Last Updated on 23 มิถุนายน 2016 by puechkaset
นางแย้ม (Glory tree) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกเพื่อการชมดอก เนื่องจาก ดอกออกเป็นช่อ ขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยดอกย่อยสีขาวอมม่วงจำนวนมาก ช่อดอกโดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกล นอกจากนั้น เมื่อดอกบานยังส่งกลิ่นหอมยิ่งนัก จึงนิยมปลูกไว้ในบ้าน หน้าบ้านเป็นสำคัญ
• วงศ์ : Lamiaceae
• สกุล : Clerodendrum L.
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศจีนตอนใต้ และเวียดนามตอนเหนือ
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum philippinum Schauer
• ชื่อสามัญ :
– Glory bower
– Glory tree
– Burma conehead
– Stink bush
– Honolulu rose
– Fragrant clerodendrum
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– นางแย้ม (ทุกภาค)
ภาคเหนือ
– ปิ้งสมุทร
– ปิ้งชะมด
– ปิ้งซ้อน
กระเหรี่ยง – กาญจนบุรี
– กระอุมเปอ
อีสาน
– ส้วนใหญ่ (โคราช)
การแพร่กระจาย
นางแย้ม เป็นพืชท้องถิ่นในเอเชียแถบร้อน พบมากในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย ส่วนในไทยพบได้ในทุกภาค โดยตามธรรมชาติจะพบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และชอบขึ้นตามที่ชุ่ม เช่น ริมหนองน้ำ ลำห้วย ที่มีแสงแดดส่องรำไร
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
นางแย้ม เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุ 3-5 ปี ลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นแตกกิ่งปานกลางถึงมาก กิ่งมีลักษณะสามเหลี่ยม เปลือกลำต้น และกิ่งมีสีน้ำตาลอมดำ และมีขนปกคลุมทั่ว เปลือกสามารถลอกออกเป็นแผ่นได้ ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน มีความแข็งน้อย เปราะหักง่าย
ใบ
นางแย้มเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับตรงข้าม และตั้งฉากกันบนกิ่ง มีก้านใบยาว 5-10 เซนติเมตร ใบมีรูปหัวใจ มีโคนใบเว้าตรงกลางเป็นฐาน ส่วนปลายใบแหลม ใบกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ขอบใบหยักมน มองเห็นเส้นใบหลัก 5-7 คู่ และมีเส้นแขนงใบย่อยเป็นร่างแหชัดเจน แผ่นใบมีขนปกคลุมทั้งด้านบนด้านล่าง เมื่อจับใบจะรู้สึกอ่อนนุ่ม
ดอก
ดอกนางแย้มแทงออกเป็นช่อ บริเวณปลายยอด ดอกเรียงอัดกันแน่นเป็นกระจุก 20-30 กว้าง 6-12 เซนติเมตร แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงบริเวณฐานดอก ปลายกลีบดอกแยกเป็น 5-6 แฉก ส่วนตัวดอกมีลักษณะสีขาวอมม่วง ประกอบด้วยกลีบดอกหลายกลีบเรียงซ้อนกัน คล้ายดอกมะลิ เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาด 2-3 เซนติเมตร แต่ละดอกจะบานไม่พร้อมกัน โดยจะเริ่มบานจากดอกที่อยู่ด้านนอกก่อน และทยอยบานจนถึงดอกด้านในสุด มีระยะเวลาบานนานหลายวัน เมื่อบานจะส่งกลิ่นหอมแรง โดยนางแย้มที่เริ่มออกดอกแล้วจะทยอยออกดอกตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ดอกนางแย้มตรงกลางจะมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย แต่เกสรทั้งสองจะไม่สมบูรณ์ จึงไม่พบการติดผล
นางแย้มเป็นพันธุ์ไม้ดอกชนิดหนึ่งที่พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงประพันธ์เป็นเนื้อร้องไว้ คือ
นางแย้ม แย้มโอษฐ์เอื้อม พาที
แผ่วหวาน ซ่านฤดี โหยไห้
งดงาม ดั่งเทวี ลอยเลื่อน
มาลี แย้มกลิ่นใกล้ หอมดั่ง เนื้อนวล
ยามไกล อุราร้อน ดั่งไฟ
รักเจ้า มากเพียงใด ย่อมรู้
คิดถึง ด้วยหัวใจ ครวญคร่ำ
ห่างกัน แม้เพียงครู่ สุดแสน เนิ่นนาน
ประโยชน์นางแย้ม
1. นางแย้มนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกออกเป็นกระจุกขนาดใหญ่ ตัวดอกมีสีขาวสวยงาม และสิ่งกลิ่นหอม
2. ดอกนำมาใช้บูชาพระ ถวายพระ หรือ ใส่ทำน้ำหอมทรงพระ
3. ช่อดอกนางแย้มที่บานแล้วมากกว่าครึ่ง นำมาวางในห้องน้ำ ห้องนอน หรือ ห้องรับแขก ช่วยให้กลิ่นห้องหอม และช่วยดับกลิ่นอื่นๆ
4. ใบนางแย้มมีขนาดใหญ่ หากเก็บรวบรวมจะได้จำนวนมาก สามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยหมักใช้ได้ดี
สาระสำคัญที่พบ
ใบ และลำต้น
– Tannin
– Quinine
– Codeine
– Phenol
ดอก
– น้ำมันหอมระเหยหลายชนิด
– Saponin Glycoside
– Flavonoid Glycoside
– Cyanogenetic Glycoside
– Alkaloid
– Terpenoid
– Steroid
ที่มา : 2)
สรรพคุณนางแย้ม
ดอก
– ดอกนำมาต้มน้ำดื่ม ทั้งดอกสด หรือนำดอกมาตากแห้ง ก่อนบด สำหรับชงเป็นชาดื่ม ช่วยให้ผิวพรรณแลดูขาว แลดูอ่อนวัย
– น้ำต้มช่วยแก้ฝีภายใน
– ช่วยแก้ปัสสาวะเหลือง
– ช่วยขับลมในระบบทางเดินอาหาร
– ช่วยแก้ท้องอืด
– ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
– ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– ป้องกันโรคเหน็บชา อาการชาตามมือเท้า
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยฆ่าเชื้อในระบบทางเดินอาหาร แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยรักษาอาการปวดฟัน ทั้งน้ำต้ม หรือ นำดอกสดมาเคี้ยว
– ช่วยสมานแผล และช่วยห้ามเลือด ทั้งที่ได้จากน้ำต้มจากดอก หรือ นำดอกมาขยำสำหรับประคบบนแผล
– ช่วยลดเรือนรอยด่างดำ โดยนำดอกมาบีบคั้นก่อนนำมาพอกหน้า
– ดอกบานสด มีกลิ่นหอม นำมาสูดดม ช่วยให้ผ่อนคาย
ใบ
– รักษาโรคผิวหนัง แก้อาการผื่นคัน
– แก้โรคไขข้ออักเสบ
– ช่วยในการสมานแผล
– ช่วยแก้ท้องอืด
– ช่วยขับเสมหะ
– ช่วยระงับอาการไอ แก้ไอเรื้อรัง
– รักษาโรคไขข้อ แก้ข้ออักเสบ
– แก้ปวดเมื่อยร่างกาย
เปลือกลำต้น และแก่น
– เปลือก และลำต้นนำมาต้มดื่ม ช่วยแก้ท้องเสีย
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยบรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ
ราก
– รากนำมาต้มดื่ม ช่วยแก้ปวดข้อ
– แก้อาการปวดหัว ตัวร้อนเป็นไข้
– แก้เหน็บชา
– แก้ริดสีดวง
– ช่วยขับประจำเดือน ปรับประจำเดือนให้เป็นปกติ
– แก้ปัสสาวะขุ่น
– แก้หลอดลมอักเสบ
– ช่วยบำรุงประสาท
– แก้ไตพิการ
– รักษาโรคลำไส้อักเสบ
เพิ่มเติมจาก : 1), 2)
การปลูกนางแย้ม
การปลูกนางแย้มในปัจจุบัน สามารถปลูกได้ด้วยกิ่งตอน กิ่งปักชำ และต้นใหม่ที่เกิดบริเวณราก ส่วนการปลูกด้วยเมล็ดมักไม่นิยม เพราะไม่ค่อยติดเมล็ด ทำให้หาเมล็ดยากมาก
ต้นนางแย้มที่ตัดชำกิ่งจะเริ่มแทงหน่อจากดินหลังปักชำประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจะเติบโตอยู่ประมาณ 3 เดือน ก็จะเริ่มแทงช่อดอก เมื่อแทงช่อดอกออกมาแล้วจะใช้เวลาบานประมาณ 1 เดือน ดอกจึงจะบานครบหมด
เอกสารอ้างอิง