การปลูกข้าวโพดข้าวเหนียว

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

ข้าวโพดข้าวเหนียว หรือบางท้องถิ่นเรียกว่า ข้าวโพดเทียน ข้าวโพดสาลี เป็นต้น ถือเป็นข้าวโพดที่ได้รับความนิยมรับประทาน และปลูกกันมากในพื้นที่ที่มีระบบน้ำพอเพียงหรือปลูกบนแปลงนาหลังการเก็บ เกี่ยวข้าวเพื่อเป็นรายได้เสริม เนื่องด้วยมีรสหวาน เหนียว ปลูก และดูแลง่าย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ราคาสูง โดยพบปลูกมากในภาคอีสาน กลาง และเหนือ

พันธุ์ ที่นิยมปลูกมีหลายพันธุ์ตามชื่อเรียกของแต่ละท้องถิ่น เช่น พันธุ์เทียนขาว พันธุ์เทียนเหลือง พันธุ์เกษตรขาว พันธุ์สำลี แต่ทั้งนี้ทางหน่วยงานรัฐมีการส่งเสริมให้ปลูกได้แก่

พันธุ์ข้าวเหนียวหวานขอนแก่น เป็นพันธุ์ที่ให้เมล็ดสีขาว นุ่มหวาน มีกลิ่นหอม อายุการเก็บเกี่ยวสั้น

พันธุ์สุโขทัย 1 เป็นพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จากพันธุ์ T-033 ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมือง มีรสหวานเล็กน้อย กลิ่นหอม

พันธุ์อื่นๆ เช่น พันธุ์เหลืองอุทัยธานี พันธุ์เหลืองพิษณุโลก พันธุ์ขาวเชียงใหม่ พันธุ์สำลีอีสาน พันธุ์รัชตะ พันธุ์บิ๊กไบท์ พันธุ์ท๊อปไวท์ พันธุ์ข้าวเหนียวสลับสี

ข้าวโพดข้าวเหนียว

ข้าวโพดสามารถเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย หน้าดินลึก หน้าดินไม่แน่น พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีความชื้นที่เพียงพอ หากหน้าดินแห้งหรือขาดน้ำ ข้าวโพดจะหยุดเติบโต และเหี่ยวตายได้ง่ายมาก ทั้งนี้ สามารถปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวได้ตลอดทั้งปี ขอเพียงให้มีน้ำเพียงพอเท่านั้น บางพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ อีสาน นิยมปลูกหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม เพราะช่วงนี้ดินยังมีความชื้นอยู่มาก ทำให้ประหยัดน้ำได้มาก แต่หลังการปลูกประมาณ 1-2 เดือน อาจต้องให้น้ำเพิ่ม เพราะช่วงนี้อากาศจะแห้ง และร้อน ทำให้หน้าดินสูญเสียความชื้นได้ง่าย

การปลูก
เตรียมดินด้วยการไถดะลึกประมาณ 15 ซม. เพื่อตากดินให้แห้ง กำจัดวัชพืช และกำจัดไข่หรือตัวอ่อนแมลง โดยตากดินประมาณ 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นให้ทำการไถแปรอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ก้อนไถแตกเป็นก้อนเล็ก และทำการตากดินอีกประมาณ 1 สัปดาห์

การปลูกสามารถปลูกเป็นแถวโดยการยก ร่องหรือปลูกหลังการเตรียมดินเสร็จโดยไม่ยกร่องก็ได้ แต่พื้นที่ควรเป็นพื้นที่ที่สามารถระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขังในกรณีที่ฝนตก ทั้งนี้ การปลูกข้าวโพดนิยมปลูกโดยการยกร่องมากกว่า เพราะง่ายต่อการดูแล การให้น้ำ การให้ปุ๋ย และการควบคุมวัชพืช

การปลูกโดยไม่ยกร่อง ให้ปลูกระยะระหว่างแถวที่ 70?เซนติเมตร ระหว่างต้นที่ 20?เซนติเมตร โดยหยอด 2 เมล็ด/หลุม หากเมล็ดงอกทั้งสองเมล็ดให้ถอนเหลือไว้เพียงหลุมละต้น

ส่วน การยกร่อง ใช้วิธีการไถยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 70-80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 20 เซนติเมตร ยอดเมล็ด 2 เมล็ด/หลุม และให้ถอนต้นอ่อนให้เหลือหลุมละ 1 ต้น เมื่อต้นอ่อนตั้งต้นได้แล้วหรือต้นอ่อนสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร

ก่อนปลูกให้นำเมล็ดมาแช่น้ำประมาณ 30 นาที เพื่อให้ต้นกล้างอกได้เร็ว และกำเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง

การดูแล
การให้น้ำ สำหรับแปลงปลูกที่มีการยกร่องสามารถให้น้ำตามร่องดินเพื่อให้ความชุ่มชื้น แก่ดินก่อนปลูก หลังการหยอดเมล็ดเมื่อเมล็ดงอกแล้ว 1 สัปดาห์ เริ่มให้น้ำตามร่อง โดยให้ที่ความถี่ 1-2 ครั้ง/เดือน โดยขึ้นอยู่กับสภาพความชื้นของดิน ทั้งนี้ในช่วงติดฝักพึงระวังอย่าให้ดินแห้งเป็นดีที่สุด

การใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ในอัตราต้นละ 0.3 กิโลกรัม หรือ 2 กำมือ/ต้น ส่วนปุ๋ยเคมีให้ใช้สูตร 20-20-0 โดยการใส่รองพื้นหรือใส่เมื่อเมล็ดงอกแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ในอัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และให้สูตร 12-12-24 ในอัตราเดียวกันในช่วงก่อนติดฝัก

การกำจัดวัชพืช ให้ทำการถอนวัชพืชเป็นระยะ 1 ครั้ง/เดือน หลังเมล็ดงอกแล้ว และสามารถยึดได้เมื่อต้นข้าวโพดโตจนสามารถคุมดินได้แล้ว

โรค และแมลง ที่มักพบ ได้แก่ โรคราน้ำค้าง ซึ่งสามารถกำจัดด้วยการฉีดพ่นสารกำจัดราทั่วไปตามท้องตลาด นอกจากนั้นมักพบหนอนเจาะลำต้นหรือหนอนเจาะฝักที่ชอบเจาะกินก้านฝัก แกนฝักหรือเมล็ดอ่อนของข้าวโพด ทั้งนี้ สามารถป้องกัน และกำจัดด้วยการใช้ฉีดพ่นแบคทีเรียบีที

การเก็บเกี่ยว
ข้าวโพดข้าวเหนียวจะสามารถเก็บผลได้โดยสังเกตุที่ใยไหมมีสีน้ำตาล เมื่อบีบที่ปลายฝักจะยุบตัวง่าย ซึ่งจะมีอายุการเก็บเกี่ยวในช่วง 55-65 วัน ทั้งนี้การเก็บเพื่อความแน่ใจควรสุ่มเก็บในแปลงประมาณ 2-3 ฝัก ในจุดต่างๆของแปลงเสียก่อน หรือเปิดดูเมล็ด หากเมล็ดมีลักษณะอวบเต็มไม่มีช่องว่างระหว่างเมล็ดก็สามารถเก็บผลผลิตได้