ปุ๋ย และธาตุอาหาร

Last Updated on 27 กุมภาพันธ์ 2015 by puechkaset

ปุ๋ย (Fertilizer) คือวัสดุที่มีองค์ประกอบของแร่ธาตุ อินทรีย์วัตถุ และจุลินทรีย์ที่สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารที่จำเป็นให้แก่พืช รวมถึงการปรับปรุงดินให้มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอนินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ด้วยการสังเคราะห์แร่ธาตุหลักที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ เช่น สารปรับปรุงดิน และแร่ธาตุอาหารรอง

ปุ๋ยเคมีจะถูกระบุด้วยสูตรปุ๋ยที่เป็นตัวเลข 3 ตัว เช่น 15-15-15

สูตรปุ๋ย หมายถึง ตัวเลขที่ใช้แสดงปริมาณธาตุอาหารหลักของ N-P-K ซึ่งตัวเลขในตำแหน่งใดจะแทนความหมายถึงร้อยละของแร่ธาตุนั้นในหน่วยร้อยละโดยน้ำหนัก

ปุ๋ย

N หมายถึง ไนโตรเจน เป็นส่วนผสมของปุ๋ยในรูปสารประกอบในรูป ได้แก่ (NH4)2SO4, CO(NH2)2,NH4NO3) ทำหน้าที่บำรุงใบ เร่งการเจริญเติบโตทางใบ เร่งการสร้างคลอโรฟิลล์ของใบ พืชที่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนจะมีลักษณะใบสีเขียวขึ้นจนถึงเขียวเข้ม ใช้มากในระยะต้นอ่อนจนถึงระยะเติบโต ใช้กับพืชทุกชนิด แต่สำคัญมากสำหรับพืชที่ให้ใบเป็นผลผลิต เช่น ผักต่างๆ

P หมายถึง ฟอสฟอรัส เป็นส่วนผสมของปุ๋ยในรูปสารประกอบ ได้แก่ P2O5 ทำหน้าที่เร่งการเจริญเติบโตของราก หัว ลำต้น ดอก และผล ปุ๋ยสูตรนี้จะใช้มากในระยะต้นอ่อนจนถึงเจริญเติบโตเต็มที่ มักใช้ในพืชทุกชนิด และทุกระยะ

K หมายถึง โพแทสเซียม เป็นส่วนผสมของปุ๋ยในรูปสารประกอบ ได้แก่ KCl , KNO3, K2SO4 และ K2SO4.2MgSO4 ทำหน้าที่ช่วยในการสังเคราะห์แป้ง และน้ำตาล ปุ๋ยสูตรนี้จะใช้มากในระยะก่อนการเก็บเกี่ยวของพืชในกลุ่มที่ให้ราก หัว ดอก และผล

ธาตุอาหารรอง เป็นอธาตุอาหารที่พืชต้องการน้อย ซึ่งโดยปกติในดินตามธรรมชาติจะพบในปริมาณที่เพียงพออยู่แล้ว รวมถึงหากขาดมักจะไม่มีผลกระทบในระดับที่รุนแรงมากนักต่อผลผลิตได้แก่ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S)

ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณน้อย ได้แก่ เหล็ก (Fe), ทองแดง (Cu), แมงกานีส (Mn), สังกะสี (Zn), โบรอน (B), โมลิบดินัม (Mo) และคลอรีน (Cl)

2. ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ผลิตขึ้นจากวัตถุอินทรีย์ ประกอบด้วยอินทรีย์วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมรวมกัน ได้แก่ ซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ และจุลินทรีย์ แต่ปุ๋ยอินทรีย์ทุกชนิดจะมีจุลินทรีย์เป็นองค์ประกอบสำคัญ แบ่งได้เป็น
2.1 ปุ๋ยคอก เป็นปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์ เช่น มูลวัว มูลควาย มูลไก่ มูลสุกร เป็นต้น สามารถใช้ได้ทั้งแบบสด และการนำมาหมัก
2.2 ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยที่ได้จากการหมักของซากพืช ซากสัตว์ ทั้งนี้ อาจมีการเติมมูลสัตว์ และจุลินทรีย์สำหรับช่วยในการย่อยสลายด้วย
2.3 ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยที่ได้จากส่วนของพืชที่ยังสดอยู่ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ปุ๋ยพืชสดจากการปลูกพืชคลุมดินแล้วทำการไถกลบ และปุ๋ยพืชสดจากซากพืชทางการเกษตร
2.4 ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่อยู่ในรูปของสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์ โดยอาศัยความสามารถในการย่อยสลาย และการตรึงแร่ธาตุที่จำเป็นแก่พืช รวมถึงการให้อินทรีย์สารจากการตายของจุลินทรีย์เอง ปุ๋ยประเภทนี้จะผ่านการเพาะ และขยายเชื้อเฉพาะจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในรูปแบบของปุ๋ยน้ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำหมักชีวภาพ น้ำ EM เป็นต้น
2.5 ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ให้โทษหรือไม่มีประโยชน์ และทำการเติมเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ผสมรวมเข้าไป

3. ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นปุ๋ยที่เกิดจากการผสมระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์ทำให้ได้ปุ๋ยที่ประกอบด้วยอินทรีย์วัตถุ และแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงจุลินทรีย์ที่จำเป็นต่อการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดิน อ่านเพิ่มเติม

หลักการใช้ปุ๋ย
1. พิจารณาถึงความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดินที่มีแร่ธาตุ และความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วอาจไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหรือใช้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือมีการใช้ในบางช่วงการเพาะปลูก การที่จะรู้ถึงปริมาณแร่ธาตุอาหารในดินเป็นเรื่องยากต่อการสังเกตุอาจต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ แต่ก็สามารถสังเกตุได้จากการเติบโตของพืชได้บ้าง
2. พิจารณาถึงสภาพดิน หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทั้งแร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุสามารถใช้ทั้งปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ หากดินมีปัญหาด้านดินเค็มไม่ควรใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว เป็นต้น
3. พิจารณาถึงชนิดของพืช หากพืชกินใบควรเน้นที่ N และP ใช้ได้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี หากปุ๋ยให้ผล และหัวให้เน้นที่ P และK ในระยะออกดอก และติดผล เป็นต้น
4. การใช้ปุ๋ยควรเลือกใช้ตามระยะของการเจริญเติบโตของพืช เช่น ระยะต้นกล้าควรเน้น ที่ N และP เพื่อเร่งการเจริญเติบโต ระยะติดดอกออกผลควรเน้นที่ ที่ P และK แต่จะไม่เน้น P มากเพราะมีการใส่ในก่อนหน้าแล้ว ในช่วงนี้จะเป็นช่วงในการสร้างแป้ง และน้ำตาลของผลหรือหัว

หลักการใส่ปุ๋ย
1. การใส่ปุ๋ยสามารถใช้ได้หลายวิธี อาทิ การหว่าน การโรย การรด ขึ้นอยู่กับชนิดพืช พื้นที่ และชนิดปุ๋ย
2. การใส่ปุ๋ยแบบโรยให้ใส่ใกล้บริเวณโคนต้นของพืชระยะห่างประมาณ 10 เซนติเมตร จากโคนต้น ทั้งนี้ ให้พิจารณาถึงขอบเขตรากเป็นหลัก และไม่ควรใส่นอกขอบเขตรากของพืช
3. ไม่ควรใส่ขณะดินแห้ง อากาศร้อน เพราะจะทำให้ปุ๋ยเสื่อมสภาพได้ง่ายก่อนที่รากพืชจะได้ใช้ประโยชน์ หากใส่ในสภาพดังกล่าวควรเป็นปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยละลายน้ำหรือรดน้ำตาม