หงส์เหิน/ดอกเข้าพรรษา ประโยชน์ สรรพคุณ และวิธีปลูกหงส์เหิน

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หงส์เหิน หรือเรียก ดอกเข้าพรรษา  (Globba) จัดเป็นไม้ดอกที่ต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจ และมีความต้องการเป็นจำนวนมากเนื่องจากมีรูปทรงดอกที่แปลกตา ปัจจุบันมีการส่งออกหัวพันธุ์หงส์เหินไปยังประเทศญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์สำหรับประเทศไทยการใช้หงส์เหินในการปักแจกัน และไม้กระถาง แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก

เนื่องจากความสวยงามแปลกตาของพันธุ์พื้นบ้านของพืชสกุลนี้ จึงมีผู้นำมาตัดดอก หรือ ปลูกเป็นไม้กระถาง หรือเก็บหัวพันธุ์จำหน่าย แต่พบว่ายังไม่แพร่หลายมากนัก ปัจจุบันหงส์เหินที่ปลูกเป็นการค้าในประเทศไทย มี 2 พันธุ์ คือ Globba williamsiana ดอกสีม่วงอมชมพู มีชื่อการค้าว่า Giant Violet Dancing Girl และ Globba magnifica ดอกสีขาว มีชื่อการค้าว่า White Dragon แหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะผลิตหัวพันธุ์เพื่อจำหน่ายตลาดต่างประเทศ [1] อ้างถึงใน พัชรียา และคณะ (2552)

อนุกรมวิธาน
วงศ์ : Zingiberaceae (ขิง,ข่า)
สกุล : Globba

ชื่อวิทยาศาสตร์ :
– Globba magnifica (ดอกสีขาว)
– Globba williamsiana (ดอกสีม่วงอมชมพู)
– และอื่นๆ
ชื่อสามัญ :
– Globba
– Dancing Ladies
ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– ต้นเข้าพรรษา
– หงส์เหิน
– กระทือลิง, ขมิ้นผี (สระบุรี)
อีสาน
– ว่านทับทิมสยาม (อุดรธานี)
– กระทือลิง (โคราช)
– ว่านดอกเหลือง (เลย)
– ว่านขมิ้น, กล้วยจะก่าหลวง (อุบล)
– ว่านเข้าพรรษา, กระทือ (สกลนคร)
– กระชายขาว (กาฬสินธุ์)
เหนือ
– กล้วยจ๊ะก่า (ตาก)
– กล้วยจะก่าหลวง (ลำพูน)
– กล้วยเครือคำ, หงส์องค์ดำ, กล้วยจั่น (เชียงใหม่ )
– ก้ามปู (พิษณุโลก)

ใต้
– ปุดนกยูง (ภาคใต้)

ส่วนประเทศอื่น เช่น พม่า เรียก พเด็งโง แปลว่า ช่างทองร้องไห้

ที่มา : [2] อ้างถึงใน อรวรรณ (2553), [4]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หงส์เหิน (Globba) เป็นพืชพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในธรรมชาติพบมากกว่า 100 ชนิดมีการกระจายตัวแถบเอเชียเขตร้อน (Tropical Asia) หรือป่าร้อนชื้น ตั้งแต่อินเดีย ทางใต้ของจีน และกระจายมาจนถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และนิวกีนี บริเวณป่าชื้นของไทย พม่า และเวียดนาม เป็นศูนย์กลางความหลากหลายของพันธุ์โดยพบมากกว่า 50 ชนิด ในประเทศไทยพบในทุกภาค โดยพบมากที่ภาคเหนือบริเวณจังหวัดตาก ภาคกลางพบมากในจังหวัดสระบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมากในจังหวัดบุรีรัมย์ สกลนคร หนองบัวลาพู ส่วนภาคใต้พบมากในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งภาคกลางมีความหลากหลายของพันธุ์มากกว่าภาคอื่น ๆ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ [1] อ้างถึงใน กัลยา (2546) (Willias et al., 2002), [3]

หงส์เหินชนิดต่างๆ [5] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ชนิด

ลักษณะช่อดอก

สีใบประดับ (สีเด่นบนช่อดอก)

Globba adhaerens Gagnep.

กระจุกแยกแขนง

สีขาวหรือสีชมพูอ่อน

Globba annamensis Gagnep.

กระจุกแยกแขนง

สีแดง

Globba barthi

กระจุกแยกแขนง

สีแดง

Globba colpicola K. Schum.

กระจุกแยกแขนง

สีเขียวอ่อน

Globba flagellaris K. Larsen

กระจุกแยกแขนง

สีเขียว

Globba fragilis S.N. Lim

กระจุกแยกแขนง

สีเหลืองอมส้ม

Globba geoffrayi Gagnep.

กระจุกแยกแขนง

สีขาว

Globba globulifera Gagnep.

กระจุกแยกแขนง

สีขาว

Globba lancangensis

กระจุกแยกแขนง

 

Globba leucantha Miq.

กระจุกแยกแขนง

สีขาวอมม่วง

Globba marantina L.

เชิงลดคล้ายช่อกระจุก

สีเขียวอ่อน

Globba nisbetiana Craib

กระจุกแยกแขนง

สีเขียว

Globba obscura K. Larsen

กระจุกแยกแขนง

สีเขียว

Globba purpurascens Craib

กระจุกแยกแขนง

สีเขียวอ่อน

Globba pendula Roxb.

กระจุกแยกแขนง

สีเหลืองอมส้ม

Globba racemosa Sm.

กระจุกแยกแขนง

สีเหลืองอมม่วง

Globba reflexa Craib

กระจุกแยกแขนง

สีเขียว

Globba rosea Gagnep.

กระจุก

สีม่วงแดง

Globba schomburgkii Hook.f.

กระจุกแยกแขนง

สีเขียว

Globba siamensis Hemsl.

กระจุกแยกแขนง

สีชมพู

Globba substrigosa King ex Baker

กระจุกแยกแขนง

สีขาวหรือสีม่วง

Globba villosula Gagnep.

แยกแขนงโค้งลง

สีม่วงอ่อน

Globba winitii C.H. Wright

กระจุกแยกแขนง

สีชมพูอมม่วง

Globba xantholeuca Craib

กระจุกแยกแขนง

สีขาว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หงส์เหิน เป็นพืชที่มีลำต้นเป็นหัวใต้ดิน (tuberous rhizome) ประเภทเหง้า มีลักษณะกลม เหง้ามีรากสะสมอาหารลักษณะอวบน้ำ คล้ายรากกระชายเรียงอยู่โดยรอบหัว

ส่วนของลำต้นเหนือดิน เป็นลำต้นเทียม สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร เกิดจากการที่กาบใบรวมที่เรียงตัวกันอัดแน่นเป็นลำต้นเทียมเหนือดิน โดยในระยะการเติบโตช่วงแรกลำต้นจะมีลักษณะเป็นปล้องสั้น มีกาบใบเรียงเป็นชั้นๆ หุ้มล้อมรอบแต่ละปล้อง หากแกะกาบใบออกจะพบลำต้นทรงกลม ผิวลำต้นด้านนอกมีสีน้ำตาล ส่วนเนื้อด้านในมีสีขาว มีกลิ่นหอม และเมื่อลำต้นเติบโตสูงขึ้นจะมองเห็นลำต้นเป็นข้อปล้องอย่างชัดเจนขึ้น และผิวลำต้นมีขนเล็กๆ ปกคลุม

ใบ
ใบเดี่ยว มีลักษณะเรียวยา ว ใบรูปหอกคล้ายใบกระชายแต่มีขนาดเล็กกว่าเป็นสองแถวในระนาบเดียวกัน จำนวน 6 – 8 ใบ มีสีเขียว ใบด้านหลังมีสีอ่อนกว่า ขนาดกว้างประมาณ 4.0 –5.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10.0 – 20 เซนติเมตร ลิ้นใบ รูปกึ่งสี่เหลี่ยม ขนาดกว้างประมาณ 0.3 เซนติเมตร ยาว 0.2 เซนติเมตร เนื้อบาง สีเขียวซีด

ดอก
– ช่อดอกมีลักษณะโค้งลง โปร่ง มีช่อดอกย่อยประมาณ 17 ช่อ ก้านช่อดอกย่อยแต่ละก้านยาวประมาณ 3.6 เซนติเมตร มีใบประดับสีม่วงอมชมพูโค้งพับลง รูปลิ่มแกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 0.5 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 3.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยมีสีเหลือง รูปไข่แกมขอบขนาน ปลายเป็นติ่งแหลม ขนาดกว้าง 0.3 – 0.5 เซนติเมตร ยาว 0.5 – 0.6 เซนติเมตร

– ตัวดอกมีลักษณะของดอกคล้ายกับหงส์กา ลังบิน ประกอบด้วยก้านดอกยาว 0.1 – 1.35 เซนติเมตร หลอดกลีบเลี้ยงสีเหลือง ยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร พูกลีบดอกบนพูกว้างประมาณ 0.2 เซนติเมตร ยาว 0.35 เซนติเมตร พูกลีบดอกล่างขนาดกว้างประมาณ 0.2 เซนติเมตร ยาว 0.4 เซนติเมตร ปากรูปกึ่งสามเหลี่ยมแคบ ขนาดกว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยาว 0.35 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รูปขอบขนานโค้งคล้ายเคียว ขนาดกว้างประมาณ 0.2 เซนติเมตร ยาว 0.75 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 2.2 เซนติเมตร อับเรณูขนาดกว้างประมาณ 0.05 เซนติเมตร ยาว 0.25 เซนติเมตร มีรยางค์อับเรณู 4 อัน

โดยหงส์เหินเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน โดยจะออกมากในช่วงวันเข้าพรรษา การออกดอกจะออกดอกเมื่อมีใบประมาณ 5 ใบ

ผล และเมล็ด
หงส์เหินจะติดผลได้หลังการผสมเกสร โดยส่วนของรังไข่จะพัฒนาไปเป็นผล ผลมีลักษณะกลม ผิวขรุขระ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีเหลือง เมื่อผลแก่ ผลจะแตกทำให้เมล็ดที่อยู่
ภายในฝักร่วงหล่นลงดิน

เมล็ดมีลักษณะเมล็ดค่อนข้างกลมเมื่อแก่มีสีน้ำตาล ขนาดเมล็ด 0.1-0.2 เซนติเมตร ที่โคนเมล็ดมีรกสีขาวติดอยู่

สรรพคุณหงส์เหิน
เหง้า และหัว
– เหง้า และหัวของหงส์เหินชนิด Globba clarkei ใช้รักษาอาการไอ
– เหง้า และหัวของหงส์เหินชนิด Globba multiflora ใช้บดทาแผลเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้

ที่มา : [4]

ประโยชน์หงส์เหิน
1. หงส์เหินนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจาก ตัวดอกมีช่อห้อย และมีสีสันสวยงาม และแลดูแปลกตา ทั้งแบบปลูกในกระถางประดับตามห้อง หน้าบ้าน หรือ ปลูกลงแปลงในสวนต่างๆ รวมถึงนำก้านช่อดอก
มาปักแจกันประดับ ซึ่งสามารถคงอยู่ได้นาน
2. หงส์เหินเป็นไม้ดอกที่สำคัญในวันเข้าพรรษา เพราะนิยมใช้ช่อดอกสำหรับประเพณีตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก ต้นเข้าพรรษา
3. หงส์เหินนิยมปลูกเป็นไม้มงคล ตามความเชื่อที่ว่าเป็นต้นไม้ที่ช่วยปัดเป่าสิ่งอัปมงคล ช่วยคุ้มครองภัยอันตรายทั้งหลายแก่คนในบ้าน
4. หงส์เหินเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ถูกคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์เพื่อการส่งออกหัวพันธุ์ไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ สร้างรายได้เข้าประเทศหลักล้านบาท

การปลูกหงส์เหิน
ฤดูปลูกหงส์เหิน
1. การปลูกก่อนฤดู
เริ่มปลูกประมาณเดือนมีนาคม (ก่อนปลูกจะแช่หัวในน้ำเพื่อกระตุ้นการแตกหน่อ) พืชจะเริ่มออกดอกเดือนพฤษภาคม และมีการเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ในฤดูหนาวของประเทศไทยคือเดือนธันวาคม

2. การปลูกฤดูปกติ
เริ่มปลูกประมาณเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม พืชจะเริ่มออกดอกเดือนกรกฎาคมและมีการเก็บเกี่ยวหัวในเดือนธันวาคม หรือมกราคม

3. การปลูกนอกฤดู
เริ่มปลูกประมาณเดือนกรกฎาคม หรือสิงหำคม โดยหัวพันธุ์ที่จะนำมาปลูกต้องเก็บที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อชะลอการแตกหน่อ เมื่อนำมาปลูกแล้วจะออกดอกเดือนธันวาคม หรือมกรำคม ในการปลูกนอกฤดูนี้จะต้องให้ไฟคั่นช่วงกลางคืน เวลา 24.00-03.00 น. ทุกวัน ในช่วงตั้งแต่ปลายเดือนสิงหำคมเป็นต้นไป เพื่อกระตุ้นให้ต้นมีการเจริญและไม่เกิดการพักตัวในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงแสงสั้น และการเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์จะทำในช่วงเดือนมีนำคม [4]

วิธีปลูกหงส์เหิน
หงส์เหินเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี (herbaceous perennials) มีการเจริญเติบโตเหมือนไม้ประเภทหัวในตระกูลขิงอื่น ๆ เช่น ข่า และ กระชาย เป็นต้น การขยายพันธุ์หงส์เหินสามารถทำได้หลายวิธีการเช่น การแยกเหง้า และการเพาะเมล็ด แต่ที่วิธีที่สะดวกรวดเร็ว และได้ผลดี คือ วิธีแยกเหง้าปลูก โดยการขุดเหง้า (หัว) ใต้ดินในระยะพักตัวประมาณช่วงฤดูหนาว-ฤดูแล้ง โดยเหง้าที่สามารถเก็บขุดเก็บมาขยายพันธุ์ได้นั้นสังเกตจากลำต้นเทียมเหนือดินได้เริ่มเหี่ยวลงไปแล้ว จากนั้น นำเหง้ามาปลิดแยกเหง้าเป็นหัวๆ แล้วลงปลูกในแปลง โดยฝังลึก 5 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร ส่วนวิธีการแยกหน่อ ไม่แนะนำ เพราะหน่อที่แยกออกมามักชะงักการเจริญเติบโต และตายได้ง่าย

การให้น้ำ
หงส์เหินเป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ ถ้าอากาศแห้งมากควรมีการให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้งในช่วงเช้า

การตัดแต่ง
ในกรณีที่แปลงปลูกจากปีที่ 2 เป็นต้นไป ต้นหงส์เหินในแปลงอาจมีความหนาแน่นมากเกินไป เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาด ดอกมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ ควรมีการตัดแต่งให้แปลงปลูกโปร่งโดยตัดต้นที่ไม่สมบูรณ์หรือตัดใบทิ้ง

การเก็บหัวพันธุ์
จะเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นระยะที่หัวเริ่มเข้าสู่การพักตัว

[2] อ้างถึงใน อรวรรณ, 2553

เอกสารอ้างอิง
[1] นทีพงศ์ เมืองแก้ว. 2555. เทคนิคการผลิตที่มีผลต่อผลผลิตหัวพันธุ์หงส์เหิน.
[2] ณัฐพงค์ จันจุฬา. 2555. การเพาะเลี้ยงเอมบริโอ และการชักนำให้เกิด-
การกลายพันธุ์ภายใต้สภาวะปลอดเชื้อในต้นหงส์เหิน.
[3] สุกฤษฏิ์ เมธาประสิทธิ์. 2555. สรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยวของช่อดอก-
และการเก็บรักษาหัวพันธุ์หงส์เหิน.
[4] อรณิช คำยง. 2563. การศึกษาการผลิตหัวพันธุ์หงส์เหิน.
[5] ปิติมา พุ่มพวง. 2557. ความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของพืชสกุลหงส์เหิน-
ในประเทศไทยโดยใช้เทคนิคเอเอฟแอลพี.