Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset
บัวหลวง เป็นพืชตระกลูบัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตเมืองร้อน เป็นบัวที่นิยมปลูกมากเนื่องจากมีประโยชน์ในหลายด้านด้วยกัน อาทิ ประโยชน์จากดอก ใบ เมล็ด และเป็นไม้ประดับ เป็นต้น ปัจจุบันมีการปลูกเพื่อการค้าในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ
ลักษณะทั่วไป
บัวหลวงเป็นพืชน้ำล้มลุก มีหัวเป็นส่วนลำต้น และรากอยู่ในดินใต้น้ำ ส่วนก้านใบ และก้านดอกจะเติบโตแทงพ้นขึ้นเหนือน้ำ ใบมีลักษณะกลม สีเขียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 30-40 ซม. ผิวใบปกคลุมด้วยขนเล็กๆจำนวนมาก ทำให้ไม่เปียกน้ำ ส่วนดอกมีสีขาว สีชมพู สีชมพูออกม่วง สีชมพูออกแดง หรือ สีผสม เรียงซ้อนกันจำนวนมาก
บัวหลวงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ในระดับน้ำไม่ลึกมากเกิน 1 เมตร มีความอ่อนไหวต่อคุณภาพน้ำสูง ชอบแหล่งน้ำธรรมชาติ สะอาด น้ำไม่เน่าเสีย ดังนั้น ระดับน้ำ และคุณภาพของน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกๆที่ต้องพิจารณาสำหรับการปลูกบัวหลวง
การปลูก
พื้นที่ปลูกบัวหลวงควรเป็นพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่มีความสูงต่ำสม่ำเสมอ และใกล้แหล่งน้ำ ลักษณะของดินควรเป็นดินร่วนหรือดินเหนียว หน้าดินเป็นโคลนตมไม่หนามาก สำหรับดินร่วนปนทรายจะให้ผลผลิตของดอกน้อย ใบจะมากกว่า
การเตรียมแปลง
– การเตรียมแปลงปลูกบัวหลวงจะมีลักษณะคล้ายกับการทำนา แต่จะขุดแปลงลึกกว่า ประมาณ 1-1.5 เมตร เพื่อให้กักเก็บน้ำสูง 0.5-1 เมตร
– หากเป็นแปลงเก่าหรือบ่อเก่าให้สูบน้ำออกให้หมด พร้อมไถ และปรับพื้นที่ให้เรียบ และกำจัดวัชพืช
– หว่านปูนขาว เพื่อฆ่าเชื้อ และปรับสภาพดิน พร้อมตากแดดบ่อประมาณ 1-2 อาทิตย์
– ทำการหว่านปุ๋ยสูตร 12-12-24 อัตรา 30 กก./ไร่ ร่วมกับปุ๋ยคอก 200 กก./ไร่ พร้อมทำการไถ และปรับหน้าดินอีกครั้ง
ขั้นตอนการปลูก
การปลูกจะใช้วิธีการแยกเหง้าบัวหรือรากบัวออกปลูก โดยเหง้าที่ใช้จะยาวประมาณ 2-3 ข้อ และมีตาเหง้า 2-3 ตา ซึ่งหลังปลูกต้นบัวใหม่จะงอกขึ้นตามตาบริเวณข้อบัว แบ่งเป็น 2 วิธี คือ
1. การปลูกในแปลงดินแห้ง
มักใช้สำหรับแปลงใหม่หรือต้องการปลูกในลักษณะของดินแห้งหลังจากการเตรียมบ่อ การปลูกในแปลงลักษณะนี้จะใช้วิธีการขุดหลุมด้วยเสียมหรือจอบลึกประมาณ 15-20 ซม. พร้อมฝังเหง้าบัว โดยให้เหลือส่วนที่เป็นตาบัวเหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ หลังจากนั้นจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลง
2. การปลูกในแปลงดินโคลน
เป็นวิธีการที่นิยมปลูกเนื่องจากง่าย และสะดวกกว่าวิธีแรก ด้วยการปล่อยน้ำเข้าแปลงเพียงเล็กน้อยหรือสูงกว่าผิวดิน 3-5 ซม. เพื่อให้ดินเป็นโคลนตม หลังจากนั้นจะให้เหง้าบัวเสียมลงแปลง โดยให้เหลือส่วนเหนือผิวดินประมาณ 1-2 ข้อ เมื่อปลูกเสร็จจึงทำการปล่อยน้ำให้ท่วมแปลง
การดูแล
1. การปล่อยน้ำ จะปล่อยน้ำหลังปลูกเสร็จให้ท่วมแปลงในระดับสูงกว่าปลายเหง้าบัวเพียงเล็กน้อย เมื่อต้นอ่อนบัวเริมงอก และตั้งตัวได้แล้วจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงอีกครั้ง
2. การใส่ปุ๋ย จะทำการใส่ปุ๋ยครั้งแรกเมื่อเห็นต้นอ่อนของบัวงอกแล้วประมาณ 1-2 อาทิตย์ โดยใช้สูตร 16-16-8 และอีกครั้งในระยะก่อนบัวออกดอกในสูตร 12-12-24 ทั้งสองครั้งใส่ประมาณ 30 กก./ไร่ นอกจากนี้ในระยะแรกอาจใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ร่วมด้วยในอัตรา 100 กก./ไร่ ไม่ควรใส่ปุ๋ยชนิดนี้มากเพราะอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้
การเก็บผลผลิต
ผลผลิตที่ได้จากการปลูกบัวหลวงแบ่งได้เป็นหลายส่วน คือ
1. ดอก ถือเป็นผลผลิตหลักของการปลูกบัวหลวง เนื่องจากมีความต้องการทางตลาดมากที่สุด การเก็บดอกสามารถเก็บได้ตลอดอายุของบัว ด้วยการตัดก้านดอกยาว 30-40 ซม.
2. ใบ เป็นผลพลอยได้จากการปลูกบัว นิยมตัดใบอ่อนนำมาใช้ในการห่อข้าวของ หรือพิธีกรรมต่างๆ เช่น งานบวช
3. ฝักบัว ถือเป็นผลผลิตที่มีการจำหน่ายในท้องตลาดชนิดหนึ่งที่นิยมกันมาก เนื่องจากสามารถรับประทานสดได้ หรือนำมาทำของหวานในรูปของเมล็ดบัวเชื่อม การเก็บฝักบัวจะเก็บในระยะฝักแก่
4. เหง้าบัวหรือรากบัว นิยมนำมาทำรากบัวเชื่อมหรือนำมาปรุงเป็นอาหาร การเก็บรากบัวจะเก็บเมื่อต้นบัวมีปริมาณถี่มากเกินไป