การเพาะถั่วงอก…อาชีพรวยเร็ว

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

ถั่วงอก คือ ต้นอ่อนของถั่วที่ได้จากการเพาะเมล็ดถั่วเขียวโดยไม่ให้ถูกแสง นิยมนำมาประกอบอาหารชนิดต่างๆ อาทิ ผัดถั่วงอก ใส่ก๋วยเตียว ยำถั่วงอก รวมถึงเป็นผักรับประทานสด

การเพาะถั่วงอก ถือเป็นอาชีพหนึ่งทางการเกษตรที่สามารถให้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่รวดเร็วที่ สุด และมีขั้นตอนการเพาะ และการดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องให้ปุ๋ย เพียงให้น้ำอย่างเดียว ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเพาะเพียง 4 วัน เท่านั้นก็สามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้

การเพาะถั่วงอกในปัจจุบันจะใช้เมล็ดถั่วเขียว 2 สายพันธุ์ คือ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ แต่ที่นิยมในการเพาะถั่วงอกมากที่สุดคือ เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำ ที่มีอัตราการงอกที่ดีกว่า อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งนี้ เมล็ดสายพันธุ์ทุกชนิดสามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกได้ แต่จะมีลักษณะของถั่วงอกที่แตกต่างตามสายพันธุ์ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วฟักยาว ถั่วอัลฟัลฟ่า เป็นต้น

ถั่วงอกบางแห่งมีการใช้สารฟอกขาว พวกโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ และสารรักษาความสดพวกฟอร์มาลิน ก่อนจำหน่ายให้แม่ค้า ซึ่งสารพวกนี้มีผลเป็นพิษต่อผู้บริโภคอย่างมาก หากได้รับในปริมาณที่สูงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถสังเกตุได้ง่ายหากถั่วงอกมีการฟอกสี เมื่อทิ้งไว้นานลำต้นจะช้ำ และดำคล้ำ

การเพาะถั่วงอก

พันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 1 และ2 พันธุ์ชัยนาท 36 และ72
พันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 2 และพันธุ์ KABA

อุปกรณ์ และวัสดุ
– ตะกร้าพลาสติกหรือตะกร้าไม้ไผ่ตาถี่
– ถังน้ำหรือกะละถัง
– ถังเพาะพลาสติก ตามปริมาณที่ต้องการเพาะ โดยเจาะรูที่ก้นถัง ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ระยะห่างต่อรูประมาณ 1 นิ้ว
– ตาข่ายพลาสติกตาถี่
– ท่อนไม้หรืออิฐก้อน
– อุปกรณ์การให้น้ำ
– กระด้ง รูขนาด 0.5 เซนติเมตร

การเตรียมเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ควรมีความสมบูรณ์ และมีอัตราการงอกสูง มักจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บในระยะที่แก่แล้ว และควรเก็บไม่นานเกิน 2-3 เดือน
– เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาต้องเก็บรักษาในที่ปราศจากความชื้น อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่สัมผัสกับไอฝนหรือน้ำฝนได้
– นำเมล็ดพันธุ์ใส่ตะกร้าพลาสติกหรือตะกร้าไม้ไผ่ตาถี่
– นำลงแช่น้ำ และร่อน เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่แห้งไม่สมบูรณ์ลอยน้ำ
– แยกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ออก ให้เหลือเฉพาะเมล็ดสำหรับใช้เพาะ

การเพาะเมล็ด
– นำเมล็ดพันธุ์หลังจากการเตรียมแล้วแช่น้ำนาน 6-12 ชั่วโมง
– นำท่อนไม้หรืออิฐก้อนเรียงตามจุดที่ตั้งของถัง
– นำถังเพาะตั้งบนท่อนไม้หรืออิฐที่เตรียมไว้ เรียงเป็นแถว หากมีการเพาะต่างวันกันให้แยกเป็นกลุ่มที่เพาะในวันเดียวกัน
– วางตาข่ายพลาสติกรองก้นถัง
– นำเมล็ดพันธุ์ใส่ในถังเพาะ ประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของถัง
– ให้น้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมง นาน 2-5 นาที และให้น้ำสัมผัสกับถั่วทุกเมล็ด
– ในช่วงการเพาะควรให้มีอุณหภูมิของโรงเรือนประมาณ 20-25 องศา หากอุณหภูมิสูงเมล็ดถั่วจะงอก และโตเร็วทำให้ได้ถั่วงอกที่เรียวยาวไม่สวยงาม ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือนต้องอาศัยการจัดการตั้งแต่การออกแบบโรง เรือน และการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

การเก็บถั่วงอก
การเก็บถั่วงอกสามารถเก็บขายได้หลังการเพาะประมาณ 4 วัน เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เมื่อเพาะแล้วจะสามารถเพิ่มน้ำหนักได้ประมาณ 5-7 เท่า
– วันที่ 1 เมล็ดถั่วมีลักษณะอิ่มน้ำ พองตัว และเปลือกเมล็ดปริแตก
– วันที่ 2 เปลือกเมล็ดปริแตก เห็นส่วนด้านในเมล็ด และมีรากงอก
– วันที่ 3 เมล็ดงอก และแทงลำต้นยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร
– วันที่ 4 ถั่วงอกโตยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เป็นระยะพร้อมจำหน่าย

ในบางครั้งลูกค้าต้องการถั่วงอกที่มีขนาดยาว ก็ต้องทิ้งไว้อีกประมาณ 2-3 วัน ก็สามารถเก็บถั่วงอกที่ได้ขนาดยาวตามต้องการได้

การ จำหน่ายสามารถจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางหรือส่งขายให้แม่ค้าโดยตรง โดยอาจขายขณะที่ถั่งอกยังอยู่ในถังด้วยการชั่งกิโลหรือนำถั่วงอกมาคัดแยก และบรรจุถุงจำหน่าย

การจำหน่ายที่ต้องแยกเปลือกเมล็ดออก สามารถใช้กระด้งในการผัดเหมือนการผัดข้าว แต่การผัดถั่วงอกเเพื่อแยกเปลือกออก เปลือกถั่งงอกที่ยังติดที่ยอดถั่วงอกจะหลุดออก และตกลงด้านล่างตามรูของกระด้ง

ข้อแนะนำสำหรับโรงเรือน น้ำ และอุปกรณ์ให้น้ำ
1. โรงเรือน
– โรงเรือนต้องกันด้านข้าง และด้านท้าย ด้วยการก่ออิฐหรือใช้ผ้าพรางแสงกั้นก็ได้ โดยเฉพาะในเวลากลางวันไม่ควรให้แสงส่องถึง
– ต้องทำรางด้านข้างเพื่อระบายน้ำหรือเทราดปูนในลักษณะที่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
– ด้านหน้าต้องมีประตูปิดหรือปิดด้วยพลาสติกกันแมลง

2. อุปกรณ์การให้น้ำแบบรดมือ
– นิยมใช้บัวรดน้ำ ขนาดรูเล็ก
– อาจใช้วิธีตักน้ำจากบ่อ และรดด้วยมือ
– อาจเชื่อมต่อหัวบัวรดน้ำกับหอสูงหรือปั๊มน้ำด้วยสายยาง เพื่อง่ายต่อการให้น้ำ

3. อุปกรณ์การให้น้ำแบบอัตโนมัติ
– ต้องมีบ่อพักน้ำ พร้อมกับปั๊มแรงดันหรืออาจใช้วิธีตั้งหอสูงส่งน้ำขึ้นพักด้วยปั๊มแรงดัน
– ต่อท่อ และสายส่งน้ำจากปั๊มแรงดันหรือหอสูง
– ใช้ระบบหัวสเปรย์ในการกระจายน้ำ และสามารถกระจายน้ำได้ครอบคลุมปากถังเพาะ
– ทำการต่อเชื่อมหัวสเปรย์น้ำเข้ากับฝาปิดถัง

4. คุณภาพน้ำ
– หากใช้น้ำคลองหรือน้ำจากบ่อน้ำ ควรทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียก่อน เช่น การตกตะกอน การฆ่าเชื้อ เป็นต้น เพาะอาจทำให้ถั่งงอกไม่สะอาดได้ง่าย รวมถึงเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนสู่ผู้บริโภค
– ควรใช้น้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพหรือน้ำสะอาด เช่น น้ำประปา หรือน้ำฝน