Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ถั่วแขก (Snap bean) เป็นพืชตระกูลถั่วที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง นิยมรับประทานทั้งถั่วสด และถั่วแห้ง รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถั่วต่างๆ อาทิ ถั่วกระป่อง และถั่วอบแห้ง รวมถึงอาหารเสริมในรูปแบบผงชงดื่มหรือเม็ดรับประทาน
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phaseolus vulgaris L.
• ชื่อสามัญ :
– Snap bean
– Fresh bean
– French bean
– String bean
– Graden bean
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ถั่วแขก
– ถั่วแขกพุ่ม
– ถั่วฝรั่งเศส
– ถั่วบุ้ง
– ถั่วฝรั่ง
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ถั่วแขก มีถิ่นกำเนิดบริเวณหุบเขา Tehuacan ประเทศแม็กซิโก แล้วแพร่เข้ามาในอเมริกากลาง และประมาณปี ค.ศ. 1594 ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศอังกฤษ ต่อมาประมาณศตวรรษที่ 16 ถูกนำเข้ามาปลูกในแถบประเทศในยุโรป โดยชาวสเปน และโปตุเกส แล้วแพร่กระจายในประเทศต่างๆของเขตร้อนชื้น และเขตอบอุ่น (1), ((6) อ้างถึงใน Purseglove, 1977)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ถั่วแขก เป็นพืชล้มลุกอายุ 2-3 ปี มีทั้งพันธุ์ที่เป็นไม้ยืนต้นเป็นทรงพุ่ม กึ่งเลื้อย และไม้เลื้อย ลำต้นแข็ง แตกกิ่งก้านน้อย โดยพันธุ์ยืนเป็นทรงพุ่มมีลักษณะลำต้นเป็นข้อสั้นๆ 4-8 ข้อ ลำต้นสูงประมาณ 25-30 เซนติเมตร พันธุ์กึ่งเลื้อย มีลำต้นสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร ส่วนพันธุ์เลื้อยมีลำต้นสูงประมาณ 1.8-3 เมตร ส่วนระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนงที่หยั่งลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร (3)
ใบ
ใบถั่วแขกออกเป็นประกอบ แทงออกบริเวณข้อของลำต้น แต่ละใบมีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะใบย่อยแตกต่างกันตามสายพันธุ์ โดยทั่วไปมักมีฐานใบกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ และมีขนปกคลุม แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านล่างมีสีเขียวจางๆ
ดอก
ถั่วแขก ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่ปลายยอด ประกอบด้วยดอกย่อยที่มีสีหลากหลายตามสายพันธุ์ อาทิ สีเหลือง สีขาว และสีชมพู ดอกย่อยแต่ละดอกมีก้านดอกสั้น ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวที่ฐานกลีบเชื่อมติดกันเป็นกรวยล้อมรอบกลีบดอก ถัดมาเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ ดอกจะบานจากดอกโคนสู่ไปสู่ปลายช่อ ทั้งนี้ ดอกถั่วแขกจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมเกสรได้ในดอกตัวเอง ทำให้ติดฝักได้ครบตามจำนวนดอกที่ออก ดอกจะร่วงภายใน 2-3 หลังบาน
ฝัก และเมล็ด
ฝักถั่วแขก มีลักษณะคล้ายกับฝักถั่วเขียว แต่มีขนาดสั้นกล่าว ฝักมีลักษณะทรงกระบอกกลม และเรียวยาว ผิวฝักเรียบ และอาจโค้งเล็กน้อย ขนาดฝักประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดจำนวนมาก เรียงเป็นแถวตามแนวยาวของฝัก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต มีหลายสีตามสายพันธุ์ อาทิ สีดำ สีขาว สีเหลืองครีม สีชมพู สีเขียว สีแดงม่วง หรือสีน้ำตาล ใน 1 ฝัก จะมีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ด ใน 100 เมล็ด จะหนักประมาณ 20-60 กรัม (2)
ประโยชน์ถั่วแขก
1. เมล็ดถั่วแขกนำมาต้มรับประทาน ทำซุปถั่วแขก หรือใช้ผสมในขนมหวานต่างๆ
2. เมล็ดถั่วแขกนำมาบดสำหรับทำแป้งเพื่อใช้ทำวุ้นเส้นหรือขนมหวาน
3. เมล็ดถั่วแขกแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารเสริมในรูปแบบเม็ดหรือผง อาทิ ซุปถั่วแขกในกระป๋อง ถั่วแขกผสมคอลลา และผงถั่วแขกพร้อมชงดื่ม เป็นต้น
4. ถั่วแขกใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์หรือใช้เลี้ยงสัตว์
คุณค่าทางโภชนาการถั่วแขก (เมล็ด 100 กรัม)
ถัวแขกเขียวดิบ | ถั่วแขกเขียวปรุงสุก (ไม่ใส่เกลือ) | ||
Proximates | |||
น้ำ | กรัม | 90.32 | 89.22 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 31 | 35 |
โปรตีน | กรัม | 1.83 | 1.89 |
ไขมัน | กรัม | 0.22 | 0.28 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 6.97 | 7.88 |
เส้นใย | กรัม | 2.7 | 3.2 |
น้ำตาลทั้งหมด | กรัม | 3.26 | 3.63 |
Minerals | |||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 37 | 44 |
เหล็ก | มิลลิกรัม | 1.03 | 0.65 |
แมกนีเซียม | มิลลิกรัม | 25 | 18 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 38 | 29 |
โพแทสเซียม | มิลลิกรัม | 211 | 146 |
โซเดียม | มิลลิกรัม | 6 | 1 |
สังกะสี | มิลลิกรัม | 0.24 | 0.25 |
Vitamins | |||
วิตามิน C | มิลลิกรัม | 12.2 | 9.7 |
ไทอะมีน | มิลลิกรัม | 0.082 | 0.074 |
ไรโบฟลาวิน | มิลลิกรัม | 0.104 | 0.097 |
ไนอะซีน | มิลลิกรัม | 0.734 | 0.614 |
วิตามิน B-6 | มิลลิกรัม | 0.141 | 0.056 |
โฟเลต | ไมโครกรัม | 33 | 33 |
วิตามิน B-12 | ไมโครกรัม | 0.00 | 0 |
วิตามิน A, RAE | ไมโครกรัม | 35 | 32 |
วิตามิน A, IU | IU | 690 | 633 |
วิตามิน E | มิลลิกรัม | 0.41 | 0.46 |
วิตามิน D (D2 + D3) | ไมโครกรัม | 0 | 0.0 |
วิตามิน K | ไมโครกรัม | 43.0 | 47.9 |
Lipids | |||
กรดไขมันอิ่มตัวทั้งหมด | กรัม | 0.05 | 0.064 |
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดสายเดี่ยวทั้งหมด | กรัม | 0.01 | 0.011 |
กรดไขมันอิ่มตัว ชนิดหลายสายทั้งหมด | กรัม | 0.113 | 0.145 |
คอลเลสเตอรอล | มิลลิกรัม | 0 | 0 |
Caffeine | มิลลิกรัม | 0 | 0 |
ที่มา : ถั่วแขกเขียวดิบ : USDA Nutrient Database, ถั่วแขกเขียวอบสุก : USDA Nutrient Database
สรรพคุณถั่วแขก
– ถั่วแขกพุ่มมีธาตุเหล็กสูง ช่วยในการสร้างเม็ดเลือก (8)
– ช่วยบำรุงร่างกาย (9)
– ช่วยแก้ดับร้อน (9)
– ช่วยขับปัสสาวะ (9)
– ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ (9)
นอกจากนี้ เมล็ดของพืชสกุลถั่วยังมีสรรพคุณช่วยลดไขมันในเส้นเลือด กระตุ้นการนำไขมันที่สะสมมาใช้ ทำให้ร่างกายผอมลง ช่วยลดความอ้วนได้ (10)
การปลูกถั่วแขก
ถั่วแขก สามารถปลูกได้ในทุกภาคของไทย เติบโตได้ดีในช่วงอุณหภูมิ 19-27 ºC ดังนั้น การปลูกในฤดูหนาวจะได้ผลดีกว่าฤดูอื่นๆ ซึ่งทั่วไปมักปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หากปลูกในช่วงหน้าแล้งหรือหน้าฝนที่ฝนตกชุมมักมีผลทำให้ดอกร่วงง่าย ส่วนดินปลูก ถั่วแขกชอบดินร่วนปนทราย (5) อ้างถึงใน Tindall (1983)
ถั่วแขกที่พบปลูกในไทยได้แก่ ถัวแขกพุ่ม และถั่วแขกเลื้อย ส่วนถัวแขกที่สามารถให้ผลผลิตดี ได้แก่ ถั่วแขกพุ่มพันธุ์โบรเคอร์ (Broker) ซึ่งนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย มีลำต้นสูงประมาณ 40-45 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใบกว้างประมาณ 9-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว เริ่มออกดอกประมาณ 34 วัน หลังปลูก และติดฝักที่อายุประมาณ 46-52 วัน หลังปลูก ให้ฝักประมาณ 142 ฝัก/ต้น ฝักกว้าง 0.6-0.9 เซนติเมตร ยาวประมาณ 14-15 เซนติเมตร มีเมล็ดในฝักประมาณ 6-8 เมล็ด เก็บเกี่ยวเมล็ดที่อายุ 90-100 วัน หลังปลูก (7)
การเตรียมแปลงปลูก
– ไถพรวนแปลง 1 รอบ และตากดินนาน 7-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช
– หว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่
– หว่านด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่
– หลังจากนั้น ทำการไถกลบ และไถยกร่อง
การปลูก
– การปลูกถั่วแขก นิยมปลูกด้วยวิธีการหยอดเมล็ดเป็นแถวๆ โดยมีระยะห่างระหว่างหลุม และแถว ประมาณ 50×50 เซนติเมตร
– ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนหยอดเมล็ดถั่วหลุมละ 3-4 เมล็ด พร้อมเกลี่ยหน้าดินกลบ
การถอนต้น
– หลังปลูก 7 วัน หากหลุมใดมีต้นถั่วงอกเพียง 1 ต้น หรือไม่งอก ให้หยอดเมล็ดถั่วใหม่
– หากหลุมที่เมล็ดถั่วงอกทั้งหมด ให้ถอนต้นถั่วทิ้ง เหลือไว้หลุมละ 2 ต้น โดยคัดเลือกไว้เฉพาะต้นที่ขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ ไม่มีรอยแมลงกัดกินใบหรือยอด
การทำค้าง และกำจัดวัชพืช
– หลังปลูกแล้วประมาณ 15-20 วัน ให้ปักค้างด้วยไม้ไผ่ข้างต้นถั่ว เพราะช่วงนี้ ถั่วแขกจะเริ่มแทงยอดยาว
– กำจัดวัชพืชรอบต้นถั่วด้วยจอบถาก ก่อนการปักค้าง (พันธุ์เลื้อยหรือกึ่งเลื้อย) หลังจากนั้น อีกประมาณ 1 เดือน ให้กำจัดวัชพืชอีกรอบ
การให้น้ำ
– หากปลูกในช่วงต้นฤดูฝนให้ปล่อยเติบโตตามธรรมชาติ หากฝนทิ้งช่วงนานหรือฝนไม่ตกหลายวัน ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง
– การปลูกปลายฤดูฝนจนถึงฤดูแล้ง ควรมีระบบน้ำติดตั้ง อาทิ ระบบสปริงเกอร์ ให้วันเว้นวัน หรือปล่อยน้ำเข้าแปลงในทุกๆ 7-10 วัน
การใส่ปุ๋ย
– ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลังปลูก 7 วัน และ30 วัน
– ใส่ปุ๋ยสูตร 10-10-20 หลังปลูก 45 วัน
การกำจัดโรค และแมลงศัตรูพืช
– หากพบหนอนซอนใบ หนอนเจาะฝัก หรือแมลงวันจะลำต้น ให้ฉีดพ่นด้วยโมโนโครโตฟอส
– หากพบอาการของโรคโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อรา ให้ฉีดพ่นด้วยควินโทซีน และอีทริไดอะโซล
การเก็บฝัก
ถั่วแขกจะเริ่มออกดอกประมาณ 35-40 วัน หลังปลูก ฝักอ่อนจะเติบโตในช่วง 10-22 วัน หลังดอกบาน ซึ่งจะมีฝักเป็นสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่ออายุ 25 วัน ต่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มที่ระยะ 28 วัน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนประมาณวันที่ 30-35วัน หลังดอกบาน
– การเก็บฝักอ่อนเพื่อใช้ประกอบอาหาร สามารถเก็บได้ในช่วงอายุ 15-20 วัน หลังดอกบาน
– การเก็บฝักเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์สามารถเริ่มเก็บตั้งแต่อายุ 28-30 วัน หลังดอกบาน ซึ่งจะมีอัตราการงอกสูงสุด (3)
– ฝักถั่วแขกเพื่อนำเมล็ดไปรับประทาน สามารถเก็บได้เมื่อฝักแห้งเป็นสีน้ำตาลอ่อน ใบเริ่มเหลือง หรืออยู่ในช่วง 30-35 วันหลังดอกบาน
ตัวอย่างงานทดลองปลูกถั่วแขกพันธุ์จากร้านค้าบนที่ราบในช่วงอากาศหนาว สามารถให้ฝักสด ประมาณ 57 ฝัก/ต้น ผลผลิตน้ำหนักฝักรวม ประมาณ 3,370 กิโลกรัม/ไร่ (4)
ขอบคุณภาพจาก bankaset-foodfarm.com/, hua-hin.org/, plantvillage.org/, ginraidee.com/, http://hubpages.com/
เอกสารอ้างอิง
(1) ดำเกิง ป้องพาล, 2542, ถั่วแขก, เอกสารประกอบการบรรยายวิชา พส 452 เทคโนโลยีการผลิตพืช, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
(2) ต่อพงษ์ สุทธิรางกูล, 2549, การศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ –
ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วแขกในระบบเกษตรอินทรีย์, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
(3) มาริษา สงไกรรัตน์ ขวัญจิตร สันติประชา และวัลลภ สันติประชา, 2550, การพัฒนาและการสุกแก่ของเมล็ดพันธุ์ถั่วแขก, วารสารสงขลานครินทร์, 29(3) พฤษภาคม-มิถุนายน 2550.
(4) ดำเกิง ป้องพาล และคณะ, 2544, รายงานผลการวิจัยเรื่องการศึกษาแนวทาง-
ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วแขก, มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
(5) มาริษา สงไกรรัตน์, 2550, อายุการเก็บเกี่ยวต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์-
และผลผลิตผักสดของถั่วแขก, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
(6) รัตนาภรณ์ รัตนานุกูล, 2539, อิทธิพลของพาโคลบิวทราโซล เมพิควอท คลอไรด์-
และคามิโนไซด์ต่อการเจริญเติบโต-
และผลผลิตของถั่วแขกพุ่ม, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(7) สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ, 2536, ข้อมูลลักษณะถั่วแขกพุ่มพันธุ์ดปรเคอร์.
(8) http://hkm.hrdi.or.th/, องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน : ถัวแขก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://hkm.hrdi.or.th/knowledge/detail/14/.
(9) คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์, เรื่องน่ารู้ของถั่ว, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ วันที่ 21 มกราคม 2559, เข้าถึงได้ที่ : http://medinfo2.psu.ac.th/healthpromotion/images/stories/Banner_personel/p_2.pdf/.
(10) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ยาแผนโบราณ กับการลดน้ำหนัก , ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : masterorg.wu.ac.th/file/rsomya-20111124-142752-re3UN.doc.