ปุ๋ยอินทรีย์เคมีดีอย่างไร

Last Updated on 8 มีนาคม 2015 by puechkaset

ปัจจุบันการเกษตรของไทยมีแนวโน้มการใช้ปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในแต่ละปี ปุ๋ยเคมีมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชในปริมาณสูงทำให้ผลิตผลิตของพืชในการเก็บเกี่ยวสูงตามมาด้วย ส่วนปุ๋ยอินทรีย์มีราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีเพราะสามารถผลิตหรือหาได้ง่ายตามท้องถิ่่นจากเศษพืช มูลสัตว์หรือวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้งซึ่งปุ๋ยอินทรีย์มีคุณสมบัติในการบำรุงดิน และให้ธาตุอาหารแก่พืชด้วยเช่นกัน แต่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารที่สูงโดยตรง หากใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียวในระยะเวลานานจะทำให้ธาตุอาหารในดิน และผลผลิตน้อยลง จึงจำเป็นต้องเพิ่มธาตุอาหารให้เพียงพอแก่พืช แต่หากใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวจะทำให้ผลผลิตสูงอย่างเดียว ผลเสียตามมาคือดินเป็นกรด และเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ดังนั้น หากมีการนำส่วนดีของปุ๋ยทั้งสองอย่างมาผสมกันก็จะได้ปุ๋ยที่มีคุณสมบัติทั้งการบำรุงดิน และเพิ่มผลผลิตที่สูง ปุ๋ยดังกล่าวเรียกโดยทั่วไปว่า ปุ๋ยอินทรีย์เคมี

ปุ๋ยอินทรีย์เคมี เป็นปุ๋ยที่มีการผสมกันระหว่างปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมีเข้าด้วยกันจึงให้ผลผลิตสูงพร้อมกับการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ ปุ็ยอินทรีย์เคมีจะประกอบด้วยแร่ธาตุหลักคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในปริมาณที่สูง และแร่ธาตุเสริมอื่นๆด้วยจากส่วนผสมของปุ๋ยทั้งสอง นอกจากตัวแร่ธาตุแล้วปุ๋ยอินทรีย์เคมีจะให้อินทรีย์วัตถุที่ทำหน้าที่ในการบำรุงดินในด้านต่างๆจากส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากเศษพืชหรือมูลสัตว์ ทั้งนี้อัตราส่วนของปริมาณแร่ธาตุ และอินทรีย์วัตถุในปุ๋ยอินทรีย์เคมีจะขึ้นกับอัตราส่วนที่ทำการผสม โดยแนะนำให้อัตราส่วนของปุ๋ยอินทรีย์มากกว่าปุ๋ยเคมีในอัตราส่วน 1:3 เพราะปุ๋ยอินทรีย์เองก็สามารถให้แร่ธาตุได้เหมือนกันแต่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีเท่านั้นเอง

ปุ๋ยอินทรีย์เคมี

ดังนั้น ปุ๋ยอินทรีย์เคมีจึงมีประโยชน์มากกว่าปุ๋ยเคมีอย่างเดียวที่มีบทบาทเพียงให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของดินในด้านต่างๆให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งดินที่ขาดแคลนธาตุอาหารหรือมีปริมาณธาตุอาหารไม่เพียงพอสามารถแก้ไขได้โดยการใส่ปุ๋ยเคมี แต่หากดินที่เป็นกรด ด่าง ดินที่มีความเค็ม ดินที่เป็นดินเหนียวแน่นทึบ ไม่สามารถระบายน้ำได้ดี ดินชนิดนี้ไม่สามารถด้วยการแก้ไขด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวได้ จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีอินทรีย์วัตถุให้แก่ดินจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาได้

อินทรีย์วัตถุ (Organic matter) คือ อินทรีย์สารที่เกิดจากการผุผัง ย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น เศษใบไม้ เศษหญ้า ซากสัตว์ตาย เศษอาหาร โดยถูกทับถม และเป็นองค์ประกอบของดิน ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากทั้งด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ และด้านเคมีของดิน

1. ด้านกายภาพ
อินทรีย์วัตถุจะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของดินในด้านองค์ประกอบของดินให้มีความเหมาะสมทั้งในส่วนของเนื้อดิน น้ำ อากาศ และอินทรีย์วัตถุในดิน ทำให้ดินจับตัวกัันเป็นก้อน โปร่ง ร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำได้ดี โดยดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกที่ดีควรมีอัตราส่วนองค์ประกอบเนื้อดินประมาณร้อยละ 45 น้ำร้อยละ 25 อากาศร้อยละ 25 และอินทรีย์วัตถุร้อยละ 5

2. ด้านชีวภาพอินทรีย์วัตถุในดินถือเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตในดิน อาทิ จุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ทั้งแบคทีเรีย รา และสิ่งมีชีวิตในดินขนาดเล็กที่เป็นสัตว์หน้าดิน เช่น ไส้เดือน จิ้งหรีด มด เป็นต้น ทั้งนี้ จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตบางชนิดในดินสามารถป้องกันการเกิดโรคของพืชได้ อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ภายในดินให้กลายเป็นฮิวมัส ซึ่งเป็นสารที่สามารถดูดซับน้ำได้ดี และสามารถแลกเปลี่ยน และดึงประจุบวกของแร่ธาตุได้เป็นอย่างดี

3. ด้านเคมีของดิน
อินทรีย์วัตถุถือเป็นแหล่งให้แร่ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืช เช่น ไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแร่ธาตุเสริมอื่นๆ อาทิ แมกนีเซียม แคลเซียม กำมะถัน เป็นต้น ธาตุอาหารเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาผ่านกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตในดิน นอกจากนี้อินทรีย์วัตถุในดินยังมีสารในกลุ่มของคาร์บอซิลิก (cabocylic: COOH) และฟินอลิก (phenolic: OH) ซึ่งจะให้ประจุลบที่สามารถดูดซับประจุบวกของธาตุอาหารที่เกิดจากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุหรือการดึงดูดแร่ธาตุในดินบริเวณไกล้เคียงเอาไว้ทำให้รากพืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้อินทรีย์วัตถุยังเพิ่มความต้านทานการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นกรด-ด่างของดินในพื้นที่รอบข้าง เนื่องด้วยคุณสมบัติของอินทรีย์วัตถุที่ทำหน้าที่คล้ายตัวบัฟเฟอร์ที่มีทั้งประจุบวก และลบ ทำให้ดินไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงความเป็นกรด-ด่างมากนัก

เนื่องจากอินทรีย์วัตถุมีการย่อยสลายอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะพื้นที่เขตร้อนจะมีอัตราการย่อยสลายที่เร็วกว่าพื้นที่ในแถบหนาวที่สูงมาก นอกจากนั้นยังพบอัตราการชะล้าง และซึมลงใต้ดินของแร่ธาตุในปริมาณที่สูงต่อปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใส่อินทรีย์วัตถุแก่ดินอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะฤดูหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนการเพาะ และระหว่างการเพาะปลูก ซึ่งหากหลังการเก็บเกี่ยวเกษตรกรสามารถประหยัดต้นทุนปุ๋ยที่ใช้ด้วยการไถกลบตอพืช เช่น การไถกลบตอข้าวหลังการเก็บเกี่ยว แต่ถ้าหากเกษตรกรใช้วิธีการเผาแทนจะทำให้สูญเสียอินทรีย์วัตถุโดยใช่เหตุ อีกทั้งยังทำให้หน้าดินแข็ง สูญเสียธาตุอาหาร สูญเสียสัตว์หน้าดิน และจุลินทรีย์ในดินอีกด้วย

สำหรับปุ๋ยอินทรีย์เคมี ผู้ที่ผลิตต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรที่ได้กำหนดไว้ คือ
1. ปุ๋ยอินทรีย์ต้องมีธาตุอหารหลักตั้งแต่ 2 ธาตุขึ้นไป
2. ธาตุอาหารหลักต้องรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 12 ของน้ำหนัก
3. ธาตุอาหารหลักแต่ละชนิดต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของน้ำหนัก
4. ปริมาณอินทรีย์วัตถุต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนัก