Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ถั่วแดง (Kidney bean) เป็นถั่วพุ่มที่มีเมล็ดคล้ายไต เมล็ดมีหลายสี อาทิ สีแดง สีแดงเข้มหรือแดงม่วง และสีชมพู นิยมใช้ประกอบอาหารทั้งคาว และหวาน ในไทยพบปลูก 2 ชนิด คือ ถั่วแดงหลวง และถั่วนิ้วนางแดง
• วงศ์ : Leguminosae
• ชื่อสามัญ :
– Kidney bean (ชื่อเรียกทั่วไป เพราะเมล็ดมีรูปร่างคล้ายไต)
– Red kidney bean (เป็นชื่อเรียกสามัญในไทย)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phasecolus vulgaris L.
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ถั่วแดงหลวง
– ถั่วนิ้วนางแดง
– ถั่วท้องนา
– ถั่วบ้านนา
– ถั่วนาเต็มกำ
ชนิดถั่วแดงในประเทศไทย
ถั่วแดงที่นิยมปลูกในไทยมี 2 ชนิด ได้แก่
1. ถั่วนิ้วนางแดง
2. ถั่วแดงหลวง (นิยมปลูกมากที่สุด)
ถั่วนิ้วนางแดง
ถั่วนิ้วนางแดง หรือ ถั่วแดง หรือจังหวัดเลยเรียกว่า ถั่วบ้านนา หรือ ถั่วท้องนา มีชื่อเรียกเดิมว่า ถั่วแดงซีลอน เป็นถั่วแดงไวแสงที่นำเข้ามาจากศรีลังกา เป็นถั่วแดงที่นิยมปลูกชนิดหนึ่ง แต่ยังปลูกน้อยกว่าถั่วแดงหลวง นิยมปลูกแซมตามแปลงพืชอื่น อาทิ ข้าวโพด
ถั่วนิ้วนางแดง มีการส่งออกต่างประเทศปีละหลายล้านบาท มีตลาดสำคัญที่ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพราะเป็นถั่วที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับถั่วอัดซูกิ (adzuki bean) ที่สามารถใช้แทนกันสำหรับทำไส้ขนมปังเป็นหลัก มีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเลย (วังสะพุง และอำเภอเชียงคาน) ขอนแก่น พิษณุโลก และจังหวัดอื่นเพียงเล็กน้อย อาทิ เพชรบูรณ์ และเชียงราย เป็นต้น [1]
ถั่วนิ้วนางแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Phaseolus calcaratus Roxb. มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นกึ่งเลื้อย ทุกส่วนมีขนปกคลุม ดอกมีสีเหลือง ฝักมีขนาดเท่ากับถั่วเขียว แต่ยาวกว่าเล็กน้อย ฝักห้อยลงดินแลดูคล้ายนิ้วคน จึงเป็นชื่อเรียก ถั่วนิ้วนางแดง ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อน หรือมีสีดำ เมล็ดมีสีแดง เมล็ดมีขนาดเล็กกกว่าถั่วแดงหลวง ฝักที่มีสีน้ำตาลอ่อนจะมีเมล็ดเล็กกว่าฝักสีดำ [2]
ถั่วแดงหลวง
• อาณาจักร Kingdom : Plantae
• อาณาจักรย่อย : Spermatophyta
• ชั้น : Dicotyladonae
• อันดับ หรือ ตระกูล : Polypetalae
• วงศ์ : Leguminosae
• สกุล : Phaseolus
• ชนิด : Phaseolus calcaratus Roxb.
ถั่วแดงหลวงมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ ต่อมามีการแพร่กระจายไปสู่อเมริกากลาง แอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย
สำหรับประเทศไทย ถั่วแดงหลวงถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรกโดยโครงการหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2514 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัศนี เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาในภาคเหนือปลูกเป็นพืชทดแทนฝิ่น ภายใต้ความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ (UN) ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2526 จำนวน 2 พันธุ์ คือ Canadian Wonder และ Royal Dark Red ต่อมาการได้รับสนับสนุนเมล็ดพันธุ์จากสหประชาชาติได้สิ้นสุดลง ทำให้เกิดปัญหาการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ จนในที่สุด โครงการหมอกจ๋าม อ. แม่อาย จ. เชียงใหม่ จึงได้ทดลองปลูก และพัฒนาเมล็ดพันธุ์ขึ้นเอง พันธุ์ที่พัฒนาได้เรียกขณะนั้นว่า พันธุ์หมอกจ๋าม และส่งเสริมให้ปลูก 2 พันธุ์ตามสีเมล็ด คือ พันธุ์เมล็ดสีแดงเข้มหรือแดงอมม่วง และพันธุ์เมล็ดสีแดงสด แต่พบว่า เกษตรกรไม่นิยมพันธุ์เมล็ดสีแดงเข้มหรือแดงอมม่วง แต่นิยมปลูกพันธุ์สีแดงสดมากกว่า และกลายเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมาจนถึงทุกวันนี้ [3], [7]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ถั่วแดงหลวงเป็นพืชล้มลุกอายุฤดูเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งแขนงออกเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ คล้ายกับลำต้นถั่วเหลือง สูงประมาณ 40-65 เซนติเมตร
ใบ
ใบถั่วแดงหลวงเป็นใบประกอบ ออกเรียงกันเป็นใบเดี่ยวตามข้อกิ่ง แต่ละใบมีก้านใบทรงกลม ก้านใบมีขอบโค้งงุ้ม และเป็นร่องตรงกลาง ถัดมาเป็นใบย่อย จำนวน 3 ใบ ใบย่อยคู่แรกอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนอีกใบอยู่ตรงกลาง
ใบย่อยแต่ละใบมีรูปหอก มีขนาดไม่เท่ากัน กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร โคนใบเป็นฐานกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวสด และมีขนปกคลุม แผ่นใบมีเส้นใบหลัก 3 เส้น
ดอก
ถั่วแดงหลวงออกดอกเป็นช่อ เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียในดอกเดียวกัน มีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนใต้ฐานดอก 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีสีขาว หรือสีชมพู ขึ้นกับสายพันธุ์ แผ่นกลีบ และขอบกลีบย่น ปลายกลีบโค้งมน
ฝัก และเมล็ด
ฝักถั่วแดงหลวงมีลักษณะคล้ายฝักถั่วเหลือง เป็นรูปทรงกระบอก เรียวยาว ฝักกว้างประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีดำ ภายในมีเมล็ด 3-6 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียว และแก่เต็มที่เป็นสีแดง สีแดงเข้ม สีแดงชมพู ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร
พันธุ์ถั่วแดงหลวง
พันธุ์ตามสีเมล็ด
1. พันธุ์สีแดง
พันธุ์สีแดงเข้มมีหลายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Monicalm Califonia ที่นำเข้ามาจากประเทศแคนยา และ พันธุ์ Royal ที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา ส่วนพันธุ์ชื่อไทย ได้แก่ หมอกจ๋าม ที่พัฒนาขึ้นจากโครงการหมอกจ๋าม จ.เชียงใหม่ ในปี 2528 เริ่มทดลองปลูกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ทราบชื่อพันธุ์ดั้งเดิมที่แน่ชัด จึงตั้งชื่อให้ว่า พันธุ์หมอกจ๋าม ตามสถานที่ปลูกพัฒนาพันธุ์ ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูงสูดประมาณ 300 กิโลกรัม/ไร่ ทั้งนี้ พันธุ์สีแดงแต่ละพันธุ์จะมีสีเมล็ดแตกต่างกันเล็กน้อย อาทิ แดงเข้ม และแดงสด
2. พันธุ์สีชมพู
พันธุ์สีชมพู ที่มีการปลูก ได้แก่ พันธุ์ Moniton 1 มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดจะมีขนาดใหญ่กว่าพันธุ์สีแดงเข้มและให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่า แต่มีข้อเสีย คือ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะส่วนใหญ่นิยมเมล็ดสีแดงสดมากกว่า [4]
กลุ่มพันธุ์ตามการเติบโต
• กลุ่มที่ 1 ลำต้นเป็นทรงพุ่ม และไม่ทอดยอด ซึ่งหยุดเติบโตทางลำต้นหลังการออกดอกแล้ว มีข้อลำต้นประมาณ 5-9 ข้อ
• กลุ่มที่ 2 ลำต้นเป็นทรงพุ่ม แต่ทอดยอด และลำต้นเติบโตต่อหลังการออกดอก มีข้อลำต้นประมาณ 7-23 ข้อ
• กลุ่มที่ 3 ลำต้นเป็นแบบกึ่งเลื้อย แต่ทอดยอด และเติบโตต่อหลังการออกดอก มีข้อลำต้นประมาณ 11-30 ข้อ
• กลุ่มที่ 4 ลำต้นเป็นแบบเถาเลื้อย แต่ทอดยอด และเติบโตต่อหลังการออกดอก มีข้อลำต้นประมาณ 13-35 ข้อ [8]
มาตรฐานคุณภาพเมล็ดถั่วแดงหลวง [5]
1. ขนาดเมล็ด (เฉลี่ย)
– ความกว้าง : 7.5-8.5 มิลลิเมตร
– ความยาว : 16.0-17.5 มิลลิเมตร
– ความหนา : 5.0-6.5 มิลลิเมตร
– น้ำหนัก 100 เมล็ด : 40-60 กรัม
2. เมล็ดสีแดงสด
– ค่าความสว่าง : 26-32 (ไม่ควรต่ำกว่า 24)
– ค่าสีแดง : 18-22 (ค่าสูงสุดไม่ควรเกิน 25)
– ค่าสีเหลือง : 10-15
ประโยชน์ถั่วแดง
1. ถั่วแดงหลวงใช้ทำขนมของหวานหรืออาหารคาวต่างๆ โดยเฉพาะชาวอเมริกาและยุโรปที่นิยมกันมาก อาทิ ถั่วแดงหลวงต้มน้ำตาล ซุบถั่วแดงหลวง และคัสตาร์ดถั่วแดง เป็นต้น
2. ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริมหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อสำหรับลดความอ้วน และป้องกันโรคเบาหวาน เนื่องจากถั่วแดงหลวงมีใยอาหารสูง ทำให้รู้สึกอิ่มนาน ไม่หิวบ่อย ช่วยในการลดความอ้วนได้อย่างดี
3. แป้งถั่วแดงหลวงใช้สำหรับผลิตวุ้น
4. ถั่วแดงใช้ผสมทำข้าวหลาม ข้าวต้มมัด ใส่ในน้ำเต้าหู้ และทำไส้ขนมปัง เป็นต้น
5. ฝักอ่อนถั่วแดงนำมารับประทานสดหรือใช้ประกอบอาหาร ทำอาหารไดเหมือนกับถั่วแขก ถั่วพุ่มหรือถั่วฝักยาว แต่ควรเป็นฝักที่ด้านในยังมีเมล็ดอ่อนขนาดเล็ก ไม่ควรเป็นเมล็ดขนาดใหญ่ เพราะเปลือกฝักมีเสี้ยนมาก
6. ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเลี้ยงสัตว์ แต่ต้องทำให้สุกด้วยการต้มหรืออบเสียก่อน และไม่ควรให้รับประทานมาก เพราะจำทำให้สัตว์ท้องอืดได้ นอกจากนั้น ลำต้น และใบสดยังใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ได้ดี
ประโยชน์ทางโภชนาการ
1. ถั่วแดงสามารถรับประทานเป็นแหล่งเสริมโปรตีนหรือเป็นแหล่งโปรตีนหลักได้ เนื่องจากมีโปรตีนสูง นอกจากนั้น ยังพบวิตามิน และเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายอีกหลายชนิด
2. ถั่วแดงมีปริมาณโซเดียม และกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ แต่มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง อาทิ กรดลิโนเลอิก เป็นต้น
3. ใยอาหารที่พบมากในถั่วแดงช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดได้โดยตรง เพราะมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำดีออกจากระบบทางเดินอาหาร ทำให้กระตุ้นการสร้างน้ำดีใหม่อย่างต่อเนื่อง
4. ใยอาหารช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะใยอาหารสามารถช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด โดยใยอาหารจะเปลี่ยนสภาพเป็นรูปเจลเข้าเคลือบผิวเยื่อบุในลำไส้เล็ก ทำให้เกิดการดูดซึมน้ำตาลได้ลดลง
5. ใยอาหารช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ และป้องกันโรคถุงโป่งพองในลำไส้ใหญ่ได้ เนื่องจาก ใยอาหารประเภทที่ไม่ละลายน้ำ อาทิ เซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส และลิกนิน ทำหน้าที่กระตุ้นการขับถ่ายได้ดี และช่วยดูดซับหรือนำพาสารพิษตกค้างในอาหารเพื่อขับออกมาพร้อมกับอุจจาระได้
6. ช่วยลดความอ้วน รักษาหุ่นให้สมส่วน เพราะเจลที่เกิดจากแป้งหรือใยอาหารทำหน้าที่เคลือบผิวลำไส้เล็ก ทำให้การดูดซึมน้ำตาล และไขมันเป็นเป็นอย่างช้า เมื่อรับประทานแล้วทำให้รู้สึกอิ่มนาน ไม่ทานอาหารจุกจิก ทำให้ได้รับสารอาหารไม่เกินความต้องการของร่างกาย
ทั้งนี้ ถั่วแดงดิบมีสารต้านโภชนาการที่ลดการย่อยได้ของโปรตีน หากรับประทานดิบจะทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง ดังนั้น ต้องทำให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง
คุณค่าทางโภชนาการถั่วแดงหลวง (เมล็ดดิบ 100 กรัม)
Proximates | ||
น้ำ | กรัม | 12.0 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 346 |
โปรตีน | กรัม | 18.2 |
ไขมัน | กรัม | 2.2 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 63.3 |
ใยอาหาร | กรัม | 23.8 |
เถ้า | กรัม | 4.3 |
Minerals | ||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 115 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 415 |
Vitamins | ||
ไทอะมีน | มิลลิกรัม | 0.16 |
ไรโบฟลาวิน | มิลลิกรัม | 1.32 |
ไนอะซีน | มิลลิกรัม | 2.7 |
ที่มา : [10]
สรรพคุณถั่วแดง
– ใยอาหารในถั่วแดงหลวงช่วยกระตุ้นการขับถ่าย และป้องกันอาการท้องผูก รวมถึงช่วยขจัดสารตกค้างหรือพิษตกค้างที่สะสมในระบบทางเดินอาหาร และลำไส้
– สีแดงหรือสีม่วงแดงในถั่วแดงหลวงประกอบด้วยสารแอนโธไซยานินทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชันได้อย่างดี ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ ผิวพรรณไม่คล้ำหมอง แลดูสดใส และไม่แก่เกินวัย
– ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้
– ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความเสี่ยงการเกิดโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– รักษาอาการชาตามนิ้วมือ นิ้วเท้า
– ช่วยขับพิษออกจากร่างกาย
– ช่วยแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ
– ช่วยลดอาการบวมน้ำ
– ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ
– ต้านอาการอักเสบ
– กระตุ้นการหายของแผลให้หายเร็ว
เพิ่มเติมจาก : [6]
การปลูกถั่วแดง/ถั่วแดงหลวง
ถั่วแดงหลวงสามารถเติบโตได้ดีที่ระดับความสูง 800-1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และในช่วงอุณหภูมิ 19-23 ºC ชอบดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี ดินไม่ชื้นแฉะหรือไม่มีน้ำขัง และดินเป็นกรดเล็กน้อย
การเตรียมแปลง
แปลงปลูกถั่วแดงหลวงมีทั้งที่ราบเชิงเขา และที่แปลงบนเนินเขาที่มีความลาดชัน ก่อนปลูกเกษตรควรไถกลบหน้าดิน และกำจัดพืชก่อน 1 รอบ จากนั้น ไถพรวนหน้าดินเตรียมไว้อีกรอบก่อนหว่านเมล็ด
วิธีการปลูก
การปลูกถั่วแดงหลวง ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงเกือบปลายฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-กันยายน ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงกลางฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว
วิธีปลูกถั่วแดงหลวงหรือถั่วแดงอื่นๆ เกษตรกรนิยมใช้การหว่านเป็นหลัก เพราะสะดวก และรวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าแรงได้มาก โดยหว่านเมล็ดลงแปลงหลังไถพรวนครั้งที่ 2 จากนั้น ไถคราดเกลี่ยหน้าดินให้กลบเมล็ด นอกจากนี้ อาจปลูกแบบหยอดเมล็ดเป็นแถว หยอดเมล็ดหลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะห่างระหว่างหลุม และแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร
การดูแล
– การให้น้ำ หากปลูกในฤดูฝนจะปล่อยให้ต้นเติบโตโดยอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ แต่หากปลูกหน้าแล้งในพื้นที่ชลประทาน ให้น้ำอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง
– การใส่ปุ๋ย ใส่หลังปลูก 20 วันแรก ด้วยสูตร 15-15-15 และอีกครั้งประมาณ 30-35 วัน หลังปลูก ด้วยสูตร 12-12-24 ทั้งนี้ อาจใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ตั้งแต่ระยะเตรียมแปลง และใส่หลังปลูกเพียงครั้งเดียว ประมาณ 20-30 วันหลักปลูก ด้วยสูตร 12-12-24 ก็สามารถทำได้
– การกำจัดวัชพืช ให้เข้าถอนกำจัดด้วยมือเป็นประจำอย่างน้อย 15-20 วัน/ครั้ง จำนวน 2 ครั้ง เริ่มตั้งแต่หลังปลูก หลังจากปล่อยให้ต้นเติบโตตามธรรมชาติ
การเก็บเกี่ยวเมล็ด
ถั่วแดงหลวงเริ่มออกดอกประมาณ 28-42 วัน หลังปลูก และเริ่มเก็บเกี่ยวฝักได้ประมาณ 80-90 วันหลังปลูก ด้วยการถอนทั้งต้น และใช้มือเด็ดฝักออกรวมกัน ก่อนนำฝักมาขยำให้เมล็ดแยกออกด้วยมือหรือใช้เครื่องจักร
โรคถั่วแดงที่สำคัญ
โรคถั่วแดงที่พบได้บ่อย คือ โรคใบจุดเหลี่ยม มีสาเหตุมาจากเชื้อรา phaeoisariopsis griseola (Sacc.) Feraris พบแพร่ระบาดมากในระยะต้นอ่อน และพบระบาดได้ในทุกช่วงอายุการเติบโต โดยเฉพาะในปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว โดยเกิดบริเวณใบอ่อน และทุกส่วนหลังเมล็ดงอก ประมาณ 10 วัน อาการเริ่มแรกพบจุดเหลืองซีดเป็นรูปเหลี่ยมบนใบ จากนั้น พัฒนากลายเป็นแผลสีน้ำตาล และมีการสร้างเส้นใยตามมา ทำให้ใบเหี่ยวตาย และหลุดร่วง จนต้นอ่อนตายตามมา หากเกิดในระยะติดดอกหรือติดฝักจะทำให้ดอกหลุดร่วงหรือฝักเกิดความเสีย
การทำข้าวเกรียบถั่วแดงหลวง
วัตถุดิบ และส่วนผสม
1. ถั่วแดงต้มหรือนึ่งสุก (บดละเอียด) 2 ขีด
2. แป้งมันสำปะหลัง 3 ขีด
3. เนื้อปลาบดแห้ง 1 ขีด (อาจไม่ใช้ก็ได้)
4. งาขาว 1 ขีด
5. กระเทียม 2 หัวใหญ่
6. พริกไทยป่น 1 ช้อน
7. เหลือป่น 1 ช้อน
8. น้ำตาลทราย 2 ช้อน (อาจใช้หรือไม่ใช้ก็ได้)
วิธีทำ
1. ตำโขลกกระเทียม พริกไทย และเกลือ ให้เข้ากัน
2. นำส่วนผสมในข้อ 1 ที่ตำจนละเอียดมาผสมกับถั่วแดงบดละเอียด และปลาบดแห้ง พร้อมกับคลุกด้วยน้ำตาล จากนั้น คลุกนวดให้เข้ากัน นาน 5-10 นาที
3. นำส่วนผสมในข้อ 2 ที่นวดแล้วมาคลุกกับแป้งมันสำปะหลัง และเมล็ดงาขาว และนวดนาน 5-10 นาที ขณะนวดผสมน้ำประมาณ 1 ถ้วย
4. นำส่วนผสมที่นวดเสร็จกดใส่แม่พิมพ์หรือรีดให้เป็นแผ่น ก่อนนำไปนึ่งให้สุก นาน 30-40 นาที
5. นำแผ่นข้าวเกรียบที่นึ่งแล้วมากรีดเป็นแผ่นขนาดเล็กตามต้องการ ก่อนนำเข้าอบในตู้อบหรือตากแดดให้แห้ง
6. นำแผ่นข้าวเกรียบที่นึ่งหรือตากแห้งแล้วลงทอดในกระทะให้แผ่นฟู และกรอบ ก่อนตักวางใส่ตะแกรงหรือกระดาษซับน้ำมันให้แห้ง จากนั้น บรรจุหรือนำไปรับประทานได้ [9]
เอกสารอ้างอิง
[1] อรุณี คงเฉลิม, 2556, ลักษณะทางเคมีกายภาพและสมบัติเชิงหน้าที่-
ของแป้งถั่วแดงและการประยุกต์ใช้ในแครกเกอร์.
[2] นาค โพธิ์แท่น, 2537, ถั่วนิ้วนางแดง.
[3] สุมินทร์ สมุทคุปดิ์, 2528, ถั่วแดงหลวง, กสิกร.
[4] ณรงค์ สิงห์บุระอุดม, 2538, การผลิตถั่วแดงหลวงให้มีปริมาณ-
เพียงพอแก่ความต้องการของตลาด.
[5] สุทัศน์ และคณะ, 2551, การปลูกทดสอบพันธุ์และผลิต-
เมล็ดถั่วแดงหลวงสายพันธุ์ดี.
[6] มลิวรรณ อุดทะยอด, 2557, ผลการใช้แป้งถั่วแดงทดแทนแป้งสาลี-
ต่อคุณภาพของขนมปังแซนด์วิช.
[7] บุญชอบ แสงจันทร์, 2536, การตรึงไนโตรเจนในถั่วแดงหลวงพันธุ์หมอกจ๋าม.
[8] สุภาวดี สมภาค, 2541, การตอบสนองของถั่วแดงหลวงต่อดิน-
ที่ได้รับการปรับปรุงสภาพทางเคมีบนที่สูง.
[9] วัลยา โมราสุข, 2550, การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารว่าง-
จากถั่วแดงหลวง.
[10] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.