การปลูกขิงแดง ขิงประดับ

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

ขิงแดง (Red ginger) เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ให้ดอกสีแดงสดสวยงาม และออกดอกบานนาน เป็นพันธุ์ไม้ที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และมีความคงทนต่อสภาพอากาศ ปลูกได้ดีในที่โล่ง และแดดส่องถึง มักพบปลูกมากในสวนหย่อมหรือสวนในบ้านเรือน ในบางท้องถิ่นมีการปลูกมากเพื่อตัดดอกส่งจำหน่าย ซึ่งมีทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศที่มีการส่งจำหน่าย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

ขิงแดงจัดเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับข่า มีลำต้นใต้ดินเรียกว่า เหง้า (rhizome) ลำต้นเหนือดินเป็นกาบใบซ้อนกันแน่น สูงประมาณ 1 ? 2 เมตร ในสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ และปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสมอาจสูงมากกว่า 3 เมตร เมื่อโตกอจะอัดแน่นเป็นกอใหญ่ แตกเหง้าออกรอบข้าง ใบมีรูปรี ดอกออกปลายยอด ประกอบด้วยกลีบดอกประดับสีแดงสดเรียงซ้อนกัน คล้ายดอกกระเจียว กลีบดอกประดับเป็นรูปไข่ปลายแหลม ส่วนดอกแท้มีลักษณะรูปกรวยสีขาว อยู่ภายในกลีบดอกประดับ ซึ่งจะแห้งภายในไม่กี่วัน เหลือแต่กลีบดอกประดับสีแดงสดใสแทน

ขิงแดง

พันธุ์ของขิงแดง ได้แก่
Red ginger : เป็นพันธุ์ขิงแดงที่ปลูก และพบได้ทั่วไป
Eileen Mcdonald : หรือเรียกชื่ออื่นว่า ขิงชมพู (Pink ginger) กลีบดอกประดับมีลักษณะสีชมพู มีช่อดอกคล้ายขิงแดง
Jungle King : มีกลีบดอกประดับสีแดง ช่อดอกมีลักษณะมน อ้วนกว่าขิงแดงพันธุ์ red ginger เล็กน้อย
Jungle Queen : มีกลีบดอกประดับสีชมพูออกจางเล็กน้อย มีช่อดอกคล้ายพันธุ์ jungle king
Tahitian 😕 กลีบดอกประดับมีสีแดง ช่อดอกมีลักษณะเป็นแขนงจำนวนมากแตกออกจากช่อหลัก จึงมีลักษณะเป็นช่อใหญ่กว่าพันธุ์อื่นๆ
Kimi : เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ขิงชมพู (Pink ginger) ที่ให้กลีบดอกประดับที่มีสีชมพู ออกแดงเล็กน้อย ลักษณะช่อดอกคล้ายขิงแดง

การขยายพันธุ์
1. การใช้เมล็ด
การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดเป็นวิธีการที่ไม่ได้รับความนิยม เนื่องด้วยขิงแดงจะติดเมล็ดยากมาก นอกจากต้นขิงแดงเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเอื้อต่อการติดเมล็ด
2. การใช้ตะเกียง (Aerial offshoots)
ตะเกียงหรือหน่อเล็ก ๆ มักพบงอกที่ช่อดอกบริเวณโคนกลีบดอกประดับ ซึ่งเก็บสามารถหน่อเล็กๆนี้นำมาปลูกขยายต้นได้ทันที แต่แนะนำให้นำมาเพาะในถุงเพาะชำเพื่อให้หน่อติด และตั้งตัวได้เสียก่อน ก่อนนำปลูกลงแปลงใหญ่ การขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ถือว่าไม่ได้รับความนิยม เนื่องด้วยปริมาณตะเกียงมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ
3. การแยกหน่อ (Division)
หน่อใหม่เกิดแยกออกจากเหง้าต้นแม่ สามารถขุดแยกออกจากต้นแม่ โดยเลือกหน่อที่เพิ่งงอกออกใหม่ ไม่แก่มาก และหน่อที่แยกต้องมีรากติดมาด้วยจะดีที่สุด ซึ่งอาจปลูกลงแปลงทันทีที่ย้ายมาหรือปลูกใส่ถุงเพาะชำพลาสติกเพื่อให้ต้นขิงแดงตั้งตัวได้เสียก่อนก็ได้ วิธีการนี้ถือเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะสามารถหาหน่อใหม่ได้ง่าย เพียงพอกับความต้องการ และง่ายต่อการจัดการ นอกจากนัั้น สามารถหาซื้อเหง้าพันธุ์ขิงแดงได้ตามฟาร์มหรือตลาดพันธุ์ไม้ประดับได้ด้วย

การปลูก
1. การเตรียมแปลง
พื้นที่ดอนหรือค่อนข้างแห้ง ให้เตรียมแปลงด้วยการยกร่องลึกประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 60-80?เซนติเมตร แต่ละแปลงกว้างประมาณ 2-3 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่
พื้นที่ลุ่ม ดินเหนียว น้ำท่วมขังเร็ว ให้เตรียมแปลงด้วยการยกร่องลึกประมาณ 1 เมตร กว้าง 1 เมตร แปลงปลูก กว้างประมาณ 1-2 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสมของพื้นที่
2. ระยะปลูก
ควรปลูกในระยะ 1 x 1 เมตร/หลุม โดยใช้หน่อพันธุ์หรือเหง้าที่แยกออกจากต้นแม่ และเพาะในถุงเพาะชำจนติดแล้ว แต่หากใช้หน่อพันธุ์ที่ขุดใหม่ และทำการปลูกทันที ให้ใช้ประมาณ 2 หน่อ/หลุม เพื่อป้องกันการตายของหน่อหรืออีกวิธีการ คือใช้เพียง 1 หน่อ/หลุม หากหลุมใดไม่ติดให้นำหน่อมาปลูกแทนใหม่ก็ได้ หลังจากปลูกเสร็จให้รดน้ำให้ชุ่มทันที

การดูแลรักษา
การให้น้ำ
โดยสภาพทั่วไปขิงแดงจะต้องการความชื้นของดินที่สูง และมีการระบายน้ำดี จึงต้องให้น้ำอย่างเพียงพอหรือให้ในปริมาณดินยังมีความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งระวังไม่ควรให้น้ำมากเกินไปจนเปียกชื้นแฉะหรือมีน้ำท่วมขัง ซึ่งจะให้น้ำประมาณ 1-2 ครั้ง/วัน ก็เพียงพอ

สิ่งสำคัญของการปลูกขิงแดงคือการรักษาความชุ่มชื้นในดินที่เหมาะสม ซึ่งไม่เพียงอาศัยการให้น้ำเท่านั้น แต่หากมีการจัดการแปลงปลูกที่ใส่ปุ๋ยคอกหรือเศษใบไม้ในแปลง วิธีการนี้จะช่วยรักษาความชื้นในดินได้เป็นอย่างดี รวมถึงการปลูกต้นไม้รอบแปลงจะช่วยในการรักษาความชื้นของแปลงได้ดีเช่นกัน

การให้ปุ๋ย
การปลูกขิงแดงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมีมาก การใส่ปุ๋ยนั้นจะใส่ในช่วงปีแรกประมาณ 3-5 ครั้ง โดยให้ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 20-20-0 ในอัตราส่วน 1: 10 ประมาณ 100 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนในช่วงหลังที่ขิงแดงแตกหน่อ และเจริญเติบโตเต็มที่ในระยะหลังปีแรก ให้ทำการใส่ปุ๋ยคอกอย่างเดียวหรืออาจใส่ผสมร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 ในอัตราเดียวกัน โดยใส่ประมาณปีละ 2 ครั้ง ก็ได้

การกำจัดวัชพืช
การปลูกขิงแดงในช่วงแรกอาจต้องมีการกำจัดวัชพืชในแปลงบ้าง โดยเฉพาะรอบข้างกอขิงแดงที่อาจพบวัชพืชขึ้นได้ ซึ่งควรทำการถอนวัชพืชอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน แต่หลังจากขิงแดงเติบโต และมีการขยายหน่อมากขึ้นมักไม่พบปัญหาเรื่องวัชพืชหรือหากพบเกิดบริเวณข้างกอขิงก็มักไม่มีผลกระทบมาก แต่ทั้งนี้ควรเผฝ้าระวังวัชพืชด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัชพืชที่โตเร็ว และมีลำต้นใหญ่สูงนั้นให้ทำการถอนกำจัดเป็นระยะ

การตัดแต่ง
ทำการตัดต้นที่ไม่สมบูรณ์หรือเกิดโรคแมลงทำลายทิ้ง โดยตัดดอกชิดโคนต้น เหนือดิน 2 ? 3 นิ้ว โดยให้ทำการตรวจแปลงทุกวันหรืออย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งจะเป็นการดีที่สุด ส่วนการตัดดอกให้ใช้วิธีการเหมือนกัน โดยตัดให้ไกล้โคนต้นมากที่สุด

โรค และแมลง ไม่พบโรคที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
แมลงที่เข้าทำลาย ได้แก่ เพลี้ยแป้ง ทำลายดอก ป้องกัน และกำจัดได้โดยตัดดอกที่ถูกทำลายทิ้ง ซึ่งควรทิ้งให้ห่างจากแปลงมากที่สุด ส่วนสารเคมีอาจใช้สารเคมี เช่น อโซดริน ฉีดพ่นทั่วแปลง
สำหรับหนอนเจาะลำต้น มักพบเจาะกินแกนอ่อนต้นขิงแดง ทำให้ปลายยอดแห้งตายซึ่งสามารถสังเกตุเห็นได้ชัดเจน การป้องกัน และกำจัดนั้นทำได้โดยตัดต้นที่ถูกหนอนเจาะกินทิ้ง การใช้สารเคมี เช่น แลนเนท ฉีดพ่นทั่วแปลง

การเก็บเกี่ยว
การตัดดอกให้คัดเลือกตัดดอกที่บานแล้วบางส่วนประมาณร้อยละ 70 ? 80 ของช่อดอกทั้งหมด โดยใช้มีดคม ๆ ตัดที่โคนต้นเหนือดิน 2 ? 3 นิ้ว พร้อมนำดอกลงแช่น้ำสะอาดในถังหรืออุปกรณ์ที่เตรียมไว้หลังจากนั้นให้ตัดใบเหลือเฉพาะใบส่วนบริเวณปลายยอด 3 ? 4 ใบ หากก้านดอกยาวให้ตัดทิ้งเหลือประมาณ 80-100 ซม. สำหรับดอกขนาดใหญ่ และดอกขนาดกลาง ส่วนดอกขนาดเล็กให้ตัดก้านดอกยาว 50-80 ซม. ทำการมัดรวมเป็นกำๆตามเหมาะสม