หญ้าหวาน (Stevia) สรรพคุณ และการปลูกหญ้าหวาน

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หญ้าหวาน (Stevia) จัดเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ชนิดหนึ่ง เนื่องจาก ใบหญ้าหวานประกอบด้วยสารให้ความหวานที่สามารถทดแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี เพราะมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 250 – 300 เท่า แต่เป็นสารที่ให้พลังงานต่ำมากเมื่อเทียบกับน้ำตาล จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือ ผู้ต้องการลดความอ้วน ดังนั้น ปัจจุบัน จึงมีการใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวานมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค

• วงศ์ : Compositae หรือ Asteraceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stevia rebaudiana Bertoni M.
• ชื่อสามัญ :
– Stevia
– Yaawaan
• ชื่อท้องถิ่นไทย : หญ้าหวาน

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หญ้าหวานเป็นพืชพื้นเมืองแถบประเทศอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในประเทศปารากวัย และบราซิล ชื่อเดิมที่ชาวพื้นเมืองปารากวัยเรียก คือ kar-he-e หรือภาษาสเปน เรียกว่า yerba ducle แปลว่า สมุนไพรหวาน เป็นสมุนไพรี่ชาวพื้นเมืองปารากวัย และบราซิล ใช้ผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความหวาน หรือชงเป็นชาดื่ม ที่เรียกว่า “ มะเตะ” มานานมากกว่า 400 ปีแล้ว [1]

หญ้าหวาน ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกในภาคเหนือของประเทศ ประมาณปี พ.ศ.2518 ทั้งนี้ ในช่วงแรก ไทยยังไม่มีโรงงานสกัดสารให้ความหวานจากหญ้าหวาน ทำให้ต้องสั่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องใช้สารให้ความหวานเป็นส่วนผสม ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ประมาณ 4,350-5,000 บาท/กิโลกรัม [5] ปัจจุบันเริ่มมีการตั้งโรงงานสกัดหญ้าหวานในไทยแล้ว อาทิ บริษัท ซูกาเวีย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา บริษัทมีแปลงปลูกหญ้าหวานเอง รวมถึงรับซื้อจากเกษตรกรผู้ปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง และบริษัท หญ้าหวานคัมปนี จำกัด ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง myh’ouh ในอนาคตคาดว่าจะมีโรงงานรับซื้อหญ้าหวานเพิ่มขึ้นในทุกภาค

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งสาขาตั้งแต่ระดับโคนต้น ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีลักษณะทรงกลม เปลือกลำต้นบาง สีเขียวอ่อน หุ้มติดกับแกนลำต้น แกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย

ใบ
หญ้าหวานเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเดี่ยวๆเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามลำต้น และกิ่ง และเหนือซอกใบจะแตกยอดสั้นๆทั้งสองข้าง แต่ละใบมีรูปหอกกลับ กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ สีเขียวสด ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย และงุ้มเข้ากลางแผ่นใบ เมื่อเคี้ยวหรือต้มน้ำดื่มจะมีรสหวานจัด

ดอก
หญ้าหวานออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด มีก้านดอกสั้น กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ รูปหอกหรือรูปไข่ แผ่นกลีบดอกมีสีขาว ด้านในมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอมน้ำตาล และเกสรตัวเมีย 1 อัน ที่มีก้านเกสรสีขาวยาวยื่นออกมาจากกลางดอก คล้ายหนวดปลาดุก ทั้งนี้ หญ้าหวานจะออกดอกตลอดปี ในฤดูฝนจะออกดอกสีม่วง ส่วนฤดูอื่นๆออกดอกสีขาว

ผล
ผล เป็นผลแห้งขนาดเล็ก ไม่ปริแตก ภายในมีเมล็ดเดี่ยวจำนวนมาก เมล็ดสีดำ มีขนปุยปกคลุม

ประโยชน์หญ้าหวาน
สาร stevioside เป็นสารให้รสหวานจัด แต่ให้ความชุ่มคอได้ดีกว่าน้ำตาลทราย และให้ความหวานมากกว่าเป็น 250 – 300 เท่าโดยน้ำหนัก

สารสกัดจากหญ้าหวาน หรือ สาร stevioside จะถูกร่างกายเผาผลาญเป็นพลังงานน้อยมาก เพราะเป็นสารให้พลังงานต่ำมาก จึงไม่ทำให้อ้วน เหมาะสำหรับคนไข้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน คนที่เป็นโรคไขมันสูงในเลือด และผู้ที่ต้องการลดความอ้วน นอกจากนี้ พวกจุลินทรีย์ต่างๆก็ไม่ใช้สารนี้เป็นอาหาร จึงไม่เป็นสาเหตุทำให้อาหารบูดเน่าได้

อีกทั้งมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในปากหลายชนิด จึงไม่ทำให้อาหารหรือเครื่องดื่มที่เก็บไว้นานเกิดการบูดเน่า ไม่ทำให้ฟันผุหรือเหงือกบวมอักเสบได้ง่าย จึงมีการใช้ ผสมในอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงผสมในยาสีฟันหรือยาบ้วนปาก เพื่อแต่งรส และช่วยป้องกันโรคฟันผุ

นอกจากนี้ การปรุงอาหารที่ใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวาน เมื่อสารสกัดถูกความร้อน สารเหล่านี้ จะไม่ทำให้อาหารเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลคล้ำ และไม่ทำให้สารชูรสอื่นๆ เช่น ผงชูรสเกลือ น้ำตาลทราย น้ำส้มและเมนทอล เปลี่ยนแปลงรสไปจากเดิม แต่กลับกลมกลืนกันได้ดี เพิ่มเติมจาก [2] อ้างถึงใน ไมตรี และคณะ (2540) และจีรเดช และคณะ (2543)

การใช้สารสกัดจากหญ้าหวานพบมากในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งใช้ในรูปของผงสกัดของสาร stevioside นอกจากนั้น ยังพบใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวานมากในระดับครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก สำหรับใส่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมหวาน และเครื่องดื่ม ซึ่งมักสกัดเองด้วยการต้มด้วยน้ำ

สารสำคัญที่พบ
สารที่ให้รสหวานในหญ้าหวานเป็นสารประกอบพวกไดเทอร์พีนกลัยโคไซด์ (diterpene glycoside) หลายชนิด ได้แก่
– Stevioside พบมากที่สุด 2.0-7.7%
– Rebaudioside A ถึง F พบลำดับรองลงมา ประมาณ 0.8-2.9%
– Steviol
– Steviolbioside
– Dulcoside A

ที่มา : [2] อ้างถึงใน Geuns (2003)

สตีวิโอไซด์ (stevioside)
สตีวิโอไซด์ เป็นสารประกอบพวกไดเทอร์พีนกลัยโคไซด์ (diterpene glycoside)โครงสร้างประกอบด้วยaglycone steviol และน้ำตาลกลูโคส 3 โมเลกุล สารบริสุทธิ์ของ stevioside มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสหวาน ละลายได้ดีในน้ำ และตัวทำละลายที่มีขั้ว เช่น แอลกอฮอล์ รวมถึงละลายได้ดีในสารละลายกรด

คุณสมบัติทางกายภาพ และเคมีของ stevioside
– สูตรทางเคมี : C35H60O18
– น้ำหนักโมเลกุล : 804.9
– จุดหลอมเหลว : 198 °C

ที่มา : [2] อ้างถึงใน ศิวาพร (2546) และสาโรจน์ (2547)

ผลิตภัณฑ์สาร stevioside จากหญ้าหวาน
หญ้าหวานนำมาเพิ่มความหวานง่ายๆด้วยการนำใบสดมาต้มน้ำหรือใส่ใบหญ้าหวานลงโดยตรง แต่ทางอุตสาหกรรมมีการสกัดสาร stevioside ออกมาจากหญ้าหวาน เพื่อใช้สำหรับเพิ่มความหวานในอุตสาหกรรมได้สะดวก และทำให้ปราศจากเชื้อได้ด้วย ผลิตภัณฑ์สารสกัด stevioside พบมากในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่
– Stevia ST-AB ประกอบด้วยสารสกัดจากใบ stevia 100% มีลักษณะเป็นผงสีขาวบรรจุ
– Histevia-500 ประกอบด้วยสาร stevioside 50% มีลักษณะเป็นผงสีขาวบรรจุ
– Histevia-100 ประกอบด้วยสาร stevioside 10% และสารจากธรรมชาติ 90% มีลักษณะเป็นผงหรือเกล็ดสีขาวบรรจุ
– Licostevia A ประกอบด้วยสาร stevioside 2% + Glycyrrhizin 7% + Sodium citrate 16% และและสารจากธรรมชาติ 75% มีลักษณะเป็นผงหรือเม็ดสีเหลืองอมขาว
– Licostevia S-L ประกอบด้วยสาร stevioside 10% + Glycyrrhizin 6% + Sodium citrate 10% และและสารจากธรรมชาติ 74% มีลักษณะเป็นผงหรือเม็ดสีเหลืองอมขาว
– Licostevia S-2 ประกอบด้วยสาร stevioside 5% + Glycyrrhizin 3% + Sodium citrate 5% และและสารจากธรรมชาติ 87% มีลักษณะเป็นผงหรือเม็ดสีเหลืองอ่อน [3]

เครื่องดื่มที่ใช้สารสกัดจากหญ้าหวาน
1. น้ำอัดลม
– น้ำตาลทราย : 17.8 x 103 กรัม
– Histevia-100 : 147 กรัม
– Citric acid : 230 กรัม
– Sodium citrate : 22 กรัม
– Cider essence : 220 ซีซี

2. น้ำส้มบรรจุขวด
– น้ำตาลทราย : 18 x 103 กรัม
– Histevia-100 : 150 กรัม
– Citric acid : 440 กรัม
– Malic acid : 60 กรัม
– กลิ่นน้ำส้ม : 220 ซีซี
– สารละลายเจือจาง1/5 ของน้ำส้มเข้มข้น : 4.4 x 103 กรัม

3. หมากฝรั่ง โดยเฉพาะหมากฝรั่งแบบไม่มีน้ำตาล ซึ่งญี่ปุ่นนิยมใช้สารสกัดจากหญ้าหวานเป็นส่วนผสม เพื่อป้องกันฟันผุจากน้ำตาล

4. ขนมหวานหรือของหวานแช่แข็ง ญี่ปุ่นนิยมใช้สารสกัดจากหญ้าหวานเป็นส่วนผสม เพราะให้ความหวานสูง และมีรสหวานแบบธรรมชาติ อีกทั้ง ช่วยลดจุดเยือกแข็งในการแช่แข็ง ทำให้รักษารูปทรงของของหวานได้อย่างดี

5. อาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ
อาหารที่ต้องการให้มีพลังงานต่ำจำเป็นต้องใช้สารที่ให้พลังงานน้อย แต่มีความหวานที่เพียงพอ ซึ่งสารสกัดจากหญ้าหวานสามารถทดแทนได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะใช้ในปริมาณน้อย อาหารที่ใช้ผสมจึงมีคุณสมบัติช่วยลดความอ้วนได้ เพราะให้พลังงานต่ำ

6. ปลาเพสต, อาหารรสเข้มข้น, ผักดอง และซอส
อาหารเหล่านี้ หากใช้สารสกัดจากหญ้าหวานจะช่วยลดต้นทุนได้มาก อีกทั้ง ยังให้รสอาหารมีความอร่อย และเกิดกลิ่นหวานจากธรรมชาติอีกด้วย [3]

พิษหญ้าหวาน
ในราวศตวรรษที่ 16 ทวีปอเมริกาใต้ เริ่มมีการใช้ใบหญ้าหวานมาปรุงรสอาหาร และเครื่องดื่มอย่างกว้างขวาง และเคยถูกใช้มานานกว่า 400 ปีแล้ว อาทิ ชนพื้นเมืองเผ่า matto crosso ประเทศปรากวัยได้นำเอาใบ และก้านของต้นหญ้าหวานมาผสมอาหาร เครื่องดื่ม และยาสมุนไพรที่รักษาโรค เพื่อให้การบริโภคมีรสชาติที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งยังไม่พบว่ามีรายงานการเกิดโทษอันตรายต่อผู้บริโภคแต่ประการใด

นอกจากนี้ การศึกษาด้านพิษวิทยาแบบกึ่งเฉียบพลันในหนูทดลอง โดยใช้สารสกัดสตีวิโอไซด์จากหญ้าหวานเข้มข้น 7% ผสมกับอาหารนาน 3 เดือน หรือให้ในปริมาณ 3 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน นาน 2-3 เดือน พบว่า หนูทดลองไม่แสดงอาการเป็นพิษจากสารสกัดแต่อย่างใด ส่วนค่าความเป็นพิษ LD50 ของสกัด stevioside ที่ให้ทางช่องท้อง มีค่าในช่วง3-4 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน ส่วนค่าความเป็นพิษ LD50 เมื่อให้ทางปาก มีค่า 8.2, 17 จนถึง 42 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว/วัน จากค่า LD50 ดังกล่าวแสดงว่า สารสกัดสตีวิโอไซด์จากใบหญ้าหวานมีความปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะตามหลักพิษวิทยาแล้ว สารที่ไม่มีพิษใดๆ หากให้ทางปากควรจะมีค่า LD50 เกินกว่า 5 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว

ส่วนการทดสอบการกลายพันธุ์ของสารสกัดหญ้าหวาน โดย Fujita และคณะ (1979), Okumura และคณะ (1978) และ Tama Biochemical Co-Ltd. (1981) ทำการทดลองกับเชื้อ Salmonella typhimurium, Escherichia coli และ Bacillus subtilis ผลการทดลอง พบว่า สารดังกล่าวไม่ก่อกลายพันธุ์แต่อย่างใด [3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณหญ้าหวาน
– สารสกัดน้ำจากใบใช้เป็นยาคุมกำเนิด
– ใบหรือน้ำต้มจากใบช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกัน และรักษาโรคเบาหวาน
– ใบนำมาเคี้ยวหรือต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ
– หญ้าหวานให้พลังงาน และมีไขมันน้อย ทำให้ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดความอ้วนได้
– ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคในระบบหัวใจ และหลอดเลือด
– หญ้าหวาน ช่วยสมานแผล ช่วยลดน้ำหนองไหลจากแผล ทำให้แผลแห้ง และหายเร็ว

ที่มา : [4]

การปลูกหญ้าหวาน
หญ้าหวาน เป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิในช่วง 20 – 26 ºC เป็นพืชที่เติบโตได้ดีบนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตรขึ้นไป เป็นพืชที่ชอบดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ดินระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง

หญ้าหวานขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ
1. การเพาะกล้าจากเมล็ด มีข้อดี คือ ทำได้รวดเร็ว ลำต้นแตกกิ่งมาก ให้ผลผลิตสูง และนานหลายฤดู รวมถึงทนต่อโรค และแมลงได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ มีค่าเมล็ดพันธุ์สูง และเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง อาจมีผลทำให้ปริมาณสารให้ความหวานลดลงหรือให้ผลผลิตใบต่ำลง
2. การปักชำกิ่ง มีข้อดี คือ ประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ ไม่เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ใช้เวลานาน มีต้นทุนการปักชำ ลำต้นแตกกิ่งน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตให้ต่ำกว่ากล้าจากเมล็ด รวมถึง ลำต้นอ่อนแอ ไม่ทนต่อโรค และแมลง

รอเพิ่มข้อมูล

การเก็บเกี่ยวใบ
การเก็บใบหญ้าหวานจะเริ่มเก็บครั้งแรกได้ 25-30 วัน หลังปลูก หากต้นสมบูรณ์พอ จะเก็บได้ต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดทั้งปี จะเก็บได้ประมาณ 10-12 ครั้ง แต่ละครั้งเก็บใบสดได้ประมาณ 40-60 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตใบสูงสุดในฤดูฝน และให้ผลผลิตต่ำในช่วงฤดูหนาว และฤดูแล้ง ทั้งนี้ หญ้าหวานจะมีอายุเก็บเกี่ยวไดนานถึง 3 ปี

การทำหญ้าหวานแห้ง
ตัดใบหญ้าหวานสดนำล้างทำความสะอาด ก่อนนำไปตากแดดให้แห้ง นานประมาณ 2 วัน ซึ่งใบหญ้าหวานที่ถูกแสงแดด 1 วันเต็มๆ จะมีความชื้นเหลืออยู่ประมาณ 3-5 % หรือนำมาอบในตู้อบ นาน 1 วัน (อุณหภูมิประมาณ 40 ºC) ซึ่งหญ้าหวานสด 3 กิโลกรัม จะได้หญ้าหวานแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม จากนั้น นำหญ้าหวานแห้งมาอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม ขนาด 0.60 x 0.40 x 1.20 เมตร น้ำหนักต่อก้อนประมาณ 50 กิโลกรัม ซึ่งหญ้าหวานจะยุบตัวลงประมาณ 70% จากปริมาตรทั้งหมด [5]

การสกัดผงให้ความหวานจากหญ้าหวาน
การคัดเลือกใบหญ้าหญ้าหวานแห้ง จะคัดเลือกจากสภาพความชื้นของหญ้าหวาน ถ้ามีความชื้นมากกว่า 10% จะไม่นำมาสกัด เพราะการสกัดหญ้าหวานที่ได้ผลดีจะต้องใช้หญ้าหวานที่มีความชื้นต่ำ

การสกัดสารให้ความหวานให้เป็นผง หากใช้หญ้าหวานแห้ง 1,000 กิโลกรัม จะสกัดผงสารให้ความหวานประมาณ 100 กิโลกรัม หากใบหญ้าหวานมีความชื้นสูงจะได้ผงสารให้ความหวานน้อยลง

ขั้นตอนสกัดผงหญ้าหวาน
การสกัดสารให้ความหวานจากใบหญ้าหวาน สามารถสกัดด้วยน้ำ หรือใช้ตัวทำละลาย ได้แก่ เมทานอลหรือเอทานอล ซึ่งอาจใช้น้ำอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกันก็ได้ วิธีเหล่านี้ มีความสะดวก ง่าย และไม่มีสารตกค้างในผลิตภัณฑ์ มีขั้นตอน ดังนี้

1. นำใบหญ้าหวานที่แห้งความชื้นไม่เกิน 10% มาหั่นให้ละเอียด (ไม่ต้องบดเป็นผง) พร้อมกับผสมน้ำลงไปด้วยอัตราส่วน 1:10 คือ หญ้าหวานแห้ง 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำประมาณ 10 กิโลกรัม

จากนั้น นำไปต้มโดยใช้ไฟปานกลางที่อุณหภูมิประมาณ 65°C ใช้เวลาในการต้มนาน 10 ชั่วโมง หลังจากนั้นหยุดต้มให้ปล่อยทิ้งไว้อีก 10 ชั่วโมง ซึ่งหลังทิ้งไว้ น้ำต้มจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งนี้ การต้มใบหญ้าหวานแห้งในน้ำร้อน (Heating) จะทำให้สารให้ความหวานหรือสติวิโอไซด์ละลายออกมาเป็นสารละลาย

2. นำน้ำต้มใบหญ้าหวานไปกำจัดสีดำออกด้วยระบบ Electrolysis (แยกสารอินทรีย์) จนได้น้ำต้มที่มีลักษณะใส จากนั้น เติมสารเบต้าไซโคเดกติ (β-Cyclodextrin ) เพื่อช่วยในตกตะกอนของกากใบหญ้าหวาน ทำให้ได้น้ำต้มหญ้าหวานที่ใสมากขึ้น

3. นำน้ำต้มเข้าสู่กระบวนการทำให้เข้มข้น (Concentrate) และทำบริสุทธิ์ (Pre-Purify) โดยนำน้ำต้มไปให้ความร้อนเพื่อระเหยน้ำหรือตัวทำละลายออก ที่อุณหภูมิประมาณ 45°C ความดัน 70 mbar จนได้สารให้ความหวานที่อยู่ในรูปไซรัป (สารให้ความหวานที่เข้มข้น และหนืด) จากนั้น นำไปวิเคราะห์ค่าความหวานด้วยเครื่อง Colorimeter อ่านค่าเป็นองศาบริกซ์ (°Brix) ของรสหวานจากไซรัป ซึ่งควรมีค่าประมาณ 30 °Brix

4. ขั้นตอนสุดท้าย คือ นำไซรัปไปทำ ให้แห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบพ่นฝอยทำผง (Powder) ซึ่งจะได้ผงสีขาวละเอียดออกมา โดยจะมีความบริสุทธิ์ของสารให้ความหวานประมาณ 93% และมีความชื้นเล็กน้อย 2- 5% จากนั้น นำผงสารให้ความหวานไปทดสอบคุณภาพ ก่อนบรรจุในถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม เพื่อเตรียมส่งลูกค้าต่อไป

ราคารับซื้อหญ้าหวาน
หญ้าหวานสดที่เก็บเกี่ยวได้ จะต้องล้างทำความสะอาด และตากแดดให้แห้งก่อนส่งโรงงาน แบ่งออกเป็น 2 เกรด คือ เกรด Aและเกรด B หากสภาพใบไม่สมบูรณ์ ใบมีสีเหลืองหรือซีด จะถูกคัดเป็นเกรด B แต่เกรดของใบไม่มีผลทำให้ความหวานแตกต่างกัน

หญ้าหวานแห้ง เกรด B จะพบประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณหญ้าหวานแห้งทั้งหมด หญ้าหวานแห้งเกรด A อาจขายเป็นใบชา ในราคา 200-500 บาท/กิโลกรัม ส่วนเกรด B จะถูกขายในราคาประมาณ 150 บาท/กิโลกรัม และใช้บดเป็นผงหญ้าหวานแห้ง ที่ขายในกิโลกรัมละ 500 บาท [5] ส่วนราคารับซื้อหญ้าหวานแห้งหน้าโรงงาน อาจมีราคาในช่วงเดียวกันหรือสูงกว่า

ขอบคุณภาพจาก www.sugavia.com/, กาดหลวงออนไลน์/, Teblanco.org/, Alibaba.com

เอกสารอ้างอิง
[1] ไมตรี สุทธจิตต์ และคณะ, 2540, การรวบรวม การทบทวน การวิเคราะห์
ข้อมูลวิจัยและการสังเคราะห์แนวความคิดที่-
เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของหญ้าหวาน-
และผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวาน.
[2] มัทนียา วังประภา, 2548, การผลิตสารสตีวิโอไซด์-
โดยการเพาะเลี้ยงหญ้าหวาน-
ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ.
[3] กล้าณรงค์ ศรีรอต. 2542. สารให้ความหวาน(sweeteners) : คุณสมบัติและการใช้ประโยชน์.
[4] พิกุล อินต๊ะปาน, 2556, ผลของสารสกัดจากหญ้าหวาน และ-
พืชสมุนไพรพื้นบ้านในการยับยั้งแบคทีเรีย-
ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร
[5] เชาวนี สุวรรณโชติ, 2556, การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน-
โรงงานสกัดผงหญ้าหวาน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่.