แห้ว/แห้วจีน ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกแห้ว

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

แห้ว (Water Chestnut) เป็นพืชชายน้ำที่นิยมนำหัวมารับประทาน โดยเฉพาะแห้วจีน ที่มีหัวขนาดใหญ่ เนื้อหัวมาก มีสีขาว มีรสหวาน นิยมต้มรับประทานหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในกระป๋อง รวมถึงแปรรูปเป็นแป้งสำหรับทำอาหารหรือขนมหวาน

ชนิดของแห้ว
1. แห้วหมู
แห้วหมู หรือที่เรียก หญ้าแห้วหมู เป็นวัชพืชสำคัญชนิดหนึ่งที่พบมากในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นมีขนาดเล็ก ลำต้นกลมสั้น แตกใบสูงกว่าลำต้น เมื่อออกดอกจะแทงช่อดอกยาว ซึ่งสูงได้มากกว่า 30 เซนติเมตร ส่วนระบบรากจะแตกไหลยาว และแตกหัวออกตามไหล หัวมีขนาดเล็ก ประมาณ 0.3-0.8 มิลลิเมตร เปลือกหัวเป็นแผ่นหุ้มสีดำอมน้ำตาล เนื้อหัวมีสีขาว แข็ง มีรสเผ็ดร้อน ใช้เป็นยาสมุนไพรในหลายตำรับ

2. แห้วไทย
แห้วไทย มีลำต้นสูงประมาณ 70-80 เซนติเมตร ขนาดลำต้นประมาณ 4-5 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม เปลือกหัวมีสีดำ และแข็งเป็นริ้ว เนื้อหัวมีสีขาว เมื่อต้มสุกมีสีเหลืองอ่อน และใส ขนาดหัวเล็กกว่าแห้วจีน

3. แห้วจีน
แห้วจีน เป็นแห้วที่นิยมปลูกมากที่สุดในไทย มีลำต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ใบมีลักษณะทรงกลม คล้ายกับหญ้าทรงกระเทียม หัวมีรูปทรงกลม ค่อนข้างแบนเล็กน้อย เปลือกหัวมีสีน้ำตาลไหม้ เนื้อหัวมีสีขาว [2]

แห้วจีน
แห้วจีน

แห้วจีน
แห้วจีนเป็นแห้วที่นิยมปลูก และรับประทานมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีหัวขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาว และมีรสหวาน สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง

อนุกรมวิธาน
Phylum : Spermatophyta
Class : Angiospermae
Order : Cyperales
Family : Cyperaceae
Genus : Eleocharis
Species : dulcis

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eleocharisdulcis Trin.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ :
– E. tuberosa Schult.
– Scirpus tuberosus Roxb.
• ชื่อสามัญ :
– CHINESE WATER CHESTNUT
• ชื่อท้องถิ่น :
– แห้ว
– แห้วจีน

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
แห้วจีนมีถิ่นกำเนิด และปลูกครั้งแรกในประเทศจีน ต่อมาค่อยแพร่ปลูกมากในแถบประเทศโซนอบอุ่น ทั้งในประเทศอินเดีย ฟิลิปปินส์ อเมริกา และแถบประเทศอเมริกาใต้

ประเทศไทย เริ่มนำแห้วจีนเข้ามาปลูกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2493 โดยกำนันวงษ์ ที่ทดลองนำมาปลูกในนาข้าวของตนเอง ในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่ได้ผล เพราะเกิดเพลี้ยไฟระบาด ต่อมา นายจุ่น แก้วศรี ได้ทดลองปลูกที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสามารถให้ผลิตสูงถึง 4 ตัน/ไร่ และปัจจุบันยังมีการปลูกมาเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง แถบแม่น้ำท่าจีน โดยเฉพาะจังหวัดสุพรรณบุรี [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และหัว
รากแห้วมีระบบรากเป็นแบบไรโซม หรือ คอร์ม คือ มีการแตกไหล และหัวใหม่ หัวแห้วมีลักษณะทรงกลม และค่อนข้างแบน แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. หัวชนิดแรก จะเกิดเมื่อต้นมีอายุ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นหัวขนาดเล็ก และหัวทำหน้าที่แทงยอดเป็นต้นอ่อนขึ้นล้อมรอบต้นแม่
2. หัวชนิดที่สอง จะเกิดในช่วงแห้วออกดอกหรือหลังออกดอก แตกออกบริเวณโคนต้น ซึ่งทำมุม 45 องศา กับลำต้น เป็นหัวที่มีขนาดใหญ่กว่าชนิดแรกหัว ลักษณะเปลือกหัวในช่วงแรกจะมีสีขาว จากนั้น พัฒนามีเกล็ดสีสีน้ำตาลไม้มาหุ้ม ทั้งนี้ หัวแห้วที่นิยมเก็บจำหน่ายจะมีขนาดประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร แห้ว 1 ต้น จะให้หัวได้ประมาณ 7-10 หัว

ลำต้น
แห้ว เป็นพืชวงศ์เดียวกันกับกก เป็นพืชปีเดียว ลำต้นทรงกลม และตั้งตรง ลำตันมีลักษณะแข็ง และอวบน้ำ แข็ง สูงประมาณ 1-1.5 เมตร

ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว มีลักษณะกลม และยาว แผ่นใบมีสีเขียว

ดอก
แห้ว ออกดอกเป็นช่อ บริเวณยอดลำต้น แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก เป็นช่อดอกสมบูรณ์เพศ โดยมีดอกตัวเมียเกิดก่อน ซึ่งจะแทงออกเมื่อลำต้นสูงประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วดอกตัวผู้จึงแทงออกตามมา

ผล และเมล็ด
ผลแห้วมักเรียกเป็นเมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็ก สีน้ำตาลอมดำ

ประโยชน์แห้ว
1. หัวสดของแห้ว นำมาล้างทำความสะอาด ก่อนต้มนาน 30-40 นาที สำหรับรับประทาน เนื้อหัวมีสีขาว กรอบ และมีรสหวาน
2. แห้วต้มสุกนำมาปอกเปลือก ก่อนใช้ผสมกับธัญพืชชนิดอื่นทำขนมหวานหรืออาหาร อาทิ ไส้ขนมกลีบ ไส้ซาลาเปา และตะโก้แห้ว เป็นต้น
3. หัวแห้วดิบนำมาปอกเปลือก ก่อนสับให้มีขนาดเล็ก แล้วตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้น นำมาบดเป็นแป้งสำหรับประกอบอหารหรือทำขนมหวาน มีคุณสมบัติคล้ายแป้งข้างโพด
4. หัวแห้วต้มสุกนำมาปอกเปลือก ก่อนแปรรูปเป็นแห้วกระป๋องหรือแห้วในน้ำเชื่อม
5. หัวแห้วขนาดเล็กใช้เลี้ยงสัตว์ อาทิ โค และสุกร
6. ลำต้นแห้วนำมาเลี้ยงสัตว์ หรือ ใช้ตากแห้ง ก่อนกรีดเป็นเส้น แล้วใช้ทอเป็นเสื่อหรือสานเป็นตะกร้า หมวก หรือเครื่องใช้ต่างๆ

%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9b%e0%b9%8b%e0%b8%ad%e0%b8%87

คุณค่าทางโภชนาการของแห้วจีน (100 กรัม) [3] อ้างถึงใน Anonymous (2010)

Proximates
น้ำ กรัม 48.2
พลังงาน กิโลจูล 730
โปรตีน กรัม 3.4
ไขมัน กรัม 0.2
คาร์โบไฮเดรต กรัม 32.1
ใยอาหาร กรัม 14.9
น้ำตาลทั้งหมด กรัม 3.3
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 17.6
สังกะสี มิลลิกรัม 0.4
เหล็ก มิลลิกรัม 0.7
โซเดียม มิลลิกรัม 0.8
โพแทสเซียม มิลลิกรัม 468

สรรพคุณแห้ว
หัวแห้ว
– แห้วจีน มีสารที่ชื่อว่า “Puchin” ที่มีสรรพคุณหลายด้าน อาทิ ช่วยต้านอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– บรรเทาโรคเบาหวาน
– แก้กระหายน้ำ
– กระตุ้นการย่อยอาหาร
– ช่วยลดไข้
– แก้อาการร้อนใน
– ช่วยขับน้ำนม
– ช่วยสมานแผลในระบบทางเดินอาหาร
– ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
– กระตุ้นการอยากอาหารในเด็ก
– แก้อาการไอ
– แก้อาการท้องผูก
– แก้อาการเมาสุรา
– ช่วยบรรเทาอาการโรคริดสีดวงทวาร
– ช่วยแก้อาการพิษของทองแดง
– แก้อาการโรคหัด
– เนื้อหัวแห้วสด นำมาปอกเปลือก แล้วบด ก่อนใช้ทาหูด ช่วยให้หูดอ่อนนิ่มลง

เพิ่มเติมจาก : [3] อ้างถึงใน ดวงจันทร์ (2546) และ Anonymous (2010), [4]

ใบแห้ว (นำมาตำพอก)
– นำมาพอกเหงือก แก้อาการปวดเหงือก ปวดฟัน แก้อาการฟันผุ และรักษาแผลในช่องปาก
– นำมาพอกรักษาแผล
– พอกรักษาแมลงกัดต่อย ลดอาการบวม และปวด

เพิ่มเติมจาก : [4]

การปลูกแห้ว
แห้วเป็นพืชชายน้ำที่เติบโตได้เฉพาะพื้นที่น้ำขัง เป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนดินเหนียว ดินมีสภาพเป็นโคลนตมดี

การเตรียมหัวพันธุ์
หัวแห้วที่ใช้เป็นพันธุ์ปลูกควรมีขนาดตั้งแต่ 3 เซนติเมตร ขึ้นไป หัวมีสภาพสมบูรณ์ หัวไม่ฝ่อหรือมีรอยกัดแทะของแมลง ปริมาณหัวแห้วที่ใช้ประมาณ 3 ถัง/ไร่ หรือประมาณ 2,000 หัว/ไร่

การเพาะกล้า
แปลงเพาะกล้าแห้วจะใช้วิธีก่ออิฐชั้นเดียว กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสม แล้วโรยด้วยขี้เถ้าแกลบหรือขี้เถ้าแกลบผสมปุ๋ยคอก หนาประมาณ 5 เซนติเมตร

นำหัวพันธุ์แห้วมาตากแดด 2-3 วัน จากนั้น นำมาแช่น้ำอีก 2-3 วัน จนหัวแทงยอดอ่อน หลังจากนั้น ลงหลบในแปลงเพาะ ระยะห่างระหว่างหัว และแถวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลบด้วยขี้เถ้าให้คลุมทุกหัว ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลจนกล้ามีอายุ 30-45 วัน หรือมีความสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ก่อนย้ายลงปลูกในแปลงนา ทั้งนี้ เกษตรกรมักเพาะกล้าประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

การเตรียมแปลงปลูก
ให้กะระยะเตรียมแปลงปลูกให้เสร็จก่อนอายุกล้าพร้อมประมาณ 1-2 วัน หรือเตรียมเสร็จพร้อมย้ายกล้าลงปักดำ โดยการเตรียมแปลงจะคล้ายกับการเตรียมแปลงนาหว่านตม แบ่งเป็นระยะแรกให้ไถกลบ และตากหน้าดินก่อน 7-10 วัน จากนั้น นำน้ำเข้าแปลง สูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร ก่อนไถปรับแปลงให้เป็นตมอีกรอบ

วิธีปลูกแห้ว
ปลูกด้วยการปักดำ คล้ายกับการปักดำต้นข้าว ระยะปักดำ ตั้งแต่ 50 x 50 เซนติเมตร ถึง 70 x 70 เซนติเมตร ปักดำให้หัวแห้วจมมิดลงโคลน ทั้งนี้ เกษตรกรจะเริ่มปลูกประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน และเก็บหัวแห้วประมาณเดือนพฤศจิกายน ที่อายุตั้งแต่ 6-8 เดือน แต่อาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

การรักษาระดับน้ำ
หลังการปักดำแล้ว ให้รักษาระดับน้ำในแปลงให้คงที่ 10-15 เซนติเมตร โดยจัดทำร่องชักน้ำหรือระบายน้ำไว้รอบแปลง เพื่อนำเข้า หากน้ำลดมาก หรือสูบน้ำออก หากน้ำสูงมากเกินไป

การกำจัดวัชพืช และโรค แมลง
เกษตรส่วนมากนิยมฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช จำพวกหญ้าชนิดต่างๆ รวมถึงฉีดพ่นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ได้แก่
– โรคราสนิม เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ทำให้ใบเป็นแผลสีน้ำตาลอมส้ม คล้ายกับสีสนิม แก้ไขโดยฉีดพ่นไดเท็นเอ็ม 45 และเบนฟอส ในทุกๆ 7 วัน
– โรคใบสีส้ม เกิดจากเชื้อราเช่นกัน แต่มักมีมีความรุนแรงมาก แก้ไขคล้ายกับโรคราสนิม
– หนอนกอ เป็นหนอนเจาะกินเยื่อใบ เมื่อพบระบาดให้ฉีดพ่นด้วยคาร์โบฟูแรน ไอซาโวฟอส
– เพลี้ยจั๊กจั่น เป็นเพลี้ยที่ดูดกินน้ำเลี้ยงลำต้นแก้ไขโดยฉีดพ่นด้วยโมโนโดรฟอส คาร์โบซัลแฟน หรือ ยากำจัดแมลงชนิดอื่นๆ

การใส่ปุ๋ย
– การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังปักดำเสร็จ 15-20 วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21หรือ 15-15-15 อัตรา 20-30 กิโลกรัม/ไร่
– การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังปักดำเสร็จ 90-120 วัน หรือประมาณ 75-100 วัน หลังใส่ครั้งแรก โดยใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 อัตราเดียวกัน

การขุดเก็บหัว และการเก็บรักษา
แห้วสามารถเริ่มเก็บหัวได้เมื่ออายุประมาณ 7-8 เดือน หลังปลูก หรืออาจเก็บได้ตั้งแต่ 6 เดือน ขึ้นไป โดยสังเกตจากใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองจนถึงสีน้ำตาล และเริ่มเหี่ยว และหากขุดดูหัวจะพบเปลือกหุ้มหัวเป็นสีน้ำตาลไหม้ ซึ่งทั่วไปเกษตรกรจะเก็บหัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ในช่วงเดียวกันกับการเก็บเกี่ยวข้าว ขนาดหัวที่เหมาะสมตั้งแต่ 3 เซนติเมตร ขึ้นไป

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b8%9a%e0%b8%ab%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%a7

การเก็บหัวแห้วเริ่มจากการปล่อยน้ำออกจากแปลงก่อนถึงวันเก็บหัว 3-4 อาทิตย์ เพื่อให้หน้าดินแห้ง จากนั้น ทำการไถพรวน ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วเก็บหัว หรือ ใช้จอบขุดเก็บหัว แต่ในบางพื้นที่ที่ระบายน้ำออกยาก เช่น บางพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี เกษตรกรจะใช้วิธีงมเก็บหัวแห้วด้วยมือ โดยเกษตรกรจะใช้ขาย่ำโคลนรอบลำต้นให้เป็นวงหรือทำให้โคลนรอบลำต้นเป็นก้อน ก่อนใช้มือยกก้อนโคลนขึ้นมา ซึ่งหัวแห้วจะติดขึ้นมาด้วย

ทั้งนี้ แห้วที่มีอายุ 7-8 เดือน ในประเทศไทยจะให้หัวแห้วประมาณ 3-4 ตัน/ไร่ ส่วนต่างประเทศประมาณ 3-6.4 ตัน/ไร่ [2]

หลังเก็บแห้วจากแปลงแล้ว หากต้องการเก็บทำพันธุ์ ให้เก็บใส่ถุงกระสอบไว้ในที่ร่ม หรือใส่ในลังไม้หรือใส่ในกระบะทราย สามารถเก็บได้นาน 6 เดือน [3] อ้างถึง ธวัชชัย และคณะ (2550)

ราคาแห้วจีน และสถานที่รับซื้อ
แห้วจีนดิบในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือนตุลาคม-ต้นพฤศจิกายน จะมีราคาประมาณ 60 บาท/ถัง หรือสูงกว่าเล็กน้อย ส่วนช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวประมาณธันวาคมจะมีราคาสูงขึ้นที่ 80-150 บาท/ถัง ส่วนแห้วจีนปอกเปลือกขนาดหัวใหญ่จะมีราคาประมาณกิโลกรัมละ 24 บาท ส่วนหัวเล็กประมาณ 13 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ เป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันราคาอาจเปลี่ยนแปลงแล้ว

สถานที่รับซื้อ
จ. สุพรรณบุรี
1. โรงงานสโนว์เฮาส์
2. โรงงานอโลเวร่าสุพรรณบุรี
3. โรงงานน้ำหวานทานตะวัน

จ. ปราจีนบุรี
1. โรงงานสหปราจีน
2. โรงงานสยามสปายเซ็น
3. โรงงานสยามน้ำฮง
4. โรงงานประจันตคามฟูดส์
5. โรงงานยูลินิเวอร์บลัสเซีย

จ. ราชบุรี
1. โรงงานแกรนด์เอเชีย
2. โรงงานฟูดส์แอนด์ดิ้ง

จ. นครปฐม
1. โรงงานมาลีสามพราน จำกัด

จ. ลำปาง
1. บริษัท อาหารสากล

จ. เชียงใหม่
1. โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง

จ. กาญจนบุรี
1. บริษัท ริเวอร์แควร์อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด

จ. สมุทรสาคร
1. โรงงานเอราวัณฟูดส์

จ. ร้อยเอ็ด
1. โรงงานซอสมะเขือเทศ

%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b8%9a%e0%b9%81%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%a7

ทั้งนี้ เป็นข้อมูลตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบัน สถานที่รับซื้อข้างตนอาจมีการเปลี่ยนแปลง อาจไม่รับซื้อ เลิกกิจการ หรือมีสถานที่รับซื้อใหม่เพิ่มขึ้น [5]

ขอบคุณภาพจาก suphan.biz/, MCOT.net

เอกสารอ้างอิง
[1] เจริญ วัฒนาพันธุ์, 2501, การปลูกแห้วจีน, กสิกร 31 (3).
[2] ผาณิต รุจิรพิสิฐ, 2549, องค์ประกอบทางเคมีและสมบัติทางเคมีกายภาพของ-
แป้งฟลาวร์และสตาร์ชจากแห้วจีน (Eleocharisdulcis Trin.), รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย.
[3] ปาจรีย์ ลั่นนาวา, 2556, องค์ประกอบและสมบัติทางเคมีกายภาพ-
ของฟลาวร์และสตาร์ชแห้วจีน(Eleocharisdulcis Trin.)-
ที่ปลูกในพื้นที่และมีอายุการเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
[4] โสภณ สินธุประมา และจินดา จันทร์อ่อน, 2523, แห้วจีน, กสิกร.
[5] กรองทอง สินสวนแตง, 2523, การพัฒนาผลิตภัณฑ์แห้วจีนอบแห้ง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร.