ตั้งโอ๋ สรรพคุณ และการปลูกตั้งโอ๋

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ตั้งโอ๋ (garland chrysanthemum) เป็นผักต่างประเทศในแถบประเทศจีน และญี่ปุ่น นิยมอย่างมากเพื่อประทานสด และประกอบอาหาร โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น ที่ใช้ทำอาหารในแถบทุกเมนู เนื่องจาก ลำต้น และใบมีความกรอบ หวาน และมีกลิ่นหอม ส่วนประเทศไทยยังไม่นิยมมากนัก และเชื่อว่าอาจเป็นผักเศรษฐกิจอีกชนิดที่ส่งจำหน่ายต่างประเทศได้รายได้งามในอนาคต

• วงค์ : Asteraceae
• อันดับ : Asterales…
• ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Chrysanthemum coronariu.
• ชื่อสามัญ : garland chrysanthemum
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ตังโอ๋
– ผักตังโอ๋
– ตั่งออ
– ผักขี้ควาย
• ชื่อท้องถิ่นต่างประเทศ :
– ญี่ปุ่น : Shungiku
– จีนมณฑลกวางตุ้ง : Tong Ho
– จีนกลาง : Hao zi gan
– เวียดนาม : Tan O

ที่มา : [1], [2]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ตังโอ๋ เป็นผักชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเดียวกันกับดอกเบญจมาศ และเก็กฮวย มีแหล่งกำเนิดเอเชียตอนบน ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ของเอเชีย ปัจจุบัน พบนำเข้ามาปลูกในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การปลูกตังโอ๋ในไทยยังไม่แพร่หลายนัก แต่คาดว่าจะนิยมปลูกมากขึ้นในหลายจังหวัด โดยพบแหล่งปลูกในอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา และสุรินทร์ ภาคเหนือ ได้แก่ เพชรบูรณ์ ลำปาง และพิษณุโลก มีพื้นที่รวมแล้ว เพียงประมาณ 200 กว่าไร่ และคาดว่าจะเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นในอนาคต [4]

ตังโอ๋ กับ คื่นฉ่าย/ขึ้นฉ่าย
ตังโอ๋ กับ คื่นฉ่าย หรือ ขึ้นฉ่าย เป็นผักต่างชนิดกัน มีความแตกต่างกัน ดังนี้

ข้อแตกต่าง ตั้งโอ๋ คื่นฉ่าย/ขึ้นฉ่าย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chrysanthemum coronariu. Apium graveolens Linn.
1. ความสูงของลำต้น สูงน้อยกว่าในระยะต้นอ่อน แต่อาจสูงพอๆกันในระยะออกดอก สูงมากกว่าทั้งในระยะต้นอ่อน และออกดอก
2. การแตกใบ แตกล้อมลำต้น แตกล้อมลำต้น แต่ก้านใบตั้งตรงกว่า
3. ลักษณะใบ แผ่นใบมีขนาดใหญ่ในระยะก่อนออกดอก ใบเว้าแหว่งตรงขอบใบ ใบแหว่งคล้ายใบผักชีในทุกระยะ และมีขนาดเล็กกกว่า
4. ก้านใบ มีก้านใบสั้นในระยะก่อนออกดอก คล้ายผักกาด และก้านใบเล็กกว่า มีก้านใบยาว  และก้านใบใหญ่กว่า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
ผักตังโอ๋ เป็นผักฤดูเดียว ในระยะต้นอ่อนมีลำต้นสั้นๆ เมื่อถึงระยะออกดอกลำต้นขยายยาวขึ้น กลายเป็นช่อดอก

ใบ
ใบตั้งโอ๋ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับตรงข้ามกันบนลำต้น ขนาดใบกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ และบาง ขอบใบหยักเว้าแหว่งลงลึก และแผ่นใบยาวตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ เมื่อเติบโตถึงระยะออกดอก แผ่นใบจะเรียวยาวมากขึ้น และเว้าลึกมากขึ้น

ดอก
ดอกตั้งโอ๋มีลักษณะคล้ายดอกดอกเบญจมาศหรือดอกเก็กฮวย ดอกมีก้านดอกยาว ทรงกลมสีเขียว กลีบดอกมีสีเหลืองล้อมรอบดอก ประมาณ 12-14 กลีบ แต่ละกลีบมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายกลีบตัด และหยักเว้าเป็นช่วงๆ ขนาดดอกเมื่อบานประมาณ 3-8 เซนติเมตร ตรงกลางดอกมีเกสรตัวผู้เป็นก้านยาวสีเหลืองล้อมรอบจำนวนมาก ตรงกลางด้านในสุดเป็นเกสรตัวเมีย และฐานดอกเป็นรังไข่

ผล และเมล็ด
ผลตั้งโอ๋มีลักษณะคล้ายกับผลของดอกเบญจมาศ และเก็กฮวย ผลมีจำนวนมากรวมกันเป็นกลุ่ม มีลักษณะผลเรียวยาว มีขั้วผล และปลายผลแหลม กลางผลพองใหญ่ เปลือกหุ้มผลมีสีน้ำตาลอมดำ แต่ละผลมีเมล็ด 1 เมล็ด แต่ละเมล็ดมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เปลือกเมล็ดบางติดกับเนื้อเมล็ด สีน้ำตาลจนถึงน้ำตาลดำ

ประโยชน์ตังโอ๋
1. ตั้งโอ๋ มีลำต้น และใบกรอบ มีรสหวานเล็กน้อย และมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะเมื่อโดนความร้อน นิยมใช้รับประทานในรูปใบสดหรือลวกน้ำร้อน ใช้รับประทานสดคู่กับอาหารอื่น อาทิ ลาบ ซุบหน่อไม้ ส้มตำ เป็นต้น
2. ตั้งโอ๋ เมื่อโนความร้อนจะช่วยเพิ่มความอ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม และช่วยลดกลิ่นความของเนื้อ และปลาได้ดี โดยใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ แกงจืด แกงอ่อม แกงเลียง ผัดใส่หมู เนื้อ เป็นต้น
3. ในไทย ตั้งโอ๋ยังไม่นิยมมากนัก แต่เริ่มมีการปลูกมากขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นที่นิยมในอนาคต ตั้งโอ๋ในไทยมักใช้ประกอบอาหาร อาทิ เมนูผัด และแกงต่างๆ รวมถึงพบใช้ตามร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ประเภทจิ้มจุ่ม โดยเฉพาะตามห้างต่างๆ
4. ชาวตะวันตกบางครัวเรือนปลูกตังโอ๋เพื่อเป็นไม้ประดับดอก เนื่องจากดอกออกเป็นช่อ มีสีเหลืองสวยงาม

การประกอบอาหารด้วยตั้งโอ๋ มีเคล็ดลับ คือ ใช้ตั้งโอ๋ใส่ในอาหารเป็นส่วนสุดท้าย และปรุงต่อในเวลาไม่นาน เพราะ ตั้งโอ๋เมื่อสัมผัสความร้อนจะอ่อนตัวเร็วมาก หากปรุงนานจะทำให้ตั้งโอ๋เปื่อยได้ ทำให้มีความกรอบน้อยลง
5. ตังโอ๋มีสารอาหาร และแร่ธาตุหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน, วิตามิน C, วิตามินบี2, แคลเซียม, เหล็ก, ฟอสฟอรัส, แมกนีเซียม, ไลซีน และ เบต้าแคโรที เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้ ช่วยในการเสริมสร้างพลังงาน และช่วยการทำงานของอวัยวะต่างๆให้เป็นปกติ รวมถึงออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระป้องกันการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย และช่วยป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้

สรรพคุณตังโอ๋
– ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง
– ช่วยแก้อาการร้อนใน
– ต้านเลือดออกตามไรฟัน
– ป้องกันโรคกระดูกเสื่อม กระดูกพรุน
– ในตำราแพทย์จีนเชื่อว่า ตังโอ๋ช่วยบำรุงตับ ม้าม และเสริมการทำงาน
– ช่วยในการย่อยอาหาร และกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร
– กำจัดความชื้นในปอด กระตุ้นการทำงานของปอด
– ช่วยขับเสมหะ ช่วยบรรเทาอาการไอ และอาการระคายคอ
– ช่วยแก้อาการสะอึก
– ช่วยบรรเทาอาการแน่นท้อง และเจ็บหน้าอก
– ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ และเวียนศีรษะ
– ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย

เพิ่มเติมจาก [2], [3]

ความเป็นพิษ
พืชที่อยู่ในตระกูล composital อาทิ ต้นทานตะวัน และดอกคำฝอย รวมถึงผักตั้งโอ๋ ในลำต้น และใบจะประกอบด้วยสาร sesquiterpene lactone เมื่อสัมผัสกับผิวหนังในบางรายจะเกิดอาหารแพ้ เกิดผื่นแดง หรือ ผื่นแพ้แสง มีอาการผิวหนังอักเสบ และเป็นตุ่มพองน้ำใส [5]

การปลูกตังโอ๋
ตังโอ๋ ใช้วิธีขยายพันธุ์ และปลูกด้วยเมล็ดเป็นหลัก

การเตรียมแปลง
แปลงปลูกตั้งโอ๋ ควรไถพรวนแปลงก่อน 1-2 รอบ แต่ละรอบตากดินนาน 5-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด และก่อนไถรอบ 2 ให้หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ แล้วไถยกแปลงในครั้งที่ 2 ขนาดแปลงกว้าง 1-1.5 เมตร เว้นช่องว่างระหว่างแปลง ประมาณ 40 เซนติเมตร

การเพาะกล้า
การเพาะกล้าตังโอ๋ อาจเพาะลงแปลงหรือเพาะในกระบะเพาะ โดยการเพาะลงแปลง ต้องเตรียมแปลงด้วยการพรวนดินก่อน ขนาดแปลงขึ้นอยู่กับปริมาณการปลูก แต่ควรเพาะในแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนความยาวตามต้องการ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล และย้ายกล้า ส่วนการเพาะในกระบะ ให้หยอดเมล็ดลงหลุมกระบะ ประมาณ 2-3 เมล็ด/หลุม จากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม และดูแลต่อประมาณ 7-10 วัน หลังวอก ค่อยย้ายปลูกลงแปลง

วิธีปลูก
การปลูกตั้งโอ๋คล้ายกับการปลูกผักอายุสั้นทั่วไป คือ ปลูกลงแปลงขนาด 1-2 เมตร เว้นช่องแปลงเพื่อเข้าเก็บ ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ปลูกจากต้นกล้าเรียงเป็นแถว ระยะห่างระหว่างแถว และต้น ประมาณ 10-15 เซนติเมตร หรือเกษตรกรบางรายอาจใช้วิธีหว่านเมล็ดลงแปลงแทนการเพาะกล้า ซึ่งได้ผลไม่แตกต่างกันมากนัก

การดูแล
– การให้น้ำ ในระยะหลังย้ายกล้าวันแรกจนถึง 7-10 วัน ควรให้น้ำทุกวัน ให้ในปริมาณเพียงชื้นหน้าดิน จากนั้น ลดการให้น้ำ 2 วัน/ครั้ง จนถึงต้นพร้อมเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และความแล้ง แต่ควรมั่นตรวจสอบหน้าดินในแปลงไม่ให้แห้ง
– การใส่ปุ๋ย ให้ใส่หลังย้ายกล้าปลูก 7-10 วัน หรือ 10-15 วัน หรือใส่ครั้งเดียว ประมาณ 15-20 วัน หลังการเมล็ดงอกสำหรับการปลูกแบบหว่านเมล็ด โดยใช้ปุ๋ยสูตร 16-8-8 อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอก ด้วยการหว่านปุ๋ยลงแปลง
– การกำจัดวัชพืช ให้กำจัดวัชพืชทุกๆ 20 วัน ด้วยการถอนต้นด้วยมือเป็นหลัก

การเก็บเกี่ยว
ตั้งโอ๋เป็นพืชอายุสั้น ฤดูเดียว นิยมเก็บลำต้น และใบ ก่อนระยะออกดอก เพราะใบ และลำต้นมีขนาดใหญ่ หากปล่อยให้ถึงระยะออกดอก จะมีลำต้น และใบเรียวเล็ก ใบเว้าแว่งมาก ไม่ค่อยกรอบ และหยาบ

ตั้งโอ๋เริ่มเก็บลำต้น และใบได้ ตั้งแต่ 20-30 วัน หลังย้ายกล้าปลูก หรือประมาณ 30-45 วัน หลังเมล็ดงอก ทั้งนี้ การเก็บตั้งโอ๋ ให้เก็บด้วยการถอนทั้งต้น หรือ ใช้มีดตัดโคนต้นออก

ขอบคุณภาพจาก ppseeds.com/, flickr.com/, Snapguide.com/, payuseedsshop.com

เอกสารอ้างอิง
[1] ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว, รายชื่องานวิจัย Perishable Crops > พืชผัก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.phtnet.org/research/perishable-vegetable.asp?id_name=f072/.
[2] balavi.com, ตั้งโอ๋มีประโยชน์หลากหลาย, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://balavi.com/index.php/contact/9-news/20-healthnews4/.
[3] พีพี เมล็ดพันธุ์ : www.ppseeds.com , ตังโอ๋-Garland Chrysanthemum, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 8 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.ppseeds.com/product/749/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B9%8B-garland-chrysanthemum-2/.
[4] ระบบจัดเก็บและรายงานข้อมูลภาวการณ์ผลิตพืชรายเดือน ระดับตำบล : กรมส่งเสริมการเกษตร, ตั้งโอ๋, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.agriinfo.doae.go.th/year59/plant/rortor/veget/22.pdf/.
[5] ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี : มหาวิทยาลัยมหิดล, ภาวะเป็นพิษจากพืช, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Plant/.