Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset
ชงโค เป็นไม้ยืนต้นที่จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลถั่ว มีผลเป็นฝักคล้ายถั่ว แต่มีดอกคล้ายดอกกล้วยไม้สีม่วงอมชมพู แทงอกเป็นช่อสวยงาม ทำให้ชงโคเป็นไม้ที่นิยมปลูกเพื่อใช้ประดับต้น และเพื่อชมดอก รวมถึงใช้เป็นร่มเงาในสถานราชการ และตามบ้านเรือน
คำว่า ชงโค น่าจะเป็นชื่อเรียกที่ตั้งมาจากลักษณะของใบที่คล้ายกับกลีบเท้าวัว และมีความเชื่อว่า เป็นไม้ของพระนารายณ์ในศาสนาหรือวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู
• วงศ์ : Leguminosae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia purpurea Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Orchid Tree
– Purple Orchid Tree
– Butterfly Tree
– Purple Bauhinia
– Hong Kong Orchid Tree
• ชื่อท้องถิ่น :
– ชงโค (กลาง และทั่วไป)
– เสี้ยวดอกแดง (ภาคเหนือ)
– เสี้ยวเลื่อย (ภาคใต้)
– เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน)
– เสี่ยว/เสี้ยว (อีสาน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ชงโค/เสี้ยว เป็นไม้ยืนต้นประเภทพลัดใบ มีลำต้นตั้งตรง ลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งเป็นน้อย เปลือกลำต้นมีสีเทา ผิวเปลือกขรุขระ
ใบ
ใบชงโค เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แทงออกเป็นเดี่ยวสลับข้างกันบนข้อกิ่ง ใบมีสีเขียวอ่อนถึงเขียวสด ใบมีลักษณะค่อนข้างมน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ โคนใบ และส่วนปลายจะหยักโค้งมนตรงกลาง ทำให้ใบแลดูคล้ายใบแฝดหรือคล้ายรูปไต ใบกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ใบอ่อนกางแผ่น้อยทำให้แลดูคล้ายปีกผีเสื้อ ส่วนการพลัดใบจะเริ่มพลัดใบไปเรื่อยตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม และจะเริ่มแทงยอด และใบอ่อนเมื่อเข้าสู่ต้นฤดูฝนเดือนเมษายน-พฤษภาคม หลังจากนั้น จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาทีหลัง และเริ่มติดฝัก
ดอก (ดังรูปบนสุด)
ดอกชงโคเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีรูปร่างคล้ายดอกกล้วยไม้ ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 5-10 ดอก ดอกประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอมชมพู ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย เมื่อดอกบาน ดอกจะส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกสามารถออกได้ตลอดทั้งปี
ผล
ผลหรือฝักชงโคมีลักษณะเป็นฝักคล้ายฝักถั่ว มีรูปร่างแบน ฝักมีขนปกคลุม ฝักมีขนาดกว้าง 1-2 ซม. ยาว 20-25 ซม. ฝักจะเริ่มทยอยติดตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม จนแก่ในช่วงเดือนกันยายน ฝักแก่จะมีสีน้ำตาล และเมื่อแก่จัดจะมีสีดำ
สารสำคัญที่พบ
– สารในกลุ่มอัลคาลอยด์ (alkaloids)
– สารในกลุ่มแทนนิน (tannins)
ประโยชน์
1. ดอกชงโคมีสีม่วงอมชมพู มีรูปร่างคล้ายดอกกล้วยไม้ และออกเป็นช่อ จึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับต้น และเพื่อชมดอก
2. นอกจากการปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแล้ว ชงโคในช่วงแตกใบใหม่จะมีทรงพุ่มหนาทำให้เป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี
3. ชงโคใช้ปลูกเป็นไม้มงคล เนื่องจากมีความเชื่อว่า เป็นต้นไม้ของพระนารายณ์ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู รวมถึงตามความเชื่อของคนไทยเองตามวรรณกรรมต่างๆยังเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดู ซึ่งจะช่วยปกปักษ์รักษาให้คนในครอบครัวมีความสุก ไม่มีอันตรายเข้ามาย่ำกราย
4. ยอดอ่อนใบชงโคนำมาใส่ในต้มส้ม ต้มยำ ช่วยดับกลิ่นคาว และช่วยเพิ่มรสให้แก่อาหาร
5. ยอดอ่อน และฝักอ่อนใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ
สรรพคุณชงโค
ใบ
– ใบนำมาตากแดด ใช้ชงเป็นชาดื่ม
– ใบนำมาขยี้ และผสมน้ำเล็กน้อยใช้ประคบรักษาแผล และช่วยในการห้ามเลือด
– ใบอ่อนใช้เคี้ยวเพื่อลดกลิ่นปาก
ดอก
– ดอก นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยลดอาการไอ ทำให้ชุ่มคอ
เปลือก
– เปลือกลำต้นนำมาต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
– น้ำต้มจากเปลือกใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
ราก
– ราก นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับลม
– น้ำต้มจากรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
การปลูกชงโค
ชงโคสามารถปลูก และขยายพันธุ์ทั้งการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง และการตอนกิ่ง แต่ทั่วไปนิยมใช้วิธีการเพาะเมล็ด เพราะง่าย และสะดวกกว่าวิธีอื่น ส่วนการตอนกิ่ง และการปักชำก็ยังเป็นที่นิยมอยู่บ้าง เนื่องจาก จะได้ลำต้นที่ไม่สูงมากนัก แต่มีข้อเสีย คือ ลำต้นจะแตกกิ่งน้อย
การเตรียมเมล็ด และการเพาะเมล็ด
สำหรับเมล็ดที่ใช้ในการเพาะ ควรเป็นเมล็ดที่ได้จากฝักแห้ง ทั้งที่แห้งบนต้นหรือฝักที่ร่วงแล้ว ซึ่งจะเก็บได้ประมาณช่วงเดือนก่อนถึงปลายปี
การเพาะเมล็ดนั้น ให้เพาะในถุงพลาสติกเพาะชำ ด้วยการผสมวัสดุเพาะระหว่างดินกับวัสดุอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก แกลบดำ เป็นต้น อัตราส่วนดินกับวัสดุประมาณ 1:3 โดยก่อนลงเพาะให้นำเมล็ดมาแช่น้ำนาน 1 วัน ก่อน
การปลูก
การนำลงปลูก ควรใช้กล้าชงโคที่มีลำต้นสูงประมาณ 25-30 ซม. หรือมีอายุประมาณ 1-2 เดือน หลังแตกหน่อ หากปลูกมากว่า 2 ต้น ที่อยู่ใกล้กัน ให้เว้นระยะห่างประมาณ 5-8 เมตร