ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักชีวภาพ และวิธีทำปุ๋ยหมัก

Last Updated on 28 มิถุนายน 2016 by puechkaset

ปุ๋ยหมัก หมายถึง ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากหมักบ่มสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้สลายตัว และผุพังไปบางส่วน ทำให้ได้ปุ๋ยที่มีลักษณะสีคล้ำดำ มีลักษณะเป็นผง ละเอียดเหมาะ สำหรับการปรับปรุงดิน และให้ธาตุอาหารแก่พืช

วัสดุอินทรีย์ที่ใช้สำหรับการหมัก อาจเป็นเศษพืชสด วัสดุอินทรีย์เผา รวมถึงอาจผสมซากของสัตว์ หรืออาจผสมปุ๋ยคอกก็ได้ และหากนำมากองรวมกัน พร้อมรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ จุลินทรีย์ก็จะทำการย่อยสลายขึ้นซึ่งสังเกตได้จากกองปุ๋ยหมักจะมีความร้อนเกิดขึ้น เมื่อเกิดความร้อนจึงจำเป็นต้องคลุกกลับกองปุ๋ย และรดน้ำให้ทั่ว ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ได้อย่างทั่วถึง และหากความร้อนในกองปุ๋ยหมักมีอุณหภูมิใกล้เคียงกันในทุกจุด และความร้อนมีน้อยจึงจะแสดงได้ว่า ปุ๋ยหมักปุ๋ยพร้อมใช้งานแล้ว

ปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายได้ดีแล้วจะมีลักษณะเป็นเม็ดละเอียดสีน้ำตาลดำ มีความร่วนซุย และมีกลิ่นฉุนของการหมัก เมื่อนำปุ๋ยหมักไปใช้ในแปลงเกษตรก็จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งช่วยเพิ่มแร่ธาตุ อินทรีย์วัตถุ ปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง และช่วยให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น เป็นต้น

ปุ๋ยหมัก

ขอบคุณภาพจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ความเป็นมาของปุ๋ยหมัก
มนุษย์รู้จักการทำปุ๋ยหมักตอนไหนอาจระบุให้ชัดเจนได้ยาก แต่จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในสมัยจักรวรรดิ์อัคคาเดียน บริเวณที่ราบลุ่มเมโสโปเมียมีบันทึกเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกพืช จนมาถึงสมัยโรมัน และกรีกก็มีหลักฐานบันทึกไว้เช่นกัน โดยมีการใช้สารอินทรียใส่ในแปลงปลูกพืช และมีการพัฒนาการนำอินทรีย์วัตถุมากองรวมกันก่อนที่จะนำไปใช้คล้ายกับวิธีการทำปุ๋ยหมักด้วยการกองในปัจจุบัน

Sir Albert Howard ถือว่าเป็นผู้ริเริ่ม และมีการศึกษาเกี่ยวกับปุ๋ยหมักไว้เป็นผู้แรกๆ โดยกำหนดแนวทางการทำปุ๋ยหมักไว้ว่า ปุ๋ยหมักที่ดีต้องใช้เศษพืชกับมูลสัตว์ในอัตราส่วน 3 : 1 และควรนำวัสดุมากองรวมกันเป็นชั้นๆ พร้อมให้คลุกกลับกองปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ ต่อมาสถาบัน ICAR เมือง Bangalore ประเทศอินเดียได้พัฒนาวิธีการทำปุ๋ยหมักแบบใหม่ขึ้น ด้วยการนำดินมากลบกองปุ๋ยหมักเพื่อทำให้เกิดสภาพไร้อากาศ แต่วิธีนี้จะมีการย่อยสลายของจุลินทรีย์ช้ากว่าแบบมีอากาศ แต่จะมีข้อดีที่ไม่ต้องดูแลมาก เรียกวิธีนี้ว่า Bangalore Method

ระหว่างปี ค.ศ. 1920-1930 ประเทศในแถบทวีปยุโรปได้มีการพัฒนากระบวนการทำปุ๋ยหมัก และมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการจัดการ ทำให้สามารถทำปุ๋ยหมักได้ในปริมาณมาก และทำได้สะดวกขึ้น ซึ่งขณะนั้น Dr. Giovanni Beccari ประเทศอิตาลี ได้คิดค้นกระบวนหมักแบบไม่ใช้อากาศในขั้นแรก และต่อมาจะใช้กระบวนการหมักแบบใช้อากาศ เรียกวิธีนี้ว่า Beccari Process และต่อมาประเทศฝรั่งเศสได้ปรับปรุงกระบวนการหมักด้วยการพ่นอากาศเข้าในกองปุ๋ยหมักเพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ และระบายของเหลวออก เรียกวิธีนี้ว่า Verder Process

ปี ค.ศ. 1931 Jean Bordas ได้ดัดแปลงกรรมวิธีการหมักแบบ Indore Process โดยตัดขั้นตอนแรกที่ปล่อยให้ย่อยสลาย โดยกระบวนการที่ไม่ต้องการอากาศออก แต่มีการพ่นอากาศเข้าไปในถังที่ใช้สำหรับทำปุ๋ยหมัก ในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี 1932 ได้มีการใช้วิธี V.I.M. Process โดยยึดวิธีการของ Indore Process เป็นหลักซึ่งใช้ขยะเทศบาลเป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมักเป็นกองยาวและสูงมีการระบายน้ำส่วนเกินออกและนำกลับไปพ่นในกองใหม่อีกครั้งหนึ่ง และอาศัยเครื่องสำหรับบดขยะให้ละเอียด ต่อมาในประเทศสหรัฐอเมริการ ในช่วงปี ค.ศ. 1942 J.I Rodale ได้ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยหมักจากวิธี Indore Process สำหรับการเพาะปลูก ตั้งแต่นั้นมา ได้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหลักการการผลิตปุ๋ยหมักได้อย่างแพร่หลาย โดยได้มีการปรับปรุง และพัฒนากระบวนการผลิตปุ๋ยหมักมาตลอด

กระบวนการหมักของปุ๋ยหมัก
1. การหมักแบบใช้ออกซิเจน
เมื่อวัสดุหมักเกิดการย่อยสลายจนได้สารอินทรีย์ตั้งต้น ได้แก่ ไขมัน โปรตีนคาร์โบไฮเดรต เซลลูโลส ลิกนิน ฯลฯ สารเหล่านี้ จะถูกจุลินทรีย์จำพวกที่ใช้ออกซิเจนย่อยสลายด้วยการดึงออกซิเจนมาใช้ในกระบวนการ และสุดท้ายจะได้ผลิตภัณฑ์เป็นฮิวมัส น้ำ ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แอมโมเนีย (NH3) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และพลังงานความร้อน

2. การหมักแบบไม่ใช้ออกซิเจน
สารอินทรีย์จะถูกย่อยสลายในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน โดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์จำพวกที่ไม่ใช้ออกซิเจน 2 กลุ่ม คือ จุลินทรีย์สร้างกรด และจุลินทรีย์สร้างมีเธน ซึ่งจะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สุดท้าย ได้แก่ ก๊าซมีเธน (CH4) ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แอมโมเนีย (NH3) และพลังงานความร้อน

จุลินทรีย์ของปุ๋ยหมัก
กระบวนการย่อยสลายในกองปุ๋ยหมักเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์กลุ่มที่ใช้ออกซิเจน และกลุ่มที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งทั้งสองกลุ่มจะทำหน้าที่ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มีโมเลกุลใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง จนกระทั่งเกิดการย่อยสลายเสร็จสมบูรณ์จนได้สารอินทรีย์วัตถุที่เรียกว่า ปุ๋ยหมัก (Compost) กระบวนการย่อยสลายดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยจุลินทรีย์หลายชนิดรวมกันและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะอุณหภูมิปานกลาง (Mesophilic Phase) เป็นช่วงแรกของการย่อยสลาย จำนวนจุลินทรีย์ค่อยๆเพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งจะมีอุณหภูมิประมาณ 20-45 °C
2. ระยะอุณหภูมิสูง (Thermophilic Phase) เป็นช่วงที่มีการเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์เกือบคงที่ และเกิดการย่อยสลายทั่วทั้งกอง โดยอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 45 – 60 °C หรือมากกว่า ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมจะต้องไม่ต่ำกว่า 45 °C เป็นช่วงที่เกิดการย่อยสลายมากที่สุดจนทำให้เกิดความร้อนสะสมในกองปุ๋ยหมัก
3. ระยะอุณหภูมิลดลง (Maturation Phase) เป็นช่วงที่จุลินทรีย์บางส่วนเริ่มตายลง ปริมาณอินทรีย์ถูกย่อยสลายจนหมด อัตราการย่อยสลายจึงลดลง ทำให้อุณหภูมิของกองปุ๋ยหมักลดลงตามมา ซึ่งเป็นระยะที่จะเสร็จสิ้นการย่อยสลาย

ชนิดของปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักแบ่งตามส่วนผสมเป็น 2 ชนิด คือ ปุ๋ยหมักทั่วไป และปุ๋ยหมักชีวภาพ
1. ปุ๋ยหมักแบบทั่วไป และวิธีทำ
ปุ๋ยหมักแบบทั่วไป เป็นปุ๋ยที่ได้จากการนำวัสดุอินทรีย์ชนิดต่างๆมาหมักตามกระบวนการทางธรรมชาติ โดยไม่มีการเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อเร่งการหมัก ซึ่งการหมักจะเกิดการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุจากจุลินทรีย์ ทำให้มีการปลดปล่อย ธาตุอาหารออกมาได้รวดเร็วขึ้น

วิธีการทำปุ๋ยหมักแบบทั่วไป
– เริ่มด้วยการนำเอาเศษพืช และมูลสัตว์ผสมกันในอัตราส่วน 100 : 10 กองเป็นชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยเศษพืชที่รดน้ำให้ชุ่มจนอิ่มน้ำ และโรยทับด้วยมูลสัตว์
– ขั้นตอนการกองปุ๋ยหมัก แยกวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย และเป็นอันตรายออก แล้วนำวัสดุหรือเศษพืชที่เก็บรวบรวมได้มากองบนดินในคอก หรือในหลุมโดยกองเป็นชั้นสลับกันไปโดย เริ่มจากชั้นล่างสุดกองเศษพืชหรือวัสดุลงไปตามขนาดกว้างยาวของกองที่กำหนดไว้สูงประมาณ 25 เซนติเมตร
– รดน้ำให้ชุ่ม แล้วอัดให้แน่น ให้น้ำซึมเข้าไปในเศษพืชหรือวัสดุ
– โรยทับด้วยสารเร่ง เช่น ปุ๋ย มูลสัตว์ หรือดินในอัตราส่วนโดยน้ำหนักเศษพืชต่อมูลสัตว์ เท่ากับ 5 : 1
– ในกรณีที่ใช้ปุ๋ยเคมีเสริม เพื่อลดอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนหรือต้องการลดระยะเวลาการผลิตต้องใช้เศษพืช : ปุ๋ยคอก :ปุ๋ยเคมี ในอัตราส่วน 100 : 20 : 1 ตามลำดับ โดยจะผสมหรือโรยทับบนชั้นกองปุ๋ยหมักก็ได้
– ทำการเรียงสลับจนได้กองสูงประมาณ 1 เมตร แล้วโรยด้วยดินหนาประมาณ 1 นิ้ว ที่ชั้นบนสุด เพื่อป้องกันนกมาคุ้ยเขี่ย ช่วยป้องกันความร้อน และรักษาความชื้นของกองปุ๋ยให้คงที่
– สำหรับการหมักแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี อายุการหมักจะหมักนาน 5-7 เดือน แต่หากใส่ปุ๋ยเคมีร่วมด้วยจะหมักนาน 3-5 เดือน

2. ปุ๋ยหมักชีวภาพ และวิธีการทำ
ปุ๋ยหมักชีวภาพ เป็นวิธีการทำปุ๋ยหมักที่มีการพัฒนาขึ้น เพื่อให้การย่อยสลายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยการเติมหัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือ EM เพื่อเร่งกระบวนการหมัก ทำให้เกิดปุ๋ยจากอินทรีย์วัตถุที่มีการปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เร็วขึ้น แบ่งเป็นชนิดต่างๆ ได้แก่

1. ปุ๋ยหมักจากปุ๋ยคอก
วัสดุ และส่วนผสม
– ปุ๋ยคอก 1 ส่วน ประมาณ 10 ปี๊ป
– แกลบเผา/แกลบดำ 1 ส่วน
– รำละเอียด 1 ส่วน
– เชื้อ EM 20 ซีซี
– กากน้ำตาล 100 ซีซี
– น้ำ 10 ลิตร

วิธีทำ
– ผสมปุ๋ยคอก แกลบดำ และวัสดุทุกอย่างให้เข้ากัน
– นำไปกองบนพื้นซีเมนต์ แล้วใช้ผ้าคลุมหรือหากทำปริมาณน้อย ให้บรรจุใส่ถังหรือถุงกระสอบ
– หมักทิ้งไว้ 30 วัน ก่อนนำใส่ต้นไม้หรือแปลงผัก

2. ปุ๋ยหมักจากพืช
1. ปุ๋ยหมักฟางข้าว
วัสดุ และส่วนผสม
– ฟางแห้งสับละเอียด 1 ส่วน ประมาณ 10 กก.
– แกลบดิบ/แกลบเผา 1 ส่วน
– ปุ๋ยยูเรีย 200 กรัม
– กากน้ำตาล 100 ซีซี
– เชื้อ EM 20 ซีซี
– น้ำ 10 ลิตร

วิธีทำ
– คลุกผสมฟาง และแกลบให้เข้ากัน หากมีจำนวนมากให้แยกคลุก แล้วค่อยมารวมกันเป็นกองเดียวอีกครั้ง
– ผสมเชื้อ EM และกากน้ำตาลร่วมกับน้ำ หลังจากนั้น ใช้เทราด และคลุกให้เข้ากันกับวัสดุอื่นๆ
– นำไปหมักในถัง ถุงกระสอบ หรือ บ่อซีเมนต์ นาน 1-2 เดือน ก็สามารถนำไปใช้ได้

3. ปุ๋ยหมักชีวภาพจากเศษอาหาร และขยะ
ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร หากมีเฉพาะเศษอาหารที่เป็นพืชมักจะไม่มีปัญหา เพราะเวลาเน่าจะมีกลิ่นเหม็นไม่รุนแรง เราสามารถนำไปคลุกกับปุ๋ยคอกในรางทำปุ๋ยหมักได้เลย แต่หากมีเนื้อสัตว์จะมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

สำหรับบางครัวเรือนที่มีข้อจำกัดปริมาณเศษอาหารที่เกิดน้อย หากต้องการทำปุ๋ยหมักจำเป็นต้องทำรางหมักหรือหลุมหมัก แต่หากจะหมักในถังจะมีข้อจำกัดที่เต็มเร็ว

การทำรางหมัก ควรหาพื้นที่ว่างบริเวณหลังบ้าน ขนาดพื้นที่ประมาณ 1 เมตร x 1 เมตร ลึกประมาณ 20-40 เซนติเมตร หรืออาจน้อยกว่า หรืออาจมากกว่าตามความต้องการ แต่ควรให้รองรับเศษอาหารให้ได้ประมาณ 1 เดือน และควรทำ 2 ชุด พร้อมฉาบด้านข้างด้วยปูนซีเมนต์ แต่หากไม่มีปัญหาเรื่องน้ำฝนหรือน้ำไหลเข้า ก็อาจขุดเป็นบ่อดินก็เพียงพอ ทั้งนี้ ควรทำร่องด้านข้าง เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้า และควรเตรียมผ้าใบคลุมเมื่อฝนตก

วัสดุ และส่วนผสม
– ปุ๋ยคอก 1 ใน 4 ส่วนของรางหมัก
– แกลบดำ 2 ถัง หรือไม่ใส่ก็ได้
– น้ำผสมหัวเชื้อเชื้อ EM 1 ลิตร
– กากน้ำตาล 1 ลิตร

วิธีทำ
– หลังจากที่เตรียมรางหมักแล้ว ให้เทปุ๋ยคอก และแกลบดำรองในรางไว้
– เมื่อมีเศษอาหาร ให้นำมาใส่ในราง พร้อมใช้จอบคลุกผสมกับปุ๋ยคอก
– รดด้วยน้ำหัวเชื้อชีวภาพ และกากน้ำตาลบริเวณที่ใส่เศษอาหารเล็กน้อย
– หากมีเศษอาหารเกิดขึ้นอีก ก็นำมาคลุก และใส่น้ำหัวเชื้อ ตามด้วยกากน้ำตาลเรื่อยๆจนเต็มบ่อ
– หากเต็มบ่อแล้ว ให้นำผ้าคลุกมาปิดไว้ และทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ก่อนตักออกนำไปใช้ประโยชน์
– ระหว่างที่หมักทิ้ง ให้นำเศษอาหารที่เกิดในแต่ละวันมาหมักในอีกบ่อ ซึ่งจะเวียนกันพอดีในรอบเดือน
– ทั้งนี้ บางครัวเรือนอาจไม่สะดวกในการหาซื้อหัวเชื้อหรือกากน้ำตาล ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้ก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีปุ๋ยคอก หรือใช้ปุ๋ยอื่น เช่น ปุ๋ยมูลไก่ ซึ่งส่วนนีี้จำเป็นต้องใช้

นอกจาก การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักแล้ว ปัจจุบันยังนิยมนำเศษอาหารทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งก็ง่าย และสะดวกไปอีกแบบ อ่านเพิ่มเติม น้ำหมักชีวภาพ

หลักพิจารณาปุ๋ยหมักพร้อมใช้
1. ปุ๋ยหมักจะมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำ
2. อุณหภูมิทั่วกองปุ๋ยหมักมีค่าใกล้เคียงกัน เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาการหมักเกือบหมดแล้ว
3. หากใช้นิ้วมือบี้ ก้อนปุ๋ยหมักจะแตกยุ่ยออกจากกันง่าย
4. พบเห็ด เส้นใยรา หรือ พืชอื่นขึ้น
5. กลิ่นของกองปุ๋ยหมักจะมีกลิ่นฉุนที่เกิดจากการหมัก
6. หากนำปุ๋ยหมักไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการจะพบอัตราส่วนของคาร์บอน และไนโตรเจนประมาณ 20:1 หรือคาร์บอนมีค่าน้อยกว่า 20 (ไนโตรเจนยังคงเป็น 1)

การนำปุ๋ยหมักไปใช้
1. ใช้ในขั้นตอนเตรียมดิน/เตรียมแปลง ด้วยการนำปุ๋ยหมักชีวภาพโรยบนแปลง 2-3 กำมือ/ตารางเมตร ก่อนจะทำการไถพรวนดินรอบ 2 หรือ ก่อนการไถยกร่อง
2. ใช้ในแปลงผัก และสวนผลไม้ ด้วยการนำปุ๋ยหมักชีวภาพ 1-2 กำมือ โรยรอบโคนต้น

ธาตุอาหารในปุ๋ยหมัก
• ปุ๋ยหมักจากขยะเทศบาล :
– N = 1.52
– P2O5 = 0.22
– K2O = 0.18
• ปุ๋ยหมักจากหญ้าแห้ง :
– N = 1.23
– P2O5 = 1.26
– K2O = 0.76
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลกระบือ :
– N = 0.82
– P2O5 = 1.43
– K2O = 0.59
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลโค :
– N = 2.33
– P2O5 = 1.78
– K2O = 0.46
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลแพะ :
– N = 1.11
– P2O5 = 4.04
– K2O = 0.48
• หญ้าหมัก+กระดูกป่น+มูลม้า :
– N = 0.82
– P2O5 = 2.83
– K2O = 0.33
• ปุ๋ยหมักจากใบจามจุรี :
– N = 1.45
– P2O5 = 0.19
– K2O = 0.49
• ปุ๋ยหมักจากฟางข้าว :
– N = 0.85
– P2O5 = 0.11
– K2O = 0.76
• ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลไก่ :
– N = 1.07
– P2O5 = 0.46
– K2O = 0.94
• ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลโค :
– N = 1.51
– P2O5 = 0.26
– K2O = 0.98
• ปุ๋ยหมักฟางข้าว+มูลเป็ด :
– N = 0.91
– P2O5 = 1.30
– K2O = 0.79
• ปุ๋ยหมักจากผักตบชวา :
– N = 1.43
– P2O5 = 0.48
– K2O = 0.47
• ปุ๋ยหมักผักตบชวา+มูลสุกร :
– N = 1.85
– P2O5 = 4.81
– K2O = 0.79
• ปุ๋ยอินทรีย์ (เทศบาล) ชนิดอ่อน :
– N = 0.95
– P2O5 = 3.19
– K2O = 0.91
• ปุ๋ยอินทรีย์ (เทศบาล) ชนิดปานกลาง :
– N = 1.34
– P2O5 = 2.44
– K2O = 1.12
• ปุ๋ยอินทรีย์ (เทศบาล) ชนิดแรง :
– N = 1.48
– P2O5 = 2.96
– K2O = 1.15

ประโยชน์ปุ๋ยหมัก
1. เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งปริมาณอินทรีย์วัตถุ แร่ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
2. ช่วยในการย่อยสลายซากพืช ซากสัตว์ในดิน ทำให้ธาตุอาหารถูกพืชนำไปใช้ได้รวดเร็วขึ้น
3. ช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน
4. ช่วยต้านการแพร่ของจุลินทรีย์ก่อโรคพืชชนิดต่างๆในดิน
5. ทำให้ดินมีความร่วนซุย จากองค์ประกอบของดินที่มีดิน อินทรีย์วัตถุ น้ำ และอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสม
6. ช่วยปรับสภาพ pH ของดิน ให้เหมาะสมกับการปลูกพืช
7. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดึงแร่ธาตุของพืชจากปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอื่นที่เกษตรกรใส่
8. ช่วยดูดซับความชื้นไว้ในดินให้นานขึ้น ทำให้ดินชุ่มชื้นตลอดเวลา