Last Updated on 9 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset
ข่อย (Siamese Rough Bush) เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านทั้งไม้ ประดับ ยารักษาโรค และการใช้สอยประโยชน์จากไม้ แต่ปัจจุบันมุ่งปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านไม้ประดับเป็นหลัก
ข่อย เป็นพืชในตระกูลโมราซีอี (Moraceae) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า สเตรบลัส แอสเปอร์ (Streblus asper Lour) หรือคาเลียสแลคเตสเซนส์ (Carius lactescens Blanco) หรือ สเตรบลัสแลคเตสเซนส์ (Streblus lactescens Blanco) มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปเอเชียตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย มาเลเซีย พม่า ลาว เวียดนาม และไทย
• ชื่อสามัญ :
– Siamese Rough Bush
– Tooth Brush Tree
– Bar Inka
– Bermikka
– Koi
– Rudi Schwri
– Serut
– Shakhotaka
• ชื่อเรียกท้องถิ่นในไทย
– ข่อย
– ส้มฝ่า
– ส้มพ่อ
– กักไม้ฝอย
– สะนาย (เขมร)
– ตองบะเหน่ (กระเหรี่ยง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ข่อยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงค่อนข้างใหญ่ แยกเพศเป็นต้นตัวผู้ และต้นตัวเมีย ลำต้นตั้งตรงสูงประมาณ 5-15 เมตร มีเปลือกหุ้มต้นสีเทานวล แตกกิ่งสาขาเป็นทรงพุ่มใหญ่ กิ่งอ่อนมีขนปกคลุมสากมือ และมีน้ำยางสีขาวจากกิ่ง และลำต้น
2. ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ มีลักษณะรูปไข่วงรีหรือรูปไข่กลับด้าน กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-12 เซนติเมตร โคนก้านใบมีหูใบ 1 คู่ โคนใบมน และปลายใบมนหรือค่อนข้างแหลม ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน และเมื่อแก่จะมีสีเขียวเข้ม ผิวใบทั้งด้านบน และด้านล่างสากคาย มีขนอ่อนปกคลุม ขอบใบเป็นรอยหยัก
3. ดอก
ดอกออกเป็นช่อ ตามซอกใบ เป็นดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้มีลักษณะกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-8 มม. มีสีเหลืองแกมเขียวถึงออกขาว ก้านดอกสั้น ส่วนช่อดอกตัวเมียออกเป็นกระจุก ก้านดอกยาวกว่าดอกเพศผู้ มี 2-4 ช่อ มีสีเหลืองแกมเขียวหรือเกือบขาว
4. ผล
ผลที่เกิดจากดอกจะมีขนาดใหญ่กว่าดออกเล็กน้อย มีลักษณะรูปไข่ สีเขียวอ่อนออกขาว เมื่อสุกจะมีสีเหลือง ขนาดผลยาว 8-10 มม. มีเปลือกผลอ่อนนุ่ม เนื้อด้านในมีรสหวานห่อหุ้มเมล็ด ที่มีลักษณะคล้ายพริกไทย สีขาวยาว 5-6 มม. ผลสุกของข่อยถือได้ว่าเป็นอาหารสำคัญของสัตว์ป่าจำพวกนก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น กระรอก กระแต เป็นต้น
สารเคมีสำคัญในข่อย
• Asperoside : C31H48O9 จุดหลอมเหลว 198-205 ºC ชื่อทางเคมี 3-digitocigennin-2,3-di-O-methy D-glycopyranoside
• Strebloside : C31H46O10 จุดหลอมเหลว 153-158 ºC ชื่อทางเคมี 3-strophanhidin-2, 3-di-Omethy-D-fucopyranoside
• Kamaloside : C31H48O10 จุดหลอมเหลว 174-178 ºC
• Indroside : C31H46O10 จุดหลอมเหลว 222-228 ºC
• Strophalloside : C29H42O10.3H2O
• Strophanolloside : C29H44O10.4H2O
• Glucokamaloside : C37H58O14
• Glucostrebloside : C37H56O15
• Sarmethoside : C30H46O10
• 16-O-acetylgluco-gitodimethoside : C39H60O16
• Substance F : C31H48O10 จุดหลอมเหลว 175-182 ºC
• Substance G : C30H46O9
• Substance H : C31H46O10
• Di-o-acetyl derivative จุดหลอมเหลว 161-162 ºC
• B-sitosterol
• Glycoside
• tannin
สรรพคุณข่อย
สรรพคุณข่อยที่พบการใช้ในประเทศต่างๆ ได้แก่ ในอินเดีย ใช้กิ่งข่อยทุบให้นิ่มใช้เป็นไม้สีฟันทำให้ฟันแน่น ในประเทศอื่นๆใช้น้ำต้มจากเปลือกข่อยผสมเกลือเป็นยาอมแก้รำมะนาด ในประเทศไทย พบว่า มีการใช้กิ่งข่อยสีขัดฟัน และใช้น้ำยางจากต้นข่อยผสมเกลือใส่ฟันหรือบริเวณที่ปวดฟัน บริเวณเหงือกบวมสามารถลดอาการบวม และอาการปวดได้
• เปลือก และเนื้อไม้ใช้ต้มรับประทานรักษาโรคบิด แก้ท้องร่วง รักษาไซนัส แก้พิษงู โดยเฉพาะยางจากเปลือกข่อยมีฤทธิ์ต้าน และฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส รักษาแผล รักษาฝี รักษาโรคผิวหนัง รักษาริดสีดวงจมูก รักษาไซนัส และใช้เป็นยาระงับประสาท นอกจากนั้น ยังใช้เนื้อไม้ทำเป็นยาสีฟัน ไม้ขัดฟันป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในช่องปาก โดยเฉพาะใช้รักษาโรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำมาต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง หรือบดใช้ประคบรักษาแผลสด แผลติดเชื้อ
• ใบ และดอก นำมาตากแห้ง ชงเป็นชาดื่มแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย ท้องผูก ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ และบำรุงหัวใจ
• ผลสดใช้รับประทานสดเป็นยาขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยเจริญอาหาร
• เมล็ดบดต้มรับประทานใช้แก้อาการท้องร่วง ริดสีดวง แก้เลือดกำเดา แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร
• รากใช้ต้มดื่มแก้โรคบ้าหมู หรือนำมาบดผสมน้ำประคบรักษาบาดแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
ทั้งนี้ การนำส่วนต่างๆของข่อยมาปรุงเป็นยารับประทาน ควรระวังไม่รับประทานมาก และต่อเนื่องกัน เนื่องจากข่อยมีสารพิษที่มีผลข้างเคียงกับการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อ ระบบหัวใจ และความดันเลือด โดยเฉพาะในส่วนของยางจากเปลือก และลำต้น แต่การนำส่วนต่างๆจากข่อยเป็นยาใช้ภายนอกจะมีประสิทธิภาพดี และไม่พบผลข้างเคียง
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
เทอดพงษ์ และบุญนิตย์ ได้ศึกษาสารสกัดจากใบข่อยจากการสกัดด้วยเอธานอล พบว่า สารสกัดสามารถยับยั้งเชื้อสเตรบโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus mutans) และเชื้อสเตรบโตคอคคัส ซาริวาเรียส (Streptococcus salivarius) เป็นสาเหตุของโรคฟันผุได้
อุทัยวรรณ และคณะ ได้ศึกษาประสิทธิภาพของไม้ข่อย และไม้สีฟันคนทาต่ออนามัยช่องปากของเด็ก พบว่า การใช้ไม้สีฟันจากข่อย และไม้สีฟันคนทามีประสิทธิภาพดีไม่แตกต่างจากการใช้แปรงสีฟัน
สมเกียรติ และสุรัตน์ ได้ศึกษาผลของยาสีฟันที่ผสมสารสกัดจากใบข่อยต่อการยับยั้งเชื้อสเตรบโตคอ คคัส มิวแทนส์ พบว่า เมื่อใช้สารสกัดจากใบข่อยความเข้มข้น 0.1% และ 0.2% โดยน้ำหนัก ผสมในยาสีฟัน และใช้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง สามารถลดจำนวนเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญ
โสพิศ และคณะ ได้ศึกษาสารสกัดจากใบข่อยต่อเชื้อจุลชีพชนิดต่างๆในจานเลี้ยงเชื้อ พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเชื้อจุลชีพได้ และมีฤทธิ์ทำลายเชื้อในกลุ่มสเตรบโตคอคคัสได้ดี โดยเฉพาะเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ (สเตรบโตคอคคัส มิวแทนส์) และการใช้สกัดจากใบข่อยโดยการให้ทางปากแก่หนูทดลอง ปริมาณ 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละครั้งทุกวัน ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า ไม่มีความแตกต่างด้านพฤติกรรม ผลเลือด และผลทางเนื้อเยื่อระหว่างกลุ่มหนูที่ได้รับสาร และกลุ่มหนูที่ไม่ได้รับสารแต่อย่างใด
สุวิมล และคณะ ได้ทดสอบใช้น้ำบ้วนปากผสมสารสกัดจากใบข่อย พบว่า การสารสกัดจากใบข่อยผสมที่ความเข้มข้น 80 มก./มล. สามารถลดปริมาณเชื้อสเตรบโตคอคคัส มิวแทนส์ได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับการบ้วนปากด้วยน้ำกลั่น และไม่ทำให้ปริมาณเชื้อจุลชีพโดยรวมในช่องปากเปลี่ยนแปลง รวมถึงไม่มีผลต่อปริมาณแคลเซียม ความเป็นกรด-ด่าง ในช่องปาก
ความเป็นพิษ
สารสกัดจากข่อยที่ทดสอบความเป็นพิษด้วยการฉีดเข้าเส้นเลือดแมวมีค่า LD50 = 10.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว และพบว่า สารสกัดจากข่อยของสารอัลฟา และเบต้า อันแซททูเรเตตแลคโตน เมื่อทดลองฉีดให้หนูมีค่า LD50 = 4.8 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ และความดันเลือด ทำให้หนูมีอาการชักกระตุก และเสียชีวิต
ประโยชน์จากข่อย
1. ไม้ประดับ
การนำต้นข่อยมาปลูกเป็นไม้ประดับถือได้ว่าเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน และเป็นการใช้ประโยชน์จากต้นข่อยมากที่สุด ด้วยการขุดต้นข่อยที่มีอายุ 3-5 ปี ลำต้นไม่ใหญ่ และไม่สูงมากนัก ประมาณ 1-2 เมตร หรืออาจมีลำต้นที่ใหญ่กว่า และนำมาปลูกในกระถางหรือนำมาปลูกในสวนประดับ ปลูกเพื่อให้เป็นรั้วบ้าน โดยใช้วิธีการตัดกิ่ง และลำต้นให้สั้น เพื่อให้ค่อยแตกยอดใหม่สำหรับดัดให้มีรูปร่างตามต้องการ
2. สรรพคุณทางยา
ทางด้านสรรพคุณทางยามีพบการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น นำมาใช้ต้มน้ำรับประทานเพื่อออกฤทธิ์ให้สรรพคุณทางยา, นำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาสีฟัน, นำกิ่งข่อยลอกเปลือกออก ใช้แปรงหรือขัดถูฟันแทนแปรงสีฟัน โดยออกฤทธิ์เป็นยาสีฟัน และต้านเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก
3. ไม้ใช้สอย
ไม้ใช้สอยที่ได้จากต้นข่อยที่่นิยมนำมาใช้ประโยชน์จะเป็นส่วนกิ่งข่อยขนาด ไม่ใหญ่มาก เนื่องจากกิ่งข่อยมีความเหนียว สามารถโค้งงอได้ดี ไม่หักง่าย จึงนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การทำด้ามสวิง หรือโครงสร้างไม้ที่ต้องการให้โค้งงอ ส่วนของเนื้อไม้สามารถนำมาเผาถ่าน (แต่ไม่นิยมนัก เพราะเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อน ให้ถ่านไม่ดี) รวมถึงใช้ทำฟืนสำหรับหุงหาอาหาร
4. ผลไม้
ผลของข่อยมีรสหวานสามารถรับประทานเป็นผลไม้ได้ หากสังเกตต้นข่อยที่ผลข่อยสุกจะพบนกมากินผลข่อยตลอดเวลา
ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้แก่
– การใช้ใบข่อยกำรูดตัวปลาไหลเพื่อกำจัดยางก่อนนำมาปรุงอาหาร
– นำใบมาตากแห้ง และบดชงเป็นชาดื่ม
– เปลือกลำต้นใช้ทำเป็นเยื่อผลิตกระดาษ กระดาษที่ทำจากเยื่อข่อยมีความคงทน แมลงไม่กัดกิน สามารถเก็บรักษาได้ยาวนานกว่ากระดาษจากเยื่อไม้อื่นๆ
– มีการใช้สารสกัดจากข่อยสำหรับการตกตะกอนน้ำนมหรือตกตะกอนโปรตีน
การปลูก
ข่อยพบได้ทั่วๆไป ตามพื้นที่ราบ พบมากตามป่าเบญจพรรณ โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง สามารถเจติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และทนต่อสภาพแห้งแล้ง แต่การเติบโตจะช้านานหลายปีกว่าจะได้ต้นใหญ่
การปลูกข่อยในปัจจุบัน นิยมขุดต้นข่อยที่มีขนาดเล็ก ลำต้นไม่สูงมากจากบริเวณป่ามากปลูกเป็นส่วนใหญ่ เพราะสามารถปลูกติดง่าย และสามารถดัดต้นหรือกิ่งได้เร็วขึ้น ซึ่งไม่ต้องเสียเวลาในการปลูกที่ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้ขนาดต้นตามต้อง การ
โดยทั่วไป ข่อยจะขายพันธุ์ตามธรรมชาติด้วยเมล็ดที่ล่นลงจากต้น ทั้งนี้ หากต้องการปลูก และขายพันธุ์ข่อยสามารถใช้เมล็ดแก่ที่สุกแล้วจากต้นหรือเมล็ดที่ร่วงจากต้น นำมาปลูกในกะบะเพาะเมล็ดหรือกระถางขนาดเล็ก