ชวนชม และการปลูกชวนชม

Last Updated on 7 กันยายน 2016 by puechkaset

ชวนชม (Mock Azalea) จัดเป็นไม้ประดับต้น และประดับดอก ที่นิยมปลูกมากเป็นอันดับต้นของคนปลูกไม้ประดับ เนื่องจาก ลำต้นมีลักษณะแปลก ฐานลำต้นแตกอวบออกเป็นพูพอน แตกกิ่งน้อย แต่ออกดอกจำนวนมาก ดอกมีสีสันสวยงาม ทั้งสีแดง สีขาว และสีชมพู ปัจจุบัน จึงเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่มีราคาแพงที่สุด

ชวนชมเป็นไม้ที่นิยมปลูกในกระถางเป็นหลัก เพราะชวนชมสามารถเลี้ยงง่าย ไม่ต้องการน้ำมาก ลำต้นไม่สูงใหญ่ และสามารถยกกระถางไปประดับไว้ได้ตามความชอบ ซึ่งลักษณะชวนชมที่เป็นที่ต้องการของตลาด และมีราคาแพง คือ
– โคนต้นเป็นพูพอนใหญ่
– ลำต้นเตี้ย
– แตกกิ่งเป็นทรงพุ่มแน่น แต่กะทัดรัด และสมส่วน
– ให้ดอกดก
– สีดอกมีความสดใส

• วงศ์ : Apocyanaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Adenium obsesum (Forssk.) Roem. & Schult.
• ชื่อสามัญ :
– Mock Azalea
– Desert Rose
– Pink Bignonia
– Impala Lilly
• ชื่อท้องถิ่น :
– ชวนชม
– ลั่นทมยะวา
• ถิ่นกำเนิด : ทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันออก ในแถบแระเทศแทนซาเนีย เคนยา และยูกันดา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
ชวนชม เป็นไม้หลายปี มีลำต้นเป็นรูปขวด และอวบน้ำ โคนลำต้นอวบขยายเป็นพูพอนใหญ่ เรียกว่า โขด ลำต้นส่วนกลางขยายใหญ่ และสั้น ส่วนปลายลำต้นแตกกิ่งไม่เป็นระเบียบ ขนาดกิ่งเล็ก และสั้น ผิวลำต้น และกิ่งเรียบ มีเปลือกลำต้นบางติดเป็นเนื้อเดียวกันกับแก่น ผิวด้านนอกมีสีเทาอมเขียว แก่นหรือเนื้อด้านในมีสีขาวอมเหลือง มีลักษณะฉ่ำน้ำ ส่วนรากชวนชมประกอบด้วยรากแขนงจำนวนมากที่มีลักษณะบวมใหญ่แทงลึกลงดินได้มากกว่า 1 เมตร

ชวนชม

ใบ
ชวนชม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ใบแตกออกใบเดี่ยวๆ เรียงออกสลับกันแน่นตามกิ่ง มีก้านใบสั้นๆ ใบมีรูปไข่ โคนใบสอบเล็ก ปลายใบมน แผ่นใบหนา แต่เหนียว มีสีเขียวเข้ม เป็นมัน และมีขนปกคลุม ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ และอาจแผ่ราบหรือโค้งห่อ ส่วนขอบใบอาจเรียบหรือหยักเป็นคลื่น

ดอก
ดอกชวนชมออกเป็นช่อ แทงออกบริเวณปลายกิ่ง จำนวน 10-20 ดอก ผลัดกันบานครั้งละ 3-4 ดอก ดอก ประกอบด้วยกลีบดอกที่มีลักษณะรูปไข่ จำนวน 5 กลีบ มีโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ซึ่งเป็นที่อยู่ของรังไข่ ขนาดกลีบดอกกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ปลายกลีบแหลม แผ่นกลีบเรียบ ขอบกลีบหยักเป็นฟันเลื่อย และเป็นลูกคลื่น หรือาจมีขอบกลีบเรียบ ส่วนสีของกลีบดอกมีหลายสี ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาทิ ดอกสีขาว ดอกสีแดง ดอกสีขาวขอบแดง เป็นต้น ถัดมาตรงกลางดอกจะเป็นกลีบของเกสรที่มีฐานเชื่อมติดกันเป็นวง ปลายแผ่นแยกเป็นแฉกแหลมคล้ายกลีบดอก กลีบเกสรด้านในมีแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ซึ่งกลีบด้านในจะเป็นที่อยู่ของวงเกสรตัวผู้ จำนวน 5 อัน และวงเกสรตัวเมีย ส่วนด้านในสุดเป็นรังไข่

ผล และเมล็ด
ผลชวนชมเรียกว่า ฝัก จำนวน 2 ฝักติดกัน ซึ่งจะกางออกเป็นรูปเขา 1 คู่ แต่ละฝักมีรูปเรียวยาว คล้ายฝักถั่วเขียว แต่ปลายฝักเรียวแหลม มีร่องตรงกลางฝักตามแนวยาว ขนาดฝักประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร และยาวได้มากกว่า 30 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ และขนาดลำต้น ฝักอ่อนมีสีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อ เมื่อแก่จะมีสีแดงเลือดหมู ทั้งนี้ สีของฝักจะแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ซึ่งเมื่อฝักแห้ง ฝักจะปริแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในมีเมล็ดอัดแน่นจำนวนมาก

เมล็ดชวนชมมีทรงกระบอกยาว มีปลาทั้งสองข้างเป็นเส้นใยเล็ก เมื่อแห้ง เส้นใยจะแผ่กางออกเป็นวงกลม ทำหน้าที่ช่วยให้เมล็ดลอยตามลมได้ ทั้งนี้ กิ่ง 1 กิ่ง จะติดฝักเหลือเพียงประมาณ 1 คู่ เท่านั้น

พันธุ์ชวนชมที่พบปลูกในไทย (ตามแหล่งกำเนิด)
• พันธุ์ที่พบตามแนวฝั่งตะวันออกของทวีปอาฟริกา
1. Adenium obesum Balf. (กลุ่มสายพันธุ์พื้นเมือง)
• ชื่อสามัญ :
– Desert Rose
– Mock azalea
– Impala Lily

เป็นพันธุ์ที่พบในประเทศซาอีล แทนซาเนีย ซิมบักเวย์ และเคนย่า ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ คือ ลำต้นแตกกิ่งจำนวนมาก โคนต้นหรือโขดเป็นพูพอนไม่ใหญ่นัก ใบมีสีเขียวอ่อน แผ่นใบเป็นมัน และไม่มีขนปกคลุม แผ่นใบมองเห็นเส้นใบชัดเจน ส่วนกลีบดอกมีสีแดงอมชมพู ขอบกลีบดอกสีเข้มกว่าสีกลางใบ พันธุ์นี้ มักติดฝักยาก จึงนิยมขยายพันธุ์ด้วยการกิ่งตอน ทั้งนี้ มีการพัฒนาสายพันธุ์ด้วยการผสมกับพันธุ์อื่น ทำให้ปัจจุบันมีพันธุ์ลูกผสมที่สามารถติดฝักได้ดี และโคนต้นเป็นพูพอนใหญ่ขึ้น

Adenium obesum Balf.
Adenium obesum Balf.

2. Adenium multiforum Klotzsch
จัดเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมของแอฟริกา สามารถพบได้ที่ประเทศโมแซบิค และบางตำราบางจัดให้อยู่ในกลุ่มของ obesum เพราะลำต้นเติบโตได้เร็ว โครงสร้างลำต้นแข็งแรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายชวนชมพันธุ์พื้นเมือง มีชื่อเรียกในไทย ได้แก่
– แดงเอ
– แดงอาฟฯ

ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้ คือ เส้น ใบมีสีเขียวอมเทา แผ่นใบเป็นมัน ใบยาวรี ปลายใบมน และเว้าบริเวณกลางปลายใบ พื้นกลีบดอกมีสีขาว ขอบกลีบดอกมีสีแดงเข้ม และโค้งเป็นลูกคลื่นเล็กน้อย กรวยดอกด้านในมีแถบทางนํ้าหวาน ประมาณ 15 เส้น แบ่งเป็นกลีบดอกละ 3 เส้น พันธุ์นี้ จะออกดอกในฤดูหนาว โดยเฉพาะวันที่หนาวมาก และจะทิ้งใบหมดก่อนออกดอก

Adenium multiforum Klotzsch.

3. Adenium swazicum Stapf
สายพันธุ์นี้ มักเรียกว่า กลุ่มช็อคกิ้ง พบได้ในประเทศสวาซิแลนด์ โมแชมบิค และทรานซ์วาล ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลำต้นแตกกิ่งมาก โคนต้นไม่เป็นโขดหรือไม่พองขยาย ใบมีรูปหอกกว้าง แผ่นใบสี
เขียวอ่อน ขอบใบพับเข้ากลางใบ แผ่นใบมีขนปกคลุม ส่วนดอกจะออกดก ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ดอกดก กลีบดอกเกยกัน กลีบดอกมีสีเดียวกันทั้งกลีบ ได้แก่ สีขาว หรือชมพู หรือ ชมพูอมม่วง ภายในกรวยไม่มีแถบทางนํ้าหวาน ทั้งนี้ ดอกมักบานมากในช่วงฤดูร้อน และบางพันธุ์สามารถให้ดอกได้ทั้งปี

Adenium swazicum Stapf.
Adenium swazicum Stapf.

4. Adenium boehmianum Schinz
พันธุ์นี้ มีเชื่อเรียกในไทย โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ ได้แก่
– กลุ่มพันธุ์ดอกผักบุ้ง
– กลุ่มพันธุ์ใบกระท้อน
– กลุ่มพันธุ์ใบฝรั่ง

เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ในแถบประเทศนามิเบีย และแองโกล่า ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลำต้นตั้งตรง โขดขยายเป็นพูพอนขนาดเล็ก โคนใบสอบแคบ ปลายใบกว้าง คล้ายใบฝรั่งหรือใบกระท้อน แผ่นใบมีขนปกคลุม ดอกมีสีอมม่วงคล้าย โดยเฉพาะกรวยดอก โดยกลุ่มพันธุ์ดอกฝักบุ้งจะมีกลีบดอกค่อนข้างกลม กลีบดอกเกยกัน ระยะการบานของดอกประมาณ 2-3 อาทิตย์ เท่านั้น

Adenium boehmianum Schinz.
Adenium boehmianum Schinz.

5. Adenium oleiforium Stapf

6. Adenium somalense somalense Balf

7. Adenium somalense crispum

Adenium somalense crispum.

• พันธุ์ที่พบตามแถบคาบสมุทรอาหรับ
1. Adenium arabicum Balf.
เป็นพันธุ์ที่พบได้ในแถบประเทศริมคาบสมุทรอาหรับ มีชื่อเรียกในประเทศไทย ได้แก่
– ยักษ์อาหรับ
– ยักษ์อริโซน่า

ลำต้นมีลักษณะเด่น คือ ลำต้นมีความสูงใหญ่ ใบมีขนละเอียดนุ่ม ดอกมีขนาดเล็ก สีชมพูสดใสหรือสีชมพูซีดถึงอมขาว กรวยดอกยาวลึก ภายในกรวยมีขนยาว ดอกออกดก ดอกออกได้ทั้งตามลำต้น และกิ่ง ฝักมีขนาดใหญ่ มีสีแดงเข้ม เมล็ดมีจำนวนมาก และมีขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ลำต้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
– ลำต้นแบบซาอุ มีลำต้นชะลูดสูง คล้ายกับไม้ยืนต้น โคนต้นหรือโขดเป็นพูพอนน้อย ลำต้นสามารถสูงได้ถึง 4 เมตร แต่หากพบบนภูเขามักจะเตี้ย แต่โขดมีขนาดใหญ่ ส่วนใบแคบเรียว และออกดอกสีชมพู ขนาดดอกเล็ก
– ลำต้นแบบเยเมน ส่วนอีกแบบ คือ ลำต้นเตี้ย แต่มีโคนต้นหรือโขดขยายใหญ่ ซึ่งสามารถขยายกว้างได้ถึง 1 เมตร ลำต้นแตกกิ่งแขนงมาก ใบมีขนาดใหญ่ ส่วนดอกมีขนาดปานกลาง ประมาณ 7-9 เซนติเมตร กรวยดอกมีแถบทางนํ้าหวาน ประมาณ 5 เส้น

พันธุ์นี้ พบปลูกบ้างในไทย แต่ไม่ค่อยมากนัก เป็นพันธุ์ที่ติดฝักได้ปานกลาง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์จากชมพูเปลี่ยนเป็นชมพูอมขาวหรือสีขาว รวมถึงเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งจะแตกต่างจากพันธุ์ดั้งเดิมมาก

Adenium arabicum Balf.

2. Adenium socotranum Vierh.
เป็นพันธุ์ที่พบบนเกาะโซโคต้า ประเทศเยเมน และพบในแถบประเทศอาหรับตอนใต้ ซึ่งถือเป็นชวนชมที่มีขนาดใหญ่ที่สุด หรือเรียกได้ว่า เป็นชวนชมยักษ์อย่างแท้จริง มีชื่อเรียกในไทย ได้แก่
– ยักษ์ซาอุฯ
– ยักษ์เพชรบ้านนา
– ยักษ์บางคล้า

ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้ คือ ใบมีลักษณะเรียวยาว ใบหนาค่อนข้างหนามาก และเป็นสีวาวเงิน แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาว ลำต้นแตกกิ่งขนาดเล็ก และแตกกิ่งจำนวนมาก ส่วนดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกมีสีชมพูอ่อน ดอกออกได้ทั้งบริเวณลำต้น และกิ่ง ดอกทยอยบานเป็นชุดๆ และมีช่วงเวลาบานนาน หากปลูกด้วยการเพาะเมล็ด ลำต้นไม่แตกกิ่งที่โคนต้น แต่จะแตกกิ่งแขนงที่ปลายลำต้น ผิวลำต้นมักย่น และหยาบ คล้ายหนังช้าง พันธุ์นี้ สามารถออกดอกได้ตั้งแต่อายุ 2 ขึ้นไป และสามารถออกดอกได้ 2 ครั้งในบางพันธุ์ เมื่อถึงเวลาออกดอก ลำต้นจะทิ้งใบหมดต้น ทั้งนี้ จัดเป็นพันธุ์ที่ติดฝักยาก จึงทำให้หายากมาก ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และยังไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่ แต่หากเพาะด้วยเมล็ดได้ก็มักจะไม่กลายพันธุ์

Adenium socotranum Vierh.
Adenium socotranum Vierh.

พันธุ์ที่พัฒนาขึ้นในเมืองไทย
การปลูกชวนชมในประเทศส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก เพราะชวนชมไม่ใช่ไม้ประจำถิ่นของไทย แต่ทั้งนี้ ไทยเองก็มาการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นเองจากพันธุ์ดั้งเดิมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำชวนชมพันธุ์ยักษ์ใบเรียว (Adenium somalense somalense Balf.) เข้าฉายรังสีแกมมาของธาตุซีเซียม-137 จนได้สายพันธุ์ใหม่ 2 สายพันธุ์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนรองรับพันธุ์ไว้แล้ว ได้แก่
1. ซุปเปอร์เรด (Super Red)
พันธุ์กลายซุปเปอร์เรดมีลักษณะเด่น คือ ลำต้นคล้ายกับพันธุ์เดิม (พันธุ์ยักษ์ใบเรียว) โคนลำต้นหรือโขดขยายน้อย ใบมีขนาดใกล้เคียงกับพันธุ์เดิม มีรูปหอก แต่ขอบใบต่างจากพันธุ์เดิม คือ ขอบใบเรียบ และห่อเข้า ซึ่งพันธุ์เดิมจะมีขอบใบโค้งเป็นลูกคลื่น ส่วนดอกจะมีกลีบดอกรูปไข่ ปลายกลีบแหลม ดอกมีสีแดงทั่วกลีบ

super red
super red

2. ซุปเปอร์ไวท์ (Super White)
พันธุ์กลายซุปเปอร์ไวท์มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นคล้ายกับพันธุ์เดิม โคนลำต้นไม่ค่อยเป็นพูพอน ใบมีขนาดใกล้เคียงกับพันธุ์เดิม แต่มีลักษณะเดียวกันกับพันธุ์ซุปเปอร์เรด ส่วนดอกจะมีกลีบดอกคล้ายกับพันธุ์ซุปเปอร์เรดเช่นกัน แต่จะมีสีขาวทั่วกลีบ ซึ่งดอกระยะแรกมีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย เมื่อบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีขาวทั่วกลีบ

การปลูกชวนชม
การปลูกชวนชมในปัจจุบัน นิยมปลูกด้วยเมล็ดเป็นหลัก แต่ก็มีบางพันธุ์ที่ติดฝักยากจึงจะใช้วิธีการตอนเพื่อขยายพันธุ์

การเตรียมวัสดุเพาะ/ปลูก
วัสดุที่ใช้เพาะกล้าชวนชมหรือใช้ใส่ในกระถางสำหรับปลูก ควรเป็นดินผสมกับวัสดุอินทรีย์ ได้แก่
• วัสดุสำหรับเพาะกล้า
– ดิน : แกลบดำ : ขุ๋ยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก ที่อัตราส่วน 1 : 2 : 1 : 1

• วัสดุสำหรับปลูก
– ดิน : ทราย : แกลบดำ : ขุ๋ยมะพร้าว : ปุ๋ยคอก ที่อัตราส่วน 3 : 1 : 0.5 : 1 : 1

วิธีเพาะเมล็ด
1. นำเมล็ดชวนชมแห้งมาแช่สารละลายนํ้าตาลซูโครสที่ความเข้มข้น 10% ไว้ 1 ชั่วโมง
2. นำเมล็ดปักลงในถุงเพาะชำหรือกระถางเพาะ พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม
3. นำถุงเพาะหรือกระถางเพาะตั้งไว้ในที่รำไร ดูแลด้วยการรดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง

วิธีปลูกชวนชม
หลังจากเพาะชวนชมจนมีความสูงได้มากกว่า 10 เซนติเมตร แล้ว ให้นำชวนชมลงปลูกในกระถางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ การปลูกในกระถางจะให้ความสำคัญกับชนิดกระถาง และวัสดุปลูก เป็นสำคัญ คือ
– กระถางปลูก
– วัสดุปลูก
รอเพิ่มข้อมูล