ประยงค์ สรรพคุณ และการปลูกประยงค์

Last Updated on 5 กันยายน 2016 by puechkaset

ประยงค์ (Chinese Rice flower) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกตามบ้านเรือน และสถานที่สาธารณะต่างๆ เนื่องจาก ลำต้นค่อนข้างเตี้ย ลำแตกกิ่งมาก และใบดก ทำให้เป็นทรงพุ่มหนา นอกจากนั้น ดอกประยงค์ยังมีสีเหลืองสวยงาม และส่งกลิ่นหอมแรงเมื่อดอกบาน

• วงศ์ : Meliaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aglaia odorata Lour.
• ชื่อสามัญ : Chinese Rice flower
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– ประยงค์บ้าน
– ประยงค์ใบใหญ่
ภาคเหนือ
– ขะยง
– ขะยม
– พะยงค์ ยม
ภาคใต้
– หอมไกล

การแพร่กระจาย
ประยงค์ มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า ลาว อินโดนีเชีย เป็นต้น รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ และอินเดีย ซึ่งมักพบตามป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ บ้านเรือน ริมแม่น้ำลำคลองต่างๆ

ประยงค์

ประยงค์ที่พบในประเทศไทย 3 ชนิด
1. ประยงค์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Alglaia chaudocensis pierre.
2. ประยงค์บ้าน ชื่อวิทยาศาสตร์ Alglaia odorata lour.
3. ประยงค์ป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Alglaia odoratissima blume.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ประยงค์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นแตกกิ่งมาก และมีใบดกทำให้เป็นทรงพุ่มหนาทึบ ทรงพุ่มค่อนข้างเป็นวงกลม ลำต้นสูงประมาณ 3-6 เมตร และอาจพบสูงได้มากกว่านี้ ลำต้นมีกิ่งแตกออกที่ระดับต่ำประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นส่วนของแกนลำต้น ส่วนที่เหลือเป็นกิ่งหลัก ผิวลำต้นไม่ค่อยเรียบ มักเป็นลูกคลื่น เปลือกลำต้นมีสีเทา ส่วนเนื้อไม้ของต้น และกิ่ง เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย ไม่นิยมใช้สำหรับการก่อสร้างหรือการแปรูปต่างๆ แต่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

ต้นประยงค์

ขอบคุณภาพจาก www.weekendhobby.com

ใบ
ใบประยงค์ เป็นใบประกอบ แตกออกตามปลายกิ่ง ประกอบด้วยก้านใบหลักที่มีลักษณะทรงกลมคล้ายกิ่ง แตกออกเรียงสลับกันถี่บนกิ่ง โดยแต่ละก้านใบจะประกอบด้วยใบประมาณ 3-5 ใบ แต่ละใบมีลักษณะรูปไข่แหลม คือ โคนใบสอบแหลม และยาว ส่วนปลายใบกว้างมน ส่วนแผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวสด ทั้งด้านล่าง และด้านบน ส่วนขนาดใบแบ่งได้ตามชนิดพันธุ์ ได้แก่
– ชนิดพันธุ์ใบใหญ่ กว้าง 1.5-3.5 เซนติเมตร ใบยาว 5-12 เซนติเมตร
– ชนิดพันธุ์ใบใหญ่ กว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ใบยาว 2.5-5.5 เซนติเมตร

ดอก
ดอกประยงค์ แทงออกเป็นกระจุกช่อบริเวณปลายกิ่ง แต่ปลายละกิ่งจะมีก้านช่อดอก 1-10 ช่อ แต่ละช่อยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร และมีดอกประมาณ 10-20 ดอก ดอกประกอบด้วยก้านดอกสั้นๆ สีเหลืองอมเขียว ปลายสุดเป็นตัวดอกที่มีลักษณะทรงกลม สีเหลืองสด คล้ายไข่ปลา ประกอบด้วยกลีบดอกสีเหลืองโค้งหุ้มรังไข่ และเชื่อมติดกันเป็นพู จำนวน 5 กลีบ โดยตรงกลางเป็นส่วนของเกสรตัวผู้ 5 อัน และรังไข่ ส่วนขนาดดอกจะแบ่งออกตามพันธุ์ ได้แก่
– ชนิดพันธุ์ใบใหญ่ ดอกมีขนาดประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร
– ชนิดพันธุ์ใบใหญ่ ดอกมีขนาดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร

ทั้งนี้ ใน 1 ปี ประยงค์จะออกดอกได้ประมาณ 3 ครั้ง คือ
– ครั้งแรก ประมาณเดือนมกราคม
– ครั้งที่ 2 เดือนมีนาคม-เมษายน
– ครั้งที่ 3 เดือนสิงหาคม-กันยายน

ผล และเมล็ด
ผลประยงค์ มีลักษณะรูปไข่ ขนาดผลกว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบ และเป็นมัน ผลดิบมีสีเหลือง และค่อยเปลี่ยนเป็นสีส้ม ส้มแดง เมื่อสุกจัดจะเป็นสีแดงเข้ม และเสื่อมกลายเป็นสีดำ ถัดจากเปลือกผลจะเป็นเมล็ดที่มีลักษณะรูปไข่ เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาล ทั้งนี้ 1 ผล จะมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

เพิ่มเติมจาก : 4)

ผลประยงค์

ประโยชน์ประยงค์
1. ประยงค์มีใบดกเขียว มีดอกสีเหลืองออกเป็นช่อ และบานจะส่งกลิ่นหอมแรง จึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
2. ดอกประยงค์มีกลิ่นหอม นิยมใช้อบเสื้อผ้าหรือใช้ผสมในการหุงข้าว ซึ่งช่วยให้ผ้าหรือข้าวหุงมีกลิ่นหอมขึ้น
3. ดอกประยงนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับเป็นส่วนผสมของน้ำหอม หรือ ใช้ทานวดบนฃรรเทาอาการปวดเมื่อย
4. ประยงค์มีลำต้นเตี้ย ใบดก ทรงพุ่มหนา จึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา
5. ดอกบานสดหรือดอกแห้ง ใช้วางในห้องนอน ห้องน้ำสำหรับปรับกลิ่นให้หอม ช่วยดับกลิ่นเหม็นของกลิ่นต่างๆ
6. สารสกัดหรือน้ำต้มจากใบประยงค์ใช้รดแปลงผัก ช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช ซึ่งมีสาร rocaglamide ที่สามารถออกฤทธิ์ป้องกันการกัดกินของแมลงได้ โดยเฉพาะหนอนกระทู้ชนิดต่างๆ
7. สารสกัดจากใบ และดอก ใช้ยับยั้งการงอกของเมล็ดพันธุ์พืชบางชนิดได้

สารสำคัญที่พบในประยงค์
ใบ และลำต้น
– Aglaiol/Aglaitriol/Aglaiondiol
– 24s- Aglaitriol
– Epimer
– Eudesmin
– Rocaglamide
– Odorine
– Odorinol
– Lupinifolin

ดอก
– Ceryl alcohol
– β- sterol
– Tritriacontane

สารที่มีคุณสมบัติป้องกัน และกำจัดแมลง
– Rocaglamide
– Dihydrobenso furan

สารออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา
– Rocaglaol
– Rocaglamide
– Aglafolin Pannellin
– Agalroxin A
– Thapoxeoine A
– Aglalactone
– Blasticidin S

ที่มา : 2), 4), 5) อ้างถึงเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณประยงค์
ใบ (รสฝาดขม)
– ใบสดหรือใบตากแห้งนำมาต้มดื่ม ช่วยบำรุงหัวใจ
– ช่วยลำน้ำตาลในเส้นเลือด
– ป้องกันโรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหัวใจ
– แก้กามโรค
– ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ
– แก้อาการเมาค้าง
– แก้อาการปวดศรีษะ วิงเวียนศรีษะ
– ช่วยเจริญอาหาร
– ใบนำมาบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนใช้พอกประคบรักษาแผล แก้แผลน้ำหนองไหล แก้แผลฟกช้ำ
– ใบนำมาขยำ ก่อนอุดรูจมูก ช่วยหยุดการไหลของเลือดกำเดา
– ใบนำมาบดผสมน้ำสำหรับทารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน หรือใช้ต้มน้ำอาบสำหรับป้องกัน และรักษาได้เช่นกัน

ดอก (รสฝาดขม)
– ดอกสดหรือดอกแห้งนำมาต้มดื่ม ช่วยแก้ตัวร้อน ช่วยลดไข้
– น้ำต้มจากดอกดื่มเร่งการคลอดบุตร
– ช่วยในการขับสารพิษ
– ช่วยแก้อาการไอ ลดอาการเจ็บคอ
– แก้อาการวิงเวียนศรีษะ
– ช่วยบำรุงหัวใจ
– ลดอาการแน่นหน้าอก
– ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
– บำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร
– รักษาโรคที่เกี่ยวกับปอด เช่น มะเร็งปอด ปอดอักเสบ โรคติดเชื้อราหรือไวรัสในปอด
– ช่วยให้ผ่อนคลาย ช่วยลดความเครียด แก้อาการนอนไม่หลับ
– บำรุงประสาท ป้องกันความจำเสื่อม
– ป้องกันโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

ลำต้น (รสฝาดขม)
– เปลือก และแก่นลำต้นนำมาต้มดื่มช่วยแก้ปอดอักเสบ
– ช่วยลดเสมหะ
– บรรเทาอาการไอ ลดอาการอักเสบของลำคอ
– แก้โรคท้องร่วง

ราก (รสฝาดขม)
– รากนำมาต้มดื่มใช้เป็นยาทำให้อาเจียนเมื่อมีอาการเมาหรือเมาค้าง
– ช่วยลดไข้ แก้อาการตัวร้อน
– ช่วยการเจริญอาหาร กระตุ้นการอยากอาหาร
– แก้เลือดกำเดาออก
– แก้โรคกระเพาะอาหาร และแก้อาเจียนเป็นเลือด

นอกจากนี้ ยังพบสาร odorine, odorinol ที่พบในใบ และกิ่งของประยงค์สามารถออกฤทธิ์ป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

เพิ่มเติมจาก 1), 2), 3), 4) อ้างถึงเอกสารหลายฉบับ

รูปแบบการใช้ประโยชน์
1. ดอกนำมาตากแห้งสำหรับใช้ชงเป็นชาดื่ม
2. ใบนำมาต้มดื่ม หรือบดผสมน้ำใช้ภายนอก
3. ใบนำมาตากแห้งสำหรับชงเป็นชา
4. ผลนำมาตากแห้งสำหรับต้มดื่มหรือใช้ดองเหล้า
5. ราก แก่น และเปลือกลำต้นใช้ฝนผสมน้ำสำหรับใช้ภายนอก หรือต้มน้ำสำหรับดื่ม

การปลูกประยงค์
การปลูกขยายพันธุ์ประยงค์สามารถทำได้ทั้งการเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำกิ่ง แต่ที่นิยม คือ การตอนและการปักชำกิ่ง เพราะช่วยให้ได้ต้นพันธุ์ไม่สูง ต้นออกดอกได้หลังปลูก

การตอนกิ่ง
– การตอนกิ่งประยงค์ ควรทำในฤดูฝน เพราะสภาพอากาศไม่ร้อนมาก และมีน้ำฝนคอยให้น้ำตามธรรมชาติ
– กิ่งตอน ควรเลือกกิ่งสีน้ำตาล กิ่งมีความอวบ ไม่ควรเลือกกิ่งแก่ที่ค่อนข้างหยาบ แห้ง
– วัสดุตอน ควรใช้ขุ๋ยมะพร้าวที่ได้จากการขยี้ นำมาหมักด้วยน้ำนาน 1-2 วัน นำใส่ในถุงพลาสติก และรัดด้วยเชือกฟาง ก่อนผ่าหุ้มบริเวณกิ่งตอน
– การตอนประยงค์จะใช้เวลาประมาณ 1.5-2 เดือน จึงจะเกิดราก และควรให้รากมีสีน้ำตาลก่อนค่อยตัดกิ่งลงปลูกลงดิน

การปักชำ
– การปักชำกิ่งประยงค์ ควรทำในฤดูฝนเช่นกัน
– กิ่งปักชำ ควรเลือกกิ่งสีน้ำตาล กิ่งมีความอวบ จากนั้น ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร
– วัสดุที่ใช้ปักชำ ควรเป็นดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ อาทิ แกลบดำ อัตราส่วนดิน:แกลบดำ ที่ 1:2
– การปักชำจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กิ่งประยงค์ก็จะแทงหยอดใหม่ และควรให้มีใบแล้ว 3-5 ใบ ค่อยลงปลูก

การปลูกประยงค์ หากต้องการให้ลำต้นเตี้ย และทรงพุ่มใหญ่หนา ควรทำการตัดแต่งกิ่งในทุกปี เพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งมาก

ขอบคุณภาพจาก www.bloggang.com

เอกสารอ้างอิง
1