ผักบุ้งไทย สรรพคุณ และการปลูกผักบุ้งไทย

Last Updated on 26 มิถุนายน 2016 by puechkaset

ผักบุ้งไทย เป็นพันธุ์ผักบุ้งท้องถิ่น และเป็นพันธุ์ผักบุ้งดั้งเดิมของไทย ซึ่งเป็นที่นิยมนำมารับประทาน และใช้ประกอบอาหารไม่แพ้พันธุ์ผักบุ้งจีน เนื่องจาก มีลำต้น และใบใหญ่ ให้รสกรอบหวาน เนื้อลำต้น และใบไม่เหนียว

ชื่อวิทยาศาตร์ : Ipomoea aquatica Forsk.
ชื่ออังกฤษ (สามัญ) :
– water convolvulus
– water spinash
– kangkong
– morning glory

ผักบุ้งไทย แบ่งเป็น 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ก้านแดง และพันธุ์ก้านเขียวขาว ซึ่งทั้ง 2 พันธุ์ มีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนที่สีของลำต้น รวมถึงมีขนาดใบและลำต้นที่ต่างกัน โดยพันธุ์เขียวขาวจะมีลักษณะลำต้น และใบใหญ่กว่า และให้เนื้อที่กรอบมากกว่า จึงเป็นที่ต้องการของตลาด และมีราคาสูงมากกว่าพันธุ์ก้านแดง เนื่องจากพันธุ์ก้านแดงมีลำต้น และใบเล็ก เนื้อลำต้น และใบค่อนข้างเหนียว ซึ่งพันธุ์นี้จะนิยมเก็บมารับประทานเฉพาะส่วนยอดอ่อนเท่านั้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. พันธุ์ก้านแดง
ลำต้น
ลำต้นพันธุ์ก้านแดงที่อยู่บนบกจะตั้งตรง แต่ไม่สูงมาก สูงประมาณ 5-15 ซม. หากสูงมากกว่านี้ลำต้นจะโน้มลงพร้อมเลื้อย ขนาดลำต้นเล็กประมาณ 0.3-0.8 เซนติเมตร แตกกิ่งได้มาก เป็นพันธุ์ที่มีลำต้นเลื้อยได้ยาวที่สุดในบรรดาผักบุ้งทุกพันธุ์ อาจเลื้อยยาวได้ถึง 10 เมตร โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่มีน้ำท่วม และสามารถแตกรากตามข้อได้ดี พันธุ์นี้ลำต้นจะมีสีเขียวเข้ม เขียวอมแดง หรือแดงม่วง มียอดยาวได้มากกว่า 50 เซนติเมตร ลำต้นมีเนื้อค่อนข้างเหนียว แต่ยอดอ่อนให้ความกรอบได้ดี

ก้านแดง

ใบ
ใบ ออกเป็นเดี่ยว สีเขียวเข้ม แทงออกบริเวณข้อตรงข้ามกันเป็นคู่ ใบค่อนข้างแหลมยาว ฐานใบมน ปลายใบแหลม ใบบริเวณยอดจะสั้น ยาว 2-4 เซนติเมตร กว้าง 1-2 เซนติเมตร ใบส่วนโคนจะยาวกว่า 5-10 เซนติเมตร กว้าง 3-5 เซนติเมตร

ดอก
ดอกพันธุ์ก้านแดงจะออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงดอกมีสีเขียว ส่วนกลีบดอกมีสีขาวอมม่วง ดอกมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์ก้านเขียวขาว ส่วนอื่นมีลักษณะคล้ายกัน

ผล และเมล็ด
ผลมีลักษณะเป็นแคปซูล ภายในมีเมล็ด 2-4 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างคล้ายสามเหลี่ยม มีสีดำ ส่วนฐานเมล็ดมนใหญ่

2. พันธุ์ก้านเขียวขาว
ลำต้น
ลำต้นบนบกมีลักษณะตั้งตรง พร้อมเลื้อยหากต้นยาวมาก แต่หากอยู่ในแหล่งน้ำจะเป็นเถาเลื้อยลอยน้ำ ลำต้นมีลักษณะอวบใหญ่ ประมาณ 1-2 ซม. ซึ่งจะใหญ่กว่าผักบุ้งไทยพันธุ์ก้านแดง และใหญ่กว่าพันธุ์ผักบุ้งจีน มีความสูงของลำต้นปานกลาง สูงประมาณ 20-30 ซม. สูงกว่าผักบุ้งไทยพันธุ์ก้านแดง แต่จะต่ำกว่าผักบุ้งจีน ลำต้นมีสีเขียวอมขาวเล็กน้อย ลำต้น ทั้งส่วนโคน และยอดอ่อนจะให้เนื้อกรอบได้ดีมาก มีความกรอบมากกว่าผักบุ้งจีน และผักบุ้งพันธุ์ก้านแดง

ก้านเขียวขาว

ขอบคุณภาพจาก thaifoodshop.co.uk

ใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบสลับตรงข้ามกัน ก้านใบใหญ่ยาว ฐานใบใหญ่ มนเป็นรูปหัวใจ ก้านใบ มีสีเขียวอมขาว ใบมีสีเขียวสด ใบยาว 10 – 15 เซนติเมตร กว้าง 5 – 10 เซนติเมตร

ดอก
ดอกพันธุ์ก้านเขียวอมขาวจะออกดอกเป็นสีขาวทั่วดอก มีกลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกมีขนาดใหญ่ มีรูปทรงกรวย แทงออกตามซอกใบ ดอกออกเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอกย่อย 2-7 ดอก มีเกสรตัวผู้มี 5 อัน ความยาวไม่เท่ากัน

ผล และเมล็ด
ผล และเมล็ดมีลักษณะคล้ายพันธุ์ก้านแดง แต่มีขนาดใหญ่กว่าทั้งฝัก และเมล็ด

ประโยชน์ผักบุ้งไทย
1. ผักบุ้งไทยนิยมนำมาประกอบอาหาร ได้แก่ ผัดผักบุ้ง ลวกผักบุ้ง ใส่ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
2. ผักบุ้งไทย นิยมเก็บมาเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ได้แก่ เลี้ยงกระต่าย เต่า หมู เป็ด ไก่ ห่าน เป็นต้น การเลี้ยงจะใช้วิธีการสับเป็นชิ้นเล็กผสมกับอาหารพวกรำ และข้าวนึ่ง แต่สัตว์ที่กินเฉพาะพืช เช่น เต่า กระต่าย จะให้ทั้งต้น
3. ผักบุ้งไทย นิยมใช้เป็นอาหารปลา เช่น บ่อเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน เป็นต้น รวมถึงใช้ปลูกหรือปล่อยตามบ่อเลี้ยงปลา เพื่อให้เป็นแหล่งพักอาศัยของปลาวัยอ่อน หรือเป็นแหล่งวางไข่สำหรับปลาบางชนิด
4. ใช้สำหรับเป็นพืชพรรณไม้น้ำประดับตู้ปลา
5. ผักบุ้งไทยพันธุ์ก้านแดงมีลำต้นเลื้อยยาว เกษตรกรมักปล่อยให้เลื้อยาวเพื่อคลุมหน้าดินในบางจุด เช่น ริมขอบสระ แต่ในบางครั้ง หากมีการแพร่กระจายมากมักจะมีข้อเสียที่เป็นพืชรุกรานชนิดหนึ่ง

คุณค่าทางโภชนาการ
– พลังงาน 29 แคลอรี่
– ไขมัน 0.5 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 4.2 กรัม
– โปรตีน 3.9 กรัม
– แคลเซียม 60.0 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 66.0 มิลลิกรัม
– เหล็ก 5.6 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน 1.2 กรัม
– วิตามิน A 8.055 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1 0.09 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 0.25 มิลลิกรัม
– วิตามิน C 59.0 มิลลิกรัม
– เส้นใย 1.1 กรัม

ที่มา ; กองโภชนาการ (2513)(1)

สรรพคุณผักบุ้งไทย
ผักบุ้งไทย โดยเฉพาะพันธุ์ก้านแดง เมื่อนำมาต้มน้ำจะได้น้ำที่มีสีเขียวเข้ม เนื่องจากลำต้น และใบมีสารคลอโรฟิลล์มาก (chlorophyll) รวมถึงสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoid) และฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารเหล่านี้มีสรรพคุณทางยาหลายด้าน ได้แก่

ลำต้น และใบ
– ช่วยบำรุงสายตา ลดความเสี่ยงโรคตา
– ช่วยขับสารพิษ สารเคมีเป็นพิษออกจากร่างกาย
– บำรุงเลือด ป้องกันโรคเลือดจาง
– บำรุงระบบประสาท ช่วยให้นอนหลับ
– เสริมสร้างภูมิต้านทาน กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดแดง และเมล็ดเลือดขาว
– บำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวหมองคล้ำ
– กระตุ้นระบบขับถ่าย
– ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็ง

รากผักบุ้ง
– ใช้ลดอาการเป็นมูกขาวในสตรี
– ลดอาการปวดบวมของแผล
– บรรเทาอาการไอ

การปลูกผักบุ้งไทย
ผักบุ้งไทยตามธรรมชาติสามารถขยบายพันธุ์ และเติบโตได้ด้วยการแตกเหง้าใหม่ และการเจริญจากเมล็ด โดยพันธุ์ก้านแดง เป็นพันธุ์ที่พบแพร่กระจายทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา และเป็นพันธุ์ที่พบมากบนบก เป็นพันธุ์ที่เกษตรไม่นิยมปลูก แต่สามารถเลี้ยง และดูแลตามแหล่งธรรมชาติทั่วไปเพื่อนำมาประกอบอาหาร และจำหน่าย

พันธุ์ก้านเขียวขาว เป็นพันธุ์ที่พบได้น้อยกว่าพันธุ์ก้านแดง ส่วนมากพบในแหล่งน้ำ ตามแม่น้ำลำคลอง สระน้ำ บึง มากกว่าที่จะพบบนบก และเป็นพันธุ์ที่เกษตรกรเลี้ยงเพื่อนำมารับประทาน และเพื่อจำหน่ายมากกว่าพันธุ์ก้านแดง ซึ่งทั่วไปนิยมเลี้ยงในแหล่งน้ำต่างๆ

ก้านเขียวขาว1

การปลูก และขยายพันธุ์ผักบุ้งไทยทั้ง 2 พันธุ์ สามารถทำได้ด้วยการขยายลำต้นใหม่ ด้วยการนำเหง้าหรือลำต้นไปปล่อยเลี้ยงตามแหล่งน้ำ ซึ่งผักบุ้งจะแตกเหง้าใหม่เองตามธรรมชาติ ส่วนการปลูกหรือการขยายพันธุ์บนบกไม่เป็นที่นิยม เพราะผักบุ้งไทยสามารถเก็บหาได้ทั่วไปในทุกที่ และลำต้น และใบที่เติบโตบนบกจะค่อนข้างเล็ก และให้เนื้อเหนียวมากกว่าการปลูกขยายพันธุ์ในน้ำ

เอกสารอ้างอิง
untitled