มีคุณสมบัติเด่น ทั้งคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด โดยเฉพาะการป้องกันการเกิดอาการโรคริดสีดวงทวาร นอกจากนี้ สารเควอซิทิน ยังมีคุณสมบัติในการลดความเป็นพิษต่อเซลล์ไขมัน แอลดีแอล (LDL) ทำให้การทำงานของหลอดเลือดหัวใจเป็นปกติ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงมีคุณสมบัติยับยั้งวงจรชีวิตเซลล์ ช่วยหยุดการขยายตัวของเซลล์ และช่วยในกระบวนการอะพ็อพโทซิส (Apoptosis) หรือทำให้เกิดการตายของเซลล์เซลล์เต้านมที่ผิดปกติได้

ที่มา : [3]

สรรพคุณเพชรสังฆาต
ราก
– ช่วยเชื่อมประสานกระดูกแตกหัก

เถาหรือลำต้น
– บดผสมน้ำ ใช้หยอดหู แก้อาการหูน้ำหนวก
– ใช้ต้มดื่ม แก้อาการเลือดกำเดาไหล
– ใช้ต้มดื่ม แก้เลือดเสียในสตรี แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยขับน้ำเหลือง
– แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
– ช่วยขับลมในลำไส้
– แก้ริดสีดวงทวารหนัก

ใบ และยอดอ่อน
– นำมาตำบด ใช้พอกรักษาอาการฟกช้ำ รักษาแผล
– ช่วยเชื่อมประสานกระดูกแตกหัก
– แก้โรคอาหารไม่ย่อยในกระเพาะอาหาร
– ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
– ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร

ที่มา : [1], [2]

วิธี และปริมาณที่ใช้เพชรสังฆาตในตำรับยาแก้ริดสีดวงทวาร
1. ใช้เถาสด 2-3 องคุลีต่อหนึ่งมื้อ (ยาว 1 ข้อแรกของนิ้วกลาง) โดยนำมารับประทานสดๆ หรือ นำมาบดผสมน้ำดื่ม ทั้งนี้ หากเคี้ยวสดจะเกิดอาการคันปาก คันคอ ดังนั้น คนโบราณจึงใช้วิธีเคี้ยวรับประทานร่วมกับกล้วยสุก หรือมะขามสุก โดยรับประทาน 10-15 วัน จะเห็นผล
2. ใช้เถาสดนำมาตากแห้ง ก่อนนำมาบดเป็นผง ใส่แคปซูลรับประทาน โดยรับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 1-2 ครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร รับประทาน 5-7 วัน อาการจะดีขึ้น

ที่มา : [2]

ตำรับยาเพชรสังฆาต
คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้ขึ้นทะเบียนเพชรสังฆาตให้อยู่ในระบบบัญชียาหลักแห่งชาติ
ในกลุ่มยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งเป็นรายการยาที่ให้ใช้สำหรับโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข รวมทั้งงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีสูตรตำรับยาที่แสดงถึงส่วนผสมที่เป็นสมุนไพรอยู่ด้วยกัน 2 ตำรับยา (คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ, 2556) ได้แก่
1. สูตรที่ 1 ในผงยา 100 กรัม ให้ใช้เถาเพชรสังฆาตแห้ง หนักประมาณ 70 กรัม รากอัคคีทวารแห้ง หนักประมาณ 20 กรัม และโกศน้ำเต้าแห้ง หนักประมาณ 10 กรัม
2. สูตรที่ 2 ในผงยา 85 กรัม ให้ใช้เถาเพชรสังฆาตแห้ง หนักประมาณ 50 กรัม กะเม็ง (ทั้งต้น) หนักประมาณ 15 กรัม โกศน้ำเต้าแห้ง หนักประมาณ 10 กรัม หัวกระชาย หนักประมาณ 10 กรัม

ที่มา : [3]

การปลูกเพชรสังฆาต
เพชรสังฆาตนิยมสามารถนิยมเพาะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำต้น โดยตัดลำต้นให้มีข้อปล้อง 2-3 ข้อ นำท่อนพันธุ์ปักลงดินในแปลงหรือในกระถาง ประมาณ 5-7 วัน ลำต้นจะแทงราก และปลูกติด

เอกสารอ้างอิง
[1] กรรณิกา สุขนิตย์ และคณะ. 2543. การสกัดและทดสอบหาสารเคมีจากพืชสมุนไพรเบื้องต้น.
[2] วิระพล ภิมาลย์. 2558. การควบคุมคุณภาพตารับยาผสมเพชรสังฆาต-
และความคิดเห็นต่อการใช้ยาสมุนไพรเพชรสังฆาต.
[3] เศรษฐวัฒน์ ถนิมกาญจน์. 2562. การอบแห้งเพชรสังฆาตด้วยอินฟราเรด-
ร่วมกับการสั่นสะเทือนภายใต้สภาวะสุญญากาศ.