Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ดาวกระจาย (Mexican Aster) จัดเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่นิยมปลูกลงแปลง เนื่องจาก ดอกมีขนาดใหญ่ ดอกมีจำนวนมาก และหลากหลายสี เมื่อบานจะแลดูสวยงามเป็นทุ่งดาวกระจาย อีกทั้ง อายุดอกที่บานนาน และบานเป็นชุดต่อเนื่อง
• วงศ์ : Compositae (วงศ์เดียวกับดาวเรือง)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cosmos bipinnatus Cav. (Cosmos มาจากภาษากรีกคำว่า Komos แปลว่า สวยงาม)
• ชื่อสามัญ : Mexican Aster
• ชื่อสามัญอื่น :
– Mexican Aster
• ชื่อท้องถิ่น :
– ดาวกระจาย
– ดาวเรืองพม่า
– หญ้าแหลมนกไส้
ภาคเหนือ
– คำแพ
– คำแล
– คำอังวะ
– คำเมืองไหว
– พอกอลา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
– สะลากุ้ง, หญ้าตีตุ้ด (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ที่มา : [1], [2], [3]
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ดาวกระจาย มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนของอเมริกา เม็กซิโก และเวสต์อินดีส [1]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ดาวกระจาย มีลำต้นเป็นทรงพุ่มเตี้ย และโปร่ง ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง แตกกิ่งก้านตั้งแต่ระกับล่างของลำต้น สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร
ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีสีเขียวเข้ม แผ่นใบเว้าแว่งคล้ายนิ้วมือ 5-7 แฉก แต่ละแฉกมีรูปหอก
ดอก
ดาวกระจาย เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกดอกบริเวณปลายกิ่ง มีก้านดอกยาว ขนาดดอกประมาณ 5-15 เซนติเมตร กลีบดอกมีหลายสีตามสายพันธุ์ อาทิ สีเหลือง สีแดงอมม่วง สีชมพู และขาว เป็นต้น กลีบดอกอาจมีชั้นเดียวหรือเรียงซ้อนเป็นชั้น แผ่นกลีบดอกบาง และเรียบ ปลายกลีบหยักเป็นฟันเลื่อย ตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ 5 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน ด้านล่างเป็นรังไข่ ทั้งนี้ ดาวกระจายจะเริ่มออกดอกประมาณ 50-55 วัน หลังเมล็ดงอก โดยดอกจะบานเร็วในฤดูฝน และแล้ง ส่วนฤดูหนาวดอกจะบานช้ากว่า และให้ดอกได้ประมาณ 3-4 รุ่น หลังจากนั้น ต้นจะแก่ และเหี่ยวแห้งตาย
เมล็ด
เมล็ดดาวกระจายมีลักษณะรียาว หัว และท้ายเรียวแหลม เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง สีน้ำตาลอมดำ [2], [3]
พันธุ์ดาวกระจาย
สายพันธุ์ดาวกระจายที่นิยมปลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ
1. C. bipinnatus Cav. หรือเรียก Sensation Type
มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว กลีบดอกมีหลายสี ยกเว้นโทนสีเปลวไฟ มีลำต้นสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเรียวยาว และหยักลึก
2. C. sulphureus Cav. หรือเรียก Klondyke Type
มีลักษณะเด่น คือ กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว และกึ่งซ้อนหรือซ้อนหลายชั้น กลีบดอกมีเฉพาะโทนสีเปลวไฟ มีลำต้นสูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร เตี้ยกว่าสายพันธุ์แรก ใบมีลักษณะใหญ่ และหยักตื้น
พันธุ์ดาวกระจายต่างๆ [1]
1. Bright Light
เป็นสายพันธุ์ sulphureus กลีบดอกเป็นแบบกึ่งซ้อน กลีบดอกมีหลายสี ได้แก่ สีเหลือง สีทอง และสีส้ม
2. Diablo
เป็นสายพันธุ์ sulphureus กลีบดอกเป็นแบบกึ่งซ้อน กลีบดอกสีแดงเพลิง
3. Goldcrest
เป็นสายพันธุ์ sulphureus กลีบดอกเป็นแบบกึ่งซ้อน กลีบดอกสีส้มแบบเปลวไฟ
4. Sunset
เป็นสายพันธุ์ sulphureus กลีบดอกเป็นแบบกึ่งซ้อน กลีบดอกสีแดงเพลิง
5. Aktsuki
เป็นสายพันธุ์ bipinnatus กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว กลีบดอกสีชมพูจางๆ บริเวณขอบกลีบดอก และเส้นกลางกลีบดอกมีสีเลือดหมูเข้ม
6. Dazzler
เป็นสายพันธุ์ bipinnatus กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว กลีบดอกสีแดงเข้มอมสีเลือดหมู แต่มีความแวววาว
7. Gloria
เป็นสายพันธุ์ bipinnatus กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว กลีบดอกสีกุหลาบเข้ม โคนกลีบมีลายแถบสีแดงเลือดหมูและมองเห็นเป็นวงเข้มตรงลกางดอก
8. Pinkie
เป็นสายพันธุ์ bipinnatus กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว กลีบดอกสีชมพูคล้ายสีดอกกุหลาบ
9. Purity
เป็นสายพันธุ์ bipinnatus กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว กลีบดอกสีขาว
10. Radiance
เป็นสายพันธุ์ bipinnatus กลีบดอกเป็นแบบชั้นเดียว กลีบดอกสีชมพูกระจ่าง มีแถบวงกลมสีเลือดหมูเข้มที่กลางดอก คล้ายกับพันธุ์ Gloria
ประโยชน์ดาวกระจาย
1. ดาวกระจาย 1 ต้น ออกดอกหลายดอก มีก้านดอกชูยาว จึงนิยมปลูกประดับแปลงเป็นหลัก ทั้งแปลงจัดสวนขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก แต่ไม่นิยมปลูกในกระถาง เพราะปลูกได้จำนวนต้นน้อย หรือปลูกเพื่อตัดดอกใส่แจกัญ เพราะดอกจะเหี่ยวเร็ว
2. ดอกดาวกระจายใช้สกัดสีสำหรับเป็นสีผสมอาหารหรือใช้ในการย้อมผ้า
3. ดอกดาวกระจายใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ โดยเฉพาะเป็ด และไก่ เพื่อช่วยให้ไข่แดงมีสีเข้มขึ้น
4. ดอกดาวกระจายนำมาบดขยำ และผสมน้ำเล็กน้อย ใช้สำหรับระบายสีภาพ
5. ดาวกระจายใช้ปลูกรอบแปลงเกษตร ใช้สำหรับล่อแมลงผสมเกสร
สรรพคุณดาวกระจาย
– ดอกนำมาบดหรือขยี้ก่อนใช้ทารักษาพิษแมลงกัดต่อย
– ดอกนำมาบดทารักษาบาดแผล
– ดอกใช้ต้มดื่ม แก้อาการท้องเสีย
ที่มา : [2]
การปลูกดาวกระจาย
การปลูกดาวกระจาย นิยมปลูกลงแปลงเป็นส่วนใหญ่ เพราะเมื่อดอกบานจะบานพร้อมกัน และมีจำนวนมาก ทำให้แลดูสวยงามทั่วทั้งแปลง แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ดาวกระจายอยู่ที่ภาคเหนือ และภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่
การเตรียมแปลง
การปลูกดาวกระจาย นิยมปลูกแบบลงแปลง ดังนั้น แปลงปลูกจะต้องไถพรวนดินอย่างน้อย 1 ครั้ง และควรกำจัดวัชพืชออกให้หมด เพื่อไม่ให้เติบโตแข่งดาวกระจาย ทั้งนี้ ควรเตรียมแปลงในช่วงแดดออกติดต่อกัน อย่างน้อย 3-5 วัน เพื่อให้วัชพืชเหลือน้อยที่สุด
วิธีปลูก และระยะปลูก
วิธีปลูกดาวกระจายในแปลง นิยมใช้การหว่านเมล็ด และการหยอดเมล็ด โดยแบบหว่านเมล็ด ควรหว่านให้เมล็ดมีระยะห่างอย่างน้อยประมาณ 15-20 เซนติเมตร จากนั้น ไถคราดตื้นๆกลบหน้าดิน
ส่วนการหยอดเมล็ดจะใช้วิธีขุดหลุม ลึกประมาณ 3-5 เซนติเมตร ก่อนหยอดเมล็ดหลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะห่างของหลุมที่ 30 เซนติเมตร ระยะห่างแถวที่ 40-50 เซนติเมตร ทั้งนี้ อาจเพาะกล้าให้มีใบจริงก่อน 3-5 ใบ จากนั้น ค่อยย้ายลงปลูกลงหลุม หลุมละ 1-2 ต้น
การให้น้ำ
การปลูกดาวกระจายส่วนมาก นิยมปลูกในต้นฤดูฝน-ปลายฤดูหนาว ซึ่งจะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ แต่หากปลูกในหน้าแล้งควรให้น้ำอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง โดยเฉพาะระยะ 7 วันแรกหลังเพาะกล้า และย้ายปลูก
การกำจัดวัชพืช
ต้นดาวกระจาย เป็นพืชที่โตเร็ว สามารถเติบโตแข่งกับวัชพืชได้ดี ดังนั้น จึงไม่นิยมกำจัดวัชพืช แต่จะต้องกำจัดวัชพืชในขั้นตอนเตรียมแปลงให้หมดก่อน และหากมีวัชพืชอื่นที่โตเร็ว ก็ควรมั่นถอนทิ้งเป็นประจำ
การใส่ปุ๋ย
– ในระยะ 14-20 วัน หลังปลูก ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 16-8-8 ร่วมกับปุ๋ยคอก
– ระยะ 35-40 วัน หลังปลูก ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 8-16-24
การออกดอก
หลังปลูกได้ประมาณ 50-55 วัน ดอกดาวกระจาจะเริ่มบาน และบานได้นานหลายวัน จากนั้น ก็จะร่วง และติดเมล็ด แต่จะทยอยออกดอกชุดใหม่เรื่อย 3-4 ชุด
ขอบคุณภาพจาก BlogGang.com/, gardenia.net/ fabiovisentin.com/,
เอกสารอ้างอิง
[1] ลักขณา เพ็ชรประดับ และสมจิตต์ กิจรุ่งเรือง, 2555, การผลิตเมล็ดพันธุ์ดอกดาวกระจาย.
[2] เนาวรัตน์ สอดแสงอรุณงาม, 2547, การสกัดสีย้อมจากรากยอและ-
ดอกดาวกระจายสำหรับย้อมผ้าฝ้าย.
[3] สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?words=%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2&typeword=group/.