Last Updated on 26 พฤษภาคม 2023 by puechkaset
บอนเต่า เป็นพืชล้มลุก มีลักษณะคล้ายบอนชนิดอื่นๆ แต่มีขนาดเล็กกว่า พบได้ในป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง และพบได้ในทุกภาค นิยมนำใบอ่อน และช่อดอกอ่อนมาประกอบอาหาร อาทิ แกงอ่อม แกงเปอะ ใส่แกงหน่อไม้ ลวกจิ้มน้ำพริก ซุปบอนเต่า เป็นต้น รวมถึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเช่นกัน
อนุกรมวิธาน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hapaline benthamiana Schott.
วงศ์ : Araceae
การแพร่กระจาย และแหล่งที่พบ
บอนเต่าเป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในประเทศไทย พม่า ลาว และเวียดนาม โดยในประเทศไทยพบแทบทุกภาค พบได้มากตามพื้นที่เชิงเขา ที่ลุ่มที่ดอน และลำห้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
บอนเต่า เป็นไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดิน หัวมีลักษณะกลม เปลือกหุ้มสีดำอมเทา
ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว แตกแทงโผล่จากหัวขึ้นบนดิน สูงประมาณ 15-30 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านใบเรียวยาว ตัวใบมีรูปหัวใจ โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก แผ่นใบเรียบ สีเขียวสด หรือ สีเขียวเข้ม หรือ มีลายประสีขาว
ดอก
ดอกบอนเต่าออกดอกเป็นช่อ แทงออกจากกลางหัวโผล่พ้นดิน สูง 10-30 เซนติเมตร ประกอบด้วยก้านดอกทรงกลมสีขาวอมเขียว ส่วนปลายเป็นตัวดอก มีลักษณะเป็นแท่ง ทรงกระบอกยาว ปลายช่อแหลม ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก
ผล และเมล็ด
มักไม่ติดผล
ประโยชน์
บอนเต่า เป็นพืชล้มลุก ใบเหี่ยวแห้งในฤดูแล้ง แล้วแตกต้นใหม่ในต้นฤดูฝน ซึ่งจะเป็นส่วนยอดและดอก
1. นิยมนำมาทำเป็นอาหาร สามารถรับประทานได้ทุกส่วน โดยจะใช้ใบอ่อน หรือ ช่อดอกอ่อน ที่เพิ่งแทงโผล่พ้นดิน สามารถหาเก็บได้ในป่าช่วงต้นฤดูฝน
2. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับเหมือนกับบอนชนิดอื่นๆ
สารสำคัญที่พบ
จันทรา จันทราภิรมย์ ได้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสจากส่วนเหนือดินของพืชบอนเต่า โดยพบองค์ประกอบของสารจำนวน 58 ชนิด จำแนกเป็นสารประจุบวกจำนวน 17ชนิด สารประจุลบจำนวน 46 ชนิด
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชศาสตร์ พบว่า สารสกัดสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส และฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระได้ดี
โดยพบว่า cucurbitacin I 2-glucoside และ gingerglycolipid C สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสได้ดีที่สุด ส่วนฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่า p-coumaroylquinic acid, genistic acid, 6-c-fucosylluteolin และ protocatechuic acid สามารถออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด
องค์ประกอบทางเคมีสามารถแบ่งกลุ่มได้ ดังนี้
1. amino acid,
2. phenolic acid
3. flavonoid
4. fatty acid
5. carboxylic acid
6. Steroid
7. monosaccharide/Disaccharide derivative
ที่มา : [1]
สรรพคุณ
ส่วนหัว
– ต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงเลือด และสมอง
– ใช้ฝนหรือบดทาแก้พิษแมลงกัดต่อย
ที่มา : [1], [2]
วิธีปลูก
บอนเต่าตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยหัว ซึ่งหัวแก่จะแตกหัวใหม่หรือหัวอ่อนออกเรื่อยๆ หากต้องการปลูกหรือขยายพันธุ์จะต้องใช้วิธีขุดหัวมาปลูกต่อเป็นวิธีหลัก
เอกสารอ้างอิง
[1] จันทรา จันทราภิรมย์.2563. ได้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์อะซิติล
โคลีนเอสเทอเรสจากส่วนเหนือดินของพืชบอนเต่า.
[2] บอนเต่า. ออนไลน์. สมุนไพรมหิดล/คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล. สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2556. เข้าถึงได้ที่ : https://www.matichonweekly.com/column/article_140556/