Last Updated on 4 มิถุนายน 2016 by puechkaset
การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า เป็นรูปแบบการเพาะเห็ดฟางที่ประยุกต์ใช้ตะกร้าพลาสติกเป็นโครงสร้างของกองวัสดุเพาะ เหมาะสำหรับการเพาะเห็ดฟางในพื้นที่ที่จำกัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีแปลงไร่นาหรือมีพื้นที่น้อย โดยเฉพาะเกษตรกรในชุมชนเมือง แต่จะมีหลักการคล้ายกับการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน อ่านเพิ่มเพิ่ม การเพาะเห็ดฟาง
ข้อเปรียบเทียบรูปแบบการเพาะเห็ดฟาง
ปัจจัยการเพาะ | แบบกองเตี้ย | แบบกองสูง/แปลงสูง | แบบโรงเรือน | แบบในตะกร้า |
1.สถานที่ | แปลงดินหรือที่โล่ง | แปลงดินหรือที่โล่ง | สร้างโรงเรือน | เพาะในพื้นที่บ้าน |
2.ขนาดพื้นที่ | ใช้มาก | ใช้มาก | ใช้ปานกลาง | ใช้น้อย |
3.ภัยจากน้ำท่วม | เสี่ยงต่อน้ำท่วม | เสี่ยงต่อน้ำท่วม | มีความเสี่ยงน้อย | มีความเสี่ยงน้อย |
4.พื้นที่เห็ดเกิด/ปริมาณวัสดุที่ใช้ | ปานกลาง | มาก | มาก | ปานกลาง |
5.การเคลื่อนย้าย | เคลื่อนย้ายได้ | เคลื่อนย้ายไม่ได้ | เคลื่อนย้ายไม่ได้ | เคลื่อนย้ายได้ |
6.การจัดวางวัสดุ | อัดเป็นก้อน | วางซ้อนทับบนดิน | วางซ้อนทับบนชั้นไม้ | วางซ้อนทับบนตะกร้า |
7.โครงสร้าง | ใช้ไม้แบบ | ไม่ต้องใช้ไม้แบบ | ใช้ไม้รองพื้นเป็นชั้นๆ | ใช้ตระกร้า |
8.ปริมาณวัสดุเพาะ/พื้นที่เห็ดเกิด | ใช้มาก | ใช้ปานกลาง | ใช้ปานกลาง | ใช้มาก |
9.อาหารเสริม | ใช้/ไม่ใช้ก็ได้ | ใช้/ไม่ใช้ก็ได้ | ใช้/ไม่ใช้ก็ได้ | ควรใช้ |
10.ความเสี่ยงเกิดโรค | เสี่ยงมาก | เสี่ยงมาก | เสี่ยงปานกลาง | เสี่ยงน้อย |
11.การลงทุน | ลงทุนปานกลาง | ลงทุนปานกลาง | ลงทุนมาก | ลงทุนน้อย |
12.แรงงาน | ใช้มาก | ใช้มาก | ใช้มาก | ใช้น้อย |
13.ขั้นตอน | ยุงยากมาก | ยุ่งยากปานกลาง | ยุ่งยากมาก | ยุ่งยากน้อย |
14.คุณภาพโดยรวม | ดี | ดี | ดีมาก | ดีมาก |
15.ระยะเก็บผลผลิต | 7-8 วัน | 7-8 วัน | 7-8 วัน | 7-8 วัน |
16. การรื้อถอน | ยุ่งยากปานกลาง | ยุ่งยากปานกลาง | ยุ่งยากมาก | ยุ่งยากน้อย |
จากตารางการเปรียบเทียบจะพบว่า การใช้ตะกร้าพลาสติกสำหรับเพาะเห็ดฟางมีข้อดีหลายด้าน แต่ทั้งนี้ หากตะกร้าพลาสติกมีรูขนาดเล็กอาจทำให้มีพื้นที่การเกิดเห็ดฟางน้อย จึงอาจประยุกต์วัสดุอื่นสำหรับเป็นโครงยึดในลักษณะเดียวกัน เช่น การใช้ลวดขึงเป็นช่องห่างแทน และจัดรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม หนา 20-25 ซม. สูง และยาวตามความเหมาะสม โดยออกแบบให้สามารถตั้งเรียงเป็นแถวได้
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้
1. ตะกร้าพลาสติก
เป็นตะกร้าทรงกลมที่สามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด ขนาดประมาณ 18 นิ้ว สูงประมาณ 11 นิ้ว ยิ่งมีตาห่างมากเท่าไร่ยิ่งดี เพราะจะเพิ่มพื้นที่การงอกของเห็ดให้มากขึ้น โดยอาจประยุกต์ใช้วัสดุอื่นแทน เช่น การใช้ลวดขึง แต่ทั้งนี้ ต้องปรับปรุงวัสดุเพาะให้เป็นก้อนติดกันได้ดีเพื่อป้องกันการร่วงหล่นออกจากช่องที่ห่างมาก
2. วัสดุเพาะ
วัสดุเพาะ ได้แก่ ฟางข้าว ชานอ้อย ขี้เลื่อย ผักตบชวา ต้นกล้วย รวมถึงก้อนวัสดุเพาะเห็ดเก่าที่ไม่มีเชื้อรา แต่ทั่วไปนิยมฟางข้าวเป็นหลัก และวัสดุอื่นผสม รองลงมาจะเป็นผักตบชวา และต้นกล้วย รวมถึงพืชต่างๆที่มีเยื่ออ่อน ส่วนซานอ้อย และขี้เลื่อย เนื่องจากหายาก มักใช้มากในโรงเพาะขนาดใหญ่ที่สามารถสั่งซื้อจากโรงงานครั้งละมากๆ ซึ่งจะให้คุณภาพเห็ดที่ดีกว่าวัสดุเพาะจากผักตบชวาหรือพืชเยื่ออ่อน เนื่องจากวัสดุพืชผักมักเกิดการเน่าได้ง่าย
3. อาหารเสริม
เป็นวัสดุที่ย่อยง่าย มีขนาดเล็กเพื่อช่วยให้เห็ดนำมาใช้สำหรับการเจริญเติบโตได้ง่าย ได้แก่ รำละเอียด เมล็ดถั่วเหลืองป่น กากแป้งมันสำปะหลังป่น และกากน้ำตาล เป็นต้น รวมถึงแป้งข้าวเหนียว ข้าวจ้าวหรือแป้งสาลี สำหรับคลุกกับหัวเชื้อ
4. เชื้อเห็ดฟาง
เชื้อเห็ดสามารถหาซื้อได้ตามฟาร์มเห็ดหรือศูนย์ราชการ หัวเชื้อถุง 1 ถุง/3-4 ตะกร้า หรือเชื้ออีแปะ 1 ถุง/ตะกร้า
เชื้อเห็ดฟางจากอาหารเลี้ยงเชื้อ เรียกว่า “เชื้อปอน” เพี้ยนมาจากคำว่า spawn(สปอน) หรือบางครั้งเรียกว่า “หัวเชื้อ หรือเชื้อแม่” ส่วนเชื้อที่ได้จากการนำเชื้อปอนมาเลี้ยงขยายที่บรรจุถุง เรียกว่า “เชื้ออีแปะ” หรือ “เชื้อต่อ” เมื่อได้เชื้อมาแล้ว ห้ามนำเชื้อไปเก็บในตู้เย็นเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เชื้อเป็นหมัน
5. พลาสติกคลุม
เป็นพลาสติกขุ่นหรือใส ใช้สำหรับคลุมตะกร้าเพาะเห็ด นอกจากนั้น อาจประยุกต์ใช้ถุงปุ๋ยเย็บต่อกันเป็นผืนใหญ่ก็ได้
6. โครงไม้ไผ่
โครงไม้ไผ่ เป็นอุปกรณ์จักสานจากไม้ไผ่สำหรับเป็นโครงครอบตะกร้าเพาะเห็ด อาจมีลักษณะเป็นทรงโค้งคล้ายสุ่มไก่หรือเป็นโครงไม้ไผ่ทรงสี่เหลี่ยมก็ได้ นอกจากนี้ อาจทำเป็นเสาไม้ทั้งสี่ด้านตียึดเป็นโครงด้วยไม้ไผ่โดยไม่ต้องสานก็ได้ยิ่งง่ายดี ทั้งนี้ ไม้ที่ใช้ควรตากให้แห้ง และทาน้ำด้วยยิ่งดี เพราะจะช่วยป้องกันเชื้อราได้
7. วัสดุรองตะกร้า
เป็นวัสดุที่ใช้สำหรับวางบนพื้นเพื่อรองตะกร้า อาจทำจากไม้ไผ่หรือโครงเหล็ก
8. อุปกรณ์อื่นๆ
อุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่ บัวรดน้ำหรือสายยาง ไม้ทุบก้อนเชื้อเห็ด มีด เป็นต้น
ขั้นตอนการเตรียมการ
1. การเตรียมพื้นที่เพาะเห็ด
พื้นที่เพาะเห็ดหรือสำหรับวางตะกร้าเพาะเห็ดอาจเป็นโรงเรือนที่สร้างเฉพาะหรือเป็นลานซีเมนต์ภายในบ้าน ซึ่งจะต้องทำควมสะอาดด้วยการขัดล้าง และตากแดดให้แห้งก่อน ส่วนพื้นที่เป็นลานดินให้โรยด้วยปูนขาวก่อนทุกครั้ง และหากพื้นไม่เสมอกันอาจต้องปรับพื้นให้เรียบก่อน นอกจากนั้น หากเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วม ควรทำแนวระบายน้ำรอบๆที่เพาะด้วย
2. การเตรียมวัสดุเพาะ
– ก้อนวัสดุเพาะเก่า ให้แกะถุงพลาสติกออก และทุบให้แตกละเอียด แล้วนำไปผึ่งแดหรือนำเข้าอบฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง
– ฟางข้าว หรือ ซานอ้อย หรือขี้เลื่อย ควรใช้หลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวใหม่ แต่อาจใช้ฟางเก่าก็ได้ แต่ต้องไม่ขึ้นรา หลังจากนั้น นำฟางข้าว/ซานอ้อย/ขี้เลื่อย แช่น้ำ 5-7 วัน ร่วมกับโรยด้วยปุ๋ยยูเรีย อัตราฟางข้าวต่อปุ๋ยยูเรีย 10:1 ในหน่วยน้ำหนัก คลุกผสมร่วมกับน้ำ โดยใช้น้ำเพียงปริมาณที่ทำให้ฟางอิ่มตัวเท่านั้น ห้ามใช้มาก
3. การเตรียมอาหารเสริม
อาหารเสริมที่ใช้ ได้แก่ รำข้าว มันสำปะหลังป่น ถั่วเหลืองป่น กากน้ำตาล เป็นต้น อาจใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกับกากน้ำตาล ซึ่งจะต้องไม่มีเชื้อราปะปนมาด้วย ส่วนกากน้ำตาลควรอุ่นฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง หลังจากนั้น นำอาหารเสริมที่ใช้มาคลุกกับกากน้ำตาล อัตราส่วนอาหารเสริมต่อกากน้ำตาล 10:1 และอาจคลุกกับขี้เลื่อยเพื่อให้จับตัวเป็นก้อนได้ดีขึ้น
4. น้ำที่ใช้ในการเพาะเห็ด
ควรเป็นน้ำที่สะอาด ได้แก่ น้ำบาดาล น้ำฝน น้ำปะปา แต่หากเป็นน้ำจากห้วย ลำคลองหรือบ่อน้ำ ให้พักน้ำในบ่อพัก และเติมคลอรีนฆ่าเชื้อก่อน
5. ตะกร้าพลาสติก
ตะกร้าที่นำมาใช้ หากเป็นตะกร้าเก่าที่เคยเพาะเห็ดมาแล้วหรือเป็นตะกร้าใหม่ ควรนำไปผึ่งแดด 1-2 วันก่อน
6. การเก็บเชื้อเห็ดฟาง
เชื้อเห็ดที่ได้มาต้องเก็บไว้ในที่มืดที่มีอากาศเย็น อุณหภูมิ 18-20 องศาเซลเซียส หากเห็นเส้นใยมีสีน้ำตาล และมีการรวมตัวกันเป็นตุ่มเห็ด แสดงว่า เป็นเชื้อเห็ดแก่ ต้องรีบนำไปเพาะทันที
ขั้นตอนการเพาะ
ขั้นตอนที่ 1
นำวัสดุเพาะที่เป็นฟางข้าวที่ผสมชานอ้อยหรือขี้เลื่อยหรือเป็นฟางอย่างเดียว อัดใส่ตะกร้าชั้นล่างสุด สูงประมาณ 5 ซม. ใช้มือหรือไม้กดลงไม่ให้แน่นมาก โดยสังเกตจากช่องตะกร้าหากมีรูกลวงหรือมีการร่วงล่นของเศษวัสดุมากมักจะหลวมมาก
ขั้นตอนที่ 2
โรยอาหารเสริมที่คลุกกากน้ำตาลหรือไม่คลุกกากน้ำตาลก็ได้ โรยเป็นแนววงกลมตามขอบตะกร้าสูงประมาณ 5 ซม. และให้ห่างจากขอบประมาณ 10 ซม. นำวัสดุเพาะในขั้นที่ 1 ใส่ตรงกลางที่ว่างจากขอบอาหารเสริม
ขั้นตอนที่ 3
นำเชื้อเห็ดฟางบีบแยกให้เป็นก้อนเล็กๆ นำไปคลุกกับแป้งสาลี แล้วนำไปโรยตามขอบของชั้นอาหารเสริมเป็นช่วงตรงจุดที่เป็นช่องตะกร้า หลังจากนั้น นำวัสดุเพาะในขั้นที่ 1 วางทับเป็นชั้นบางๆ 1-2 ซม. หลังจากนั้นฉีดพรมด้วยน้ำเล็กน้อย ก็เป็นเสร็จชั้นที่ 1 ทั้งนี้ ให้ระวังเรื่องการให้น้ำ ห้ามพรมน้ำที่มากจนเปียกไหล เพราะอาจทำให้วัสดุเพาะ และอาหารเสริมเน่า ทำให้เกิดเชื้อราได้
ขั้นตอนที่ 4
ทำตามขั้นตอนที่ 2 และ3 ก็จะได้แต่ละชั้นจนถึงชั้นสุดท้ายให้เหลือต่ำจากขอบตะกร้าประมาณ 5-10 ซม. ชั้นนี้จะโรยด้วยอาหารเสริมเพียงอย่างเดียวหรือให้คลุกอาหารเสริมร่วมกับวัสดุเพาะวางปิดทับเป็นชั้นสุดท้าย พร้อมโรยด้วยหัวเชื้อที่ผสมแป้งสาลีให้ทั่วทั้งผิวหน้า และตามด้วยการฉีดพรมน้ำก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการเพาะ
ขั้นตอนที่ 5
นำตะกร้าเพาะเห็ดมาจัดเรียงให้ห่างกันประมาณ 15-20 ซม. ในโครงไม้ครอบ จากนั้น นำผ้าพลาสติกปิดคลุมให้มิดชิด แต่ควรให้มีช่องระบายอากาศบ้างเล็กน้อย เพื่อให้อากาศถ่ายเท และเพื่อให้มีอุณหภูมิคงที่ประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส
ขั้นตอนที่ 6
หลังจากการเพาะ และปิดคลุมมาได้ 2-3 วัน ให้คอยเปิดผ้าคลุม 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีการระบายอากาศ และกระตุ้นการเจริญของเห็ด
ขั้นตอนที่ 7
หลังจากเพาะในวันที่ 4 ให้เปิดผ้าวันละครั้งหรือสองวันครั้ง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ด้วยการเปิดแย้มเป็นช่องให้ลมไหลผ่านเล็กน้อยก็พอ
ขั้นตอนที่ 8
ประมาณสองอาทิตย์ เห็ดฟางจะอยู่ในระยะดอกตูมพร้อมที่จะเก็บผลผลิตได้ การเก็บนั้นควรใช้มีดปลายแหลมขนาดเล็กตัดเอาดอกเห็ดให้มิดโคนทีละดอก และเมื่อเก็บเสร็จให้ปิดผ้าคลุมทุกครั้ง